ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่พิพิธภัณฑ์แห่งที่ 4 ในซีรีส์ ‘MUSEUM-IN-SIGHT เพ่งพิศพิพิธภัณฑ์’ ที่แม้หลายคนอาจยังไม่เคยมา แต่รับประกันว่าจะต้องเคยเห็นรูปภาพภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ผ่านตามาก่อนอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นห้อง Richard Green กับผนังสีเขียวสบายตา และการออกแบบที่จำลองบรรยากาศห้องนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรป โถงบันไดสีขาวบริเวณชั้น 4 ทอดยาวไปจนถึงชั้น 5 หรือสถาปัตยกรรมรูปทรงไข่ ซึ่งเป็นจุดเช็กอินที่ใครต่างมาต่อคิวถ่ายรูป
พื้นที่สุดฮิตเหล่านี้ล้วนอยู่ใน ‘MOCA BANGKOK’ หรือ Museum of Contemporary Art (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย) ที่รวบรวมผลงานศิลปะจากคอลเลกชันส่วนตัวของ ‘คุณบุญชัย เบญจรงคกุล’ กว่า 1,000 ชิ้นเอาไว้
ว่าแต่เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอกชนแห่งนี้จะเป็นยังไง ตาม Urban Creature ไปพูดคุยกับ ‘คุณคิด-คณชัย เบญจรงคกุล’ ผู้อำนวยการ MOCA BANGKOK และเหล่าฟันเฟืองผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้พร้อมกันในบทความเลย

การออกแบบที่หนักแน่นแต่นุ่มนวลแบบไทย
MOCA BANGKOK เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอกชน ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีบางเขน และอยู่ไม่ไกลจากท่าอากาศยานดอนเมือง โดยถ้ามองจากภายนอกจะเหมือนเอาหินแกรนิตก้อนใหญ่ทั้งก้อนมาตั้งไว้
“ไอเดียการออกแบบของที่นี่คือ หินก้อนใหญ่ที่สื่อถึงความหนักแน่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความอ่อนช้อยของ ‘ลายก้านมะลิ’ แทรกตัวอยู่ทั่วทุกมุมอาคาร” คุณคิด ผู้อำนวยการของ MOCA BANGKOK ชี้ชวนให้มองดูลายก้านมะลิที่ถูกแกะสลักลดหลั่นกันไปบนผนังและฟาซาด (Facade) ของอาคาร


เมื่อแสงแดดธรรมชาติส่องเข้ามาจะเกิดแสงตกกระทบลงภายในตัวอาคาร เกิดเป็นลายก้านมะลิที่ค่อยๆ ขยับเปลี่ยนตำแหน่งไปในแต่ละช่วงเวลา ให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปในแต่ละวัน
ทั้งหมดนี้เป็นผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของ P Landscape Co., Ltd. และการออกแบบตกแต่งภายในโดย PIA Interior Company Limited ที่เนรมิตให้พิพิธภัณฑ์ฯ อายุ 13 ปี สะกดใจใครหลายคนเอาไว้ได้อย่างอยู่หมัด
ก่อนที่ 6 ปีให้หลัง คุณคิดได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และช่วยปรับเปลี่ยนให้ตัวพิพิธภัณฑ์ฯ มีความหลากหลายและเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ผ่านสายตาของอดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และช่างภาพแฟชั่นผู้มีแพสชันเรื่องศิลปะเหมือนกับคุณพ่อ
“ผมเข้ามาช่วยดูที่นี่หกปีแล้ว จริงๆ ก็ดูทุกส่วนเลย ตั้งแต่เรื่องการบริหาร day-to-day ดูเรื่องนิทรรศการหมุนเวียนที่จะเข้ามา ช่วยปรับเปลี่ยนนิทรรศการถาวร ไปจนถึงร้านกาแฟที่เรานั่งอยู่ตรงนี้” คุณคิดเล่าถึงสโคปงานที่ตนทำในระหว่างที่เรานั่งคุยกันบนชั้นลอยของ ‘MOCA CAFÉ’ ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในการดูแลของตัวพิพิธภัณฑ์ฯ เช่นกัน

หลังจากนั้นไกด์ของเราก็เริ่มเล่าที่มาที่ไปของ MOCA BANGKOK ให้ฟัง และพาเราเดินทัวร์ไปทีละชั้น
แม้จะขึ้นชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย แต่คุณคิดบอกกับเราว่า งานที่โชว์อยู่ภายในเริ่มตั้งแต่การปูพื้นเรื่องประวัติศาสตร์ไทยและงานไทยโมเดิร์นที่มักหาไม่ได้จาก MOCA ในประเทศอื่นๆ
ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะความตั้งใจแรกของคุณบุญชัยคือ อยากสร้างพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงานที่สะสม เปิดพื้นที่ให้ศิลปินไทยที่ตนชื่นชอบและมองว่ามีศักยภาพให้ทั้งคนไทยคนต่างชาติได้ชม ตามคำแนะนำของ ‘อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
“เราอยากเชื่อมโยงให้เห็นว่า กว่าจะมาเป็นศิลปะร่วมสมัย ประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกๆ วันนี้ มีต้นกำเนิดและผูกโยงกันอย่างไร” คุณคิดบอกกับเรา
นิทรรศการถาวรที่มีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียด

ในวันนี้จุดตั้งต้นของเราเริ่มกันที่ชั้น 2 ว่าด้วยเรื่อง ‘ศาสนา ศรัทธา ความเชื่อ’ ก่อนจะค่อยๆ ขึ้นไปยังชั้น 5 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด ก่อนจะมาจบวันกันที่ชั้น G ซึ่งเป็นที่ตั้งของประติมากรรมและนิทรรศการหมุนเวียน รวมถึงร้านขายของที่ระลึก
นอกจากได้คุณคิดช่วยพาเดินแล้ว เรายังได้ ‘คุณเบลล์-จารุวรรณ บุญมี’ Museum Development และ Graphic Designer มาร่วมทาง เพื่อชี้จุดที่น่าสนใจในแต่ละชั้นไปพร้อมๆ กัน
สิ่งแรกที่สะดุดตาเราคือเหล่าหน้ากาก หัวโขน และหนังตะลุง ที่สะท้อนอิทธิพลของรามายณะและมหาภารตะ มหากาพย์จากอินเดียที่มีอิทธิพลต่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนกลายเป็นวัฒนธรรมร่วม ก่อนที่เข้าไปด้านในจะพบกับศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวความหลายหลากในปัจเจกภาพทางความคิดของศิลปะไทยร่วมสมัย

คุณคิดเล่าว่า ในช่วงแรกที่เปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ผลงานที่จัดแสดงยังไม่ได้เยอะเหมือนอย่างตอนนี้ แต่ในระหว่างที่เปิดทำการไป คุณบุญชัยก็มองหาผลงานชิ้นอื่นๆ มาเติมในคอลเลกชันส่วนตัวของตนเพิ่มเรื่อยๆ เพื่อทำให้คนที่มาชมได้เห็นภาพผลงานที่สมบูรณ์มากที่สุด โดยมีคุณเบลล์ช่วยเสริมว่า ปัจจุบันชั้นนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนการวางลำดับภาพอยู่
“ภาพส่วนใหญ่ได้คุณบุญชัยกับคุณสุริยา ผู้ช่วยของท่านเป็นคนช่วยกันคัดเลือก ตอนนี้กำลังย้ายภาพหลายๆ ภาพอยู่ เพราะท่านอยากปรับให้ชั้นนี้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยกว่าจะมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน” คุณเบลล์ขยายความ
คุณคิดยังเสริมอีกว่า แม้นิทรรศการที่นี่จะเป็นนิทรรศการถาวร แต่จริงๆ แล้วมีการสับเปลี่ยนภาพในแต่ละชั้นอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน “ด้วยความที่เราเองมีงานบางส่วนที่สะสมไว้และยังไม่ได้นำออกมาจัดแสดง ทำให้บางครั้งมีการนำภาพในคลังออกมาสลับสับเปลี่ยนบ้าง”
ทำเอาเราต้องทดไว้ในใจว่า ถ้ามีโอกาสกลับมาที่นี่ในอนาคตจะขอเล่นเกม Photo Hunt ตามหาภาพหรือประติมากรรมที่ถูกสับเปลี่ยนไปให้ได้เลย

ทุกอย่างล้วนคืองานศิลปะ
ถัดจากชั้น 2 เข้าสู่พื้นที่ชั้น 3 ที่มาพร้อมแนวคิด ‘ศิลปะ จินตนาการ ความคิดฝัน’ ภายใต้คติความเชื่อของคนไทยผ่านชิ้นงานที่รังสรรค์โดย ‘สมภพ บุตราช’, ‘ประทีป คชบัว’, ‘สมพง อดุลยสารพัน’ และ ‘ช่วง มูลพินิจ’ ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้นจากชั้นที่ผ่านมา

อีกทั้งชั้นนี้ยังเป็นชั้นที่ยกเอาเรือนไทยไม้สักมาตั้งไว้กับ ‘เรือนนางพิม’ ที่จัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย เล่าเรื่องราวของนางพิมพิลาไลยจากวรรณคดีไทยสุดคลาสสิกอย่างขุนช้างขุนแผน
นอกจากนี้ เมื่อเดินลึกเข้าไปเรายังจะพบกับห้องที่ผนังทาด้วยสีน้ำเงินเข้มอย่าง ‘ห้องบลูมรูม’
“ตอนที่ผมเข้ามาทำงานที่นี่ โปรเจกต์แรกที่ทำคือการจัดชั้นนี้ใหม่ ดูว่าในคอลเลกชันยังมีงานอะไรบ้างให้ดึงมาลองจัดวางใหม่ให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น รวมถึงทาสีใหม่ให้ห้องนี้ดูแตกต่าง” คุณคิดเล่าย้อนถึงที่มาของห้องสีน้ำเงินเข้มที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภูมิทัศน์ พฤกษศาสตร์ และธรรมชาติ

เราสังเกตเห็นว่า ในทุกๆ จุดที่เดินผ่านมักมีเก้าอี้รูปทรงแปลกตาที่นอกจากจะทำหน้าที่เป็นจุดนั่งพักให้เราได้ดื่มด่ำกับงานศิลปะแล้ว ตัวเก้าอี้ก็ยังเป็นงานศิลปะด้วยตัวของมันเองด้วย
“ที่นี่มีเก้าอี้เยอะมากเพราะเป็นหนึ่งในคอลเลกชันของคุณพ่อ เป็นแบรนด์ Saiyart Collection ที่ทำโดย ‘อาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน’ ศิลปิน Bench Maker ชาวไทย” ผู้อำนวยการฯ ชี้ชวนเราให้มองไปยังเก้าอี้รูปทรงต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วพิพิธภัณฑ์ฯ



ก่อนจะเข้าสู่ชั้น 4 หรือชั้น ‘เชิดชูศิลปินชั้นเยี่ยม’ ที่รวบรวมงานของอาจารย์ถวัลย์มาจัดแสดงไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นงานสีน้ำมันบนผ้าใบ งานวาดลายเส้น และงานแกะสลักไม้
ความโดดเด่นของการจัดแสดงคือ ภาพวาดสีแดงจะจัดแสดงอยู่ในห้องผนังสีดำ และภาพวาดหมึกดำจะจัดแสดงอยู่ในห้องสีแดง ซึ่งเป็นการออกแบบห้องโดยอาจารย์ถวัลย์เอง

และอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้กับชั้นนี้คือ ‘สะพานข้ามจักรวาล’ ทางเดินสีดำที่จะพาเราหลุดออกไปในห้วงจักรวาล เมื่อเดินผ่านจะได้พบกับแสงสว่างจากปลายอุโมงค์รูปไข่ใบใหญ่ ซึ่งเป็นอีกมุมยอดฮิตบนชั้น 4 ใน MOCA ที่หลายคนขอแวะเก็บภาพลงโซเชียลฯ ก่อนเข้าสู่ ‘ห้องไตรภูมิ’
ห้องนี้เป็นห้องจัดแสดงผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่สูง 7 เมตรทั้งหมด 3 ภาพ ที่เล่าเรื่องสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ผ่านฝีแปรงของ ‘สมภพ บุตราช’, ‘ปัญญา วิจินธนสาร’ และ ‘ประทีป คชบัว’ ซึ่งสะท้อนมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
“สามภาพนี้เป็นภาพที่เราคอมมิสชันให้ศิลปินวาดขึ้นมาเพื่อพิพิธภัณฑ์ฯ โดยเฉพาะ” คุณคิดเล่าถึงที่มาที่ไปของผลงานที่อยู่เบื้องหน้าเรา
“ตัวภาพสวรรค์กับภาพโลกมนุษย์ อาจารย์สมภพกับอาจารย์ปัญญามาวาดที่นี่ ส่วนภาพของอาจารย์ประทีปท่านวาดที่บ้านของท่าน” คุณเบลล์เสริม

ภาพถ่ายคืออีกวิธีการถ่ายทอดงานศิลปะ
หลังเดินชั้นที่ 4 ทั่วแล้ว แทนที่จะขึ้นบันไดเลื่อนไปยังชั้น 5 ที่จัดแสดง ‘ศิลปะนานาชาติ’ เหมือนชั้นอื่นๆ ครั้งนี้เราขอเดินขึ้นบันไดสีขาวซิกเนเจอร์ ซึ่งตอนที่เราไปถูกทาเป็นสีรุ้งเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month ในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากที่บทความนี้ปล่อยไปบันไดจะกลับมาเป็นสีขาวอีกครั้ง

“จุดเริ่มต้นที่คนมาถ่ายรูปมาจากช่วงโควิดที่เราเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ให้เข้าชมฟรีประมาณสองเดือน ทำให้มีกลุ่มคนเข้ามาถ่ายรูปเล่น มารีวิวสถานที่ ทำให้หลังโควิดมีคนมาที่นี่เยอะขึ้น จนบางวันต้องต่อคิวถ่ายรูปเลยก็มี” คุณเบลล์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ที่มีคนเข้าชมหลักร้อยต่อวันให้เป็นหลักพันคนได้
“ผมมองว่าการมาถ่ายรูปมีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางครั้งมันอาจไปรบกวนคนที่เขาตั้งใจมาดูงานศิลปะบ้าง แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการทำให้คนทั่วไปรู้จักและเข้ามาชมงานศิลปะมากขึ้นเหมือนกัน” คุณคิดแสดงความคิดเห็น
ก่อนจะเล่าต่อว่า นอกจากกลุ่มวัยรุ่นที่มาถ่ายรูปเล่นแล้ว จริงๆ ยังมีคนอีกกลุ่มที่นิยมมาถ่ายรูปที่นี่ไม่แพ้กัน นั่นคือ เหล่าบัณฑิตชุดครุยที่มาถ่ายรูปนอกรอบก่อนรับปริญญา เพราะตัวพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขนมากนัก

และเมื่อไม่ได้มีการห้าม ทำให้ช่วงหนึ่งมีคนเข้ามาถ่ายภาพเยอะมาก จนมีคอมเมนต์มาว่าทางพิพิธภัณฑ์ฯ ควรจะจัดการอะไรสักอย่างกับเหตุการณ์นี้ เพราะหลายครั้งที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่และใช้เวลาอยู่ในห้องใดห้องหนึ่งประมาณ 10 – 15 นาทีเป็นอย่างน้อย ทำให้คนอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปดูผลงานภายในได้
“ตอนนี้เราเลยปรับให้คนที่อยากเข้ามาถ่ายรูปชุดครุยส่งอีเมลขออนุญาตเข้ามาก่อน โดยเปิดให้เพียงวันละสิบท่าน และให้เข้ามาถ่ายรูปได้ในช่วงที่มีผู้เข้าชมน้อย เพื่อเป็นการคุมไม่ให้มีจำนวนเยอะเกินไป” คุณคิดเล่าถึงวิธีแก้ปัญหาก่อนจะเดินนำเราไปยังส่วนถัดไป
ตรงนี้คือห้องนิทรรศการหมุนเวียนอีกหนึ่งห้องที่สร้างใหม่ได้ประมาณ 3 ปี เพื่อเปิดให้คนเข้ามาจัดแสดงผลงาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจัดแสดงภาพถ่ายเนื่องจากห้องมีขนาดไม่ใหญ่มาก

ก่อนจะเข้าไปพบกับห้องจัดแสดงภาพถ่ายและผลงานร่วมสมัยนานาชาติกับ ‘ห้อง Richard Green’ ห้องผนังสีเขียวที่จัดแสดงผลงานจิตรกรรมจากศิลปินยุโรปในยุคสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย บางชิ้นในห้องนี้มีอายุเกือบ 300 ปีเลยทีเดียว
“ที่ห้องนี้ชื่อ Richard Green เพราะเราจำลองรูปแบบมาจากแกลเลอรีที่ลอนดอน ไอเดียคืออยากให้คนที่ไม่เคยไปได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศที่นี่แทน” คุณคิดบอกกับเรา
“ก่อนหน้านี้เราไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ถ้าสังเกตดีๆ ตรงผนังหน้าห้องจะมีรอยสติกเกอร์ห้ามถ่ายภาพที่เพิ่งเอาออกไป” คุณเบลล์ชี้ให้เราเห็นรอยจางๆ

ฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนศิลปะไทย
คุณคิดพาเราเดินไปยังส่วนในสุดของชั้น 5 และไปหยุดอยู่ที่รูปภาพรูปหนึ่ง
“ภาพนี้เป็นภาพวาดฝีมือคุณพ่อที่วาดไว้ตอนเรียน” เขาพูดพร้อมกับมองไปที่รูปภาพหนึ่งที่มุมห้อง

“ตอนนั้นคุณพ่ออยากเป็นศิลปิน แต่ด้วยความที่ครอบครัวทำธุรกิจ สุดท้ายเลยกลายมาเป็นนักสะสมแทน ภาพนี้เลยเป็นภาพเดียวของคุณพ่อที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อเล่าถึงความชื่นชอบในศิลปะของเขา” คุณคิดอธิบายเพิ่ม
จากนั้นสายตาเราหันไปสะดุดกับพี่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่กำลังจัดท่าถ่ายรูปให้กับผู้ที่เข้าชมนิทรรศการอยู่พอดี เลยขอโอกาสเข้าไปทักทายพูดคุยสักหน่อย
ได้ความว่าความจริงแล้ว ‘พี่หนึ่ง-ประยุกต์ อยู่เถาว์’ คือหนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำจุดต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อดูแลชิ้นงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าชมตามสมควร นอกจากสามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชิ้นงานที่ติดตั้งได้แล้ว ยังช่วยถ่ายรูปได้อย่างเป็นมืออาชีพด้วย


“นอกจากนี้ เพื่อดูแลชิ้นงาน เรายังต้องตรวจเช็กอุณหภูมิและความชื้นในห้องนั้นๆ” พี่หนึ่งบอกเราถึงอีกหนึ่งหน้าที่ที่เราคาดไม่ถึง
“ด้วยความที่บ้านเราอากาศร้อนชื้น จึงต้องมีการควบคุมเรื่องความชื้นภายในห้อง เพราะยิ่งเป็นงานกระดาษ ความชื้นอาจทำให้เกิดเชื้อราได้” คุณคิดเสริม
ด้วยเหตุนี้ พี่หนึ่งจึงต้องคอยตรวจเช็กอุณหภูมิอยู่ 3 ช่วง ได้แก่ เวลา 12.00, 14.00 และ 16.00 น. เพื่อเช็กว่าอุณหภูมิและความชื้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากไม่อยู่ในเกณฑ์จะต้องแจ้งไปทางฝั่งห้องคอนโทรลเพื่อให้ช่วยปรับอุณหภูมิห้องเป็นปกติ

อีกทั้งคุณคิดยังบอกกับเราว่า ความจริงแล้วงานศิลปะแต่ละประเภทต้องควบคุมความชื้นในค่าที่แตกต่างกัน ทำให้ในบางพิพิธภัณฑ์มีบางห้องหนาวมีบางห้องร้อนแตกต่างกันไป และถ้าพบว่ามีชิ้นงานที่เกิดเชื้อราขึ้น จะต้องส่งต่อไปยังฝ่ายอนุรักษ์และติดตั้งเพื่อตรวจเช็กสภาพของรูปและซ่อมแซม
พี่หนึ่งทิ้งท้ายถึงเหตุผลที่ตนทำงานที่นี่มาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี และขอตัวไปทำงานต่อ
“ผมโม้ได้เลยว่าไม่มีใครที่มีออฟฟิศสวยเท่าผมแล้ว เวลาใครถาม ผมจะบอกเสมอว่าที่ทำงานผมสวยมาก การที่เราได้อยู่ท่ามกลางศิลปะ อยู่กับสิ่งสวยงามรอบๆ ตัว มันช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เราเป็นคนที่มองโลกในมุมต่างๆ มากขึ้น” เจ้าหน้าที่คนเก่งกล่าวด้วยรอยยิ้ม

กลับไปพร้อมกับศิลปะที่เบิกบานในใจ
เดินกันมานานจนถึงชั้นบนสุด ขากลับคุณคิดเลยชวนเราลงลิฟต์ไปยังชั้น G เพื่อแนะนำห้องนิทรรศการหมุนเวียนและร้านขายของที่ระลึก
“จริงๆ ที่หน้าลิฟต์แต่ละชั้นก็มีงานศิลปะวางอยู่เหมือนกัน เป็นจุดที่คนเดินมาไม่ค่อยถึงสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเห็นตอนขากลับที่ลงลิฟต์ไปยังชั้นล่าง” คุณคิดพูดในระหว่างที่ลิฟต์กำลังเคลื่อนตัวลง

ตอนที่เราไป ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1 และ 2 ของพิพิธภัณฑ์ฯ กำลังจัดนิทรรศการ ‘THE BOOTLEG SHOW’ โดย MRKREME หรือ แอนดี้-วรกันต์ จงธนพิพัฒน์ ศิลปินอาร์ตทอย (Art Toy) สัญชาติไทย-ฮ่องกง ที่ภายในถูกเปลี่ยนจากห้องสีขาวให้กลายเป็นห้องนิทรรศการที่ปูพรมและทาผนังสีม่วง
“ห้องนิทรรศการหมุนเวียนเป็นห้องที่เราเปลี่ยนพื้นที่ไปตามแต่ละงาน อย่างก่อนหน้าก็เคยมีงานที่สร้างบ่อน้ำตรงกลางห้อง หรือทำลานสเกตบอร์ดให้คนเข้ามาเล่นสเกตได้” ผู้อำนวยการ MOCA BANGKOK เล่าถึงความสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันระหว่างทางพิพิธภัณฑ์ฯ และตัวศิลปิน

ทำให้งานนี้นอกจากจัดแสดงอยู่ในห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1 และ 2 แล้ว ยังมีวิดีโอที่ฉายอยู่ในห้องใต้บันไดที่คุณคิดสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และเปิดให้ศิลปินเข้ามาจัดแสดงผลงานประเภทวิดีโอหรือกิจกรรมที่ใช้พื้นที่น้อย
นอกจากนี้ ไม่ไกลกันยังเป็นที่ตั้งของร้านขายของที่ระลึกหรือ ‘MOCA Store’ ที่วางขายหนังสือศิลปะ ผลงานบางชิ้นของศิลปิน ภาพพิมพ์คุณภาพสูง ประติมากรรมจำลอง รวมไปถึงของแต่งบ้าน อาร์ตทอย เสื้อยืด กระเป๋า และอื่นๆ ที่เป็นดีไซน์เฉพาะของ MOCA ให้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไป

ก่อนกลับเรายังได้พบกับ ‘คุณมนทกานติ โสดสถิตย์’ รองผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ฯ อีกหนึ่งคนที่อยู่กับพิพิธภัณฑ์ฯ มาตั้งแต่วันที่เริ่มตอกเสาเข็ม เธอมาช่วยยืนยันกับเราว่า ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้เราเข้าใจศิลปะไทยได้มากขึ้น
“ศิลปะไม่ได้ง่ายสำหรับคนไทย บางคนอาจจะเข้ามาเพราะอยากถ่ายรูปแต่ไม่ได้สนใจศิลปะ แต่ไหนๆ มาอยู่ที่นี่สองถึงสามชั่วโมง เราก็อยากให้คนซึมซับอะไรไปบ้าง เป็นเหมือนการเรียนรู้โดยไม่ได้ตั้งใจ
“เพราะความตั้งใจเราคืออยากให้ศิลปะเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิต ทุกคนแฮปปี้ที่จะไปมิวเซียม เพราะตอนนี้เมืองไทยเองก็มีมิวเซียมกับแกลเลอรีดีๆ เยอะขึ้น” รองผู้อำนวยการฯ บอกกับเรา

ตอนแยกย้ายเราวานพี่ รปภ. บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ ช่วยเรียกรถแท็กซี่ให้ หลังจากรู้ว่าทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ร่วมมือกับแท็กซี่ใน ‘เครือข่ายร่วมด้วยช่วยกัน’ คอยสแตนด์บายรับส่งผู้โดยสารที่มาชมพิพิธภัณฑ์ฯ แต่ไม่สามารถเรียกรถออกไปได้แบบไม่ชาร์จราคาเพิ่ม
เพราะแม้ที่นี่จะเป็นจุดหมายที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ศิลปะร่วมสมัย แต่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ เองเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ เพราะต้องต่อหลายต่อกว่าจะถึงปลายทาง การให้บริการแท็กซี่จึงเป็นอีกทางอำนวยความสะดวกที่เป็นเหมือนการส่งทุกคนให้กลับถึงบ้านอย่างสวัสดิภาพ และทำให้การมาพิพิธภัณฑ์ฯ ในหนึ่งวันเต็มไปด้วยความทรงจำที่ดี

‘MUSEUM-IN-SIGHT เพ่งพิศพิพิธภัณฑ์’ คือซีรีส์บทสัมภาษณ์ในคอลัมน์ One Day With… จาก Urban Creature ที่จะพาไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล Museum STAR ว่า กว่าจะมาเป็นแหล่งเรียนรู้ติดดาวให้เราเข้าชม มีอินไซต์อะไรที่คนเข้าชมอย่างเราๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนบ้าง