ทำไม M-Flow เป็นปัญหาของคนใช้รถและถนน - Urban Creature

สัปดาห์นี้มีกระแสข่าวดราม่าเกี่ยวกับการให้บริการ M-Flow ที่เพิ่งเปิดใช้ได้ไม่นาน ซึ่งเจ้าระบบนี้ หลายๆ คนอาจยังสับสนว่ามันคืออะไรกันแน่

จาก Official Website ของ M-Flow อย่าง mflowthai.com อธิบายไว้ประมาณว่า ระบบ M-Flow เป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free Flow) ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ แทนการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบระบบไม้กั้น 

ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ขับขี่ผ่านบริเวณด่านฯ โดยไม่ต้องหยุดชะลอรถ ด้วยความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. ช่วยระบายรถได้ 2,000 – 2,500 คัน/ชม./ช่องทาง เร็วขึ้นกว่าระบบเดิมที่ใช้ห้าเท่า รองรับการใช้งานกับรถยนต์ทุกประเภทที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือทางพิเศษ 

โดยชำระค่าธรรมเนียมผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หลังใช้บริการ หรือ ระบบ Post Paid ทั้งแบบชำระเป็นรายครั้งหรือชำระตามรอบบิล รวมไปถึงการจ่ายผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของระบบ M-Flow และการชำระด้วย QR Code และผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ

นำร่องให้บริการผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง ได้แก่ ด่านทับช้าง 1, ด่านทับช้าง 2, ด่านธัญบุรี 1, ด่านธัญบุรี 2 ซึ่งกรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ใช้การทำงานเป็นรูปแบบเดียวกัน (Single Platform System) และเตรียมขยายระบบ M-Flow ไปใช้กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางพิเศษ ในเส้นทางอื่นๆ ในอนาคต

ก็ฟังดูดี แต่จากกระแสดราม่าทำให้เราทุกคนพบว่า ถ้าประชาชนคนไหนใช้ M-PASS และ Easy Pass แล้วเข้าผิดช่องจะต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก คิดตามการจ่ายที่ล่าช้าจากจำนวนวัน

โพสต์คอนเทนต์ที่มีคนแชร์ห้าพันกว่าแชร์ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ที่จังหวัดชลบุรีเล่าประมาณว่า ตนขับรถกลับบ้านที่จังหวัดสระบุรี โดยวิ่งบนมอเตอร์เวย์สาย 7 ซึ่งเป็นมอเตอร์เวย์สายใหม่ วิ่งมาเลนขวาผ่านด่านทับช้าง แต่เปลี่ยนเลนไม่ทัน ทำให้ไปเจอด่าน M-Flow ซึ่งในช่วงที่เจ้าของโพสต์ประสบเหตุการณ์ จำเป็นต้องชะลอรถยนต์เพื่อรับใบปลิวชำระเงินจากพนักงานที่รัฐจัดมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในช่วงแรก (ซึ่งถ้าประชาสัมพันธ์ระบบนี้อย่างทั่วถึงต้ังแต่ต้น เรามองว่าไม่จำเป็นต้องมีคนมาแจกใบปลิวซ้ำซ้อน โดยอาจใช้วิธีการส่ง SMS ข้อมูลพีอาร์ถึงประชาชนที่มีรถในครอบครองร่วมด้วย ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ได้) ผู้โพสต์จึงได้เข้าใจว่าเป็นระบบชำระค่าบริการทีหลัง ซึ่งเมื่อสแกนชำระในวันถัดๆ มากลับต้องจ่ายค่าธรรมเนียมผ่านทาง 120 บาท และค่าปรับอีก 600 บาท รวมค่าธรรมเนียมธนาคาร 0.8 เปอร์เซ็นต์ ยอดรวมทั้งหมด 724.80 บาท 

จากจำนวนเงินทั้งหมด คิดเป็นค่าปรับสิบเท่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่สรุปได้จากโพสต์นี้คือการที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง และไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนว่าระบบ M-Flow คืออะไร ใช้งานอย่างไร หรือมีขึ้นมาเปิดตัวใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อไหร่ และต้องชำระค่าบริการภายในกี่วัน รวมถึงค่าปรับที่มากเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ เจ้าของโพสต์ยังเผยว่า ไม่สามารถติดต่อสายด่วนได้ ผู้โพสต์จึงกำชับว่า ใครที่เห็นป้าย M-Flow อย่าเผลอวิ่งช่องทางนี้ในเลนขวา (ดูโพสต์ต้นทางได้ที่ https://bit.ly/3sjTus8)

นอกจากโพสต์นี้ ยังพบว่า มีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสะท้อนว่า ยังไม่รู้ว่าต้องลงทะเบียนก่อนใช้ช่องทาง M-Flow และยังสับสนกับการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง และเมื่อไม่เข้าใจว่า M-Flow คืออะไร ทำให้คนใช้รถยนต์ส่วนหนึ่ง ตัดสินใจเข้าไปใช้บริการช่องทางเดิมที่รู้จักกันดีอยู่แล้วอย่าง M-PASS และ Easy Pass ทำให้เกิดการขับรถแทรกกัน ช่วงเปลี่ยนเลนก่อนเข้าด่านเก็บเงิน แทนที่ช่วยให้การจราจรโล่งขึ้น แต่กลับส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดมากขึ้นกว่าเดิม 

ปัจจุบัน M-Flow ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือ LINE OA ซึ่งหลังเกิดกระแสดราม่าจำนวนมาก ทำให้ สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เร่งมือแก้ปัญหาด้วยการปรับช่องเก็บเงินสดและช่องอัตโนมัติให้เหมาะสมกับการใช้งาน ติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ติดตั้งแบริเออร์และกรวยระยะหนึ่งกิโลเมตร เพิ่มเจ้าหน้าที่สำหรับการเก็บค่าบริการด้วยเงินสด รวมถึงการพีอาร์ในช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น แต่จะแก้ปัญหาดราม่านี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน เราคงต้องติดตามกันต่อไป


Source : M-Flow | mflowthai.com

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.