ลิสต์กล้องส่วนพระองค์ทรงใช้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 - Urban Creature

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน โดยเฉพาะความปรีชาสามารถด้านงานศิลปะ จนได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวานพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” ไม่ว่าจะเป็นความสามารถทางด้านงานประพันธ์ดนตรี , ด้านงานจิตรกรรม ด้านงานช่าง รวมถึงด้านการกีฬาก็ทรงเชี่ยวชาญและเจนจัดในหลายประเภทกีฬาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงแสดงออกถึงพระปรีชาสามารถหลากหลายด้านดังกล่าว หนึ่งในพระอัจฉริยะภาพเหล่านั้นได้ถูกขัดเกลาโดยฝีพระหัตถ์ของพระองค์จากกิจกรรมที่ทรงงานอดิเรกบ่อยครั้ง กลายเป็นการทรงงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งนั้นคือพระปรีชาสามารถด้าน “ศิลปะภาพถ่าย”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่สมัยยังพำนักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สมัยนั้นยังเป็นยุคเริ่มต้นที่การถ่ายภาพเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้คน พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทั้งการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทรงคุ้นเคยดีกับประเภทและลักษณะของกล้องทุกแบบ ตั้งแต่ยุคม้วนฟิล์มถึงเซนเซอร์ดิจิตอล ทรงพัฒนาวิธีการและลักษณะการถ่ายภาพหลากหลายรูปแบบอยู่ตลอดเวลา

ภาพถ่ายที่ดี นอกจากจะมาจากมุมมองอันสร้างสรรค์ของผู้ถ่ายแล้ว อุปกรณ์เหมาะมือที่รู้ใจกันดีกับตัวช่างภาพเองย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานด้วยกล้องถ่ายภาพ ก็มีกล้องหลากหลายตัวที่เป็นกล้องคู่พระหัตถ์ของพระองค์ หลากหลายตัวที่พระองค์ทรงโปรดปราน บ้างพระองค์ทรงส่งมอบต่อให้ช่างภาพส่วนพระองค์เป็นสมบัติส่วนตัว บ้างก็ทรงส่งต่อให้เป็นของขวัญจับสลาก กล้องส่วนพระองค์จึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการเรียนรู้ถึงตัวตนและรำลึกถึงพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะภาพถ่าย

Coronet Midget

Coronet Midget ตัวนี้เป็นกล้องขนาดเล็กจิ๋ว สามารถพกลงในกระเป๋าอกเสื้อได้สบาย หลาย ๆ คนเรียกกล้อง Coronet Midget ว่าเป็น The Best Smallest Miniature Camera หรือก็คือสุดยอดกล้องจิ๋วที่นอกจากจะมีขนาดเล็กที่สุดแล้ว ยังให้คุณภาพของภาพที่ดีที่สุดด้วย กล้องตัวนี้ถือเป็นกล้องตัวแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระบรมราชชนนีในสมัยที่ทรงพระชนย์มายุเพียง 8 พระชันษา สมัยนั้นกล้องตัวนี้มีราคาเพียง 2 ฟรังค์สวิตเซอร์แลนด์

Kodak Vest Pocket Montreux

กล้องขนาดเล็กที่สามารถพกพาในกระเป๋าได้สมชื่อจากค่าย Kodak เป็นกล้องประเภท Folding Camera หรือก็คือสามารถพับเก็บได้เมื่อไม่ใช้งาน สามารถถ่ายได้ม้วนละ 6 ภาพหรือที่เรียกกันว่า Minibox กล้องตัวนี้ได้ชื่อเล่นว่าเป็นกล้องสำหรับออกศึก ผลิตเมื่อปี 1915 – 1926 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

Elax Lumie’re

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงใช้กล้อง Elax Lumie’re เป็นกล้องสัญชาติฝรั่งเศส พระองค์ทรงใช้กล้องตัวนี้จนเชี่ยวชาญ เหมาะกับพระหัตถ์มาก ซึ่งเมื่อครั้งที่สมเด็จพระอานันทมหิดลเสด็จกลับเมืองไทย พระองค์ก็ทรงใช้กล้องนี้บึนทึกภาพระหว่างตามเสด็จโดยตลอด ซึ่งสิ่งนี้แสดงได้ถึงความสนพระราชหฤทัยในศิลปะภาพถ่ายเป็นอย่างมาก

Hassleblad

อีกหนึ่งแบรนด์กล้องที่ครองใจช่างภาพทั่วโลกทุกยุคทุกสมัย Hassleblad กล้องสัญชาติสวีเดน เป็นกล้อง Slr ใช้ฟิล์มขนาด 120 สิ่งที่พระองค์ทรงโปรดปรานในกล้องตัวนี้ก็คือสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้หลากหลาย และมีแมกกาซีนบรรจุฟิล์ม สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามทุกโอกาสความต้องการ พระองค์ทรงใช้กล้องตัวนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งเกิดแสงรั่วเข้าแมกกาซีนบรรจุฟิล์ม ช่างซ่อมกล้องชาวไทยไม่สามารถซ่อมกล้องตัวนี้ได้ ต้องส่งกลับไปยังประเทศผู้ผลิตเท่านั้น พระองค์จึงทรงเลิกใช้

Ikoflex

เป็นกล้องจากบริษัทผลิตเลนส์ Zeiss Ikon มีลักษณะเป็นเลนส์แบบคู่ (Twin lens Reflex) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กล้องตัวนี้เมื่อปีพ.ศ. 2494 และทรงพอพระราชหฤทัยมาก เนื่องจากความคมชัดและคุณภาพของเลนส์ในตัวกล้อง

Contax II

ปรับปรุงมาจากกล้อง Contax-S เมื่อปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดปรานกล้องตัวนี้มาก และทรงใช้คู่พระหัตถ์อยู่เป็นประจำ เนื่องจากเป็นกล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ และมีเครื่องวัดแสงติดตั้งในตัว ปัจจุบันกล้องตัวนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานไว้อยู่ที่สวนหลวง ร.9

Kiev – 60

เมื่อครั้งที่ประเทศไทยได้จัดฉลองวันรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2496 ที่สวนลุมพินี ในตอนนั้นมีสถานทูตรัสเซียมาเปิดร้าน เจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าถวายกล้อง Kiev ซึ่งเป็นกล้องที่คล้ายคลึงกันกับ Zeiss Ikon ที่พระองค์มี พระองค์รับไว้และทดลองใช้จนเข้าใจการใช้งานทุกขั้นตอน

Canon – 7

เมื่อปีพ.ศ. 2514 ในช่วงที่กล้องสัญชาติญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงได้ทดลองใช้กล้องจากญี่ปุ่นดูบ้าง กล้องตัวนั้นคือ Canon – 7 ซึ่งเป็นกล้องเล็งแบบกะระยะ (Range Finder ) คุณภาพสูง แต่ทรงไม่โปรดพระราชหฤทัยนัก เพราะกล้องประเภทนี้ไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้

Canon Dial 35

อีกหนึ่งโมเดลจากค่าย Canon ที่พระองค์เคยพกพา ซึ่งเป็นกล้องระบบอัตโนมัติ พกพาง่าย น้ำหนักเบา เป็นกล้องแบบกึ่งกรอบภาพ (Half Frame) สามารถถ่ายได้ 72 รูปต่อฟิล์มหนึ่งม้วน ต่อมาทรงพบว่ากล้องตัวนี้ใช้งานง่ายเกินไป และไม่ถนัดพระหัตถ์นัก จึงทรงเลิกใช้

Nikon F3

เป็นกล้องญี่ปุ่นที่พระองค์ทรงโปรดปราน Nikon F3 เป็นหนึ่งในกล้อง SLR ที่ดีที่สุดของค่าย Nikon ครองตลาดและเป็นที่นิยมทั้งกับช่างภาพมือสมัครเล่นและมืออาชีพทั่วโลก รูปทรงสวยงามและผลิตจากวัสดุคุณภาพ มีความทนทานและใช้งานสะดวก พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยกับกล้องตัวนี้มาก หากแต่เพียงมีน้ำหนักที่มากไปเล็กน้อย จึงทรงพระราชทานให้ช่างภาพส่วนพระองค์เป็นสมบัติส่วนตัวของเขาจนทุกวันนี้

Canon EOS 650

ในช่วงที่กล้องอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทกับวงการศิลปะภาพถ่ายมากขึ้น พระองค์ทรงทดลองใช้กล้องตระกูล EOS จากค่าย Canon เริ่มต้นที่ EOS 650 จนถึง EOS 30D

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงใช้เวลาทดลองกล้องต่างชนิดกันมาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มาจากการรับถวาย หรือมาจากทรัพย์ส่วนพระองค์เอง หลายตัวพระองค์ก็ได้พระราชทานให้บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ มีเพียงตัวที่ทรงพอดีพระหัตถ์เท่านั้นที่พระองค์ทรงใช้เป็นกล้องส่วนพระองค์ เหตุผลที่สำคัญก็เพราะว่าประเทศไทยผลิตสินค้าเกี่ยวกับกล้อง และอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ได้เลย จึงต้องเสียดุลย์การค้าให้กับต่างประเทศเป็นเม็ดเงินที่มาก แนวความคิดเกี่ยวกับความพอเพียงด้านอุปกรณ์จึงเป็นสิ่งที่ช่างภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นควรพึงสังวรณ์

ศิลปะการถ่ายภาพที่พระองค์ทรงเพียรขัดเกลาตั้งแต่ยังครั้งทรงพระเยาว์ ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทรงงานของพระองค์ ที่แสดงถึงพระอัจฉริยะภาพและความใส่ใจในเหล่าผสกนิกร กล้องทุกตัวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้กลายมาเป็นเครื่องมือทรงงานชิ้นสำคัญของพระองค์ที่คอยสอดส่องเหล่าผสกนิกรทั่วทุกแห่งหนในแผ่นดินไทย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.