“อยากรู้จักบ้านเมืองไหน ให้เดินเข้าพิพิธภัณฑ์ของที่นั่น”
ประโยคที่กล่าวไปข้างต้นยังคงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะพิพิธภัณฑ์คือศูนย์รวมเรื่องราวที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับเขตเมืองเก่าอย่าง ‘พระนคร’ หนึ่งใน 50 เขตของกรุงเทพมหานครที่นับเป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่า ซึ่งเต็มไปด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เคล้าคลอไปกับบรรยากาศบ้านเมืองแสนคลาสสิก เราจึงขอชักชวนทุกคนร่วมทริป ลัดเลาะเข้า 9 พิพิธภัณฑ์ที่พระนครและละแวกใกล้เคียงอย่างเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อเรียนรู้เมืองเก่าของกรุงเทพฯ ในด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ตำรับยา และการศึกษาไปพร้อมกัน
01 ประวัติศาสตร์
– พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
– นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
– มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
02 วิถีชีวิต
– พิพิธบางลำพู
– บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย
03 ตำรับยารักษาโรค
– ร้านบำรุงชาติสาสนายาไทย (บ้านหมอหวาน)
– พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
04 การศึกษา
– พิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
– พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม
01 | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (Bangkok National Museum)
ยินดีต้อนรับเข้าสู่หน้าประวัติศาสตร์ที่ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ หรือ ‘วังหน้า’ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2325 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 โดยพระราชวังแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชถึง 5 พระองค์
จนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช พระราชวังเลยไม่ได้ใช้งาน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย ‘มิวเซียมหลวง’ จากหอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง มาตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคล เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน โดยใช้พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นสถานที่จัดแสดง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 พระราชทานมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด แล้วจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ทั้งรวบรวมศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณมาจัดแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในฐานะหอพระสมุดวชิรญาณ โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลจึงประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สังกัดกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2476 ในสมัยรัชกาลที่ 9 สร้างอาคารจัดแสดงใหม่คือ อาคารมหาสุรสิงหนาททางฝั่งใต้ และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ทางฝั่งเหนือ
จากการปรับโฉมครั้งใหญ่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทำให้เมื่อไปถึง ได้สัมผัสกับบรรยากาศที่โอบล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมรูปทรงโบราณ ในเนื้อที่โล่งสบายตา พร้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ชวนให้เรารู้สึกเหมือนได้ย้อนวันวานไปอดีต โดยที่นี่นำเสนอเนื้อหา 4 เรื่องของประเทศไทย ได้แก่ 1. ประวัติศาสตร์ศิลปกรรม-จัดแสดงโบราณวัตถุทุกยุคสมัยที่เป็นชิ้นสำคัญซึ่งมีคุณค่า ภายใต้ชื่อ ‘แผ่นดินไทยในอดีต’ 2. ศิลปะไทยประเพณี-เต็มอิ่มกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นเครื่องใช้ในพระราชสำนัก วัง และวัดต่างๆ ที่รักษาไว้ตลอดระยะเวลา 100 ปี 3. ประวัติศาสตร์โบราณคดี-จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่พบได้จากทุกภูมิภาคในประเทศไทย และ 4. พระราชวังบวรสถานมงคล-จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคลภายในหมู่พระวิมาน รวมไปถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายใน ซึ่งจากนิทรรศการทั้งหมด เราคัดเลือกไฮไลต์บางส่วนที่ไม่ควรพลาดหากได้ไปเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาฝากกัน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในโซนเปิดใหม่อย่าง ‘อาคารหมู่พระวิมาน’
เริ่มต้นกันที่ ‘โรงราชรถ’ ห้องนิทรรศการหลังคาสูงที่เก็บรักษาวัตถุโบราณชิ้นสำคัญสำหรับใช้ในงานพระราชพิธี ราชรถขนาดใหญ่และเล็กจอดเรียงราย พร้อมด้วยพระโกศและฉากบังเพลิงของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีพระโกศในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และฉากบังเพลิงของเกรินบันไดนาค ทำหน้าที่อัญเชิญพระโกศพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นสู่พระเมรุ
ถัดมาคือ ‘พระที่นั่งอุตราภิมุข’ กับห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ ภายในเต็มไปด้วยเครื่องแต่งกายและผืนผ้าลวดลายเก่าแก่ที่แสดงราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ในราชสำนัก และแสดงยศถาบรรดาศักดิ์ของขุนนางและบุคคลชั้นสูง ซึ่งทุกชิ้นเป็นสิ่งที่เคยใช้งานในราชสำนัก ทั้ง ‘ผ้าฝ่ายหน้า’ สำหรับคนวังหน้า ‘ฉลองพระองค์’ สำหรับพระมหากษัตริย์และคนสนิท และ ‘ผ้าฝ่ายใน’ สำหรับคนในวังหลวง โดยชุดที่ควรไปดูให้เห็นกับตาคือ ฉลองพระองค์ทรงยุโรปสีครีมของรัชกาลที่ 4 ประดับลายใบและลูกโอ๊ก
ต่อกันด้วย ‘พระที่นั่งบูรพาภิมุข’ กับห้องศัสตราวุธ จัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณ ศิลปะงานช่างหลวงประเภทเครื่องศัสตราวุธ โดยแบ่งคอลเลกชันจากประเภทชิ้นงานตามยศศักดิ์และการใช้งาน คือ ราชศัสตราวุธของเจ้าขุนมูลนาย และศัสตราวุธของคนทั่วไป และแบ่งอาวุธที่ใช้ประดับเพื่อแสดงยศกับอาวุธสำหรับใช้งานจริง ภายในห้องนี้จึงละลานตาไปด้วยสารพัดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นดาบ ปืน หรืออื่นๆ ทั้งยังมีเสื้อยันต์ลายหนุมานนั่งแท่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2358 ที่แม่ทัพใส่ใต้เสื้อผ้าและเกราะยามออกรบ รวมไปถึงชุดกลองจากหอกลอง ของโบราณสมัยรัชกาลที่ 3
‘พระที่นั่งทักษิณาภิมุข’ กับห้องนาฏดุริยางค์ จัดแสดงเครื่องมหรสพและการละเล่น เรื่องราวของการร้องรำทำเพลง ‘มหรสพของหลวง’ ไล่ไปตั้งแต่ตู้กระจกที่จัดแสดงเศียรครูจำนวน 32 เศียร จัดเรียงตามลำดับศักดิ์ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ไปจนถึงการละเล่นไทยของหลวงสมัยโบราณ เช่น โขน หนังใหญ่ ระเบ็ง โมงครุ่ม ฯลฯ
‘พระที่นั่งวสันตพิมาน’ อาคารนี้มี 2 ชั้น เริ่มที่ชั้นบนจัดเป็นห้องเครื่องที่ประทับวังหน้า จัดแสดงเครื่องเรือนโบราณ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะงานช่างหลวงหลายสาขา ที่รวบรวมไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่ต้น พร้อมทั้งจำลองรูปแบบและบรรยากาศพระวิมานที่ประทับในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนชั้นล่างเปิดเป็นห้องเครื่องถ้วยในราชสำนัก จัดแสดงเครื่องถ้วยชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไปจนถึงชิ้นใหญ่ ซึ่งใช้งานในราชสำนักสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ถัดมาเป็นฝั่งของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบไปด้วย
1. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงศรีอยุธยา-สำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเอก สื่อสารเนื้อหาประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองยาวนานถึง 417 ปี
2. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น-จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สื่อสารประวัติศาสตร์ที่เป็นการเริ่มต้นใหม่ของอาณาจักรไทยในยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
นี่เป็นเพียงส่วนเล็กเท่านั้นที่เราหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง จริงๆ แล้วภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังรุ่มรวยไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย พร้อมด้วยสถาปัตยกรรมโบราณมากมาย ที่เราชาวไทยควรค่าแก่การไปให้ถึงที่สักครั้งในชีวิต
วันทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์)
เวลา : 09.00 – 16.00 น.
เบอร์ติดต่อ : 0 2224 1333, 0 2224 1402
อัตราค่าเข้าชม : คนไทย 30 บาท, ชาวต่างประเทศ 200 บาท, เด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สมาชิก ICOM ICOMOS พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 3, 6, 9, 30, 33, 43, 53, 59, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 124, 201, 503, 507, A4
02 | นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ (Rattanakosin Exhibition Hall)
บนถนนราชดำเนิน เส้นทางสัญจรประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยโบราณสถานและอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์’ พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยของคนไทยนั่นเอง
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของยุครัตนโกสินทร์ ผ่านห้องจัดแสดงที่ทันสมัย 9 ห้อง โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 มี 7 ห้องนิทรรศการ และเส้นทางที่ 2 มี 2 ห้องนิทรรศการ
พวกเราตัดสินใจเลือกชมนิทรรศการเส้นทางที่ 1 ซึ่งครั้งนี้เราได้พี่ๆ เจ้าหน้าที่เป็นคนพาเดินและให้ข้อมูลต่างๆ โดยเริ่มที่ ‘ห้องดื่มด่ำย่านชุมชน’ ที่หยิบเอา 12 ชุมชนเก่าแก่บนเกาะรัตนโกสินทร์มาแนะนำทำความรู้จัก ก่อนจะต่อด้วย ‘ห้องเกียรติยศแผ่นดินสยาม’ พบกับโมเดลขนาดใหญ่ของพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งชมพระแก้วมรกตในเครื่องทรงครบทั้ง 3 ฤดู ก่อนจะข้ามประตูย่ำค่ำเข้าไปสู่เขตพระราชฐานชั้นใน เขตต้องห้ามสำหรับผู้ชาย สถานที่รังสรรค์ศิลปวิทยาการแห่งยอดกุลสตรีไทยสมัยก่อน
นอกจากความยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็พาเราไปเรียนรู้ถึงความเป็นมาเป็นไปของมหรสพศิลป์และการละเล่นนานาชนิดของคนไทย ผ่าน ‘ห้องเรืองนามมหรสพศิลป์’ อย่างหนังใหญ่ โขน รำ ละคร และหุ่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุกๆ ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ลองฝึกเชิดหุ่นกระบอกด้วยตัวเองอีกด้วย
นอกจากสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ไทยเรานั้นก็มีขนบธรรมเนียมที่ยิ่งใหญ่ที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่โบราณมากมาย โดย ‘ห้องลือระบิลพระราชพิธี’ จะเล่าเรื่องราวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีที่สำคัญขึ้นหลายพระราชพิธี อย่างพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อบูชาขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรไทยผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ พร้อมชมความตระการตาของพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรูปแบบ 3 มิติ
ซึ่งนอกจากห้องที่กล่าวมานี้ ก็ยังมี ‘ห้องสง่าศรีสถาปัตยกรรม’ ‘ห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์’ และ ‘ห้องเยี่ยมยลถิ่นกรุง’ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับความเป็นไทยในหลากหลายรูปแบบอีกด้วย
วันทำการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดวันจันทร์)
เวลา : 09.00 – 17.00 น.
เบอร์ติดต่อ : 0 2621 0044
อัตราค่าเข้าชม : คนไทย 70 บาท, ชาวต่างชาติ 100 บาท, เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุ ภิกษุ และผู้พิการ ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง : ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ และรถโดยสารประจำทางสาย 1-8 (59), 1-80E, 2-32E (70 ทางด่วน), 4-40 (56), 47
03 | มิวเซียมสยาม (Museum Siam)
อาคารหลังใหญ่ที่ฉาบสีเหลืองอ่อน ด้านหน้าประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมแปลกตา เราเรียกว่า ‘มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้’ (Museum Siam : Discovery Museum) พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แนว Discovery Museum แห่งใหม่ของคนเมือง ที่ตั้งอยู่บนถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2551 ดูแลโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
มิวเซียมสยาม มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่แสดงตัวตนของชนชาติไทย เพื่อให้ทุกคนโดยเฉพาะวัยเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจรากเหง้าของชาวไทย โดยเฉพาะคนในเขตเมืองบางกอกหรือกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ เน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้เยี่ยมชม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน ผ่านการนำเสนอด้วยสื่อผสมหลายรูปแบบ ทำให้มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้เข้าชมได้เป็นอย่างยิ่ง
แม้ไม่ใช่วันหยุด แต่ผู้คนก็หลั่งไหลกันมาอย่างคับคั่ง ซึ่งภายในมีนิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ เป็นนิทรรศการจัดแสดงถาวร มีเนื้อหามุมมองความเป็นไทย และพัฒนาการความเป็นไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่าน 14 ห้องนิทรรศการ เช่น เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ อาหาร การแต่งกาย การศึกษา วัฒนธรรมร่วมสมัย พร้อมกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์มาให้ร่วมสนุกกัน
ซึ่งนอกจากนิทรรศการถาวรแล้ว ก็ยังมีนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งเป็นความร่วมมือของมิวเซียมสยามและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน ชื่อนิทรรศการ ‘สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน’ (Tattoo Color, Tattoo Honor : Indigenous Tattoo in Taiwan and Thailand) ที่ไม่เพียงนำเอาเรื่องราวการสักของคนไทยมาบอกเล่าเท่านั้น แต่ยังนำเอาการสักของกลุ่มชาติพันธุ์ในไต้หวันที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนและหาชมได้ยากมาให้ชมกัน
สำหรับบริการอื่นๆ ของพิพิธภัณฑ์ก็มี ‘ห้องสมุด’ ที่เป็นแหล่งสะสมคลังความรู้รวบรวมหนังสือและสื่อต่างๆ ไว้มากมาย ‘ร้านกาแฟ’ ‘ร้านอาหาร’ ‘ร้านขายของที่ระลึก’ และมี ‘พื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์’ เปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้งานได้
วันทำการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
เวลา : 10.00 – 18.00 น.
เบอร์ติดต่อ : 0 2225 2777
อัตราค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 100 บาท, นักเรียน นักศึกษา 50 บาท
การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสนามไชย
04 |พิพิธบางลำพู (Banglamphu Museum)
‘บางลำพู’ ที่เรารู้จักเป็นย่านหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมน้ำ แต่หลังจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ย่านนี้คึกคักและมีชีวิตชีวาขึ้น เพราะนอกจากจะกลายเป็นแหล่งพำนักของบรรดาเจ้าขุนมูลนายแล้ว ประชาชนพลเมืองหลายเชื้อชาติก็ต่างพากันหลั่งไหลเข้ามาจับจองที่พักอาศัยในย่านนี้ จนทำให้เกิดอาชีพมากมาย เช่น ชาวจีนนิยมทำการค้า ชาวมุสลิมมีฝีมือทำทอง ชาวลาวทำเครื่องเงินเครื่องถม เป็นต้น
ปัจจุบันบางลำพูเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งค้าขายเสื้อผ้า รวมไปถึงยังเป็นแหล่งชิลที่ชาวต่างชาตินิยมบินมาท่องเที่ยว ในทางกลับกัน ภาพในอดีตที่เคยงดงามก็ค่อยๆ ถูกกาลเวลาลบเลือนหายไป ดังนั้นเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและซึมซับความงดงามที่เคยมีอยู่ ‘พิพิธบางลำพู’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
โชคดีที่เรามาทันรอบสุดท้ายของการเดินชมพิพิธภัณฑ์ โดยมีพี่ๆ เจ้าหน้าที่จากกรมธนารักษ์รับอาสาพาเราเดินชมรอบๆ พี่เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า เดิมทีพิพิธบางลำพูเป็นบ้านของ ‘พระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร’ หรือ ‘เอม ณ มหาไชย’ อธิบดีกรมการคลังในรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนนำไปใช้งานหลายรูปแบบ จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อเปิดเป็น ‘โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช’ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนวิชาการพิมพ์แห่งแรกของไทย โดยสร้างอาคารคอนกรีตรูปตัวแอล บริเวณเดียวกันยังมีโรงงานที่เป็นอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อนจะหยุดการเรียนการสอนของโรงเรียนลงในอีก 14 ปีต่อมา และเหลือไว้แค่โรงพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ภายหลังหมดสัญญาเช่า พื้นที่นี้ได้ถูกทิ้งร้าง จนต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศให้โรงพิมพ์คุรุสภาขึ้นทะเบียนเป็น ‘โบราณสถานแห่งชาติ’ และกรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงที่ราชพัสดุแห่งนี้ให้เป็นพิพิธบางลำพู ศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชน ใน พ.ศ. 2555
ในส่วนของอาคารคอนกรีตรูปตัวแอลชั้น 2 เราได้ชม ‘นิทรรศการกรมธนารักษ์’ นิทรรศการที่ถ่ายทอดบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ตั้งแต่การผลิตและบริหารเหรียญกษาปณ์ การดูแลรักษาและจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน และการบริหารที่ราชพัสดุ
เมื่อสิ้นสุดอาคารคอนกรีต เปิดประตูออกมาตรงทางเดินที่เชื่อมกับชั้น 2 ของอาคารเรือนไม้ เป็นพื้นที่จัดแสดง ‘นิทรรศการชุมชนบางลำพู’ โดยแบ่งเป็นห้องจัดแสดง 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ห้อง ‘สีสันบางลำพู’ ที่เล่าเรื่องราวในวันวานของบางลำพูมาจนถึงปัจจุบัน ย่านที่เต็มไปด้วยสีสัน แหล่งรวมอาหาร สถานที่บันเทิง และห้อง ‘เบาะแสจากริมคลอง’ ห้องที่พาเราย้อนกลับไปในอดีต เพื่อไปดูความหลากหลายของเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันในย่านบางลำพู การขุดคลองรอบกรุงของแรงงานพม่า ไปจนไปถึงวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ กระทั่งอารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามา จึงทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนบางลำพูเปลี่ยนแปลงไป โดยทั้งหมดเราจะได้ชมผ่านภาพยนตร์ที่ฉายลงบนผนังและพื้นผิวน้ำ ซึ่งถ้ามาสัมผัสด้วยตัวเองรับรองว่าต้องตื่นตาตื่นใจเหมือนกับเราแน่นอน
หลังชมภาพยนตร์เสร็จ เราเดินข้ามสะพานมาเพื่อจะพบกับนิทรรศการส่วนที่ 2 คือ ‘พระนครเซ็นเตอร์’ ที่จำลองเอาวิถีชีวิตของชาวย่านบางลำพูในวันวาน ที่เคยเป็นศูนย์รวมมหรสพหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นละครร้อง โรงหนัง โรงลิเก รถราง และร้านค้าที่มีชื่อเสียงอย่างร้านกาแฟนันทิยา ร้านขายรองเท้าหนัง Big Buffalo ร้านเสื้อนพรัตน์ ร้านตัดเสื้อเชิ้ตร้านแรกของไทย ภัตตาคารอั้นเฮียงเหลา และห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งฮั่วเส็ง ที่ขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย เครื่องสำอาง ผ้า แฟชั่น และอุปกรณ์ตัดเย็บต่างๆ
ขยับมาอีกหน่อยจะเป็นห้อง ‘ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า’ โซนนี้จัดแสดงของดีบางลำพูที่ซุกซ่อนอยู่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ อย่างศิลปะการแทงหยวก การทำแผ่นทองคำเปลวด้วยมือ การทำเครื่องถม การปักชุดโขน ข้าวต้มน้ำวุ้น บ้านดนตรีดุริยประณีต ร้านลานทอง ร้านธงวันชาติ หรือแม้กระทั่งมัสยิดจักรพงษ์ แหล่งบ่มเพาะช่างทองหลวงของไทย นอกจากนี้ยังมีห้อง ‘ที่นี่บางลำพู’ สำหรับเรียนรู้ประวัติศาสตร์บางลำพูแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 และมีภาพที่พูดถึงเรื่องราวของบุคคลสำคัญของย่านบางลำพู พร้อมทั้งจำลองต้นบางลำพูซึ่งนำส่วนหนึ่งมาจาก ‘ลำพูต้นสุดท้าย’ ที่ได้ล้มตายไปในช่วงอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554
และชั้นล่างของอาคารเรือนไม้ได้จัดทำเป็น ‘ห้องสมุดชุมชนบางลำพู’ ที่รวบรวมหนังสือหายากและข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บางลำพูเอาไว้เยอะที่สุดในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ตอนเราไปทางพิพิธภัณฑ์กำลังปิดปรับปรุง
วันทำการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์)
เวลา : วันอังคาร-วันศุกร์ 08.30 – 16.30 น., วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 10.00 – 18.00 น.
เบอร์ติดต่อ : 0 2281 9828
อัตราค่าเข้าชม : บุคคลทั่วไป 30 บาท, เด็ก/นักเรียน อายุ 10 – 18 ปี 10 บาท, ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ผู้พิการ และนักบวชทุกศาสนา ยกเว้นค่าเข้าชม
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 3, 6, 9, 30, 32, 33, 53, 64, 524 และเรือด่วนเจ้าพระยา
05 |บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย (Historic Hut Charoen Chai Community)
‘คนไทยเชื้อสายจีน’ คือกลุ่มคนที่เปรียบเสมือนพี่เหมือนน้องกับชาวไทยมาตั้งแต่อดีต และถ้าพูดถึงกลิ่นอายจีนอันเข้มข้น เราเชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องนึกถึง ‘งิ้ว’ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคณะงิ้วแห่ง ‘ชุมชนเจริญไชย’ ที่ตอนนี้ได้สละบ้านพักเลขที่ 32 ซึ่งเป็นที่พักของคณะงิ้วจีนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ‘บ้านเก่าเล่าเรื่อง’ ที่ชั้น 2 เพื่อแสดงเรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนเจริญไชย พร้อมด้วยข้าวของเครื่องใช้จากคณะจีน ซึ่งเปิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554
เมื่อไปถึง เราเดินลัดเลาะเข้าตรอกของชุมชนเจริญไชยเพื่อไปยังบ้านเลขที่ 32 ห้องแถวหลังเก่าที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวมากมาย ประตูบานเฟี้ยมด้านล่างเปิดต้อนรับ สองฝาผนังแปะภาพและข้อมูลเบื้องต้น ชักชวนให้เดินขึ้นบันไดไม้เก่าไปพบประวัติชุมชนเจริญไชยและคณะงิ้ว
เมื่อขึ้นไปยังชั้น 2 เราเริ่มจากมุมทำความรู้จัก ‘กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย’ ทำให้เรารู้ว่า ย่านเจริญไชยคือพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยตึกแถวริมถนนเจริญกรุง ถนนพลับพลาไชย และตรอกเจริญไชย เมื่อร้อยกว่าปีก่อน บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชุมชนชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนที่ร่วมกันสร้างวิถีชีวิตและวัฒนธรรมให้เติบโตมาพร้อมๆ กับกรุงเทพมหานคร และสืบทอดสายเลือดมาจนปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ชุมชนเจริญไชยคือศูนย์รวมสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ เครื่องแต่งงานของชาวจีนที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย รวมไปถึงอาหารและขนมจำนวนมาก ทั้งอาหารแต้จิ๋วโบราณ ร้านกาแฟทั้งแบบโบราณและกาแฟสด
รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับเทศกาลสำคัญต่างๆ ของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตรุษจีน เทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลกินเจ เทศกาลไหว้ขนมอี๊ (ขนมบัวลอย) เทศกาลหยวนเซียว (เทศกาลโคมไฟ) หรือวันสารทจีนก็มี
ถัดจากมุมความรู้ บนชั้น 2 ยังจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมายของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน โทรศัพท์ เครื่องคิดเลข หนังสือ โทรทัศน์ ภาพถ่ายผู้คนและชุมชนในอดีต รวมกับมุม ‘หลังโรงงิ้ว’ ที่ถ่ายทอดความเป็นอยู่ของ ‘คณะงิ้วเฮียเฮง’ และให้ความรู้เกี่ยวกับงิ้วในเมืองไทย และยังมีการจัดจำลองโต๊ะไหว้พระจันทร์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของไหว้ในเทศกาลต่างๆ
หากใครอยากซึมซับเรื่องราวของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนที่ชุมชนเจริญไชย เราแนะนำให้ไปช่วงเช้า หลังเที่ยวพิพิธภัณฑ์เสร็จจะได้ต่อด้วยการหาของกินตำรับจีนรสดั้งเดิม แล้วอย่าลืมซื้อหนังสือ ‘บันทึกเจริญไชย : คนจีนสยาม’ ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสังคมจีนสยามและเจริญไชยจากอดีตสู่ปัจจุบันติดไม้ติดมือกลับไปอ่านกันด้วยนะ
วันทำการ : วันจันทร์-วันเสาร์ (ปิดวันอาทิตย์)
เวลา : 09.30 – 17.00 น. (เข้าชมเป็นหมู่คณะแจ้งล่วงหน้า)
เบอร์ติดต่อ : 08 1567 1142, 08 3187 8633
อัตราค่าเข้าชม : ฟรี
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 1, 4, 7, 21, 25, 35, 40, 49, 53, 73, 73ก, 85, 507, 529, 542
06 | บ้านหมอหวาน บำรุงชาติสาสนายาไทย (Baan Mowaan)
ตามกลิ่นสมุนไพรไทย ลัดเลาะเข้าไปในตรอกเล็กๆ บนถนนบำรุงเมือง พบกับอาคารโคโลเนียลหลังเก่าอายุกว่า 95 ปี ซึ่งด้านหน้าติดป้ายว่า ‘บำรุงชาติสาสนายาไทย’ หรือเรียกสั้นๆ ให้ติดปากว่า ‘บ้านหมอหวาน’ พิพิธภัณฑ์แห่งตำรับยาไทย มรดกตกทอดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
เหตุที่สถานที่นี้ชื่อว่าบ้านหมอหวาน นั่นเพราะตำรับยาไทยสืบทอดมาจาก ‘นายหวาน รอดม่วง’ แพทย์แผนโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ปรุงสูตรยาไทยหลากหลายชนิด ต่อมาใน พ.ศ. 2466 ยุคสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตราพระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับฝั่งตะวันตก หมอไทยยุคนั้นจึงปรับตัวให้ทันสมัย รวมถึงคุณหมอหวาน ที่ตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้ขึ้น พร้อมตั้งชื่อว่าบำรุงชาติสาสนายาไทย เพื่อเปิดเป็นคลินิกเล็กๆ และใช้เป็นสถานที่สำหรับปรุงตำรับยา ที่ยืนหยัดมั่นคงเป็นขุมความรู้เรื่องการปรุงยาไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้บ้านหมอหวานตกทอดสู่เหลนอย่าง ‘เอ๊ะ-ภาสินี ญาโณทัย’ ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้สืบทอดตำรับยาไทย และปรับเปลี่ยนบ้านให้เป็นทั้งร้านขายยา สถานที่ปรุงยาโบราณฉบับหมอหวาน และพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมซึ่งเป็นขุมความรู้เรื่องการปรุงยาไทย
ภายในอาคารละลานตาไปด้วยวัตถุโบราณนานาชนิดตั้งแต่รุ่นหมอหวาน ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวของหยูกยาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นตู้ไม้กระจก ที่จัดเป็นวินโดว์ดิสเพลย์โชว์ขวดยาโบราณ อุปกรณ์สำหรับปรุงยาต่างๆ เช่น รางบดยาโบราณ ที่ใช้บดสมุนไพรตากแห้งให้เป็นผงละเอียดก่อนนำไปปรุงยา หรือแม่พิมพ์รูปทรงต่างๆ ทั้งวงกลม วงรี รูปหัวใจ สำหรับจำแนกชนิดยา พร้อมจัดแสดงเครื่องมือแบบฝรั่งที่หมอหวานเคยใช้งาน เช่น หูฟัง ปรอทวัดไข้
นอกจากอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ภายในบ้านหมอหวานยังมีตัวอย่างสมุนไพรที่แปลกทั้งชื่อและรูปร่างให้เราศึกษา ซึ่งมีทั้งสมุนไพรที่มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ โดยสมุนไพรที่ตอนนี้ช่างหายากแต่บ้านหมอหวานยังมีคือ ‘ชะมดเช็ด’ ไขที่เกิดจากต่อมอวัยวะเพศของชะมด มีสรรพคุณในการรักษากลิ่นให้ติดทน มักใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอม และเป็นตัวนำพาฤทธิ์ยาเข้าสู่ร่างกาย ‘เห็ดนมเสือ’ เห็ดที่เกิดจากน้ำนมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อนที่หยดลงตามพื้นดิน มีรสเย็น ช่วยรักษาโรคหอบหืด ปวดหู และปวดแสบปวดร้อน รวมถึง ‘อำพันทอง’ ที่ได้จากอสุจิปลาวาฬ และ ‘คุลิก่า’ ที่ได้จากนิ่วในถุงน้ำดีของค่าง
มาถึงพิพิธภัณฑ์บ้านหมอหวาน จะขาด ‘ยาโบราณ’ ไปคงไม่ได้ โดยตัวยาขึ้นชื่อของที่นี่คือ ‘ยาหอมโบราณ’ สูตรดั้งเดิมกว่าร้อยปีที่มีถึง 4 ตำรับ ซึ่งยาหอมเกิดขึ้นในรั้ววังตั้งแต่สมัยอยุธยา ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่สามัญชนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มีสรรพคุณดูแลร่างกาย ช่วยให้เลือดลมไหลเวียน ร่างกายสดชื่น ซึ่งตอนนี้บ้านหมอหวานได้ปรับรสชาติยาหอมให้ทานง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้รสขมน้อยลง แต่ยังคงรักษาสรรพคุณของยาหอมไว้ พร้อมกับบรรจุมาในกล่องสเตนเลสสีพาสเทลสุดน่ารัก
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอาคารของบ้านหมอหวานยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2557 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ยืนหยัดเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่สานต่อลมหายใจของ ‘ยาไทยแผนโบราณ’ ถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
วันทำการ : ปัจจุบันปิดให้เยี่ยมชม แต่สามารถกดกริ่งเพื่อซื้อสินค้าที่ด้านนอกของตัวอาคารหรือสั่งซื้อออนไลน์เพื่อจัดส่งทางไปรษณีย์
เบอร์โทรศัพท์ : 0 2221 8070
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 12, 35, 42, 508 หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามยอด ทางออก 3
07 | พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน (Berlin Pharmaceutical Museum)
สองเท้าก้าวออกจากรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีวัดมังกร เราเดินมุ่งตรงไปยังอาคารสีเหลืองนวลที่ตั้งอยู่หัวมุมแยกเสือป่า นั่นคือ ‘พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน’ ซึ่งถ้าย้อนไทม์แมชชีนกลับไปเมื่อ 87 ปีที่แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือคลินิกของ ‘คุณหมอชัย ไชยนุวัติ’ ที่เอาไว้รักษาชาวสยามให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย
เมื่อเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ความประทับใจแรกที่สัมผัสได้เลยคือ คนนำชมวัยเกษียณที่ออกมาต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวของห้างขายยาเก่าแห่งนี้
เริ่มต้นการเดินทางของห้างขายยาเบอร์ลินด้วยการเล่าประวัติต้นตระกูลของคุณหมอชัย ซึ่งอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่จนมาตั้งรกรากในประเทศสยาม จนวันหนึ่งคุณหมอชัยก็สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ของเยอรมันในประเทศจีน จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ห้างขายยาเบอร์ลิน’ เพื่อให้เกียรติสถาบันและครูผู้สอน
เมื่อคุณหมอชัยเรียนจบ ก็กลับประเทศไทยมาเปิดคลินิก ถือเป็นคลินิกเอกชนแบบตะวันตกแห่งแรกๆ ของย่านเจริญกรุง-เยาวราช ซึ่งในส่วนนี้จัดแสดงเอกสารส่วนตัวและเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนการค้าเบอร์ลินของคุณหมอชัย รวมถึงป้ายชื่อร้านสุดคลาสสิกในยุคแรก
เมื่อเดินเข้ามาเรื่อยๆ จะพบกับห้องปรุงยาจำลอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย พร้อมกับเอกสารและตำราทางการแพทย์ภาษาเยอรมัน สมุดจดสูตรยา รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ประจำ เช่น เข็มฉีดยา ภาชนะเก็บสำลี หม้อต้ม กล้องจุลทรรศน์ รวมถึงมีวิดีโอแสดงถึงกระบวนการปรุงยาและจ่ายยาแก่ผู้ป่วยด้วย
ตลอดการชมพิพิธภัณฑ์ เราเห็นถึงการอุทิศตนให้กับการรักษาคนไข้ของคุณหมอชัย และยังได้เห็นความชาญฉลาดในการคิดค้นสูตรยาดีๆ จนได้รับการยอมรับในวงกว้าง ซึ่งการแปลงโฉมคลินิกเก่าให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ เกิดจากความตั้งใจของลูกชายคนโตของคุณหมอชัยที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้แก่คุณพ่อ และเป็นการฉลองครบรอบ 83 ปีของห้างขายยาเบอร์ลินอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลินเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การแพทย์ที่เราอยากให้ทุกคนตีตั๋วเข้ามาชม เพื่อให้เห็นถึงความพยายามของคนคนหนึ่งที่ทำเพื่อส่วนรวม แล้วจะรู้เลยว่า เม็ดยาที่เราซื้อกินตามคลินิก กว่าจะผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายดายเลยจริงๆ
วันทำการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์
เวลา : 08.30 – 16.30 น.
อัตราค่าเข้าชม : 50 บาท ใช้เป็นส่วนลดคาเฟ่ได้ 10%
การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีวัดมังกร
08 | พิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (Museum of Thai Education)
เดินจากปากคลองตลาดสู่ถนนตรีเพชร เราเห็นเรือนสีเหลืองยาวที่ตั้งเด่นตามแนวถนน นั่นคือ ‘อาคารสวนกุหลาบวิทยาลัย’ หรือที่ชาวสวนกุหลาบฯ เรียกกันว่า ‘ตึกยาว’ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอคลาสสิก โดยอาคารเรียนหลังนี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2530 อีกทั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นใน พ.ศ. 2543 อีกด้วย
ใครจะคิดว่าในอาคารเรียนหลังยาวแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของ ‘พิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ’ ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรที่เล่าถึงการเดินทางของโรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาไทยที่ทำให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของการเรียนการสอนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 14 ห้องจัดแสดง ซึ่งเล่าถึงประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของโรงเรียนหลวง การเก็บสะสมของโบราณต่างๆ ไปจนถึงเรื่องราวของศิษย์เก่าที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
อย่างห้อง ‘จากวังสู่วัด’ ภายในจัดแสดงเรื่องราวการเดินทางของโรงเรียนตั้งแต่ย้ายออกมาจากพระบรมมหาราชวัง ผ่านร้อนผ่านหนาวจนมาลงหลักบนถนนตรีเพชรแบบทุกวันนี้ และ ‘ห้องภูมิปัญญาครูสวนกุหลาบวิทยาลัย’ ที่จัดแสดงสิ่งของโบราณต่างๆ ไว้มากมาย เช่น หนังสือเรียน ระฆังบอกเวลา ไม้เรียว เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
ห้อง ‘เกียรติภูมิชาวสวนกุหลาบวิทยาลัย’ เป็นความภาคภูมิใจของชาวสวนกุหลาบฯ เพราะห้องนี้ได้รวบรวมภาพและเกียรติประวัติของศิษย์เก่าบุคคลสำคัญของประเทศชาติ เช่น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ผู้วางรากฐานการศึกษาไทย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และบุคคลสำคัญอีกมากมาย
มาจนถึงห้อง ‘เอกสารโบราณและจดหมายเหตุสวนกุหลาบ’ ที่เก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่างๆ เช่น ทะเบียนคะแนน ทะเบียนประวัติ รวมถึงเอกสารสำเนาพระราชหัตถเลขาที่เกี่ยวกับการก่อตั้งสถาบัน
สิ่งที่เราประทับใจตลอดการชมนิทรรศการคือ ‘ยุวมัคคุเทศก์’ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นน้องๆ นักเรียนสวนกุหลาบฯ ทำให้เราเห็นถึงการผลักดันของโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ชอบตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน เพื่อที่วันหนึ่งพ้นรั้วมัธยมฯ ออกไป จะเติบใหญ่เป็นคนคุณภาพประดับสังคม
ใครที่อยากท่องเที่ยวในแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางการศึกษาของชาติ เราอยากให้มาเหยียบดินแดนสวนกุหลาบฯ นี้ดูสักครั้ง นอกจากจะเห็นการเดินทางของสวนกุหลาบฯ และภาพรวมของการศึกษาไทยแล้ว ยังได้เห็นการใช้ประโยชน์จาก ‘อาคารอนุรักษ์’ ได้อย่างเต็มคุณค่า
วันทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์
เวลา : 08.30 – 16.30 น.
เบอร์ติดต่อ : 0 2222 4196
อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม แต่ต้องติดต่อล่วงหน้า
การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามยอด
09 | พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ (Sunthon Phu Museum)
ถ้าเอ่ยถึง ‘สุนทรภู่’ คงไม่มีใครไม่รู้จักบรมครูกลอนแปดผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าของวรรณคดีชิ้นเยี่ยมอย่าง ‘พระอภัยมณี’
เรื่องราวของกวีที่มีอายุยืนยาวถึงสี่แผ่นดินคนนี้ ถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่ ‘พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่’ ณ วัดเทพธิดารามวรวิหาร สถานที่ประวัติศาสตร์ที่สุนทรภู่เคยใช้ชีวิตอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งนอกจากเป็นวัดที่ท่านใช้จำพรรษาและสอนหนังสือให้โอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แล้ว ยังเป็นสถานที่ที่ท่านใช้รังสรรค์ผลงานออกมามากมายใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกด้วย
เมื่อเดินเข้ามาในวัด ก่อนถึงพิพิธภัณฑ์เพียงไม่กี่ก้าวเราก็ได้ยินเสียงขับขานบทอาขยานอันไพเราะที่ลอยดังออกมาเหมือนเชื้อเชิญให้เราเข้าไปเยี่ยมชม และเมื่อก้าวข้ามผ่านประตู เราก็ได้พบกับพระครูและสามเณรของวัดที่จะทำหน้าที่พาชมในวันนี้
หลังจากกล่าวทักทาย ภายใน ‘เรือนมหากวีสามัญชน’ ก็ได้ฉายวีดิทัศน์ประวัติของสุนทรภู่เวอร์ชันการ์ตูน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ท่านถือกำเนิดขึ้น หัดอ่านเขียนเรียนหนังสือที่สำนักชีปะขาว (ปัจจุบันชื่อวัดศรีสุดารามวรวิหาร บางขุนนนท์) ไปจนถึงเข้ารับราชการ ออกบวช และเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีจุดที่เราสามารถถ่ายรูปคู่กับสุนทรภู่และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ โดยการใช้เทคโนโลยีภาพเสมือน (Augmented Reality) อีกด้วย
ออกจากเรือนกลาง พระครูพาเรามาที่ ‘ห้องแรงบันดาลใจไม่รู้จบ’ โดยภายในจัดแสดงประวัติความเป็นมา เส้นทางชีวิตของสุนทรภู่ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยังมีส่วนที่จัดแสดงผลงานของท่านที่ถูกดัดแปลงและนำมาถ่ายทอดในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน บทเพลง การ์ตูน ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้ชมลายลักษณ์อักษรจริงๆ ของสุนทรภู่ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ถัดมา ‘ห้องมณีปัญญา’ เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวการแต่งกาพย์กลอนของสุนทรภู่ในยุคสมัยต่างๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำให้เราได้เห็นผลงานที่มีความหลากหลายของท่าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ทั้งยังมีกิจกรรมน่าตื่นเต้นให้ได้ลองเรียงกาพย์ กลอน โคลง นิราศ ของสุนทรภู่ด้วยตัวเองอีกด้วย
สุดท้ายห้อง ‘ใต้ร่มกาสาวพัสตร์’ พระครูเล่าว่า เดิมทีห้องนี้เป็นกุฏิที่สุนทรภู่ใช้จำพรรษา โดยภายในได้นำอัฐบริขาร ข้าวของเครื่องใช้ของท่านเมื่อครั้งที่ท่านยังบวชเป็นพระภิกษุมาจัดแสดง เช่น บาตร ตาลปัตร ตะเกียง เตียง โต๊ะ ตู้ไม้ต่างๆ ล้วนถูกเก็บรักษาและอนุรักษ์ให้คงสภาพดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี จนทำให้กุฏิหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2537 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทุกห้องจะมีจุดให้เราได้ถ่ายรูปภาพกับสุนทรภู่ สิ่งของ และสถานที่ในอดีตด้วย
วันทำการ : ทุกวัน
เวลา : 10.00 – 17.00 น.
เบอร์ติดต่อ : 08 5120 8914
อัตราค่าเข้าชม : ฟรี
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 15, 47, 15, 47