ในยุคที่เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น เมืองขยายตัวขึ้น พื้นที่ที่เด็กๆ วิ่งเล่นได้อย่างอิสระกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพื่อแก้ปัญหานี้ บริษัทสถาปนิกในเกาหลีใต้ชื่อ ‘ilsangarchitects’ จึงสร้าง ‘Mamkkeot House’ หรือสนามเด็กเล่นที่ไม่มีเครื่องเล่นขึ้นมา เพื่อให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่เล่นสนุกอย่างเต็มที่
โดยสถาปนิกเล่าว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างเมืองจอนจู (Jeonju) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เพื่อเปลี่ยนสระน้ำกลางแจ้งที่ถูกทิ้งร้างนาน 30 ปีให้กลับมามีชีวิตชีวาและกลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเด็กๆ ในเมืองอีกครั้งหนึ่ง
สระน้ำร้างใน Doekjin Park สวนสาธารณะกลางเมืองจอนจู ถูกชุบชีวิตใหม่จนกลายเป็นสนามเด็กเล่น Mamkkeot House ซึ่งจุดเด่นของที่นี่ไม่ได้อยู่ที่ตัวสถาปัตยกรรม แต่อยู่ที่ภูมิทัศน์มากกว่า เพราะสถาปนิกของโครงการตั้งใจออกแบบให้ Mamkkeot เป็นพื้นที่วิ่งเล่นขนาดใหญ่มากกว่าที่จะเป็นเพียงอาคารหลังหนึ่ง
แม้ตัวอาคารจะเป็นพื้นที่ส่วนน้อยของโครงการ แต่ก็ถูกออกแบบมาอย่างประณีต โดยเลือกใช้โครงสร้างไม้ Glulam ทรงจั่วครอบบนทางเดินชั้นลอยเพื่อสร้างร่มเงา รวมถึงทำหน้าที่เป็นราวจับที่เพิ่มความปลอดภัย รองรับการเล่นที่หลากหลาย ส่วนพื้นที่ใช้สอยหลักทั้งชั้นบนและชั้นล่างยังถูกออกแบบให้เป็นห้องกระจกที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความต้องการของชุมชน
นอกจากนี้ การออกแบบ Mamkkeot House ยังตั้งใจลดพื้นที่ในร่มให้เหลือน้อยที่สุด และทำให้พื้นที่ในร่มรู้สึกเหมือนอยู่กลางแจ้ง รวมถึงพยายามทำให้เด็กได้สัมผัสภาพและเสียงของสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยการสร้างพื้นที่โล่งที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เชื่อมต่อกับโลกนอกห้องเรียน สามารถวิ่งเล่นเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและมีข้อจำกัดน้อยที่สุด
Source :
ArchDaily | bit.ly/42FbtZ7