กรุงเทพฯ ในความคิดผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. - Urban Creature

ขออาสาพาชาวกรุงฯ ไปสำรวจเมืองในความคิดผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 7 ท่านที่มีแนวคิดโดดเด่นอยากจะปรับเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้นในปี 2569 ระยะเวลา 4 ปีของการทำงาน พวกเขาจะพัฒนาเมืองอะไรบ้างด้วยแนวคิดของแต่ละท่าน ไม่ว่าจะเป็นเมืองคนเท่ากัน เมืองแห่งความสุข เมืองสวัสดิการทันสมัย เมืองแห่งความหวัง เมืองหยุดโกง เมืองน่าอยู่ และเมืองมั่งคั่ง ตามไปดูกัน!

เมืองคนเท่ากัน
เบอร์ 1 | วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ประเดิมเมืองแรกยินดีต้อนรับเข้าสู่ ‘เมืองคนเท่ากัน’ ของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1 จากพรรคก้าวไกลที่มีเป้าหมายกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียม จากการมีสิทธิ์เข้าถึงสวัสดิการดีๆ ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1. สร้างที่อยู่ไม่เกิน 10,000 บาทใจกลางเมือง

ด้วยราคาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ แพงมากจนคนทั่วไปซื้อไม่ไหวและต้องย้ายออกไปอยู่นอกเมือง ทำให้เกิดปัญหาวนลูปทั้งแบกค่าโดยสารแพงและรถติดสุดเรื้อรัง วิโรจน์จึงสร้างโปรเจกต์ที่อยู่อาศัยในเมือง 10,000 ยูนิตราคาไม่เกิน 3,500 – 9,000 บาท/เดือน (ขึ้นอยู่กับขนาดครอบครัว) เริ่มจากขอเช่าที่ราชพัสดุหรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนำมาสร้างที่อยู่อาศัยให้คนเมืองในระยะยาว

2. ใบเดียวขึ้นรถไฟฟ้าทุกสาย ตั๋วรถเมล์จ่าย 70 ใช้ได้ 100

ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ต้องเปลี่ยนบัตรให้ลำบาก เพราะวิโรจน์ทำบัตรใบเดียวขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสายและลดค่าโดยสารให้เหลือประมาณ 15 – 45 บาท/ต่อเที่ยว สำหรับคนนั่งรถเมล์ก็มีตั๋วตนเมืองช่วยจูงใจให้คนอยากนั่งรถเมล์มากขึ้น ด้วยราคา 70 บาทแต่ใช้โดยสารได้ถึง 100 บาท

3. สร้างกลไกสนับสนุนพื้นที่สีเขียว

ส่งเสริมการสร้างพื้นที่สีเขียวให้คนเมืองมากกว่าเคย ด้วยการออกข้อบัญญัติ กทม. เพื่อกำหนดให้ด้านหน้าของอาคารทุกแห่งที่จะก่อสร้างใหม่ ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ รวมทั้งเอกชนที่ยินยอมให้ กทม. สร้างสวนสาธารณะบนที่ดินไม่ใช้งานของตนเอง ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นของตอบแทน

4. แก้ปัญหาขยะ ทั้งมลพิษและเอื้อนายทุน

รู้หรือไม่ว่า ขยะจากห้างฯ ใหญ่ของนายทุนมีจำนวนหลายร้อยตัน/เดือน แต่ค่ากำจัดขยะของพวกเขาจ่ายเพียงไม่กี่หมื่นบาท (ความเป็นจริงควรประมาณหลักแสน) รวมทั้งการจัดการขยะในบ้านเราที่ไม่มีประสิทธิภาพส่งให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่าทวีคูณ วิโรจน์จัดการด้วยวิธีเก็บค่าขยะห้างฯ ใหญ่มากขึ้น เพื่อเอาเงินไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน รวมถึงโรงงานขยะของ กทม. และเอกชนต้องปฏิบัติตามแผนงาน ข้อสัญญาอย่างตรงไปตรงมาและออกกฎหมายการกำจัดขยะที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน

*สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของวิโรจน์ได้ที่ : www.moveforwardparty.org/bkk-election-22-may-policy/

เมืองแห่งความสุข
เบอร์ 3 | สกลธี ภัททิยกุล

เดินทางไปยังถิ่นต่อไปกับ “เมืองแห่งความสุข” (Happy & Healthy City) ของสกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 3 สังกัดอิสระที่อยากพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ดีกว่านี้ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวกรุงฯ ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1. ทำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

สกลธีจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Bangkok Digital Infrastructure System) เช่น การใช้เทคโนโลยี Blockchain และ Quantum Computing ช่วยจัดการระบบข้อมูล กทม. ให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งทำ Bangkok Super App แพลตฟอร์มบริการเกี่ยวกับ กทม. ให้เข้าถึงสะดวกสบาย

2. พัฒนาล้อ ราง เรือดีกว่านี้

พัฒนาขนส่งสาธารณะ ด้วยการนำเทคโนโลยี AI ช่วยจัดการจราจรไม่ให้ติดขัด และผลักดันระบบ Feeder ระบบขนส่งมวลชนเสริมทั่วเมือง เช่น รถเมล์หรือรถสองแถว สำหรับรถไฟฟ้าเสนอสร้างสายสีเทา (ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ) และ สายสีเงิน (ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ) พร้อมทั้งเดินเรือโดยสารไฟฟ้า EV ในคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร

3. 50 เขต 50 สวน

จัดเต็มเรื่องพื้นที่สีเขียวต้องมีทุกที่ ด้วยโครงการสวน 50 เขต 50 สวนในพื้นที่ตนเอง แถมยังปรับปรุงสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ให้มีฟังก์ชันการใช้งานหลาหลายกว่าเดิม เช่น บึงหนองบอนเป็นสวนกีฬาทางน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างหลังคาสีเขียว (Green Roof) เพิ่มพื้นที่พักผ่อนให้ชาวเมือง

4. เพิ่มสถานีดับเพลิง ถึงที่เกิดเหตุใน 10 นาที

ปัจจุบันเกิดเหตุไฟไหม้ใหญ่ไม่คาดคิดในกรุงเทพฯ บ่อยครั้ง และยังคงเป็นปัญหาในเมืองมาช้านาน เมืองแห่งความสุขของสกลธีวางแผนรับมือ โดยเพิ่มสถานีดับเพลิงให้มากกว่าแต่ก่อน โดยมีเป้าหมายหากเกิดเหตุอัคคีภัย ต้องถึงที่หมายภายใน 10 นาที รวมทั้งยังมีแพลนเพิ่มสถานีดับเพลิงทางน้ำอีกด้วย

*สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของสกลธีได้ที่ : xn--12ca0a3chk1cj8bxdwevk.com/policy/

เมืองสวัสดิการทันสมัย
เบอร์ 4 | สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ข้ามฝั่งมาดินแดนของเบอร์ 4 สุชัชวีร์ วุวรรณศักดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอ “เมืองสวัสดิการทันสมัย” ที่ไม่ใช่แค่ระดับกรุงเทพฯ แต่มีเป้าหมายพัฒนาไปไกลถึงต้นแบบอาเซียน ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1. ทางจักรยานลอยฟ้า

ไม่เพียงเรื่องแก้ปัญหาจราจรใช้ AI แก้ปัญหารถติด สร้างทางเท้าที่ได้มาตรฐานเหมือนเมืองอื่นๆ แต่ยังผลักดันจักรยานลอยฟ้า เอาใจสายนักปั่นและเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ชาวกรุงฯ โดยนำร่องเส้นทางตามแนวรถไฟฟ้า ARL เชื่อมจากกรุงเทพตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ และสถานี ARL พญาไท พร้อมออกแบบคิดถึงทางขึ้นลงและที่จอดจักรยานรองรับ

2. จัด 12 เทศกาลใหญ่ 50 เทศกาลเขต

เมืองของสุชัชวีร์ไม่มีคำว่าเหงา เพราะจัดงานรื่นเริงชุดใหญ่ทั้ง 12 เทศกาลรายปีระดับโลกและ 50 เทศกาลเขตใน 4 ปีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้ในพื้นที่ รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมย่านกินเล่น (Street Food) การจัดระบบดูแลพื้นที่ค้าขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า ขายของได้ทุกวันและสนับสนุนผู้ประกอบการใช้รถเข็นที่ถูกสุขอนามัย

3. เพิ่มสวนฉบับกระเป๋า

เติมพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้เต็มตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก จากการสร้างสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า (Pocket Park) เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นสวนสีเขียวขนาดย่อม เช่น สวนในเขตคลองเตยและซอยหน้าวัดหัวลำโพง รวมทั้งจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินไม่ได้ใช้งานให้ กทม. สร้างสวนสาธารณะ โดยจะได้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับเจ้าของที่ดินเป็นค่าตอบแทน

4. สร้างแก้มลิงใต้สวน แก้น้ำท่วมซ้ำซาก

สุชัชวีร์นำเสนอการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ไม่เพียงแค่ใช้ปั๊มไฟฟ้าและประตูระบายน้ำอัตโนมัติ แต่ยังผลักดันการทำแก้มลิงใต้ดิน คือการสร้างแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อรองรับน้ำส่วนเกินที่ระบายไม่ทันและลดปริมาณน้ำบนพื้นผิวถนน ซึ่งแหล่งเก็บน้ำใต้ดินมีขนาดประมาณ 100x50x20 ม.​ จุน้ำได้ถึง 100,000​ ลบ.ม. โดยเล็งพื้นที่ใต้ทะเลสาบในสวนจตุจักร หรือบ่อน้ำในสวนสาธารณะขนาดใหญ่เป็นแก้มลิงให้กับเมือง

*สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของสุชัชวีร์ได้ที่ : www.facebook.com/suchatvee.ae

เมืองแห่งความหวัง
เบอร์ 6 | อัศวิน ขวัญเมือง

กรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่เมืองหลวง แต่มันต้องเป็น ‘เมืองแห่งความหวัง’ ของทุกคน แนวคิดของอัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 สังกัดอิสระ ก่อนหน้านี้เคยได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และปัจจุบันเขาตั้งใจจะสานต่อการพัฒนาเมืองต่อไปเพื่อชาวกรุงฯ ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1. เมืองดิจิทัล

เชื่อมกรุงเทพฯ สู่เมืองดิจิทัล ด้วยบริการจากหน่วยงานราชการของกรุงเทพฯ ที่เข้าถึงง่าย โปร่งใสและรวดเร็ว เช่น แอปพลิเคชัน BMA Smart Service ชำระค่าธรรมเนียมขยะถึงบ้าน BMA Q ใช้บริการต่างๆ ของสำนักงานราชการ พร้อมทั้งการให้บริการข้อมูลน้ำท่วม ช่วยเฝ้าระวังน้ำท่วมและวางแผนการเดินทาง

2. สานต่อระบบระบายน้ำแก้น้ำท่วม

ก่อนหน้านี้อัศวินเคยจัดการจุดเสี่ยงที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากจาก 26 จุดเหลือเพียง 9 จุด (แก้ไขไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์) ทั้งการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ขยายท่อระบายน้ำระบบ Pipe Jacking หรือท่อทางด่วนระบายน้ำ 12 แห่ง สร้างแก้มลิง 9 แห่ง และพร้อมสานต่อโครงการทั้งหมดให้กระจายทั่วเมือง

3. ระบบขนส่งมวลชนครอบคลุม

เรื่องระบบขนส่งเน้นการกระจายการเข้าถึงในเมือง เช่น การผลักดันรถโดยสารไฟฟ้า EV Shuttle และสนับสนุนการเดินรถไฟฟ้าสายรอง เพื่อเติมเต็มรถไฟฟ้าสายหลักให้ครอบคลุม ทั้งนี้ยังแก้ไขระบบการจัดการจราจรด้วยเทคโนโลยี Area Traffic Control การควบคุมสัญญาณไฟจราจรเฉพาะพื้นที่ ซึ่งสามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนจังหวะไฟจราจรตามปริมาณการจราจรในท้องถนน

4. เพิ่มเมืองสีเขียว คลองใส

ลุยต่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมกรุงเทพฯ จากผลงานที่ผ่านมาการสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กิจกรรมริมคลอง เช่น คลองโอ่งอ่าง คลองผดุงกรุงเกษมและคลองช่องนนทรี อัศวินจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ตรงตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก พัฒนาคลองทั่ว กทม. 50 เขตและปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองให้ดีกว่าเคย ด้วยการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ จากวิธีการมีสวนร่วมของเอกชน (PPP)

*สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของอัศวินได้ที่ : aswinbangkok.com/

เมืองหยุดโกง
เบอร์ 7 | รสนา โตสิตระกูล

หากต้องการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริตจะตรงกับแนวคิด ‘เมืองหยุดโกง’ ของรสนา โตสิตระกูล เบอร์ 7 สังกัดอิสระ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผู้หญิงที่มีอยากจะพัฒนาเมืองโดยการสร้างงานและรายได้แก่ทุกคนมากกว่าเดิม เพื่อลดปัญหาการทุจริตผ่านโครงการดังนี้

1. เศรษฐกิจสีเขียว

รสนาเห็นความสำคัญเรื่องเกษตรกรรมในบ้านเรา ไม่เพียงแจกฟ้าทะลายโจรและยาไทยให้กับทุกบ้านฟรีแล้ว ยังคงส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ให้ทุกคนสามารถทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้และเปิดช่องทางทำมาหากินมากขึ้น โดย กทม. จะช่วยจัดตั้งกองทุนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้กู้ยืมสร้างธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

2. ฟื้นฟูวิถีท่องเที่ยวเวนิสตะวันออก

ครั้งหนึ่งกรุงเทพฯ เคยเปรียบเป็นเมืองเวนิสตะวันออก และมีวิถีชีวิตผูกผันกับคลองมาช้านาน แต่ปัจจุบันคลองโดนถมเป็นถนนหรือกลายเป็นแหล่งขยะเน่าเสีย จึงทำให้เกิดไอเดียฟื้นฟูวิถีท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างเสน่ห์ของกรุงเทพฯ กลับมาอีกครั้ง โดยจ้างงานคนขุดลอก 1,600 คลองและขยายเส้นทางสัญจรทางน้ำให้เป็นระบบ

3. ตั๋วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ทุกวันนี้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS มีราคาสูงและติดปัญหาเรื่องสัมปทานสุดเรื้องรัง หากรสนาได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเลือกไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้า BTS เหมือนกับท่านอื่นๆ แถมยังลดค่าตั๋วเหลือ 20 บาทตลอดสาย รวมถึงใส่ใจความปลอดภัยการสัญจรทางบกและน้ำ โดยการติดกล้อง CCTV ของจริง 1.5 ล้านตัว

4. ส่งเสริมหลังคาโซลาร์เซลล์

ไม่ใช่แค่เรื่องค่าโดยสารที่แพง ค่าไฟทุกวันนี้ก็แรงไม่ใช่น้อย หากเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้าน เพื่อลดค่าไฟ หรือทำขายได้ด้วยโครงการโซลาร์ รูฟ (Solar Roof) โดยมีกองทุนหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์คอยช่วยเหลือ ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟประมาณ 500 บาททุกเดือน

*สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของรสนาได้ที่ : rosanabkk.com/

เมืองน่าอยู่
เบอร์ 8 | ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อยากพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองต้อนรับทุกคนเข้ามาอยู่อาศัยกับ ‘เมืองน่าอยู่’ ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 สังกัดอิสระ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีตั้งใจสร้างเมืองอยู่ดีกินดีสำหรับคนกรุงเทพฯ ผ่านโครงการดังนี้

1. สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่าน

เนื่องจากแต่ละย่านมีเอกลักษณ์ของตนเอง หากดึงนำมาพัฒนาเป็นจุดเด่นของแต่ละย่าน เช่น ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy District) ย่านกินเล่น (Street Food) หรือ ย่านรับจ้างผลิต OEM (Original Equipment Manufacturer) ช่วยเหลือผู้ประกอบการและคนในพื้นที่กระจายรายได้ โดยมีแพลนจะส่งเสริมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหรือระบบขนส่งมวลชน พร้อมการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมดึงดูดลูกค้าและนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจคึกคัก

2. การเดินทางสะดวกตั้งแต่ออกจากบ้าน 

การพัฒนาระบบการเดินทางของชัชชาติมุ่งเน้นการออกแบบที่เชื่อมต่อระบบขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่การทำตั๋วร่วมรถไฟฟ้าใบเดียว ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าเมื่อเดินทางข้ามสาย พัฒนารถเมล์สายรอง (Feeder) และสายหลักในส่วนที่ไม่มีการเดินรถให้ครอบคลุมราคา 10 บาทตลอดสายแถมยังใช้รถชานต่ำและพลังงานไฟฟ้า ส่วนเรือโดยสารเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าและดีไซน์ท่าเรือให้ปลอดภัย ยิ่งไปว่านั้นยังจัดการทางเท้าให้เป็นมิตรต่อการเดิน ทั้งมีรุกขกรดูแลต้นไม้ รวมทั้งการจัดระเบียบป้าย ถังขยะและที่นั่งให้เป็นแนวเดียวกัน

3. สร้าง Ecosystem ยานยนต์ไฟฟ้าจริงจัง

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะลดลงในระยะยาว หากแก้ไขมลพิษจากไอเสียที่ยานยนต์ จึงทำให้เกิดโครงการสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น อนุญาตให้เอกชนติดตั้งสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรีในพื้นที่หน่วยงาน กทม. พิจารณาข้อบัญญัติควบคุมอาคารให้สถานที่ต่างๆ ต้องมีสถานีชาร์จ เปิดให้คนทั่วไปนำรถยนต์เข้ามาเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าในราคาต้นทุน

4. สร้างสวน 15 นาที

ปัญหาอย่างหนึ่งของสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ คือการเข้าถึง จึงมีเป้าหมายเพิ่มสวนให้เข้าถึงทุกคนภายในระยะทางเดินเท้า 800 เมตรหรือใช้เวลาเดินประมาณ 10 – 15 นาที โดยพัฒนาสวนขนาดเล็ก (Pocket Park) จากการใช้สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่างรอการพัฒนาหรือเปิดให้ทุกคนร่วมเสนอชื่อพื้นที่น่าพัฒนาได้ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างสวนบนที่ดินเอกชน ผ่านการลดหย่อนภาษีและการสร้างสาธารณประโยชน์ เพื่อกระจายพื้นที่สีเขียวให้ทุกคนในกรุงเทพฯ ไปพักผ่อนใกล้บ้าน

*สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของชัชชาติได้ที่ : www.chadchart.com/

เมืองมั่งคั่ง
เบอร์ 11 | ศิธา ทิวารี

ปิดจบที่เมืองสุดท้ายกับ ‘เมืองมั่งคั่ง’ ของศิธา ทิวารี เบอร์ 11 จากพรรคไทยสร้างไทย มาพร้อมการพัฒนาเมืองที่แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน ปลดปล่อยข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ชาวกรุงมีโอกาสทำมาหากินและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1. เมือง Startup  ปลดล็อกข้อจำกัดสร้างอาชีพ

อยากให้คนกรุงเทพฯ มีโอกาสกลับมาทำมาหากินให้เร็วที่สุด หลังจากเผชิญวิกฤตต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและโควิด ศิธามีแพลนสร้างพื้นที่นำร่อง Bangkok Legal Sandbox พื้นที่ปลดล็อกกฎหมายและใบอนุญาตที่เป็นปัญหาการค้าขาย รวมทั้งผลักดันกรุงเทพฯ เป็นเมือง Startup เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชีย จากการปรับเปลี่ยนกฎกติกา เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการทำงานและรองรับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจยุคใหม่

2. ส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์ Creative Metropolis

ผลักดันเมืองกรุงฯ ให้เป็นมหานครแห่งการสร้างสรรค์ (Creative Metropolis) จากการส่งเสริมแต่ละเขตพัฒนาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนให้โดดเด่น รวมถึงสนับสนุนของดีประจำถิ่นหรือมาสคอตตัวการ์ตูนสัญลักษณ์พื้นที่ 1 เขต 1 ถนนเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้นยังจัดกิจกรรมในแต่ละเขตทุกเดือน พร้อมทั้งค้าขายได้ 24 ชั่วโมงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชาวเมืองมากกว่าเดิม

3. ลดค่าเดินทางคนกรุงฯ ต้องไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน

เรื่องค่าโดยสารแพงเป็นปัญหาหนักใจที่คนกรุงเทพฯ แบกรับมาตลอด และทุกวันนี้ชาวเมืองต้องเสียเงินค่าเดินทางเกือบครึ่งของเงินเดือน จึงทำให้เกิดโครงการลดราคาค่าโดยสารให้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือนหรือประเมินเบื้องต้นประมาณ 1,500 – 1,600 บาท/เดือน โดย กทม.จะคุยกับรัฐบาลและเอกชนเพื่อให้ราคากลับมาอยู่ในระดับที่คนจ่ายไหว

4. เพิ่มพื้นที่สาธารณะ เพิ่มฟังก์ชัน

ศิธามีไอเดียพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มีหลากหลายการใช้งาน ไม่ใช่แค่พักผ่อน แต่ยังเป็นพื้นที่นัดพบของกลุ่มต่างๆ มาเจอกันและทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น สวนฟาร์มผัก (Urban Farming) สนามกีฬา (Sport Development) พื้นที่ทำงาน (Work from the Park) เลนจักรยาน (Bike Lane) และ ลานกีฬาผาดโผน (Extreme Sports) นอกจากนี้พื้นที่สาธารณะบางแห่งยังพิจารณาเปิดนานถึงเที่ยงคืน เพื่อสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ชาวกรุงเทพฯ หลังเลิกงานสะดวกไปใช้พื้นที่สีเขียวได้ยาวนาน

*สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของศิธาได้ที่ : www.facebook.com/Sitadivari

หลังจากได้ทำความรู้จัก 7 เมืองในความคิดของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะเห็นว่าแต่ละท่านมีไอเดียการพัฒนากรุงเทพฯ แตกต่างกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะเลือกเมืองแบบไหน ที่ตอบโจทย์ในชีวิตจริงอีก 4 ปีข้างหน้านี้

ลองคิดง่ายๆ ถ้าคุณคือนักลงทุนที่มีเงิน (ภาษีจากประชาชน) ในมือ คุณจะลงทุนกับคนสร้างเมืองแบบไหนที่ได้กำไรในการใช้ชีวิต พัฒนาพื้นที่เพื่อคนทุกกลุ่ม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (จริงๆ) 

สุดท้ายนี้ จากบทเรียนในอดีต ตั้งแต่การพัฒนาเมืองรุ่นพ่อแม่ สมัยก่อนเคยเป็นมาอย่างไร และทุกวันนี้มันส่งผลดีต่อทุกคนหรือไม่ หากมีโอกาสได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เริ่มต้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับคุณจะสร้างบทเรียนตอนใหม่ ว่าจะเลือกพัฒนากรุงเทพฯ ไปในทิศทางไหน

Sources :
INN News | t.ly/0x_A
Matter | t.ly/9aF5, t.ly/oyxl
PPTV HD36 | t.ly/yc_V
The Standard | t.ly/lgsE
ไทยโพสต์ | t.ly/lQkzi

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.