สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองปี 2022 ที่ Urban Creature ชอบ - Urban Creature

ดนตรีในสวน เทศกาลกรุงเทพฯ กลางแปลง แคมเปญการเมือง พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างมูฟเมนต์ที่เกิดขึ้นในเมืองตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนสุดท้ายของปี 2022

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีนี้เป็นปีที่มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังโรคระบาดที่สถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ ผู้คนกล้าออกไปใช้ชีวิต อีเวนต์มากมายเกิดขึ้น ความคิดสร้างสรรค์และพลังการขับเคลื่อนได้รับการเติมเชื้อเพลิง

ชาว Urban Creature เลยขอคัดเลือกมูฟเมนต์เจ๋งๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองปีนี้ มารวบรวมให้ทุกคนย้อนนึกถึงกันอีกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานของความหวังต่อบ้านเมืองนี้ เราจะได้มีแรงไปใช้ชีวิตและขับเคลื่อนความเชื่อของตัวเองกันต่อในปีหน้า

ปลดล็อกท้องถิ่น คณะก้าวหน้า

ปลดล็อกท้องถิ่น โดยคณะก้าวหน้า
ชื่อผู้เลือก : เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา
ตำแหน่ง : Senior Content Creator 

ด้วยความที่ย้ายจากนครปฐมไปอยู่ชลบุรีตั้งแต่ตอนเรียนประถมฯ ผสมกับเข้ากรุงเทพฯ อยู่เนืองๆ จนสุดท้ายได้มาเรียนมหาวิทยาลัยและทำงานที่กรุงเทพฯ ประสบการณ์และความเป็นอยู่ทั้งชีวิตสอนให้รู้ว่า ถ้าอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในแง่สาธารณูปโภคและการงานกับเงินเดือน ให้ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ 

เพราะต่อให้เมืองมันจะไม่น่าอยู่ เต็มไปด้วยมลพิษและปัญหารถติด แต่อย่างน้อยการมีขนส่งสาธารณะที่ค่อนข้างครอบคลุม เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก ได้ทำงานในสายงานที่สนใจ มีร้านหนังสืออิสระ โรงหนัง แกลเลอรี และสวนสาธารณะดีๆ รายล้อม ยังไงมันก็ดีกว่าการอยู่ในที่ที่ถ้าไม่มีรถยนต์ก็ไปไหนเองแทบไม่ได้ ไม่มีสายงานที่สนใจให้ทำ และมีแต่ห้างฯ กับสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติให้ไปเยือน

เราจึงดีใจมากที่เห็นคณะก้าวหน้าออกมาขับเคลื่อนเรื่องการเมืองในสเกลย่อย และได้มีการล่ารายชื่อปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อกระจายอำนาจจากส่วนกลางมาให้คนทำงานในพื้นที่ได้มีอำนาจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักที ยิ่งพอได้ไปพูดคุยกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ถึงประเด็นนี้ ก็ยิ่งทำให้อยากเห็นมูฟเมนต์การกระจายอำนาจและพลิกภาพการเมืองของไทยให้เกิดขึ้นจริง เพื่อที่ท้องถิ่นของเราจะได้พัฒนาขึ้นโดยคนที่อยู่ในพื้นที่ผู้สัมผัสปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น จะถูกรัฐสภาปัดตก แต่เรายังมีความเชื่อว่าในอนาคต การกระจายอำนาจจะเกิดขึ้นจริงได้ โดยประชาชนจะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหนก็ตาม

งานดนตรีในสวน

งานดนตรีในสวน
ชื่อผู้เลือก : อนรรฆพร ลายวิเศษกุล 
ตำแหน่ง : Content Creator

ในที่สุดเราก็ได้สัมผัสประสบการณ์นั่งฟังดนตรีในสวนสาธารณะแบบที่เคยวาดฝันไว้ หลังจากทางกรุงเทพมหานครได้จัด ‘งานดนตรีในสวน’ ขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ชาวกรุงเข้าถึงดนตรีกันแบบฟรีๆ ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ของพื้นที่สีเขียวหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ

เรามีโอกาสเข้าร่วมงานดนตรีในสวนครั้งแรกๆ ที่จัดขึ้นภายใต้นโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บริเวณสวนรถไฟ เขตจตุจักร ในตอนแรกเราไม่ได้คาดหวังอะไรกับงานดนตรีในสวนครั้งนั้นเลย คิดแค่ว่าอยากมีส่วนร่วมและสนับสนุนกิจกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเท่านั้น 

แต่ในช่วงเย็นที่วงดุริยางค์ซิมโฟนีเริ่มบรรเลงเพลง ผู้คนก็ค่อยๆ หลั่งไหลมาฟังเพลงกันเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ มีหลายคนตั้งใจพกเก้าอี้ปิกนิกจากบ้านมาจับจองพื้นที่ ส่วนคนที่เดินผ่านไปผ่านมาแล้วแวะมาร่วมสนุกก็มีเหมือนกัน จากนั้นผู้คนต่างพากันโบกมือและนั่งร้องเพลงไปพร้อมๆ กัน ทำให้บรรยากาศสนุกและเป็นกันเองมากๆ ถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นแบบง่ายๆ แต่เพิ่มความสุขให้ผู้คนและสร้างไดนามิกให้กับเมืองได้ไม่น้อย

แพลตฟอร์ม Traffy Fondue

แพลตฟอร์ม Traffy Fondue
ชื่อผู้เลือก : มณิสร วรรณศิริกุล
ตำแหน่ง : Content Creator

เพราะแพลตฟอร์มนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้พบเห็นปัญหาต่างๆ ภายในเมือง สามารถแจ้งเพื่อทำการแก้ไขได้ง่ายๆ ผ่านการกรอกข้อมูลทาง LINE Official @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงก์ lin.ee/nwxfnHw ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่การร้องเรียนเป็นเรื่องลำบาก ยุ่งยาก และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าถึงขั้นตอนใดแล้ว

การเข้ามาของ Traffy Fondue จึงเป็นเหมือนทางลัดให้กับประชาชนที่มีความต้องการแก้ไขปัญหาแต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ถือเป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน (Citizen Engagement) อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าภาครัฐให้ความร่วมมือในการพยายามแก้ปัญหาที่ได้รับร้องเรียนจากประชาชนมาก-น้อยแค่ไหน

เทศกาลฉายหนัง กรุงเทพฯ กลางแปลง

เทศกาลฉายหนัง กรุงเทพฯ กลางแปลง
ชื่อผู้เลือก : ณิชกมล บุญประเสริฐ
ตำแหน่ง : Content Creator

เราเชื่อว่าสำหรับชาวเมืองหลายคน หนังกลางแปลงอาจเป็นสิ่งแปลกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่น่าเคยสัมผัสการนั่งดูหนังกลางลานพร้อมกับผู้คนจำนวนมาก

แน่นอนว่าในยุคที่ตั๋วหนังแพง การเข้าถึงหนังเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยสำหรับหลายคน แต่การเกิดขึ้นของหนังกลางแปลงในปี 2022 ทำให้ทุกคนเข้าถึงสิ่งบันเทิงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แม้จะเป็นงานที่จัดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ช่วยสร้างความสุขให้กับชาวเมืองได้เป็นอย่างดี ยังไม่นับรวมโปรแกรมหนังที่มีหนังเก่า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของแวดวงหนังไทยมาเปิดให้ได้ชมกันอีกครั้ง (และอาจเป็นครั้งแรกของใครอีกหลายคน)

นอกจากนี้ อีเวนต์หนังกลางแปลงที่เกิดขึ้นตลอดหนึ่งเดือนนั้นยังเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ขายหลายคนได้ออกมาขายของเหมือนบรรยากาศในสมัยก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่ชวนให้ผู้คนได้หวนนึกถึงวันเก่าๆ แต่ยังเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยเสริมรายได้ให้ผู้คน 

สิ่งที่ได้เห็นจากงานนี้ทำให้เรารู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร อายุเท่าไร ต่างก็ชื่นชอบและอยากเข้าถึงสื่อบันเทิงด้วยกันทั้งนั้น เราจึงอยากให้คนสามารถเข้าถึงสิ่งบันเทิงอีกหลายๆ ประเภทได้ง่ายเหมือนกับกิจกรรมหนังกลางแปลงที่จัดขึ้นในปีนี้

การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเบียร์

การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเบียร์
ชื่อผู้เลือก : อธิวัฒน์ อุต้น
ตำแหน่ง : Content Creator

‘ประชาชนเบียร์’ ที่ก่อตั้งโดย ‘เบนซ์-ธนากร ท้วมเสงี่ยม’ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาแสดงออกในสิ่งที่คิดและเชื่อ โดยช่วยสร้างมูฟเมนต์ที่ทำให้การกินดื่มเป็นเรื่องสนุกขึ้น 

โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นเพจประชาชนเบียร์ ที่เบนซ์ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำเพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 วัน เดินทางไปรีวิวร้านและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ทำให้ประชาชนเบียร์สามารถแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจและหลากหลายสิ่งที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้ ทั้งยังช่วยขยายขอบเขตความตั้งใจของเหล่าคอเบียร์ที่หวังอยากให้การกินดื่มมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ถูกปิดกั้น และหลุดจากการผูกขาดโดยนายทุนเจ้าใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

“พอไปรีวิว ต้องใช้คำว่าร้านแตก คือโต๊ะเต็ม ไม่มีที่นั่ง คนต่อคิวยืนรอเพื่อเข้าร้าน บ้างต้องขอให้ลูกค้ากลับบ้านแล้วมาวันหลัง ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จี้เข้าไปตรงจุด ตรงปัญหา เพราะร้านก็ไม่กล้าพูด กลัวโดนมาตรการตามกฎหมาย เขาเลยโปรโมตได้ไม่เต็มที่ แถมมีกฎหมายห้ามขายออนไลน์อีก ใครจะไปอยู่ได้

“กฎหมายบ้านเรายังมีปัญหาและต้องแก้ไขอีกมาก เลยอยากให้มูฟเมนต์ของประชาชนเบียร์เป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า ขนาดเรื่องเหล้าเบียร์ยังมีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งที่ผมก็เป็นคนธรรมดาๆ ด้วยซ้ำ ดังนั้น คนอื่นๆ ก็ต้องทำได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าจับมือกันสร้างเครือข่ายหรือองค์กรให้แข็งแรง เราต่อรองกับคนที่มีอำนาจได้แน่นอน” ผู้ก่อตั้งเพจบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาเชื่อมั่นและยังคงลงมือทำด้วยหัวใจของคนธรรมดาที่ชอบการกินดื่ม 

ติดตามความเคลื่อนไหวต่อไปของเพจได้ที่ ประชาชนเบียร์ และอ่านเรื่องราว ‘คนขี้เมาก็เปลี่ยนประเทศได้ 3 ปีของ ประชาชนเบียร์ กับเสรีภาพการดื่มที่ยังไม่ก้าวหน้า’ ได้ที่ urbancreature.co/beer-people

โครงการจรจัดสรร โดยยศพร จันทองจีน

โครงการจรจัดสรร โดยยศพร จันทองจีน
ชื่อผู้เลือก : นัทธมน คภะสุวรรณ
ตำแหน่ง : Proofreader

นอกจากมูฟเมนต์ที่เกิดขึ้นเพื่อคนกรุงแล้ว อีกหนึ่งมูฟเมนต์ที่เราคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘จรจัดสรร’ ที่เกิดขึ้นมาเพื่ออีกหนึ่งชีวิตในเมืองอย่าง ‘สุนัขจรจัด’ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยอย่างยาวนาน และยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

จรจัดสรร คือโครงการที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม ของอาจารย์ยศพร จันทองจีน ที่ช่วยยกระดับสวัสดิภาพสุนัขจรจัดควบคู่กับการสื่อสารปัญหาเรื่องนี้แก่กลุ่มเป้าหมาย ผ่านการออกแบบ ‘จรจัดสรรโมเดล’ แนวทางการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้นอย่างการติดตั้ง ‘พัก พิง’ ที่พักอาศัยชั่วคราวของสุนัขจรจัดในชุมชน และในระยะยาวอย่างการสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นจิตสำนึกของคน ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุนัขจรจัด 

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จรจัดสรรยังได้รับรางวัล Creativity for Sharing จากงาน Adman Awards & Symposium โดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับคนนอกวงการโฆษณาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงและเกิดประโยชน์แก่สังคม ถือเป็นอีกสิ่งยืนยันถึงความสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนเมืองของเราในปี 2022

ใครที่สนใจหรืออยากรู้เรื่องราว แนวคิด ความเป็นมา และสิ่งที่จรจัดสรรทำ ว่าช่วยให้เมืองน่าอยู่และยกระดับสวัสดิภาพของทั้งคนและสุนัขให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร ชวนไปดูได้ที่ shorturl.asia/FYa86

นิทรรศการศิลปะ CONNE(X)T HOMECOMING โดย Eyedropper Fill

นิทรรศการศิลปะ CONNE(X)T HOMECOMING โดย Eyedropper Fill
ชื่อผู้เลือก : พนิดา มีเดช
ตำแหน่ง : Art Director

เมื่อใช้ชีวิตไปในแต่ละวัน เราอาจหลงลืมที่จะใส่ใจสุขภาพใจของตัวเอง เพราะนอกจากสุขภาพกายที่ควรต้องดูแลแล้ว เรื่องของจิตใจก็สำคัญสำหรับคนเมืองไม่แพ้กัน

CONNE(X)T HOMECOMING ‘พาใจกลับบ้าน’ คืองานที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม – 7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย Eyedropper Fill พร้อมกับชาวนักจิตปรึกษา MasterPeace และเพื่อนๆ นักจิตวิทยา พวกเขาได้ร่วมกันสร้างสรรค์นิทรรศการศิลปะแบบ Interactive เพื่อเปิดประสบการณ์ให้ผู้เข้าชมได้พาตัวเองออกเดินทางกลับเข้าไปสำรวจและเชื่อมโยงกับตัวตนข้างใน ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านในใจของเรา ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น

AramArom กิจกรรมที่พาให้เราเดินทางสำรวจอารมณ์ผ่านการทำงานของผัสสะทั้ง 5 ใน 6 ห้องกิจกรรมที่ออกแบบมาให้เราสัมผัสความอบอุ่น ได้ครุ่นคิดและผ่อนคลาย หรือได้เล่นสนุกเหมือนตอนเด็กอีกครั้ง ซึ่งห้องต่างๆ เหล่านี้จะพาเราไปสำรวจและโอบกอดอารมณ์ที่แตกต่างหลากหลายของเรา

Mental-Verse จักรวาลใจ ห้องฉายหนังสารคดีจักรวาลใจ Mental-Verse 1 และ 2 ที่ชวนให้ผู้ชมได้ทำความเข้าใจถึงจิตใจของผู้มีภาวะซึมเศร้า โดยหนังสารคดีภาค 2 เป็นธีม ‘We do cry.’ ที่ชวนให้เราสำรวจความเป็นชายและปิตาธิปไตยว่าส่งผลกระทบต่อคนในสังคมเราอย่างไร ผ่านผู้มีภาวะซึมเศร้าหลากหลายเพศและช่วงวัย

HEAD, HEART, HAND WORKSHOP เวิร์กช็อป 5 กิจกรรมที่ชวนให้เราสำรวจและทำความเข้าใจตัวเองในหลายๆ มิติ รวมถึงได้ประสบการณ์ที่หลากหลายจากกิจกรรม อาทิ การจัดดอกไม้ การวางแผนชีวิตเพื่อตั้งรับความตาย การทำงานศิลปะ หรืออยู่กับความเงียบ ไปจนถึงการจับมือคนข้างๆ ลุกขึ้นเต้นสวิง

เราเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสสำรวจและพาตัวเองกลับไปบ้านข้างในจิตใจจากกิจกรรมนี้ ในวันที่เหนื่อยล้า การได้หยุดพัก ผ่อนลมหายใจ และกลับมาอยู่กับตัวเอง พร้อมทำความเข้าใจในตัวเรา เป็นเหมือนการได้กลับมาอยู่ในเซฟโซนเพื่อเติมพลังใจให้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง สุดท้ายเราอยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และดีใจที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน.

ปีใหม่ใกล้จะมาถึงแล้ว อย่าลืมพักผ่อนและพาใจตัวเองกลับบ้านกันนะ :- )

สะพานเขียว ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมสวนเบญจกิติและสวนลุมพินี

สะพานเขียว ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมสวนเบญจกิติและสวนลุมพินี
ชื่อผู้เลือก : อธิพัฒน์ พูนสินบูรณะกุล
ตำแหน่ง : Graphic Designer

‘กรุงเทพฯ อยู่แล้วทั้งอ้วนทั้งโสด’ เป็นวลีที่หลายๆ คนอาจเคยได้ยิน เนื่องจากเมืองนี้ไม่มีทั้งพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมและทั่วถึง ทั้งยังขาดทางเท้าที่ส่งเสริมการเดิน

พื้นที่สีเขียวที่สำคัญในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นสวนลุมฯ หรือสวนเบญจกิติ ล้วนเป็นสวนขนาดใหญ่ที่มีรัศมีการให้บริการที่แคบ รองรับการเข้าถึงจากผู้คนในย่านนั้นๆ เพียงย่านเดียว ทำให้คนที่อยู่ไกลออกไปไม่สะดวกในการเข้าถึง

เราจึงประทับใจโครงการสะพานเขียว ที่เป็นสกายวอล์กระยะทางประมาณ 1.6 กิโลเมตร เชื่อมจากสวนลุมฯ ไปจนถึงสวนเบญจกิติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมพื้นที่สีเขียวทั้งสองแห่งเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงให้กับชุมชนระหว่างทางที่สะพานเขียวพาดผ่าน ตั้งแต่พื้นที่ซอยหลังสวนไปจนถึงอโศก ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของชาวกรุง และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวเมือง

โครงการนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ล้มเหลวด้านการวางผังเมือง การค่อยๆ พัฒนาและฟื้นฟูเมืองทีละจุด ผ่านการเชื่อมพื้นที่ที่ตัดขาดกัน เพื่อสมานแผลของเมือง ทำให้ความฝันของเราที่อยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีเกิดขึ้นได้แน่นอน

กฎหมายยุติการตั้งครรภ์หญิงอายุครรภ์ 12 - 20 สัปดาห์

กฎหมายยุติการตั้งครรภ์หญิงอายุครรภ์ 12 – 20 สัปดาห์
ชื่อผู้เลือก : เจนณรงค์ สวนปรารมณ์
ตำแหน่ง : Senior Video Creator

นี่คือหนึ่งมูฟเมนต์ที่เรามองว่าช่วยแก้ปัญหาสังคมในเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่ประเทศไทยเอาเรื่องการทำแท้งไปโยงไว้กับบาปบุญศีลธรรม จนเกิดเรื่องเศร้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน และเด็กที่ถูกทิ้งจากพ่อแม่ผู้ไม่พร้อมเลี้ยงดู

ก่อนอื่นเราอยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่การเขียนกฎหมายขึ้นใหม่ แต่เป็นการขยายอายุครรภ์ในการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้ขอบเขตและกระบวนการทางการแพทย์ ซึ่งย่อมให้ผลที่ดีกว่าการไปทำแท้งตามสถานพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

‘ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจตั้งครรภ์ เพื่อมาทำแท้ง’ ข้อความนี้เป็นข้อความที่ทำให้เราหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง การที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายคือ วิธีการที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำแท้งแบบผิดกฎหมายได้ 

ผู้หญิงที่ต้องตั้งครรภ์อย่างไม่พร้อมต้องมีสิทธิ์ตัดสินใจบนร่างกายของตนเอง โดยผู้อื่นไม่ควรมาตีตราว่าเป็นความผิด ตราบใดที่อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายรองรับ

โปรเจกต์ดนตรีในพื้นที่สาธารณะ Bangkok Street Noise

โปรเจกต์ดนตรีในพื้นที่สาธารณะ Bangkok Street Noise
ชื่อผู้เลือก : เจษฎา ขิมสุข
ตำแหน่ง : Video Creator

เราเชื่อว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นมูฟเมนต์ที่สร้างความจรรโลงใจให้กับผู้คนในเมืองได้ไม่แพ้กิจกรรมอื่นๆ เลย

Bangkok Street Noise คือกลุ่มคนธรรมดาๆ ที่ลุกขึ้นมาจัดงานดนตรีในสวนเป็นกลุ่มแรกๆ ของกรุงเทพฯ ในช่วงโควิด-19 จุดประสงค์แรกเริ่มคืออยากเปลี่ยนเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษทางเสียงให้เป็นเมืองที่มีพื้นหลังเป็นเสียงดนตรี ความพิเศษของกิจกรรมนี้คือ ไม่ว่าคุณจะเล่นดนตรีแนวไหนหรือมีคนรู้จักวงดนตรีของคุณเยอะหรือไม่ก็ตาม ก็สามารถมาแสดงพลังดนตรีได้ที่นี่โดยไม่มีการแบ่งแยก และที่สำคัญยังเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าชมได้ฟรี

เร็วๆ นี้ Bangkok Street Noise กำลังจะมีกิจกรรมพิเศษคือ จัดงานรวบรวมวงดนตรีหรือศิลปินที่เคยมาแสดงกับพวกเขา โดยทำเป็นโชว์ดนตรีสดฟรีแบบตลอดทั้งวัน โดยเป็นผลจากการสนับสนุนของผู้คนที่ชื่นชอบในกิจกรรมของพวกเขา ทำให้มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะอัปเกรดอุปกรณ์เครื่องดนตรีและเครื่องจ่ายไฟ ที่มีประสิทธิภาพทำงานได้นานขึ้นสำหรับการจัดงาน

ทั้งหมดทั้งมวลที่พวกเขาทำอยู่ เป็นไปเพื่อเหล่านักดนตรีอิสระและนักเสพศิลป์ที่ชื่นชอบในเสียงเพลง ทั้งยังหวังว่ากิจกรรมดนตรีนี้จะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีและรักตัวเองมากขึ้น

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.