Lampang to Bangkok ร้านอาหารเหนือฟิวชัน - Urban Creature

‘ลำปาง-บางกอก’ แค่ได้ยินชื่อก็พอจะนึกออกแล้วว่าต้องเป็นร้านอาหารที่มีกลิ่นอายของภาคเหนือผสมอยู่ด้วยแน่ๆ แต่ที่น่าสนใจคือไอเดียเบื้องหลังอาหารที่เล่าเรื่องราวระหว่างทางจากลำปางถึงบางกอก

‘Lampang to Bangkok’ หรือ ‘ลำปาง-บางกอก’ เป็นคาเฟ่และร้านอาหารในซอยเอกมัย 12 ของ มิ้นท์-วรามล ชุนชาติประเสริฐ เจ้าของแบรนด์เซรามิก Cone Number 9 ที่ต่อยอดเอาความรักในการกินอาหารและความเป็นสาวเหนือแท้ๆ มาถ่ายทอดผ่านอาหารที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่ค้นพบระหว่างเดินทางจากบ้านเกิดที่ลำปางถึงกรุงเทพฯ และเสิร์ฟความอร่อยด้วยจานชามเซรามิกสวยๆ ของ Cone Number 9 ที่อิมพอร์ตมาจากโรงงานที่ลำปาง

ลำปาง-บางกอก
ลำปาง-บางกอก

ทุกวันนี้ร้านอาหารเหนือในกรุงเทพฯ มีเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราเชื่อว่าอาหารเหนือในสไตล์ของลำปาง-บางกอกนั้นไอเดียจัดจ้านและไม่ซ้ำกับร้านไหนอย่างแน่นอน นอกจากอาหารจะสนุกแล้ว ยังทำเองตั้งแต่จาน ชาม ไปจนถึงผนังร้าน ให้สมกับเป็นลูกหลานโรงงานเซรามิก ใส่กิมมิกการเดินทางลงไปในอาหารทุกจาน ทำให้เราเหมือนได้แวะกินเที่ยวระหว่างทางไปพร้อมๆ กับเธอ

เกิดที่ลำปาง โตที่กรุงเทพฯ

มิ้นท์เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของลำปาง-บางกอก มาจาก  Cone Number 9  แบรนด์เซรามิกที่เธอต่อยอดมาจากธุรกิจของคุณป้าที่ทำโรงงานเซรามิกที่ลำปางมากว่า 20 ปี มีคอนเซปต์เป็นจานชามแก้วน้ำที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่จะมีการดีไซน์ใหม่ ที่ผสมผสานกับสีดั้งเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้ทันสมัยและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองมากขึ้น เดิมทีแบรนด์ Cone Number 9 จะมี Tagline ห้อยท้ายอยู่เสมอว่า ‘Lampang to Bangkok’ มาจากคอนเซปต์ Born in Lampang and Rise in Bangkok ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เซรามิกผลิตที่ลำปางแล้วนำมาวางขายที่หน้าร้านในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงตัวเธอเองด้วยเช่นกันที่เกิดที่ลำปางและมาโตที่กรุงเทพฯ 

ลำปาง-บางกอก
ลำปาง-บางกอก

เธอจึงหยิบยก Tagline เดิมของแบรนด์เซรามิกมาตั้งเป็นชื่อร้าน และมีเส้นเรื่องใหม่ที่บอกเล่าชีวิตที่ต้องเดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปโรงงานของเธออยู่บ่อยๆ ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งก็ทำให้ได้ค้นพบอาหารท้องถิ่นและวัตถุดิบรายทางที่ทำให้การเดินทางทุกครั้งมีเป้าหมายให้ต้องหยุดแวะพักเต็มไปหมด 

“ตลอดระยะเวลาหกถึงเจ็ดปี ที่ทำ  Cone Number 9  เราต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปลำปางมาตลอด ขึ้นเครื่องบ้าง ขับรถบ้าง เราก็รู้สึกว่าระหว่างทางมันมีอะไรน่าสนใจ ไม่ใช่แค่ปลายทาง มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางให้เราได้เก็บตกจากมันเยอะมาก ลำปาง-บางกอกจึงไม่ใช่ร้านอาหารเหนืออย่างเดียว แต่มันคือการเดินทางของเราจากกรุงเทพฯ ไปลำปาง เราเอาสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ประจำมาขยายความเป็นร้านอาหารอีกที” 

ภายในร้านจะมีทั้งบาร์กาแฟและโซนครัว ถ้าอยากทานมื้อเล็กก็แวะมาดื่มกาแฟหรือกินขนมเบาๆ ก็ได้ หรือจะทานมื้อใหญ่เป็นข้าวซอย แกงฮังเล ขันโตก ฯลฯ ก็ได้เช่นกัน ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นร้านอาหารเหนือ แต่จริงๆ แล้วอาหารที่ลำปาง-บางกอก มีทั้งเหนือ กลาง ไทย เทศ แต่ล้วนเป็นเมนูคุ้นเคยที่เปลี่ยนวัตถุดิบให้สนุกยิ่งกว่าเดิม

ลำปาง-บางกอก
ลำปาง-บางกอก

แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ‘เซรามิก’ จากโรงงานของครอบครัวที่อิมพอร์ตมาจากลำปาง ภาชนะทั้งหมดที่ใช้ในร้านเป็นของ Cone Number 9 ซึ่งมิ้นท์ออกแบบเอง มีสีที่ออกแบบใหม่สำหรับใช้ในร้านลำปาง-บางกอกเท่านั้น แม้แต่กระเบื้องที่ใช้ในร้านยังผลิตเอง เป็นดีไซน์ถอดแบบมาจากร้าน  Cone Number 9 สาขาเอกมัย 15 เป็นตัวตนอีกด้านที่ซิงก์กันแต่เล่าเรื่องคนละวิธีการ เพราะ Cone Number 9 เป็นคาเฟ่ที่เล่าเรื่องเซรามิกผ่านกาแฟ ส่วนลำปาง-บางกอกเล่าเรื่องผ่านอาหาร แม้จะวิธีการต่างกันแต่สื่อกลางคือเซรามิกที่มิ้นท์บรรจงสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตัวเอง

เรื่องราวระหว่างทาง จากลำปางถึงบางกอก

ความสนุกของอาหารที่ลำปาง-บางกอกคือไอเดียของมิ้นท์ที่ใส่ลงไปในทุกจาน และเรื่องราวระหว่างทางที่เธอกลับบ้าน เนื่องจากบ้านเกิดอยู่ที่ลำปางและมีประสบการณ์เดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือ และจากเหนือลงกรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง เพราะต้องไปดูโรงงานทำเซรามิกของครอบครัว เธอจึงมีร้านประจำที่แวะเติมพลังระหว่างทางอยู่หลายจังหวัด และได้เปิดประสบการณ์การกินอาหารท้องถิ่นตลอดทาง เกิดไอเดียในการนำวัตถุดิบรายทางเหล่านี้มาปรุงอาหาร และใช้วัตถุดิบนอกเส้นทางจากภาคอื่นๆ บ้างบางส่วน ทั้งมิกซ์และทวิสต์ในสไตล์ของลำปาง-บางกอก จนได้ออกมาเป็นอาหารจานเดิมที่ทุกคนคุ้นเคย แต่เล่าเรื่องราวใหม่ให้สนุกและมีสีสันได้ในสไตล์ของตัวเอง

ลำปาง-บางกอก

เมนูของลำปาง-บางกอกจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ เมนูก่อนเดินทางและระหว่างทาง ชวนให้นึกถึงการนั่งรถไปต่างจังหวัดกับครอบครัว เมนูก่อนเดินทางจะเป็นเมนูเบาๆ ทานง่าย ที่กินรองท้องรอมื้อใหญ่ เช่น มันฝรั่งติดเปลือกเลือกคู่ ที่มีซอสให้จิ้มกับน้ำพริกตาแดง 3 แบบคือ มาโย ซอสมะเขือเทศ และต้นตำรับ ถ้าอยากรองท้องแบบสดชื่นๆ แนะนำเป็นยำส้มโอทับทิมใต้ สหายสตอร์เหนือ ที่ใช้สตรอว์เบอร์รีสดๆ จากเชียงใหม่ มาคลุกเคล้ากับส้มโอทับทิมจากใต้และน้ำยำที่รสชาติไม่จัดมาก ถึงแม้สุราษฎร์ธานีจะไม่ใช่ทางผ่านไปลำปางแต่ก็เป็นอีกความตั้งใจที่มิ้นท์อยากอุดหนุนเกษตรกรท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด

ลำปาง-บางกอก

ส่วนเมนูระหว่างทางคือจานหลักแบบจัดเต็ม ขึ้นชื่อว่าลำปาง-บางกอก เมนูเด่นก็คงไม่พ้นอาหารเหนือ แม้ที่นี่จะไม่ใช่ร้านที่ทำอาหารเหนือเป็นหลัก แต่มาถึงแล้วก็ควรลองอาหารเหนือของเขาจริงๆ เพราะเป็นอาหารเหนือในมิติใหม่ที่คุณจะไม่เคยลองที่ไหนแน่ๆ และเป็นรสชาติที่สาวเหนือแท้ๆ ปรับสูตรกับเชฟจนได้ออกมาเป็นสูตรเฉพาะของที่ร้าน รสชาติไม่ซับซ้อน คนกรุงเข้าถึงง่าย แต่ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนจนทิ้งเอกลักษณ์ของอาหารเหนือเลยเสียทีเดียว 

ลำปาง-บางกอก

ข้าวซอยเป็นอาหารหลักที่มิ้นท์จะต้องกินทุกครั้งที่กลับลำปาง และมีร้านประจำที่ถูกปากจนอยากให้ทุกคนได้ลองรสชาติแบบนี้ เมนูแนะนำของร้านจึงเป็นมักกะโรนีข้าวซอยไก่ ที่ปรับรสชาติที่ชอบให้ออกมาเป็นสูตรเฉพาะตัวของลำปาง-บางกอก รสชาติจัดจ้าน เข้มข้นในสไตล์อาหารเหนือ และเปิดโลกการกินข้าวซอยด้วยการใส่เส้นมักกะโรนี ที่กัดแต่ละคำจะมีน้ำข้าวซอยสอดไส้อยู่ข้างใน กินแล้วได้เทกซ์เจอร์ที่แปลกใหม่แต่เข้ากันได้ดีมากๆ ใครเบื่อข้าวซอยแบบเดิมๆ แนะนำให้ลองจานนี้ 

ลำปาง-บางกอก

อีกจานที่มัดใจคนไม่ชอบทานอาหารมันๆ ได้อยู่หมัดคือ แมคคาเดเมียฮังเล โดยปกติแล้วแกงฮังเลจะใช้หมูสามชั้น ถ้าหากใครไม่ชอบมันคงไม่ถูกใจอาหารเหนือจานนี้สักเท่าไหร่ แต่ที่ลำปาง-บางกอกใช้สันคอหมู และปรับสูตรให้ใกล้เคียงร้านโปรดของมิ้นท์ที่ลำปาง แต่เปลี่ยนหมูให้มันน้อยลง เติมความสดชื่นด้วยมะขามเปียก ทำให้ได้แกงฮังเลที่ไม่เลี่ยน ไม่มัน แต่ก็ไม่เปรี้ยวจนเสียเอกลักษณ์ของแกงฮังเลไป ทานกับข้าวสวยร้อนๆ กำลังพอดี และมีแมคาเดเมียให้เคี้ยวกรุบกรับแบบเพลินๆ เป็นการเปลี่ยนอาหารจานเดิมให้มีกิมมิกที่สนุก แต่กินแล้วไม่รู้สึกแปลกและได้ความอร่อยในมิติใหม่

ลำปาง-บางกอก

ทุกครั้งที่ไปลำปางจะต้องผ่านอยุธยา จุดแวะพักเติมพลังของมิ้นท์คือร้านกุ้งแม่น้ำ ของดีชื่อดังประจำจังหวัดที่ถ้าไม่แวะขาไปก็ต้องแวะขากลับสักครั้ง ซึ่งหากไม่ได้ฟังจากคำบอกเล่า แค่ดูเมนูเราเชื่อแล้วว่าเธอต้องชอบกินกุ้งแม่น้ำมากจริงๆ เพราะหลายเมนูในร้านเสิร์ฟมาพร้อมกับกุ้งแม่น้ำตัวโตๆ เช่น สปาเกตตี้เครื่องปรุงลำปาง กุ้งนางบางกอก ที่มาพร้อมกุ้งสดๆ เนื้อฉ่ำๆ ที่คนรักกุ้งต้องฟิน และอีกจานคือ ข้าวผัดปกาอำปึล ที่นำข้าวพื้นถิ่นจากสุรินทร์ไปผัดกับน้ำพริกตาแดงและเครื่องแกงสมุนไพร เสิร์ฟมาพร้อมกับกุ้งย่างตัวโตๆ เป็นอีกจานที่ได้สารอาหารครบทุกหมู่ เพราะเสิร์ฟมาในถาดใหญ่ และได้ผักมาทั้งสวน 

ลำปาง-บางกอก

ใครคิดถึงบรรยากาศเหนือๆ ที่นี่ยังมี ขันโตกเมือง ชุดเล็กๆ 2 ชั้นที่เสิร์ฟผักสดๆ มาพร้อมน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม และแจ่วบอง กินคู่กับแคบหมู ไส้อั่ว ที่อิมพอร์ตมาจากกาดในเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีเมนูที่ใช้วัตถุดิบจากทางเหนืออีกหลายจานอย่าง หมูหมักมะแขว่นย่างเตา หมูสามชั้นคั่วพริกตำรับคุ้มเจ้าแพร่ หมูกะปิเมืองน่าน กุ้งเหนือเกลือหิมาลัย ฯลฯ 

ลำปาง-บางกอก

ปิดท้ายด้วยของคาวน่ารักๆ แบบไทยๆ อย่างขนมครก 5 หน้า ที่มีทั้งป็อปคอร์น ถั่วพิสตาชิโอ เผือก-แมคาเดเมีย ฝอยทอง-บลูเบอร์รี และถั่วแดง ที่ทำให้เมนูที่เราคุ้นเคยกันอย่างขนมครกมีเทกซ์เจอร์ที่สนุกมากขึ้น และยังมีเซตขนมไทยที่ร้านทำเอง เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ฝอยทอง สังขยาฟักทอง ขนมเปียกปูน ฯลฯ เอาใจคนรักขนมไทยที่ชอบกินหลากหลาย 

ลำปาง-บางกอก

ภายในร้านยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นแบรนด์คนไทยจำหน่าย เช่น Chabatree แบรนด์งานไม้ฝีมือคนไทย, Thorr ผลิตภัณฑ์กระจูดและงานสาน, นวยนาด แบรนด์เทียนหอม เครื่องหอม และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และที่ขาดไม่ได้เลยคือเซรามิกจาก Cone Number 9 ถ้าชอบจานชามใบไหนของที่ร้านก็ช้อปจากที่นี่หรือไปดูต่อที่ Cone Number 9 สาขาซอยเอกมัย 15 ได้เลย

ลำปาง-บางกอก
ลำปาง-บางกอก
ลำปาง-บางกอก

Lampang to Bangkok | ลำปาง-บางกอก
เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 09.00 – 21.00 น.
ที่อยู่ : 39 ซอยเอกมัย 12
แผนที่ : https://g.page/Lampangtobangkok?share
Facebook : Lampang to Bangkok

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.