‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ทุกๆ บ้านจะต้องมียาสามัญไว้เผื่อตอนเจ็บป่วย ซึ่งก่อนจะหยิบยามาใช้ เราควรจะต้องดูวันหมดอายุที่ฉลากให้ดี แต่รู้หรือเปล่าว่า ยาแต่ละชนิดหลังจากเปิดใช้แล้วจะมีอายุสั้นลงกว่าที่ฉลากยาระบุไว้ ! โดยยาสามัญประจำบ้านแบ่งออกเป็นหลายประเภท และมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันไป ซึ่งอายุการใช้งานของยาแต่ละชนิดหลังจากเปิดใช้แล้วนั้นเป็นอย่างไรไปดูกัน
| ยาเม็ดหรือแคปซูล
ยาเม็ดหรือแคปซูลเป็นยาที่อยู่ในซองหรือกระปุก ซึ่งหลังจากเปิดใช้แล้วจะมีอายุ 1 ปี เช่น พาราเซตามอล ยาแก้แพ้ (Chlorpheniramine) นอกจากนั้นยาประเภทนี้จำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส และเก็บในที่แห้ง ไม่มีความชื้น
| ยาน้ำ
หลังจากเปิดยาน้ำใช้แล้ว จะมีอายุการใช้งาน 6 เดือนหรือ 25 วันก่อนวันหมดอายุตามฉลากระบุไว้ เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ยาแก้ไอน้ำดำ ยาลดกรด เช่นเดียวกับยาประเภทน้ำที่ใช้ภายนอก อย่างแอลกอฮอล์ล้างแผล หลังจากเปิดใช้มีอายุ 6 เดือน น้ำเกลือหลังจากเปิดใช้มีอายุ 1 เดือน และยาโพวิโดน – ไอโอดิน หลังจากเปิดใช้มีอายุ 6 เดือน
| ยาชนิดผง
ยาผงอย่างเกลือแร่ หลังจากผสมน้ำจะสามารถดื่มได้ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น
| ยาประเภทครีม
ยาประเภทครีมหรือเจลมักจะมีอายุหลังจากเปิดใช้งานประมาณ 6 เดือน เช่น ยาทาแก้ผื่นคัน ยาหม่อง ยานวด
นอกจากการรู้อายุยาแต่ละประเภทแล้ว การเก็บรักษายาให้ดีก็เป็นอีกสิ่งที่ควรทำ ซึ่งยาหลายๆ ชนิดจะมีคำกำกับยาว่า “ควรเก็บในที่แห้ง หรือที่เย็น” โดยปราศจากความชื้น หรือหลังจากใช้ยาเสร็จแล้วควรปิดภาชนะที่บรรจุยาให้สนิท ควรสังเกตตัวยาก่อนใช้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ สี กลิ่น รส เปลี่ยนไปหรือเปล่า เช่น ยาเม็ดมีสีหรือกลิ่นแปลกไปจากเดิม มีรอยด่างบนเม็ดยา ยาน้ำมีสีหรือกลิ่นเปลี่ยนไป ยาน้ำแขวนตะกอน มีตะกอนจับกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัว ยาครีมแห้งแข็ง จับตัวกันเป็นก้อน หรือแยกชั้น นั่นหมายความว่า เราไม่ควรกินยานั้นต่อ แม้ฉลากจะยังบอกว่าไม่หมดอายุก็ตาม เรื่องยาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสุขภาพ อย่าลืมใส่ใจแล้วตรวจเช็กกันด้วยล่ะ