‘สะพานเหล็ก’ ตลาดค้าของเล่นในความทรงจำ - Urban Creature

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

หากมีสถานที่ไหนสักแห่งที่พาย้อนกลับไปวัยเด็กในโลกก่อนยุคดิจิทัล ท่องโลกตัวการ์ตูนหรือคาแรกเตอร์ในหนังผ่านโมเดลแบบต่างๆ ได้เลือกหาเครื่องเล่นและแผ่นเกมกลับบ้าน หรือฮีลใจด้วยการหาหุ่นฟิกเกอร์มาเติมเต็มตัวที่ยังขาดในคอลเลกชัน ‘สะพานเหล็ก’ น่าจะเป็นคำตอบที่แทรกอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

แม้วันนี้ย้ายมาอยู่ในสถานที่ใหม่ ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า แต่ย่านการค้าของเล่นระดับตำนานของประเทศยังคงกลิ่นอายความคลาสสิกแทบไม่ต่างกัน และยังคงเป็นสวรรค์ของคนรักของเล่นและนักสะสมเหมือนเคย

ยิ่งตลอดปีนี้ อาร์ตทอยและกล่องสุ่มกำลังมาแรง เหล่าศิลปินต่างสร้างสรรค์ออกมาในรูปลักษณ์ต่างๆ จนผู้คนเลือกซื้อสะสมกันไม่หวาดไม่ไหว เป็นอีกกระแสใหม่ของวงการทอยบ้านเราที่ส่งผลกระเทือนถึงย่านสะพานเหล็กด้วย

คอลัมน์ Neighboroot ชวนตะลุยสะพานเหล็ก อาณาจักรของเล่นใหญ่ในกรุงเทพฯ ย้อนวันวานไปกับชาวย่าน กลับไปหาต้นตอของร้านรวง แล้วข้ามถนนไป Mega Plaza อัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ของวงการของเล่นปัจจุบัน

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

ด่านแรกของร้านของเล่นนำเข้า

ก่อนจะไปสำรวจย่านสะพานเหล็ก ขอพาไปฟังที่มาที่ไปของปลายทางในฝันของเด็กๆ และเหล่านักสะสมกันก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมธุรกิจของเล่นถึงมาลงหลักปักฐานอยู่ในย่านวังบูรพาแห่งนี้ได้

‘เจ็กสมชัย กวางทองพานิชย์’ นักประวัติศาสตร์ของย่านเยาวราช-สำเพ็ง เป็นหนึ่งในคนที่เรานึกถึง แม้จุดหมายในวันนี้อยู่เกือบชายขอบของชุมชนคนจีนใหญ่ของพระนคร แต่คิดว่าเจ็กน่าจะสัมผัสและพอรู้เรื่องราวในฐานะคนบ้านใกล้เรือนเคียงกับย่านนี้บ้าง ทว่าพอได้มานั่งคุยกับเจ็กที่ร้านในซอยวานิช 1 ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามารบกวนไม่ผิดคน เพราะนอกจากเป็นพ่อค้าและนักประวัติศาสตร์ เจ็กสมชัยในวัย 60 กว่ายังพ่วงตำแหน่งนักสะสมของเล่นตัวยงด้วย

“สำเพ็งเป็นศูนย์รวมทุกอย่าง ของเล่นยุโรปก็มี แต่ที่เจ็กโตมาคือของเล่นญี่ปุ่นกับฮ่องกง ของเล่นยุโรปเกิดไม่ทัน แต่ทันแมตช์บ็อกซ์ของฮ่องกง และทินทอยของญี่ปุ่น” นักประวัติศาสตร์ประจำย่านเท้าความถึงจุดกำเนิดร้านของเล่น

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

ภาพจำสะพานเหล็กฉบับออริจินัล มาพร้อมกับภาพซอยเล็กๆ เบียดเสียด เนืองแน่นไปด้วยผู้คน ขนาบข้างด้วยตู้กระจกวางโชว์ของเล่นชนิดต่างๆ เป็นย่านธุรกิจของเล่นสำคัญที่อยู่คู่กับชีวิตคนไทยทุกช่วงวัยมายาวนานหลายทศวรรษ

และถึงเคยมาสัมผัสสะพานเหล็กในเวอร์ชันเก่าหลายครั้ง ตั้งแต่ยังสูงไม่พ้นตู้กระจกขายของ แต่นอกจากเครื่องเล่นเกมและแผ่นเกมที่อยากได้ เราในวัยนั้นก็ไม่เคยนึกถึงเรื่องราวอื่นใดของย่านนี้ ก่อนจะค่อยๆ ห่างจากสะพานเหล็กตามวัยที่เพิ่มขึ้น

ความเซอร์ไพรส์ในวันนี้จึงเป็นเรื่องราวที่เจ็กสมชัยระบุว่า ฉากเริ่มของย่านของเล่นแห่งนี้ไม่ได้มีของเล่นเป็นตัวเอก แต่เริ่มต้นจากร้านค้านาฬิกาที่มาจากฮ่องกง ซึ่งกดปุ่มสตาร์ทในย่านคลองถมที่อยู่ไม่ไกลกัน แล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าและเกมอิเล็กทรอนิกส์สารพัดชนิดทยอยต่อแถวตามกันมา

ขณะที่ในสำเพ็งก็มีร้านค้าส่งของเล่นราคาถูกจำพวกของเป่าลม พลาสติกฉีดสีสันสดใสรูปเครื่องครัวและสัตว์ต่างๆ เป็นตลาดของเล่นอีกแนวที่ค้าขายคู่ขนานกัน

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

ย่านการค้าศูนย์รวมความบันเทิงของคนทุกวัย

การค้าขายของนำเข้าในแถบคลองถมเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จำนวนผู้ค้ามีมากตามไปด้วย จึงขยายตัวมายังแถบคลองโอ่งอ่างในช่วงทศวรรษ 2530 เริ่มจากการเปิดร้านอยู่รอบข้างระหว่างสะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธุ์ จนถึงสะพานหัน ก่อนที่ต่อมาจะยึดพื้นที่เหนือคลองนี้เป็นที่ตั้งร้านโดยเบ็ดเสร็จ

“จากแต่แรกเอาแค่โต๊ะตัวหนึ่งปูผ้า ขายนาฬิกา ขายปลาสวยงาม ขายอาหาร เพราะเด็กวัยรุ่นมาเที่ยววังบูรพาก็มานั่งกินข้าว กินเหล้ากันหลังหนังเลิก และสุดท้ายก็เป็นที่ขายของหนีภาษี” เจ็กขยายความถึงพัฒนาการของธุรกิจในสะพานเหล็กตั้งแต่ย่านนี้ยังป็อปในหมู่วัยรุ่นเหมือนสยามสแควร์ของยุคนั้น “เจ็กเคยถ่ายภาพร้านขายปลาร้านสุดท้ายไว้ด้วยนะ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่ามกลางร้านขายเกม เขาก็ยังขายปลาอยู่”

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

“แล้วชื่อสะพานเหล็กมาจากไหน” เราเกิดคำถาม ก่อนได้คำตอบว่า ชื่อของสะพานเหล็กสามารถย้อนไปได้ไกลกว่าร้อยปี

ในยุคนั้นมีการสร้างสะพานทำจากเหล็กเพื่อใช้สัญจรข้ามคลองรอบกรุง โดยเรียกชื่ออย่างลำลองตามตำแหน่ง คือ สะพานเหล็กล่างตรงตลาดน้อย และสะพานเหล็กบนอยู่ตรงถนนเจริญกรุง (หรือในชื่อสะพานดำรงสถิต ที่ต่อมากลายเป็นแหล่งค้าของเล่นใหญ่กลางกรุงเทพฯ) ถึงปัจจุบันเหล็กกลายเป็นปูน แต่ยังมีหลักฐานทั้งภาพถ่ายเก่าและภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพคนชักสะพานเหล็กมีล้อ พาดอยู่ระหว่างคลอง คอยชี้ชัดถึงชื่อบ้านนามเมืองตรงนี้

“เวลาตกกลางคืนก็ชักสะพานกลับ เป็นการล็อกเมือง” เจ็กสมชัยเสริมข้อมูล

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

ไม่เพียงแต่เจ็กสมชัย เรายังมีชาวย่านเป็นคนใกล้ตัว คือ ‘พี่วิน-เจนวิทย์ สุธนะสิริชัย’ ช่างภาพของ Urban Creature ที่เกิดและโตในสำเพ็ง ในวัยเด็ก สะพานเหล็กจึงเป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่เขาแวะมาหาแทบทุกวัน พร้อมได้แผ่นเกมเพลย์ฯ ติดไม้ติดมือกลับบ้านแทบทุกครั้ง

เพียงแค่ช่วงคลองระยะทางไม่ไกลมาก แต่ตลาดสะพานเหล็กสมัยนั้นกลับมีของเล่นครอบคลุมทุกประเภท ทั้งเกม หนัง (ทั้งถูกและผิดลิขสิทธิ์) รถบังคับ หุ่นโมเดล ของเล่น และบีบีกันที่ตามมาหลังสุด ถือเป็นแหล่งค้าของเล่นที่ครบถ้วนมากๆ ในตอนนั้น

บรรยากาศโดยรอบของย่านจึงคึกคักมาก เพราะไม่ได้มีแค่ย่านใหญ่อย่างสะพานเหล็ก แต่เวิ้งนาครเขษมและตลาดปีระกา แหล่งรวมสารพัดสรรพสิ่ง ก็เป็นจุดใหญ่ที่ชาวสำเพ็งและชุมชนใกล้เคียงมาใช้ชีวิตและจับจ่ายซื้อสินค้า

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

อันที่จริงสะพานเหล็กไม่ได้มีแต่โซนด้านนอก เพราะปลายทางของสะพานเหล็กในอดีตยังมีอาคารภิรมย์พลาซ่า (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นออลเวย์ส วัน พลาซ่า) ที่อยู่ติดกัน นอกจากเป็นแหล่งตากแอร์คลายร้อนที่รู้กันดีของผู้ที่มาซื้อสินค้าแล้ว ในตึกยังมีร้านค้าในความทรงจำของพี่วินอยู่

“ตึกนี้มีไฮไลต์ที่จำความได้คือหนังสือสูตรเกม อย่างที่สองคือคนมาซื้อโมเดลที่มีราคาสูง พวกงานญี่ปุ่น งานกล่องที่มีราคาสูง ในตึกนี้จะมีแบ่งขาย อย่างที่สามคือเป็นสปอตใหญ่ของเทรดดิงการ์ดเกมในสมัยนั้น และอีกร้านคือร้านลุงกับป้าที่ขายกันพลา”

เรียกได้ว่าหากมองผ่านประกายในตาของเด็กยุคเก่าที่เติบโตมากับเกมกด เครื่องเล่นเกมคอนโซล โมเดลจากการ์ตูน หรือรถกระป๋องบังคับ ย่อมมีสะพานเหล็กเป็นด่านสุดท้ายปลายทางในฐานะแหล่งค้าของเล่นที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย

“การที่แถวนี้เฟื่องฟูได้ตอนนั้น เรามองในแง่ของเทคโนโลยีว่าเกมถูกบังคับมาให้เล่นแผ่นก๊อบ เพราะแผ่นแท้แพง แต่พอปัจจุบันบริบทเปลี่ยน คนบริโภคแต่แผ่นแท้ แผ่นก๊อบก็อยู่ไม่ได้ ตอนนั้นเราไม่ได้สนับสนุนของก๊อบนะ แต่เป็นทางเลือกเดียวที่เราจะหาความสนุกจากมันได้” พี่วินเล่าปิดท้ายก่อนยกกล้องขึ้นกดชัตเตอร์ เก็บภาพคลองโอ่งอ่างที่วันนี้ร้างผู้คน

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

จากสะพานเหล็กบนคลองโอ่งอ่างสู่ห้างฯ Mega Plaza

ทุกวันนี้ตลาดสะพานเหล็กดั้งเดิมกลายเป็นสถานที่ในความทรงจำโดยไม่เหลือเค้ารอยแล้วในปัจจุบัน เพราะทางเดินแคบๆ เนืองแน่นไปด้วยกิจการร้านค้าของเล่น ถูกรื้อถอนเพื่อจัดระเบียบคลองและชุมชนแวดล้อมไปเมื่อ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งหอบผู้ค้าจากคลองโอ่งอ่าง ข้ามถนนขึ้นห้างฯ ในตำนานของเด็กกรุงเทพฯ ยุคเก่าอย่าง ‘เมอร์รี่คิงส์ วังบูรพา’ แล้วรูดป้ายผ้าเปิดในชื่อใหม่ว่า ‘Mega Plaza’

อาณาจักรของเล่นแห่งใหม่เป็นตึก 6 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งประเภทร้านค้าของเล่นเป็นสัดเป็นส่วนสำหรับขายสินค้าแต่ละประเภท รวมถึงเพิ่มเติมบริเวณร้านค้าและซ่อมกล้องฟิล์มในช่วงที่กระแสฟิล์มกลับมาเป็นที่นิยมเมื่อหลายปีก่อน

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

เราได้ ‘ซูม-กฤติน กุ้ยอ่อน’ นักศึกษาปริญญาโทผู้นิยามตัวเองว่ารักของเล่นเป็นชีวิตจิตใจ รับหน้าที่พาเดินเล่นและให้ข้อมูลสำหรับสะพานเหล็กเวอร์ชันปัจจุบัน ที่เพิ่งย้ายมาเขียนเรื่องราวบทใหม่ในตึก พอดีกับห้วงเวลาที่เขาย้ายจากชลบุรีเข้ามาเป็นเฟรชชีในกรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน

ความชอบส่วนตัวที่หล่อหลอมมาแต่เด็กจากของเล่นที่พ่อซื้อให้ นับหนึ่งจากของแถมจากแมคโดนัลด์ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเก็บสะสม นานวันงอกจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอัปเลเวลความจริงจังเป็นคาแรกเตอร์โมเดลจากภาพยนตร์ Predator ค่อยๆ ตามเก็บจนครบคอลเลกชัน และบานปลายจนสะสมของไลน์อื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเหล่าไคจูที่หลงรักเป็นพิเศษ และถึงขั้นไปหิ้วกลับมาเองจากญี่ปุ่นอยู่หลายตัว

“คนอื่นเรียนจบได้ทอง ผมได้โมเดลตัวหนึ่ง ดีลกับแม่ไว้ ตอนสอบติดปริญญาโทก็ขอโมเดล” ซูมเล่าเรื่องจริงอย่างติดตลกถึงสิ่งที่เขาให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ในชีวิต

หลายคนอาจมีสิ่งที่ตั้งใจทำอย่างน้อยสักเดือนละครั้ง บางคนวางแผนอ่านหนังสือให้จบเดือนละเล่ม หรือโควตากินอาหารราคาแพงเดือนละหน เช่นกันสำหรับซูม Mega Plaza คือกิจวัตรในแต่ละเดือนที่ต้องมาแน่ๆ สักครั้ง (ซึ่งสามารถบวกเพิ่มได้ตามปริมาณเงินในกระเป๋า) ทั้งมาเติมเต็มชิ้นที่ยังขาด หรือแค่เดินดมบรรยากาศ เล็งของที่อยากได้ แล้วกลับไปสั่งทางออนไลน์ก็มี

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม
สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

เป็นที่รู้กันดีว่า ตลาดของเล่นในโลกนี้มีเจ้าใหญ่อยู่ 2 ฝั่ง คือญี่ปุ่นจากโลกตะวันออก และสหรัฐอเมริกาจากโลกตะวันตก ทั้งคู่ต่างนำเอาซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอย่างมังงะและทีวีซีรีส์มาทำเป็นงานโมเดลหลากขนาด แล้วป้อนออกไปจำหน่ายทั่วโลก

ในมุมมองของคนที่สัมผัสมาทั้งตลาดของเล่นในบ้านเราและในญี่ปุ่น ซูมเผยความแตกต่างของตลาดทอยของแดนปลาดิบว่า นอกจากขนาดใหญ่กว่ามากแล้ว ยังมีผู้หญิงเข้ามาเล่นด้วย ขณะที่ประเทศไทยส่วนมากยังเป็นกลุ่มผู้ชายทั้งคนขายและคนซื้อ แถมมีแค่สะพานเหล็กหรือตึก Mega Plaza เป็นฐานที่มั่นใหญ่เพียงแห่งเดียว

“ที่ญี่ปุ่นทุกย่านการค้ามีตึกของเล่น แต่ที่ไทยมีที่นี่ที่เดียว ผมคิดว่ามันคือเรื่องของการบริโภคในประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่และป็อปคัลเจอร์โตมากๆ นอกจากนี้กำลังซื้อก็สำคัญ ถ้าคุณจะฟุ่มเฟือย เศรษฐกิจต้องดี แต่บ้านเราภาพลบเยอะ คนมองว่าคุณเก็บของเล่นคือคนไม่รู้จักโต แต่จริงๆ แล้ว ของที่เก็บราคาไม่ถูกเลยนะ งานแพงทั้งนั้น”

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

อีกประเด็นสำคัญที่เราชวนซูมมาเดินด้วยกันวันนี้คือ ได้ยินมาว่าเขากำลังอยากต่อยอดสิ่งที่รักเป็นงานวิจัยทางมานุษยวิทยา ซึ่งน่าตั้งคำถามกลับว่า แล้ว Mega Plaza ที่อุดมไปด้วยของเล่น ดูเป็นขั้วตรงกันข้ามกับความจริงจังอย่างงานวิชาการ จะสามารถเล่าออกมาได้อย่างไรในความคิดของเขา

“ผมรู้สึกว่าสะพานเหล็กเป็นโลกที่น่าสนใจ ตอนนี้เทรนด์เรื่องวัตถุ (Materiality-ทฤษฎีทางมานุษยวิทยา) กำลังมา และของเล่นคือวัตถุที่ชัดเจนมาก แต่ไม่เคยถูกมองแบบวิชาการจริงจังสักที

“การใช้คำว่าของเล่นในวงการนี้ก็ใช้ต่างกัน หลายคนดีเฟนด์ว่าสิ่งที่เก็บไม่ใช่ของเล่น คือโมเดล ฟิกเกอร์ ของสะสม แต่ผมไม่ซีเรียสกับการจะเรียกว่าของเล่นหรือไม่ใช่ของเล่น เพราะสมมติคุณมีปืน แต่ไม่เอาไปยิงคน เก็บไว้ที่บ้าน มันก็ยังเป็นปืน สุดท้ายจิตวิญญาณของวัตถุมันคือของเล่นเหมือนเดิม อย่างไรของเล่นก็คือของ”

“แล้วของเล่นสำคัญกับชีวิตคุณแค่ไหน” ชักอยากฟังมุมมองจากคนที่คลั่งไคล้ของเล่นก่อนจบการพูดคุย

“ของเล่นคือ Nostalgia คือช่วงที่เราเด็กๆ อยากได้ แต่ไม่มีเงินซื้อหรือเข้าถึงไม่ได้ พอโตก็ตามหาซื้อเพราะอยากคลายปมตอนเด็ก อย่างที่เล่าว่าเริ่มต้นเก็บงานแมคฯ ก่อน ต่อมามีงานแมคฯ หลายชิ้นที่ตอนเด็กอยากได้แล้วหาไม่ได้ วันดีคืนดี ผมเคยไปตลาดมืดที่ชลบุรี เจอร้านขายของเล่นแมคฯ เป็นร้อยชิ้น ผมเลือกคาแรกเตอร์ที่อยากได้ตอนเด็กๆ แล้วไม่ได้ เดินช้อป หมกมุ่นเกือบปี ช้อปจนครบ เสร็จแล้วปิดบ่อนั้นเลย” เขาเล่าด้วยสายตาเป็นประกายครั้งแล้วครั้งเล่าเวลาที่มีของเล่นเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนา

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

‘อาร์ตทอย-กล่องสุ่ม’ ความคึกคักครั้งใหม่ของย่านค้าของเล่น

ยิ่งใกล้เที่ยงวัน ผู้ซื้อใน Mega Plaza เติมจำนวนเรื่อยๆ จนสูสีกับจำนวนผู้ขายที่มาเปิดร้านเมื่อ 2 ชั่วโมงก่อน เป็นภาพปกติของที่นี่ก่อนตลาดจะค่อยๆ วายในช่วงบ่าย

บันไดเลื่อนพาเราขึ้นไปชั้นบนสุดของอาคาร จุดหมายคือร้าน POP Kingdom Toys เพื่อพูดคุยกับ ‘พี่เต้-พีรพล ต่ายใหญ่เที่ยง’ พนักงานของร้านขายอาร์ตทอยและกล่องสุ่ม สินค้าที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงนี้

ชายหนุ่มด้านหลังเคาน์เตอร์ทำงานด้านนี้มาแล้ว 5 ปี หรือหลังจากตลาดค้าของเล่นย้ายจากบนคลองเข้ามาอยู่ในตึกได้ไม่นาน แต่ก่อนหน้านั้นเขามาเดินเล่นสะพานเหล็กอยู่เรื่อยๆ ในฐานะผู้ซื้อ ตระเวนเก็บสะสมโมเดลต่างๆ จนกลายมาเป็นผู้ขายที่ได้อยู่กับสิ่งที่ชอบเช่นทุกวันนี้

“สะพานเหล็กตอนอยู่ที่คลองคือสมัยที่เรายังเรียนอยู่ บรรยากาศต่างจากตอนนี้เหมือนกัน ของสมัยนั้นต่างจากปัจจุบัน ของเล่นก็มีวิวัฒนาการ มีผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไปตามเวลา จำได้ว่าตอนสะพานเหล็กเก่าส่วนมากของเล่นที่เป็นชุดผ้าเริ่มดังแล้ว และก็มีของอื่นๆ ด้วย” พี่เต้ย้อนถึงบรรยากาศในวันวาน

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

“กลุ่มคนเปลี่ยนไปตามสมัยค่อนข้างเร็ว อีกปีหนึ่งก็เปลี่ยนไปแล้ว คนก็ไปสนใจอย่างอื่นแล้ว” เขาตอบคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้บริโภคของเล่นสมัยนี้ “รสนิยมของคนเปลี่ยนไป แต่ของเก่ายังมีอยู่นะ คนเก่าก็เก็บของเก่าเหมือนเดิม คนที่เริ่มใหม่ก็มีเก็บทั้งของเก่าและใหม่”

แต่สำหรับปี 2023 พี่เต้ยืนยันว่า ไม่มีอะไรมาแรงเท่ากล่องสุ่มและอาร์ตทอยแล้ว แถมยังทำให้ Mega Plaza พลอยคึกคักไปด้วย สังเกตได้จากกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ทุกเพศทุกวัยที่เข้ามาเดินช้อปสินค้า

“เหมือนคนชอบเสี่ยงดวง ก็เลยชอบแบบของสุ่มเล่นกระจุกกระจิก ราคาไม่แพงมาก คนค่อนข้างให้ความสนใจ จริงๆ เทรนด์มีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่บูมเท่านี้” พนักงานขายของร้านตั้งข้อสังเกต

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

ถึงเปลี่ยนที่ทาง แต่ชื่อย่านสะพานเหล็กยังคงถูกเรียกขานและจดจำในฐานะแหล่งค้าของเล่นสำคัญของประเทศ แม้พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น การเลือกหาของเล่นสามารถคลิกจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซได้เพียงปลายนิ้ว ทว่าในมุมของคนที่คลั่งไคล้ของเล่น ต่างก็พูดตรงกันว่าออนไลน์ไม่ให้อรรถรสเท่ามาดูด้วยตา หยิบจับตัวจริงถึงที่

และแม้ของเล่นที่ฮิตจะเปลี่ยนไปตามวัฏจักร แต่ดูเหมือนว่าวงการของเล่นไทยยังมีกระแสของใหม่ออกมายั่วให้นักสะสมได้เลือกซื้อเก็บสะสมเสมอ ซึ่งทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ Mega Plaza ศูนย์รวมของเล่นแห่งนี้ มีชีวิตชีวาจากเหล่านักเล่นและนักสะสมที่แวะเวียนมาอยู่ตลอดเช่นกัน

สะพานเหล็ก Mega Plaza ตลาดค้าของเล่น ของสะสม

ข้ามถนนย้อนกลับไปบริเวณคลองโอ่งอ่าง-ตำนานสะพานเหล็กฉบับเดิม

แน่นอนว่าเวลานี้ตลาดค้าของเล่นที่หลายคนคุ้นเคยแปรสภาพเป็นคลองสวยน้ำใส เป็นสถานที่หย่อนใจของชาวไทย และเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เช่นเดียวกับย่านข้างเคียงอย่างเวิ้งนาครเขษมและตลาดปีระกา ที่ผู้พัฒนาพื้นที่เพิ่งปล่อยแบบออกมาเป็นอาคารสไตล์จีนโมเดิร์นดูน่าท่องเที่ยว หรือขยับไปอีกหน่อยที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งรีโนเวตทั้งพื้นที่จนเสร็จสวยงาม มีการจัดกิจกรรมอยู่เนืองๆ รวมถึงอาคารเก่าบริเวณแยกหมอมีที่เพิ่งมีข่าวเตรียมทุบเพื่อสร้างเป็นอาคารทันสมัย ยังไม่นับรวมทุนจีนต่างๆ ที่แทรกซึมทุกอณูของย่านเยาวราช

ทั้งหมดนี้อาจกำลังสะท้อนภาพอีกเทรนด์ใหม่ที่บุกย่านสำเพ็ง-เยาวราชอย่างต่อเนื่อง คือการทยอยไล่รื้อทุบอัตลักษณ์อันหลากหลายของย่านนี้ แล้วสร้างสรรค์เป็น ‘ของเล่น’ ของรัฐและนายทุนที่ทำเงินได้มหาศาล

“สำเพ็งคุณเสียแม่เหล็กไปแล้วห้าตัว คือ สะพานหัน สะพานเหล็ก คลองถม เลื่อนฤทธิ์ เวิ้งนาครเขษม แล้วคุณจะเหลืออะไร เพราะแต่ละแหล่งเป็นแหล่งค้าของเฉพาะทางทั้งนั้น” เจ็กสมชัยทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยคำถามชวนให้เราขบคิดก่อนจากกัน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.