5 ภาพยนตร์ LGBTQ+ ที่ขับเคลื่อนความรักเท่าเทียม - Urban Creature

“คนเท่ากัน สมรสเท่าเทียม”

จากมูฟเมนต์ความเท่าเทียมทางเพศที่กลายเป็นกระแสสังคมที่แข็งแรงขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วโลก เราได้เห็นหลายประเทศหันมาสนใจ และลงมือแก้ไขกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสได้อย่างถูกต้อง และได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ 

ในทางกลับกัน ประเทศไทยที่อ้างตัวเสมอว่า เป็นดินแดนเสรี กลับยังคงไม่มีหนทางที่ชัดเจนให้กับการผ่านกฎหมายนี้ จนมวลชนต้องลุกขึ้นมาล่ารายชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับศักดิ์และสิทธิ์ไม่ต่างจากใครๆ

ด้วยวาระที่ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน Urban’s Pick จึงอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจความสำคัญของ #สมรสเท่าเทียม ผ่าน 5 ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความรัก ความสัมพันธ์ และสิทธิของคู่รัก LGBTQ+ ในเดือนแห่งความรัก ที่ไม่ว่าคนเพศไหนก็ควรจะรักกันได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม

Your Name Engraved Herein

01 Your Name Engraved Herein (2020)

ไต้หวัน น่าจะเป็นประเทศในเอเชียที่เรียกว่า ‘ก้าวหน้าที่สุด’ ในมูฟเมนต์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะนอกจากจะเป็นประเทศแรกที่รัฐสภาให้ผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 2019 สื่อไต้หวันยังทำคอนเทนต์ที่ขับเคลื่อนสิทธิของคนเพศหลากหลายจำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง Your Name Engraved Herein ที่กวาดรายได้ไปกว่า 100 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน

ภาพยนตร์ดราม่าเรื่องนี้ พาผู้ชมย้อนกลับไปในยุคหลังยกเลิกกฎอัยการศึก (Martial Law : 1949 – 1987) โดยมีตัวละครหลักเป็นวัยรุ่นอย่าง A-han ที่มีความรู้สึกดีๆ ให้ Birdy เพื่อนสนิทในโรงเรียนคาทอลิก แต่ด้วยความที่สังคมไต้หวันมีรากมาจากวัฒนธรรมจีน ครอบครัวจึงคาดหวังในตัวลูกชายสูง ไม่ว่าใครในยุคนั้นที่รักเพศเดียวกันก็ถูกคนรอบข้างรังแก ทำให้ A-han ปิดกั้นความรู้สึกของตัวเอง ส่วน Birdy เองก็ตีตัวออกห่าง และเลือกคบหากับผู้หญิงแทน

“คุณชอบผู้หญิงได้ แต่ผมชอบผู้ชายไม่ได้สินะ ความรักของคุณยิ่งใหญ่กว่าผมเหรอ” ประโยคที่ A-han สนทนากับบาทหลวงที่เขาเชื่อใจคือการแสดงความเจ็บปวดและความคับแค้นใจต่อความไม่เท่าเทียม ขณะเดียวกันการที่ภาพยนตร์สอดแทรกแนวคิดการแต่งงานมีลูกนั้นก็ยังสะท้อนถึงกฎเกณฑ์ของรัฐที่สร้างเงื่อนไขในสังคมด้วย

ส่วนอีกความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ ผู้กำกับ ทีมงาน รวมถึงนักแสดงต่างออกมาเป็นกระบอกเสียงและซัปพอร์ตชาว LGBTQ+ อย่างเต็มที่ จึงนับว่าเป็นสื่อที่ขับเคลื่อนสิทธิของคนเพศหลากหลายทั้งในจอและชีวิตจริงไปพร้อมกัน

Portrait of a Lady on Fire

02 Portrait of a Lady on Fire (2019)

ภาพยนตร์รักที่ได้รับการชื่นชมว่า เปรียบเสมือนบทกวีและงานศิลปะมาสเตอร์พีซ ย้อนกลับไปในสมัยปลายศตวรรษที่ 18 ยุคนั้นไม่มีกล้องถ่ายรูป มาริยาน ได้รับการว่าจ้างให้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังเกาะแห่งหนึ่ง เพื่อวาดภาพ เอลูอีส ว่าที่เจ้าสาวผู้สูญเสียพี่สาว และต้องรับภาระแต่งงานเพื่อให้ครอบครัวสุขสบายขึ้นแทนพี่สาวของเธอ

นอกจากความรักที่ค่อยๆ ถูกถักทอโดยผู้หญิงสองคนแล้ว ความสัมพันธ์แบบ Sisterhood ที่พวกเธอกับสาวรับใช้มีให้กัน ยังเป็นจุดที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่า ‘ความเป็นผู้หญิง’ ได้อย่างนุ่มนวล และละเอียดอ่อน เผยให้เห็นจุดร่วมที่ผู้หญิงด้วยกันเข้าอกเข้าใจ

แน่นอน ต่อให้เราสัมผัสได้ว่า มาริยาน และ เอลูอีส รักกันเพียงไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความรักของทั้งสองกลับไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งด้วยสภาพสังคมในสมัยนั้น และด้วยเงื่อนไขส่วนตัว ยิ่งไปกว่านั้น ความรักเพศเดียวกันยังถูกมองเป็นเรื่องผิดแผก ต้องห้ามไม่ให้ใครล่วงรู้ ชะตากรรมของผู้หญิงในยุคนั้นจึงลำบากมาก อย่าง มารียาน เองก็ถูกห้ามไม่ให้วาดภาพเปลือยผู้ชาย หนำซ้ำยังต้องใช้ชื่อพ่อเป็นเจ้าของผลงาน เพราะกลัวขายภาพไม่ได้และไม่ได้รับการยอมรับ

น่าเศร้าที่ผู้หญิงในยุคนั้นแทบไม่ได้มีชีวิตเป็นของตัวเองเลย บางคนต้องเก็บงำความสามารถไว้เงียบเชียบ อยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว บางคนต้องยอมแต่งงานเพื่อยกระดับทางสังคม บางคนรักผู้หญิงอีกคน แต่ไม่สามารถเอื้อนเอ่ยต่อใครได้ แต่ถึงอย่างนั้น Portrait of a Lady on Fire ก็เป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคนได้อย่างงดงาม ตราตรึง และทรงพลัง

Brokeback Mountain

03 Brokeback Mountain (2005)

หากกฎเกณฑ์ในสังคม และกฎหมายที่มีมานานทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิไม่เท่าเทียมคนอื่น เราจะไม่ยอมปรับเปลี่ยนมันเพื่อพวกเขาจริงๆ หรือ

ภาพยนตร์ขึ้นหิ้งที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นโดย E. Annie Proulx ซึ่งถ่ายทอดความเจ็บปวดจากความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในปี 1963 หนังว่าด้วยเรื่องราวของ Jack และ Ennis สองคาวบอยหนุ่มที่ทำงานเลี้ยงแกะบนภูเขา Brokeback ในรัฐ Wyoming ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยกัน

หลังจากที่ทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันหลายวัน ความรักก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ทว่าทั้งคู่จำต้องเก็บซ่อนไว้ในใจ จนในที่สุดเมื่อห้ามใจไม่ได้ก็เกิดสัมพันธ์อันลึกซึ้ง และตามมาด้วยความซับซ้อนที่นำไปสู่เรื่องแสนเศร้า

สหรัฐอเมริกาในยุคนั้น โดยเฉพาะในรัฐ Wyoming ไม่ยอมรับความรักของเพศเดียวกัน ทั้งยังกำหนดข้อห้าม หากฝ่าฝืนอาจนำไปสู่ความอันตรายถึงชีวิต เหมือนที่ Jack ประสบชะตากรรม เท่านั้นไม่พอ ในภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นอีกว่ารัฐเองก็มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์กับ LGBTQ+ ทำให้ Ennis อาจไม่ได้เจอหน้าลูก เพราะคู่สมรสฟ้องร้องต่อศาลว่า เขามีพฤติกรรมเบี่ยงเบน และมีความเจ็บป่วยทางจิต จึงเข้าข่ายเป็นอาชญากร

นอกจากคาแรกเตอร์ของตัวละครที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อเหตุการณ์ในเรื่องแล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่า สภาพแวดล้อมและสังคมเองก็มีส่วนบีบให้ตัวละครทำหรือไม่ทำบางสิ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้วต่อให้ Ennis ยังมีชีวิตอยู่ ทว่าช่วงเวลาที่เหลือนั้นก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะเปิดเผยตัวตนไม่ได้ และต้องอยู่กับคนที่ไม่ได้รัก ถ้าอย่างนั้น มันคงไม่ต่างไปจากการตายทั้งเป็น

The Kids Are All Right

04 The Kids Are All Right (2010)

สำหรับใครที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวคอเมดี้ น่าจะถูกใจ The Kids Are All Right ไม่น้อย เพราะเป็นภาพยนตร์กระแสหลักที่เล่าเรื่องคู่รักเพศเดียวกันที่เลี้ยงดูลูกวัยรุ่นสองคนอย่างตรงไปตรงมา นอกจากมีรางวัลลูกโลกทองคำ ปี 2012 การันตีความดีงามแล้ว กระแสตอบรับจากผู้ชมก็ชื่นชมล้นหลามไม่แพ้กัน

เรื่องราวเริ่มต้นจาก Nic และ Jules คู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานและอาศัยในลอสแอนเจลิส รัฐที่เปิดกว้างเรื่องเพศในสหรัฐอเมริกา โดยทั้งสองคนให้กำเนิดบุตรด้วยการใช้ผู้บริจาคอสุจิคนเดียวกัน ทว่าวันหนึ่ง Laser และ Joni ลูกของพวกเธอกลับอยากตามหาผู้ให้กำเนิด จนในที่สุดก็ได้พบกับชายคนหนึ่ง

แม้ว่ามีผู้ชายเข้ามาพัวพันในความสัมพันธ์ของครอบครัวที่มีผู้เลี้ยงดูเป็นผู้หญิงทั้งคู่ แต่ภาพยนตร์ก็มุ่งเน้นการนำเสนอแก่นของความเป็นครอบครัวและความรักที่คู่รักมีต่อลูกมากกว่า

ในขณะเดียวกัน The Kids Are All Right ยังสื่อสารเป็นนัยๆ ว่า ครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นคนเพศหลากหลายมีปัญหาในครัวเรือน ขณะเดียวกันก็ราบรื่นและมีความสุขได้ไม่แตกต่างจากครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นชาย-หญิง และอาจเป็นสาระสำคัญที่หนังสะท้อนให้เห็นว่า สังคมควรมองว่านี่เป็นเรื่องปกติจริงๆ

1448 รักเรา…ของใคร

05 1448 รักเรา…ของใคร (2014)

ภาพยนตร์ไทยที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตรา 1448 ซึ่งไม่ครอบคลุมคู่รักเพศเดียวกัน เล่าเรื่องผ่านพิมและแพท คู่รักผู้หญิง ที่ต้องเผชิญกับอคติทางเพศจากครอบครัว และความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย

เราคิดว่า 1448 รักเรา…ของใคร สะท้อนชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่เวลาล่วงเลยจากปีที่หนังฉายมาแล้วเกือบ 10 ปี แน่นอนว่ามีคู่รักเพศเดียวกันหลายคู่อยู่ด้วยกันได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่ก็มีอีกหลายคู่ที่ยังบอกครอบครัวไม่ได้ เนื่องจากวัฒนธรรมและค่านิยมเก่าๆ ยังไม่ยอมรับคนเพศหลากหลาย หรือถ้ายอมรับได้ก็ต่อเมื่อไม่ใช่ลูกหลานตัวเอง

แต่สิ่งที่เลวร้ายมากกว่าการที่ครอบครัวไม่ยอมรับคือ รัฐไทยเองก็ไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเช่นกัน ในเรื่อง พิมและแพทจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องไม่ได้ ส่งผลให้พวกเธอไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐในฐานะคู่สมรสได้เลย 

ทั้งที่ปัจจุบันไทยได้หยิบอัตลักษณ์ของคนเพศหลากหลาย รวมถึงความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันมาเล่าผ่านละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์จำนวนไม่น้อย (เอาจริงรัฐเองก็หยิบฉวยเรื่องนี้มาหาประโยชน์อยู่บ่อยครั้ง เช่น การที่นายกฯ ชื่นชม 4MIX วงศิลปิน LGBTQ+ แนว T-Pop ที่ดังไกลถึงลาตินอเมริกา หรือ ททท.โปรโมตการท่องเที่ยวไทยโดยใช้ LGBTQ+ เป็นจุดขาย) แต่สิทธิ LGBTQ+ ในประเทศกลับยังไม่ก้าวหน้า ท้ายที่สุดก็ไม่รู้ว่าต้องรอกันอีกนานแค่ไหน

แค่ทำให้คนเท่าเทียมกัน มันยากนักหรือ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.