เมื่อไม่นานนี้ มีการจัดเสวนา ‘MQDC Sustainnovation Forum 2022 เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤตอย่างไร’ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กรสำคัญด้านการพัฒนาเมือง ได้แก่ FutureTales LAB, RISC, Creative Lab และ Unisus-EEC โดยได้เปิดเผยข้อมูลวิจัยสภาพเมืองแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง พร้อมระดมวิธีการแก้ปัญหาจากหลายภาคส่วนเพื่อเตรียมรับมือวิกฤตต่างๆ และร่วมกันขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ในฐานะ Resilient City ไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืนมากที่สุด
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales LAB ได้นำเสนอการคาดการณ์อนาคตเมืองปี 2050 โดยพิจารณาจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อัตราการใช้พลังงาน และพฤติกรรมของผู้คน พบว่า โลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์ยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด เนื่องจากอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ผู้คนมากกว่า 200 ล้านคนต้องย้ายถิ่นฐาน และกว่า 400 ล้านคนต้องประสบภัยพิบัติจากการขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงภัยแล้งสุดขั้ว ซึ่งประเทศไทยเองก็หนีวิกฤตเหล่านี้ไม่พ้นแน่นอน เพราะการอพยพเคลื่อนย้ายประชากรและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก
ทาง FutureTales LAB ยังย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนในโลกอนาคตคือ ฝุ่น PM 2.5 จะสูงขึ้น 5 เท่า ขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะสูงขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน พร้อมเผยฉากทัศน์เมืองกรุงเทพฯ ในอนาคตปี 2050 จากการคาดการณ์อนาคตครั้งแรกในงานนี้ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ‘ฉากทัศน์เมืองในโดมฟอกอากาศขนาดยักษ์’ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มคนที่มีต้นทุนและโอกาสทางสังคมสูงเท่านั้น ขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่นอกโดม เผชิญกลุ่มหมอกควัน มลพิษ และวิกฤตน้ำท่วมอยู่เสมอ และ ‘ฉากทัศน์การโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์’ เพื่อแสวงหาพื้นที่ใหม่ในการดำรงชีวิต เป็นสองฉากทัศน์ที่น่ากังวลและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นจริง
จากแนวโน้มเมืองในอนาคตของไทยที่น่าจะเกิดวิกฤตที่สร้างความตื่นตระหนกและความเครียดต่อผู้คนสูงมาก รวมไปถึงข้อมูลที่ชี้ว่าในอนาคตประชากรบนโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) จึงมองว่าการแก้ไขต้องเริ่มต้นจากการสร้างสังคมเมือง โดยอิงจากกรอบความคิด ‘Resilience Framework for Future Cities : กลยุทธ์การรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคต’ สำหรับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้มีความพร้อมรับมือ (Resilience) กับความไม่แน่นอนของอนาคต โดยกรอบความคิดนี้ประกอบด้วยกลุ่มปัจจัยความไม่แน่นอน 3 ด้าน ได้แก่ กลุ่มธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Nature & Environment), การใช้ชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน (Living & Infrastructure) และกลุ่มสังคมและเศรษฐกิจ (Society & Economy)
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้ชี้แนวทางการแก้วิกฤตโลกอนาคตด้วยนวัตกรรมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน (Sustainnovation) การจัดกระบวนการทำงานด้านวิศวกรรมแนวใหม่ที่เริ่มจากการออกแบบระบบของโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เช่น การออกแบบระบบให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเย็นสบายโดยใช้ระบบปรับอากาศให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน และการร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราในวันหน้าอย่างมหาศาล
หากต้องการศึกษาประเด็นนี้เพิ่มขึ้นจาก ‘MQDC Sustainnovation Forum 2022’ รับชมเสวนาย้อนหลังได้ที่ t.ly/ThIt
Source :
Magnolia Quality Development Corporation | mqdc.com