อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี : บันทึกโรคซึมเศร้า - Urban Creature

ถึงชีวิตจะแย่ ก็ยังมีของอร่อยเป็นความหวัง 

ฉัน เธอ หรือใครบางคนมีของอร่อยจานโปรดเป็นของตัวเอง ที่หากได้กินในเวลามีความสุขจะยิ่งสุข หรือหากได้เคี้ยวไปพร้อมกับความขมขื่นในเวลาทุกข์มันจะช่วยสร้างความสุขเล็กๆ ที่เยียวยาใจให้เต้นเร็วขึ้นอีกสักหน่อย

อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี (죽고싶지만떡볶이는먹고싶어) คือชื่อหนังสือที่เมื่อได้เห็นครั้งแรกช่างตอบความรู้สึกที่ว่า ของอร่อยเยียวยาใจ ได้อย่างเห็นภาพ หากแต่ในหนังสือปกสีส้มอมแดงที่ออกแบบภาพประกอบโดยอาร์ติสท์ไทย S U N T E R นั้นกลับเป็นบันทึกสนทนาระหว่าง แบ็กเซฮี (백세희) ตัวผู้เขียนกับจิตแพทย์ระหว่าง ‘การรักษาโรคซึมเศร้า’ ที่พาคนอ่านลิ้มรสชาติอย่างแช่มช้า และค่อยๆ ละเลียดตัวหนังสือเพื่อซึมซับ

ก็ไม่มีเรื่องพิเศษอะไรในชีวิตหรอก
แต่ทำไมรู้สึกว้าเหว่จังนะ 

ประโยคเปิดคำนำที่ แบ็กเซฮี เลือกใช้อธิบายความรู้สึกของเธอในภาวะที่ต้องเผชิญกับ โรคซึมเศร้าระดับไม่รุนแรง (Mild Depressive Disorder) ซึ่งสะสมมานานกว่าสิบปี จนเมื่อปี 2017 ตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์ โดยระหว่างการรักษาเธออัดเสียงบันทึกบทสนทนาไว้ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันทุเลา เพื่อนำกลับมาฟังอีกครั้ง ก่อนตกผลึกความรู้สึกภายในบึ้งลึกแล้วกลั่นออกมาเป็นหนังสือ ซึ่งระหว่างการฟังเทป เขียน และอ่านทบทวน เธอมี ต๊อกบกกี เป็นอาหารที่ชอบทานมากที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือที่มีพระเอกเป็นชื่ออาหาร ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการอยากลืมตาตื่นมาพบแสงแรกยามเช้าในทุกๆ วัน

12 บท เพื่อตัวเอง เพื่อผู้อื่น

ภายในหนังสือถ่ายทอดครู่ขณะบันทึกการรักษาออกมาตลอด 12 บท ฉันได้พบการรักษาตั้งแต่สัปดาห์แรกไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของแบ็กเซฮี

“มาปรึกษาเรื่องอะไรคะ”

“จะเริ่มยังไงดีล่ะคะ แบบ…หดหู่นิดหน่อยค่ะ เล่าให้ฟังอย่างละเอียดเลยดีไหมคะ”

“อย่างนั้นก็ดีนะคะ”

สามประโยคที่เริ่มเอ่ยโดยคุณหมอ ซึ่งคำตอบที่ว่าหากเล่าให้ฟังอย่างละเอียดก็ดีนะคะ ทำให้แบ็กเซฮีเปิดบันทึกที่จดไว้ในโทรศัพท์เพื่อเริ่มเล่าเรื่องราวที่พบเจอ รวมถึงคนอ่านอย่างฉันที่เปิดหน้ากระดาษถัดไปเรื่อยๆ จนถึงหน้าสุดท้าย ซึ่งแม้จะมีเพียง 243 หน้า แต่เป็นเล่มที่ใช้เวลาอ่านนานถึง 3 สัปดาห์ ไม่ใช่ว่าเนื้อหาไม่สนุกจนต้องละสายตา หากแต่อยากค่อยๆ เคี้ยวต๊อกบกกีเล่มนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลิ้มรสเรื่องราว และได้ค้นพบหลังอ่านจบว่า ฉันเหนื่อยกับบางบทจนต้องแวะพัก นั่นเพราะเหล่าตัวหนังสือที่ได้กวาดสายตาอ่านเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนชีวิตของผู้คนรอบตัว และบางครั้งมันรวมถึงตัวฉันเองด้วย

เมื่อไหร่กันนะที่ฉันเริ่มที่จะเซนเซอร์ตัวเอง?

ประโยคเปิดในการรักษาสัปดาห์ที่ 3 ที่แบ็กเซฮีเคยเขียนถามตัวเองไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว คำถามซึ่งมีคำว่า ‘เซนเซอร์’ เป็นกริยาหลักนี้ เกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกไปจากผู้อื่น ด้วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่ทำให้ผิวตามข้อพับและขอบตาแห้งและแดงกว่าปกติ จนเพื่อนในวัยเด็กต่างพากันถามว่า “ผิวของเธอเป็นอะไร น่าขยะแขยงจัง” และมักไม่ค่อยเล่นด้วย

แม้กระทั่งขึ้นมัธยมฯ เธอยังถูกสังคมโซเชียลวิจารณ์ว่า “หน้าก็โอเคนะ แต่ทำไมอ้วนจัง” หรือ “ข้อศอกดำซะจนมองไม่เห็นเลย” คำไม่กี่คำที่บางครั้งคนพูดไม่ได้คิดให้ดี กลับกลายเป็นมีดที่กรีดให้ใจของแบ็กเซฮีเป็นแผล ที่แม้เวลาจะผ่านมานานก็ยังคงเจ็บทุกครั้งเมื่อโดนสะกิด เธอกลายเป็นคนระแวง ต้องเอาผ้าเช็ดข้อศอกตลอดเวลา เช็กว่ามีอะไรติดจมูกไหม มากไปถึงขั้นอัดเสียงเพื่อฟังเสียงตัวเองตอนพูดว่าน่าเกลียดหรือเปล่า และอีกมากมายที่เป็นผลพวงมาถึงปัจจุบัน

“ชีวิตเป็นของเราไม่ใช่เหรอคะ เราต้องรับผิดชอบชีวิตของเราเอง” คุณหมอบอกกลับเมื่อเธอเล่าเรื่องที่กังวลให้ฟัง และยังบอกต่ออีกว่า การเซนเซอร์ (Self-Consorship) หรือการพิจารณาตัวเองเพื่อให้มีพฤติกรรมสอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคม นั้นไม่ใช่เรื่องแย่ แต่สามารถเลือกกดปุ่มหลายปุ่มที่มีทั้งคิดเข้าข้างตัวเองและคิดไปในทางอื่นได้ เพื่อให้เราเป็นเราที่เข้าใจตัวเอง

“การที่เรารู้สึกชอบและมีความสุขด้วยตัวเอง
ย่อมดีกว่าสิ่งที่มาจากคำพูดของคนอื่นเสมอ
และมันจะเป็นเรื่องที่ดี
ถ้าเราเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
ไม่ใช่เพราะสังคมหรือมีคนอื่นๆ แนะนำ”

เมื่ออ่านบทนี้จบ ฉันหยิบที่คั่นหนังสือที่ออกแบบเป็นต๊อกบกกีพร้อมผู้หญิงกำลังเกาะขึ้นมาเสียบคั่นหน้า พลางคิดทบทวนว่า มีอยู่หลายครั้งในชีวิตที่ฉันเซนเซอร์ตัวเอง บางครั้งพยายามทำเพื่อเอาใจใครต่อใคร บางครั้งเคลื่อนไหลไปตามกระแสสังคมจนเผลอลืมว่าเราเป็นใคร และมีความสุขกับอะไร แล้วทุกคนล่ะเซนเซอร์ตัวเองบ่อยกันหรือเปล่า

ความจริงไม่เคยมีใครมองข้ามฉัน
มีแต่ฉันเท่านั้นที่มองข้ามตัวเอง

ทุกคนเคยทำแบบทดสอบคุณค่าในตัวเองไหม? เจ้าของหนังสือเล่มนี้เคยทำ และล่าสุดผลลัพธ์ที่เธอได้ติดลบถึง -22 ซึ่งสะท้อนว่าเธอกำลังมองคุณค่าตัวเองต่ำ จิตแพทย์บอกว่าเธอมีตรรกะขาวดำ (False Dilemma) ที่ชอยส์มีเพียงสองด้านอย่างสุดโต่งแค่ขาวกับดำ หรือ Yes กับ No ใช้ในการตัดสินตัวเองและผู้อื่นอย่างผิวเผิน รวมทั้งหยิบบรรทัดฐานสังคมมาตีกรอบตัวเอง ลดทอนคุณค่าจนแทบไม่เหลือ จนกลายเป็นว่าไม่มีใครสามารถมองข้ามตัวเราเองได้ นอกจากตัวเราเองเท่านั้น และคุณหมอได้แนะนำให้เธอใจดีกับตัวเองหน่อย เพื่อเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเอง

“ถ้ามองเห็นคุณค่าในตัวเองสูงและมั่นใจในรสนิยมตัวเองจริงๆ
ต่อให้ใครจะวิจารณ์หรือตำหนิในสิ่งที่เราชอบ เราก็จะไม่ใส่ใจ”

ฉันลองให้คะแนนการเห็นคุณค่าในตัวเอง ด้วยการถามตัวเองว่า ถ้าในวันที่ไม่มีใครรักจะทำยังไง ก่อนตอบตัวเองว่าเราก็จะรักตัวเองให้ดีที่สุด แล้วคุณที่กำลังอ่านคำตอบของฉันอยู่ล่ะ ให้คะแนนการเห็นคุณค่าตัวเองเท่าไหร่?

เศร้า ซึม กระทบ

อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี จบด้วยบทพิเศษท้ายเล่มที่เล่าถึงเอฟเฟกต์จากโรคซึมเศร้า ฉันทำใจให้โล่ง เพื่อให้ตัวเองไม่ตั้งคำถามกับร้อยพันประโยคที่จะได้อ่าน เพราะอยากพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าให้มากที่สุด

‘สู้ๆ นะ’ ‘มั่นใจไว้นะ’ ‘อย่าท้อถอย’ : ล้วนเป็นคำให้กำลังใจอาบยาพิษที่เจาะทะลุทะลวงเข้าไปสร้างบาดแผลในใจคนที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้

‘ความอ้างว้างเป็นสถานที่แสนพิเศษ’ : สถานที่อันแสนอ้างว้างมีทั้งห้องเล็กๆ ขนาดประมาณ 30 ตารางเมตร ภายใต้ผ้าห่มที่ยาวพอดีความสูง ไปจนถึงคาเฟ่ที่มีผู้คนมากมายจนเผลอสบตากัน ทุกที่ล้วนอ้างว้างเป็นระยะอนันต์

เรื่องชวนฝันและคำหยามเหยียด : ไม่ว่าอย่างไรชีวิตคนเราก็ดำเนินไปอย่างสลับขั้วระหว่าง ‘เรื่องชวนฝัน’ กับ ‘การดูถูกเหยียดหยาม’ ซึ่งมีความเบื่อหน่ายฉายทับอยู่ตรงเส้นแบ่งเขตแดน

นี่คือบางส่วนของ 12 บท และบทพิเศษที่เกี่ยวกับเอฟเฟกต์จากโรคซึมเศร้าที่หยิบยกมาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อทบทวนตัวเอง และเข้าใจคนรอบตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งหน้าสุดท้ายของบทที่ 12 จบด้วยประโยคที่ว่า [ติดตามต่อเล่ม 2] และตามด้วยบทส่งท้ายที่แบ็กเซฮีตกตะกอนกับตัวเองได้ว่า ทุกอย่างเกิดจากการมองคุณค่าในตัวเอง’ เพราะเธอคือคนหนึ่งที่ยอมรับว่ามองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ เลยรู้สึกอายที่จะโอบรับความพึงพอใจจากคนอื่น แต่เมื่อได้รับมาจนสุขล้นใจกลับเบื่อและเริ่มค้นหาใหม่

และแม้หนังสือ อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี เล่มที่ 1 จะตัดจบโดยไม่มีคำตอบจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญว่า แบ็กเซฮีค้นพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือยัง แต่ก็ทำให้คนอ่านอย่างฉันได้เห็นว่า เธอกำลังพยายามค้นหาวิธีที่ไม่ทำให้ตัวเองเจ็บปวด เพื่อ ‘อยากรักใครสักคน’ และ ‘อยากเป็นคนที่ถูกรัก’ 

“อยากเป็นคนที่เดินท่ามกลางความมืดมิด
แล้วบังเอิญเห็นแสงแดดอุ่นๆ บนพื้น
ที่จะหยุดพักได้นานๆ ในสักวัน”

หนังสือ อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี (죽고싶지만떡볶이는먹고싶어) อาจเป็นได้ทั้งอาหารเรียกน้ำย่อย มื้อหลัก หรือของหวาน เหมือนที่ตัวต๊อกบกกีสามารถใช้ได้ในหลากหลายเมนู แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราทุกคนก็ต่างมี ‘ต๊อกบกกี’ เป็นของตัวเอง 

.

#แด่ความไม่สมบูรณ์แบบ


อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี
เขียนโดย แบ็กเซฮี
แปลโดย ญาณิศา จงตั้งสัจธรรม
ภาพปก S U N T U R 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.