ลิเกเร่ มนต์รักรถไขว่คว้า รถไฟฟ้าเป็นของทุกคน - Urban Creature

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครดูจะมีกิจกรรมให้ชาวเมืองได้ร่วมสนุกกันอยู่ตลอด ทั้งดนตรีในสวนในเดือนมิถุนายน และเทศกาลหนังกลางแปลงในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้ผู้คนได้ออกจากบ้าน มีกิจกรรมใหม่ๆ นอกจากเดินห้างฯ อีกทั้งยังช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวาและคึกคักยิ่งกว่าเดิม 

อีเวนต์เหล่านี้ถือเป็นกิจกรรมเพื่อประชาชน ที่อยากให้คนเมืองมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่จัดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่ชาวกรุงเข้าถึงได้แบบชิลๆ ด้วยรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ ไปจนถึงรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็ว ทว่าแม้จะเป็นกิจกรรมที่เปิดให้เข้าร่วมฟรี แต่ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยเพราะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากตัวเมือง หรือแม้แต่การเดินทางที่ไม่สะดวกก็ตาม

ต้องยอมรับว่าการโดยสารรถไฟฟ้านั้นช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้มากพอสมควร ไม่ต้องเสียสุขภาพจิตไปกับการเอาแน่เอานอนไม่ได้ในเมืองที่เต็มไปด้วยการจราจรติดขัดและปัญหาบนท้องถนน เราเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เลือกใช้รถไฟฟ้าในวันที่เร่งรีบ หรือไม่อยากเสี่ยงกับรถติด

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ใช้ชีวิตในเมืองจะสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้อย่างที่ต้องการ

Mon Rak Rod Kwai Kwa

เพราะความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน ‘กลุ่มดินสอสี’ จึงเข้าร่วมโครงการสนับสนุนข้อเสนอและการรณรงค์เรื่องรถไฟฟ้าในชื่อ ‘ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ’ ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในการจัด ‘ลิเกเร่เตร็ดเตร่ชุมชน’ เพื่อให้ ‘กลุ่มคนชายขอบ’ หรือกลุ่มคนจนเมืองที่เรียกได้ว่าเป็น ‘เส้นเลือดฝอย’ ได้มีโอกาสสนุกกับลิเกที่จะเข้าไปเล่นตามชุมชนของพวกเขากันบ้าง

และกิจกรรมนี้ยังเป็นกระบอกเสียงเรื่องสิทธิและการเข้าถึงรัฐสวัสดิการอย่างเท่าเทียมให้แก่กลุ่มคนที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง แต่แทบไม่ได้มีโอกาสใช้รถไฟฟ้าในฐานะรถสาธารณะเลย

คณะลิเกเร่จะเข้าไปในบรรดาชุมชนที่ไม่มีโอกาสได้ใช้บริการรถไฟฟ้า หรืออาจจะน้อยจนนับครั้งได้ แม้ว่าจะอยู่ไม่ไกลก็ตาม แต่ด้วยราคาค่าบริการที่ค่อนข้างสูง ทำให้บางกลุ่มที่มีรายได้ต่ำไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้

รถไฟฟ้าเป็นของทุกคน

“รถไฟฟ้าเป็นการเดินทางที่สะดวกของคนชนชั้นกลาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว รถไฟฟ้าควรจะมีไว้เพื่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นไหนก็ตาม เราอยากให้ทุกคนใช้บริการรถไฟฟ้าได้ อยากให้เข้าถึงทุกคน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ” โซ่-ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล ผู้ประสานงานกลุ่มดินสอสีบอกกับเราถึงเป้าหมายในการสื่อสารของกิจกรรมลิเกเร่ที่จะเตร็ดเตร่ไปตามชุมชนต่างๆ ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมนี้ โดยสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เราได้นัดแนะเพื่อพูดคุยและขอตามไปดูลิเกเร่ที่วัดอัมพวา ในเขตบางกอกน้อยกัน

กลุ่มดินสอสีมองว่าถ้าต้องการจะสื่อสารกับกลุ่มคน ลิเกเป็นสื่อที่ใครก็เข้าถึงได้ ด้านหนึ่งเป็นความบันเทิง แต่ในความบันเทิงนั้นก็มีสิ่งที่ต้องการจะคุยกับชุมชน และต้องการที่จะให้คนในชุมชนพูดออกมาด้วย ก็เลยเลือกคณะลิเกที่พูดเรื่องเชิงสังคมและสะท้อนสังคม จึงได้ ‘คณะลิเกอนัตตา’ มาร่วมงานกันครั้งนี้ 

“เรามองว่าลิเกสามารถสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ได้และทำให้ชุมชนได้พูดถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา เสียงของคนชายขอบสามารถไปถึงภาครัฐเพื่อปรับปรุงให้ระบบขนส่งสาธารณะกลายเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกของประชาชนจริงๆ ได้”

Mon Rak Rod Kwai Kwa
โซ่-ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล ผู้ประสานงานกลุ่มดินสอสี

หลังจากที่ได้เข้าไปใน 4 ชุมชนก่อนหน้านี้ โซ่บอกกับเราว่าไม่เพียงแต่ชาวบ้านจะได้รับความบันเทิงกลับไปเท่านั้น ทางผู้จัดกิจกรรมก็ยังได้รับข้อมูล คำถาม และความคิดเห็นต่างๆ กลับมาด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราค่าบริการรถไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง โอกาสที่ราคาจะลดลงมีมากน้อยแค่ไหน ความสับสนในการใช้บริการ หรือแม้แต่การเดินทางไปยังตัวสถานีที่บางพื้นที่อาจจะดูเหมือนใกล้ แต่ต้องเดินทางอีกหลายต่อกว่าจะถึงรถไฟฟ้า

“ก่อนหน้านี้เราอาจจะเป็นคนที่แทบจะไม่สนใจเลยว่ารถไฟฟ้าราคาถูกหรือแพง เพราะรู้สึกว่ารวดเร็ว สะดวก ยอมจ่ายในราคาหลักสิบ เราอาจจะไม่ได้ลำบากหรือเดือดร้อนตรงนั้น แต่พอเข้ามาในชุมชน เราเลยได้ความเห็นจากชาวบ้านโดยตรงว่า นอกจากเรื่องราคาแพงแล้ว เขาอยากจะให้เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ที่ได้มา ทางเราก็จะเก็บรวบรวมเอาไว้ หากมีโอกาสก็ตั้งใจที่จะนำไปส่งต่อให้กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป” โซ่อธิบาย

มนต์รักรถไขว่คว้า : อยู่ใต้รถไฟฟ้าแต่กลับไขว่คว้าไม่ถึง

โอ้มาเถิดหนา กระไรแม่มา มานั่งรถไฟฟ้า กันนะแม่น่านวลใย ต้องคิดซะว่าเป็นสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ สิทธิ์ สิทธิ์ ของทุกหญิงชาย

Mon Rak Rod Kwai Kwa

เมื่ออุปกรณ์ติดตั้งเรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่คณะลิเกพร้อมที่จะสื่อสารกับชาวบ้านชุมชนวัดอัมพวากันแล้ว เวทีเล็กๆ ที่มีเพียงไวนิลแผ่นใหญ่ขึงไว้เป็นแบ็กกราวนด์ด้านหลัง เสียงดนตรีพร้อมเสียงเชิญชวนจากพิธีกรดังขึ้น คนในชุมชนต่างก็เริ่มทยอยเข้ามาจับจองพื้นที่ บ้างก็นั่งบนเก้าอี้พลาสติกติดเวที บ้างก็ยืนอยู่บริเวณรอบข้าง ส่วนเด็กเล็กๆ ก็ยึดพื้นหน้าเวทีเพื่อชมอย่างใกล้ชิด

เนื้อหาลิเก ‘มนต์รักรถไขว่คว้า’ บอกเล่าถึงเรื่องราวของ ‘เพชร’ ชายหนุ่มผู้ประกอบอาชีพรับจ้างต่อคิวที่ได้ค่าตอบแทนอยู่ที่ 500 บาทในแต่ละงาน ส่วน ‘กัญญา’ แฟนสาวช่างฝันในการเป็นนักร้อง เธอตั้งใจที่จะเดินสายประกวดร้องเพลง ซึ่งในสัปดาห์นี้ หากกัญญาชนะการประกวดร้องเพลงเธอจะได้รางวัลถึง 5,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องราวการประกอบอาชีพและการเดินตามความฝันของทั้งสองคนนั้น ต่างก็มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและการเดินทางเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น 

Mon Rak Rod Kwai Kwa
Mon Rak Rod Kwai Kwa
ตั้ว-ประดิษฐ์ประสาททอง ผู้เขียนบทและผู้กำกับ ‘มนต์รักรถไขว่คว้า’

“ผมมองว่าโอกาสของคนทุกคนในเมืองใหญ่คือการแข่งขัน ถ้าไม่แข่งกับคนอื่นก็ต้องแข่งกับเวลา กิจกรรม หรือโอกาสบางอย่าง ถ้าคุณพลาดเพียงหนึ่งถึงสองนาที ก็อาจพลาดไปหมดเลย ความรวดเร็วในการเดินทางจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะอำนวยให้ใครสักคนได้เปรียบคนอื่น เพราะฉะนั้น ทุกคนควรเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างรถไฟฟ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน” ตั้ว-ประดิษฐ์ประสาททอง ผู้เขียนบทและผู้กำกับ ‘มนต์รักรถไขว่คว้า’ เล่าให้เราฟังถึงไอเดียหลักๆ ของลิเกเรื่องนี้ว่า กรุงเทพฯ ในอนาคตควรจะเป็นเมืองที่ทุกคนมีโอกาสได้ฝัน ได้พัฒนาตัวเอง ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะมีรายได้ระดับไหนก็ตาม เพราะปัจจุบัน ปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันทางโอกาส ไม่เอื้อให้ผู้คนได้ทำตามฝันเท่าไรนัก

ถ้าเพชรและกัญญาเลือกที่จะนั่งรถไฟฟ้าไปยังจุดหมาย แน่นอนว่าอย่างไรก็ต้องทันเวลาอยู่แล้ว หากโชคดีได้รับเงินตอบแทนก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล แต่ถ้าไม่ได้ค่าตอบแทน ก็ต้องแลกกับปัญหาเงินไม่พอสำหรับขากลับ เมื่อมีข้อจำกัดและทางเลือกหลายทาง ทั้งเพชรและกัญญาจึงเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจากคนดูเพื่อช่วยตัดสินใจเรื่องการเดินทาง ตอนนี้เองที่เราก็จะได้ยินเสียงจากผู้ชมหลายคนดังก้องไปทั่วพื้นที่ ทั้งสนับสนุนให้นั่งรถไฟฟ้าเพื่อประหยัดเวลา ทั้งให้ประหยัดเงินไว้เพื่อใช้ในโอกาสอื่นที่จำเป็น

Mon Rak Rod Kwai Kwa
Mon Rak Rod Kwai Kwa

“เราออกแบบการแสดงให้หยุดเป็นช่วงๆ มีพื้นที่ให้คนดูได้โต้ตอบ ได้ระบาย ได้เถียงออกมา ให้พิธีกรดูว่าจะสร้างบรรยากาศให้คนดูโต้ตอบอย่างไร ครึ่งหนึ่งของการแสดงคือการทำอย่างไรให้คนดูรู้สึกว่าเรื่องราวนี้เป็นเรื่องของตัวเอง เป็นความเดือดร้อนที่ตัวเองต้องเจอ เพื่อให้คนดูได้วางโพสิชันตัวเองว่า ถ้าเป็นตัวละครนั้นๆ เขาจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้” ตั้วเล่าถึงรูปแบบของลิเกที่ช่วยให้คนดูอินไปกับเหตุการณ์ของตัวละคร

เสียงสะท้อนผ่านลิเกเร่

ถึงแม้ลิเกเร่เตร็ดเตร่ชุมชนจะเป็นกิจกรรมระยะสั้นๆ เพียงเดือนเดียวเท่านั้น แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตก็อาจจะมีกิจกรรมในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะทางผู้จัดเองก็เชื่อว่าเพียงกิจกรรมเดียวนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาที่เรื้อรังของรถไฟฟ้าได้สำเร็จ นอกจากจะต้องรอทางผู้เกี่ยวข้องจัดการปัญหาแล้ว พวกเขายังต้องค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจและรับรู้ว่าทุกคนนั้นมีสิทธิ์ที่จะใช้บริการรถไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน

หากมีกิจกรรมในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ และได้รับการพูดถึง เสียงของชาวบ้านที่เคยกระจุกอยู่แค่ในชุมชนอาจจะกระจายเป็นเสียงดังออกไปในวงกว้างให้คนอื่นๆ รับรู้ถึงความต้องการของพวกเขาด้วยเช่นกัน

Mon Rak Rod Kwai Kwa
Mon Rak Rod Kwai Kwa
Mon Rak Rod Kwai Kwa
ตี๋-รังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา

“คนในชุมชนเองก็คาดหวังว่าการที่ลิเกออกมาเร่ออกมาเล่นตามชุมชนต่างๆ นั้นจะทำให้เกิดเสียงสะท้อนกลับไปถึงผู้เกี่ยวข้องบ้างไม่มากก็น้อย ให้พวกเขาได้มองเห็นชาวบ้านเหมือนกับที่ชาวบ้านมองรถไฟฟ้าอยู่ในทุกๆ วัน” ตี๋-รังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวาทิ้งท้ายถึงความเกี่ยวข้องกันของรถไฟฟ้า ชุมชน และลิเกเร่มนต์รักรถไขว่คว้า

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.