‘ท่าเตียน’
ย่านที่คุ้นหูของคนมาแทบทุกรุ่น อย่างคนรุ่นเก่าหน่อยอาจจะรู้จักว่าเป็นตลาดค้าส่ง ส่วนคนรุ่นหลังมาน่าจะนึกถึงพวกของทะเลแปรรูปที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ทุกวันนี้ท่าเตียนกลายเป็นเพียงทางผ่านของนักท่องเที่ยวและท่าเรือข้ามฟาก
แต่จริงๆ แล้วที่นี่เป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่มีความเป็นมายาวนานพอๆ กับกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในทำเลแทบจะใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ โดยซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังของอาคารแบบตะวันตกสีเหลืองอายุกว่าร้อยปี ที่เรียงแถวโดดเด่นคู่กับพระบรมมหาราชวังและวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) จนหลายคนยามได้ไปเดินทอดน่องเตร็ดเตร่โซนเมืองเก่า อาจจะเดินผ่านไปมาโดยไม่รู้ว่ามีตลาดและบ้านเรือนอยู่ด้านใน
ในวันที่กระแสการพัฒนาและความเจริญถาโถมเข้าสู่ย่านเมืองเก่าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ท่าเตียนเป็นหนึ่งในย่านที่สายลมนั้นพัดผ่าน เราเดินลัดเลาะเข้าตรอกเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับชาวท่าเตียนที่เกิดและโตที่นี่ พาสำรวจร้านค้าต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่คู่กับตลาดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวของร้านกับคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้-วันที่ท่าเตียนกำลังเผชิญการปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้ง
ย่านการค้าเก่าแก่ ผู้คนจอแจเดินขวักไขว่ การขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือที่มาจากทั่วสารทิศ เป็นภาพที่คนรุ่นปัจจุบันไม่ทันเห็น แต่ความทรงจำนี้ยังแจ่มชัดอยู่ในความนึกคิดของชาวท่าเตียน
‘เฮียหมึก-พจน์ตะวัน ชินนาสวัสดิ์’ คือหนึ่งในประจักษ์พยานที่ทันเห็นท่าเตียนในเวอร์ชันดั้งเดิม วันที่ตลาดยังไม่เงียบเหงา และการค้ายังไม่ซบเซาเช่นทุกวันนี้
“ตอนผมเด็กๆ ทุกแผงมีการค้าหมด ไม่ได้เงียบๆ แบบนี้ ขายสารพัด ทั้งผักผลไม้ ของอุปโภคบริโภค” รองประธานชุมชนท่าเตียนชวนย้อนวันเวลา
ตรงตำแหน่งที่ตั้งของท่าเตียนแต่เดิมนั้น เป็นที่อยู่ของชุมชนชาวจีนและญวนมาตั้งแต่ก่อนหน้าจะสร้างกรุงเทพฯ ด้วยที่ตั้งที่อยู่ริมฝั่งน้ำ ทำให้สินค้าจากที่ต่างๆ มาลงตรงนี้ ก่อนพัฒนาเป็นตลาดค้าส่งที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในยุคสมัยหนึ่ง
ทว่าท่าเตียนในวันนี้มีเพียงซอยเดียวที่ยังมีการค้าขาย ลูกค้าที่มาซื้อก็บางตา แผงที่เหลือปิดไปเยอะเกินครึ่ง บ้างถูกใช้เป็นที่เก็บของ เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนรอบๆ ที่ปิดประตูเงียบ ช่างต่างไปจากบรรยากาศภายนอกริมถนนที่นักท่องเที่ยวเดินเบียดเสียดกันอย่างสิ้นเชิง
ที่มาของคำว่าท่าเตียนมาจากหลากหลายตำนาน แต่ที่ดูจะคุ้นหูกันคือเรื่องสนุกๆ ของยักษ์วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) ที่อยู่อีกฟากของแม่น้ำข้ามมาตีกับยักษ์วัดโพธิ์จนพื้นที่ริมน้ำหน้าวัดโพธิ์เรียบเตียน ขณะที่อีกความเชื่อหนึ่งผูกโยงเข้ากับคำว่า ‘ฮาเตียน’ ในภาษาเวียดนาม ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่ามาพร้อมกับการอพยพของชาวญวนเข้ามาในประเทศไทย และเรียกชุมชนที่อยู่อาศัยในดินแดนใหม่นี้เหมือนกับที่ที่จากมา
“แต่คำว่าท่าเตียนนี่ผมเชื่อว่ามาจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไฟไหม้แถบนี้หมดเลย ตอนหลังก็เลยสร้างอาคารแบบตะวันตกขึ้นมา” เฮียหมึกเล่าให้ฟัง ด้านหน้าศาลเจ้าพ่อกวนอู ศูนย์รวมใจของชาวชุมชน
เขาเชื่อว่าเหตุการณ์ไฟไหม้น่าจะทำให้เกิดชื่อเรียกของชุมชนบริเวณนี้ขึ้นมา ซึ่งในคราวนั้นมีบันทึกว่าไฟไหม้จากวังเจ้านายพระองค์หนึ่งที่สร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะลามมายังชุมชนชาวจีน และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างจนพื้นที่โล่งเตียน และกลายเป็นที่มาของชื่อย่านนับแต่นั้น
ต่อมาจึงเกิดการสร้างอาคารแบบนีโอคลาสสิกขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในผังล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ฮิตในหมู่ชนชั้นสูงและเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในขณะนั้น ซึ่งกลุ่มอาคารแถบท่าเตียนนี้ถือเป็นอาคารพาณิชย์แบบตะวันตกยุคแรกๆ ของประเทศเลยก็ว่าได้ โดยที่ด้านในยังมีตลาดบกให้จับจ่ายสินค้า พร้อมทั้งมีท่าเรือสำหรับขนส่งขึ้นลงสินค้าแต่ละประเภทเรียงรายอยู่ติดๆ กันเป็นจำนวนมาก
“ตลาดท่าเตียนสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ปีนี้ก็ร้อยสิบเจ็ดปีละ” เฮียหมึกบอกเล่าอายุของตลาด พลางชวนเงยหน้าดูโครงสร้างของตลาดรุ่นเก่าที่ยังแข็งแรงดูดีอยู่ แต่ยังไม่ทันได้ชื่นชมความสามารถของงานช่างโบราณที่ทิ้งมรดกไว้จนมาถึงรุ่นเรา ชาวท่าเตียนวัยเก๋าก็บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึงชุมชน
“โครงการรีโนเวตน่าจะเริ่มปีหน้า คนก็ต้องออกไปหาที่อื่นอยู่เป็นปีแหละ เพราะเขาจะเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาหมดเลย แผงที่ไม่สมบูรณ์ก็ทำให้เรียบร้อย ระบบระบายน้ำก็ทำใหม่หมด”
เร็วๆ นี้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีโครงการจะปรับปรุงตลาดท่าเตียนครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูให้อาคารอนุรักษ์อายุกว่าร้อยปีนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เหมือนเช่นอาคารด้านนอกและอีกหลายย่านเก่าที่ทยอยปรับปรุงมาแล้ว
แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ตามมาคือระยะเวลาการซ่อมแซมเป็นแรมปี ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตของคนดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ปิดกันเป็นปี แค่ปีกว่าก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่มันอาจจะดีกว่าเก่าก็ได้ในยุคหน้า” รองประธานชุมชนเผยอีกว่านี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกที่เข้ามาถึงชุมชนท่าเตียน คนที่นี่พบเจอการปรับปรุงจากภายนอกมาตลอดร้อยปีที่ผ่านมา อย่างล่าสุดก็ช่วงโควิด-19 ที่เจ้าของร้านต่างๆ ในท่าเตียนพลิกตำราหยิบเอาทุกกลยุทธ์มาหาทางรอดในภาวะที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน
แต่ถ้าถามถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ท่าเตียนเปลี่ยนไปมากในสายตาของคนในย่าน ต้องย้อนไปสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการปรับปรุงตลาดครั้งใหญ่ ทำให้ต้องย้ายตลาดไปอยู่ที่ปากคลองตลาดในปัจจุบันอยู่ช่วงหนึ่ง
“ท่าเตียนแต่ก่อนคึกคัก เหมือนปากคลองตลาดสมัยนี้ มาเริ่มเงียบเอาตอนจะปรับปรุงตลาดครั้งนั้นแหละ เขาให้ย้ายไปปากคลองฯ ก็ไป พอไปนู่นแล้วบางร้านขายดีก็ไม่กลับมาเลย กลับมาแค่บางเจ้า” ‘อาแปะนิสิต’ เจ้าของร้านไข่เค็ม ‘อี่ฮงไถ่’ เอ่ยปากขึ้นในตึกแถวเก่า
ร้านอี่ฮงไถ่เป็นร้านขายไข่สดและไข่เค็มเก่าแก่ของตลาดท่าเตียน คงสูตรดั้งเดิมมาเกือบร้อยปี ใช้กรรมวิธีการทำแบบเก่าเรื่อยมาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง โดยอาแปะเล่าถึงสูตรให้เราฟังอย่างไม่กั๊กว่า จะหมักไข่เค็มด้วยดินนาเกลือจากสมุทรสาครและสมุทรสงคราม ซึ่งต้องสั่งมาเก็บเป็นสต็อกไว้ เมื่อถึงคราวใช้ก็นำมาผสมเกลือเพิ่มนิดหน่อย จุ่มไข่เป็ดสดลงไปให้ดินติดทั้งใบ ใส่ลงลังไม้ที่ทำพิเศษ รอ 3 สัปดาห์ ก็เป็นอันใช้ได้
ด้วยวิธีพิเศษ ไข่เค็มของร้านจึงมีรสสัมผัสต่างไปจากเจ้าอื่น ไข่ขาวจะนุ่มนวลนิ่ม รสชาติหอมกว่าไข่เค็มทั่วไป เป็นที่ถูกใจลูกค้าคนเก่าคนแก่ ที่ต้องมาซื้อถึงท่าเตียน ซึ่งแต่ก่อนร้านขายไข่เค็มมีอยู่ทั่วตลาดกว่า 10 เจ้า แต่ตอนนี้เหลือแค่อี่ฮงไถ่เป็นเจ้าสุดท้าย
เจ้าของร้านไข่เค็มบอกว่าท่าเตียนเป็นบ้านเกิด เขาอยู่ตั้งแต่อาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นบ้านและทำการค้าในย่านนี้ยังเป็นเรือนแถวไม้ หลังจากเลิกเรียนก็หันมาช่วยกิจการที่บ้านจนทุกวันนี้ ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นแทบทุกการเปลี่ยนแปลงของตลาดท่าเตียน
“ผมอยู่มาตั้งแต่เกิด ตึกนี้เพิ่งสร้างตอนผมคลอด บ้านเก่าเป็นเรือนไม้ พ่อเขาก็ขอสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่าจะสร้างเป็นตึกแถว อายุเจ็ดสิบปีได้แล้วมั้ง เท่าอายุผม
“เท่าที่จำความได้ แต่ก่อนท่าเตียนไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเลแห้งหรือสินค้าแปรรูปอย่างระยะหลังมานี้ แต่ท่าเตียนเป็นตลาดใหญ่ที่มีแทบทุกอย่าง ที่มีเยอะก็จะเป็นตลาดผลไม้ ซึ่งจะมากองอยู่ด้านหน้าร้านอี่ฮงไถ่เต็มไปหมด
“แต่ก่อนมีผลไม้สดมากองอยู่หน้าบ้านเต็มไปหมด ปลาเค็มจากมหาชัยก็มี แรกๆ ที่ผมจำได้จะเป็นผลไม้ซะส่วนมาก แล้วก็มีปลาร้าเจ้าสองเจ้า เหมือนกับตลาดปากคลองสมัยนี้”
เท่าที่สังเกตเห็น ตลาดท่าเตียนจะแยกออกเป็นโซนๆ อย่างร้านของกินจะอยู่ในตลาด ส่วนกลุ่มร้านโชห่วยอยู่ในตึกแถวฝั่งริมแม่น้ำ ซึ่งน่าจะสะดวกต่อการขนส่งขึ้นลงสินค้าที่แต่ก่อนมาทางเรือ รวมถึงมีท่าเรือเมล์ขนส่งคนที่แล่นไปไกลถึงชัยนาทด้วย
“แต่ก่อน เรือมาจากที่ไหนๆ ก็มีท่าน้ำให้จอด จากอยุธยา ผักไห่ สุพรรณฯ ก็ลงเรือมา ส่วนมากมาทางเรือจากต่างจังหวัด ที่ผมจำได้ตอนเล็กๆ รถยังไม่เยอะเท่าไร มีทั้งเรือสองชั้น เรือชั้นเดียว แล้วจับกังก็มาแบกของไป สมัยนู้นจับกังเยอะ” อาแปะนิสิตเล่าให้ฟัง
แม้ท่าเตียนในอดีตจะขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดค้าส่งใหญ่ เจ้าของร้านโชห่วยจากทั่วสารทิศต่างต้องมารับเอาสินค้าจากตลาดท่าเตียนไปขายต่อ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ตลาดยี่ปั๊ว’ แต่อาแปะนิสิตบอกว่าเดี๋ยวนี้ร้านขายส่งเก่าๆ เริ่มทยอยตัวปิดไปมากแล้ว เพราะไม่มีผู้สืบทอดกิจการ เหลือเพียงร้านใหญ่อยู่ 2 – 3 ร้านที่ยังเปิดอยู่ ส่วนใหญ่ตึกที่กลายเป็นโรงแรมก็เคยเป็นร้านโชห่วยกันทั้งนั้น
เช่นเดียวกับร้านไข่เค็มอี่ฮงไถ่ ที่เจ้าของเปรยถึงแผนจะเลิกทำไข่เค็มแล้ว เนื่องจากอายุที่มากขึ้นและขาดคนรับช่วงต่อ โดยมีการปรับปรุงตลาดมาเป็นตัวเร่งอีกแรง
“ตลาดเขาว่าจะปรับปรุงแล้วให้ย้ายออกหมด สองถึงสามปีแหละกว่าจะได้เข้ามา ลูกค้าคงหายไปหมดแล้ว เราก็ต้องเลิกทำไปโดยปริยาย น่าจะต้องเปลี่ยนอาชีพแหละมั้ง เราอาจต้องย้ายไปขายไข่สดบ้าง มันก็สบายๆ หน่อย ของมาขายไป ไม่ต้องใช้แรงงาน”
หลังจากขอตัวลาจากร้านขายไข่ เฮียหมึกพาเราสาวเท้าเข้าด้านในตลาด พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงร่องรอยของร้านค้าต่างๆ ที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงแผงเปล่า มีแถบกั้นพื้นที่สีเหลืองดำกั้นเป็นระยะๆ เตรียมพร้อมสำหรับการปรับปรุงในเร็ววัน
“แผงซ้ายขวาเป็นแผงขายผลไม้ทั้งหมด โซนนี้เป็นขนุน สับปะรด มะพร้าว มะม่วง กล้วย ส่วนอาหารทะเลแห้ง แผงขายกะปิจะอยู่ตรงนี้ ร้านขายของแห้งของชำก็จะอยู่ไล่ไปเรื่อยๆ
“ในบรรดาร้านค้าของทะเลแปรรูปที่ตั้งเรียงกันอยู่หลายร้าน ‘ร้านไท้เฮง’ เป็นเจ้าที่เก่าสุดเลย เขาเน้นอาหารทะเลแห้งที่มาจากปักษ์ใต้ ส่วนร้านอื่นจะมาจากแม่กลอง สมุทรสาคร มหาชัย แต่ละร้านมีที่มาไม่เหมือนกัน” ไกด์กิตติมศักดิ์แห่งท่าเตียนให้ข้อมูล
‘เจ๊เป้า’ เป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของร้านไท้เฮง ครอบครัวที่ยึดทำอาชีพค้าของทะเลแปรรูปมาตั้งแต่รุ่นทวด โดยตั้งแผงอยู่ที่เดิมตรงนี้มาโดยตลอด ซึ่งเจ๊ได้บอกเล่าถึงความทรงจำครั้งอดีตที่เล่าต่อกันในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นเรื่องตลาดท่าเตียนให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม
“ร้านเราขายเป็นรุ่นแรกๆ เลยก็ว่าได้ ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อีก ตลาดนี่โล่ง ไม่มีใครเอาเลย แม่เราอายุประมาณห้าขวบ มาจากเมืองจีน ต้องหนีระเบิดไปอยู่คลองบางหลวง
“โรงเรียนตั้งตรงจิตรฯ แต่ก่อนเป็นสวนกุหลาบ เราฟังจากเหล่าโกวที่ตอนนี้อายุเก้าสิบแปดแล้วแต่ยังจำทุกอย่างได้ ตรงนั้นเขาปลูกกุหลาบ พอเครื่องบินบี-52 จะมาทิ้งระเบิด คนวิ่งกันป่าราบ แถวข้างโรงเรียนราชินีตอนนั้นเปลี่ยวมาก พอเสียงสัญญาณมาก็วิ่งกันเลย แต่ท่าเตียนไม่โดนนะ”
แต่ก่อนกลุ่มลูกค้าที่มาเดินจับจ่ายในตลาดท่าเตียนเป็นข้าราชการตามหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ตั้งอยู่ทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ พอต้องย้ายอาคารที่ทำการไปละแวกอื่น ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดท่าเตียนซบเซาลง
“ตอนนั้นมีกระทรวงพาณิชย์อยู่ข้างวัด กรมการค้าภายในก็ย้ายไป ลูกค้าพวกนี้เขามักซื้อของกลับบ้านกัน”
ร้านขายอาหารทะเลแปรรูปในตลาดท่าเตียนยังคงความดั้งเดิมอยู่หลายอย่าง หนึ่งอย่างที่ไม่ค่อยคุ้นตาคือการใส่สินค้าในลังกระดาษ เจ๊เป้าให้เหตุผลว่าเป็นเพราะแต่ก่อนจะขนสินค้าเป็นลังๆ มาทางเรือ แล้วนำมาตั้งวางขายเลย
สำหรับการปรับปรุงตลาดครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ร้านอาหารทะเลแห้งต้องปรับตัวตาม คือเปลี่ยนวิธีการขายเสียใหม่ ให้ถูกหลักอนามัยมากขึ้น ลดกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และทำให้ดูสะอาดตา
“ปลาหมึกต้องอันแพ็ก เพราะมีความชื้นอยู่ในตัว ต้องหยิบมาพลิก แต่ถ้าเอาไปอยู่ในถุงแล้วผูกไว้ก็ขายไม่ได้” เจ๊เป้าเห็นแย้ง “แต่ก่อนนักท่องเที่ยวก็มากัน ตลาดนี้เป็นตลาดเดียวมั้งที่เหลือในกรุงเทพฯ คุณไปบูรณะกี่ตลาดแล้วได้ผลไหม เราอยู่มาตลอดก็ไม่เคยเป็นแบบนี้ เราไม่มีที่ไป ไม่มีก๊อกสอง เรามีก๊อกเดียว”
กว่าครึ่งวันที่เฮียหมึกพาเดินทัวร์ทั่วชุมชนและตลาดท่าเตียน เราได้พบเจอมุมลับๆ ที่ซ่อนตัวอยู่อีกหลายที่ ได้เห็นท่าเตียนในแง่ที่ต่างออกไปจากที่เคยรู้จัก ทั้งศาลเจ้าต่างๆ ซึ่งเป็นพยานของความเป็นชุมชนคนจีนเก่าแก่ที่สร้างบ้านเรือนอาศัยกันมาเกินกว่าร้อยปี หรือห้องแถวหลังงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา อันเต็มไปด้วยลวดลายแบบตะวันตก ที่ในอดีตเคยเป็นร้านขายส่งสินค้านานาชนิด แต่ตอนนี้ถูกแผงเหล็กปิดซ่อนไว้จากสายตาคนภายนอก เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างท่าเรือที่ดำเนินการมานานปีทว่ายังไม่แล้วเสร็จ
อีกสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าจากความทรงจำของคนในชุมชนที่พบเจอการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนักต่อนัก เราสัมผัสได้ว่าทุกครั้งที่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะภายในหรือนอกชุมชน ท่าเตียนไม่เคยกลับมาเหมือนเดิมเลย ซ้ำยังค่อยๆ ลบความทรงจำเก่าๆ ร้านค้าดั้งเดิม และคนในชุมชนให้เลือนหายไปเรื่อยๆ ด้วยสายลมที่เรียกว่าการพัฒนาพื้นที่