เป็นเหมือนกันไหม เวลาเดินผ่านตึกที่มีป้ายไฟหรือหน้าจอ LED ขนาดยักษ์ เรามักจะโดนแสงไฟเจิดจ้าสาดใส่จนรู้สึกแสบตา แถมทุกวันนี้กรุงเทพฯ ยังมีป้ายหรือหน้าจอโฆษณาขนาดเล็กใหญ่เต็มไปหมด เดินไปทางไหนก็ต้องเห็นแสงสีจากไฟ LED แทงตาอยู่บ่อยครั้ง สิ่งนั้นเรียกว่า ‘แสงไฟประดิษฐ์’ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อสร้างความสว่างในตอนกลางคืน
สำหรับคนมองแสงไฟจากระยะไกล อาจรู้สึกสว่างปลอดภัยและเพลิดเพลินกับแสงสี ในมุมกลับกัน คนที่ใกล้ชิดกับแสงไฟทุกๆ วัน แสงสว่างเหล่านี้กลับส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างหนัก หรือเรียกว่า ‘มลพิษทางแสง’ หรือแสงไฟประดิษฐ์ที่ฟุ้งกระจายออกมาอย่างไร้การควบคุมและเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตตามมา
ปัญหาแสงไฟ กระทบคน สัตว์ และพืช
ในประเทศไทยเคยมีเคสมลพิษทางแสงที่เป็นประเด็นในสังคม เช่น แสงป้ายไฟในย่านทองหล่อ โดยเหตุการณ์มีอยู่ว่า ผู้อยู่อาศัยในอาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบทางแสงจากป้ายโฆษณา LED ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ตัวป้ายมีขนาดใหญ่กว้าง 8 เมตร ยาว 32 เมตร เปิดทุกวันตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเที่ยงคืน รวมประมาณ 18 ชั่วโมง/วัน
จะเห็นว่ากรณีดังกล่าว ป้าย LED ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากแสงไฟที่ส่องสว่างมากเกินพอดีในตอนกลางคืนทะลุเข้ามาในบ้าน ไม่เพียงสร้างมลพิษทางสายตา แต่ชาวบ้านยังต้องลำบากหาผ้ามาบังแสงไฟ ซึ่งก็ทำให้บังลมและต้องเปิดแอร์มากกว่าเดิมด้วย
นอกจากมลพิษทางแสงจะเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต จริงๆ แล้วก็มีผลต่อร่างกายด้วยเหมือนกัน เช่น อาการนอนไม่หลับ ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะว่าแสงทำให้ต่อมไพเนียล (Pineal) หลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ฮอร์โมนเกี่ยวกับการควบคุมการนอนหลับได้น้อยลง
ส่วนระบบนิเวศทางธรรมชาติก็พลอยเจอผลกระทบตามไปด้วย เช่น แสงไฟที่มากเกินไปทำให้ข้าวไม่ออกรวง เพราะข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่ไวต่อแสง รวมถึงสัตว์ต่างๆ เช่น นก ค้างคาว หรือแมลงที่ใช้แสงในการใช้ชีวิตอย่างผีเสื้อกลางคืนก็หลงแสงไฟที่ฟุ้งมากเกินไป จนทำให้พวกมันหลงทิศทางการบิน และไปผสมเกสรดอกไม้ไม่ได้
กฎหมายไทยแก้ที่ปลายเหตุ
สำหรับกฎหมายบ้านเรา ส่วนใหญ่เน้นไปที่การแก้ไขความเสียหายจากแสงไฟที่เกิดขึ้น เช่น หากแสงสว่างส่องเข้ามาในอาคารของผู้อื่นในระยะเวลายาวนาน จนทำให้เสียสุขภาพและใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นสุข จะถือว่าเป็นการทำให้เกิดความเสียหายด้านอนามัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421
ผู้ได้รับความเดือดร้อนดังกล่าวสามารถร้องเรียนเจ้าพนักงานท้องถิ่น พนักงานสาธารณสุข และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพนักงานท้องถิ่นให้ระงับเหตุรำคาญได้ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
ในกรณีปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ก็มีสิทธิ์ที่เจ้าหน้าที่พนักงานจะออกคำสั่งทางปกครองและแจ้ง อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองให้กับผู้ก่อเหตุรำคาญ หากไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ก็อาจโดนเรียกค่าปรับและถูกดำเนินคดีต่อไป แต่ในส่วนของการควบคุมเรื่องแสงไฟประดิษฐ์ยังไม่ระบุเด่นชัด
เคสต่างประเทศ ควบคุมตั้งแต่ผังเมือง
ในต่างประเทศเองก็ประสบปัญหามลพิษทางแสง และมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีมาตรการควบคุมเกี่ยวกับแสงไฟประดิษฐ์อย่างจริงจัง เช่น ประเทศอังกฤษมี The Institution of Lighting Professionals สถาบันวิศวกรรมเกี่ยวกับแสงสว่างวางแผนโซนเมืองในการกำหนดแสงสว่างแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เช่น พื้นที่ชานเมืองและที่อยู่อาศัยต้องมีความสว่างของไฟในเกณฑ์ต่ำกว่าพื้นที่ใจกลางเมือง เพราะการใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างกัน
มากไปกว่านั้น ยังมีมาตรการควบคุมและจัดการโฆษณาในเมือง (Town and Country Planning : Control of Advertisements) เช่น ความสว่าง ขนาดป้าย หรือทำเลในการติดป้าย โดยให้หน่วยงานของแต่ละท้องถิ่นเป็นคนดูแลและตัดสินใจในพื้นที่
ประเทศอิตาลีมีกฎหมาย Law of the Lombardy Region เป็นข้อกำหนดพื้นที่คุ้มครองมลพิษทางแสง (Protected Zone) สำหรับสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยควบคุมทั้งการติดตั้ง ประเภทหลอดไฟ และความเข้มข้นของแสงไฟประดิษฐ์ รวมทั้งเวลาเปิดปิดแสงไฟในเมืองอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้ปัญหาแสงไฟประดิษฐ์เป็นมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเป็นวงกว้าง ทว่ามาตรการควบคุมแสงไฟในบ้านเรายังไม่มีแนวทางควบคุมชัดเจน ซึ่งมลพิษทางแสงก็เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรปล่อยผ่าน และควรวางแผนควบคุมและป้องกันในระยะยาวก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
Sources :
Cigna | shorturl.asia/ZpC1j
The MATTER | shorturl.asia/rQHO6
คู่มือป้องกันมลภาวะทางแสง | ปีดิเทพ อยู่ยืนยง จากศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วิทยานิพนธ์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษทางแสงจากป้ายไฟฟ้า | พชรดนัย ปาณธูป จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์