เปิดช่องโทรทัศน์ไทย รายการเด็กหายไปไหนหมด - Urban Creature

เมื่อนึกถึงวันวานเก่าๆ บรรยากาศชวนให้นึกถึงช่วงเวลาตอนเด็กที่คุณแม่ถักเปียให้ในตอนเช้าระหว่างที่เรากำลังนั่งดูรายการเจ้าขุนทองก่อนไปโรงเรียน ส่วนตอนเย็นหลังเลิกเรียน เมื่อกลับบ้านมาเปิดโทรทัศน์ก็จะมีรายการเด็กสลับสับเปลี่ยนให้ดูทุกวัน หรือแม้แต่วันเสาร์อาทิตย์ที่ยอมตื่นมาดูรายการสนุกๆ แต่เช้า 

พอนึกย้อนกลับไปแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เด็กยุคนี้จะเคยดูรายการต่างๆ ในโทรทัศน์เหมือนที่เราเคยดูในวัยเด็กบ้างไหมนะ แต่เมื่อลองเปิดโทรทัศน์และเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ กลับพบว่า รายการเด็กที่เคยมีอยู่เกือบทุกช่องหายไปแทบจะหมดแล้ว ไม่ใช่แค่รายการเก่าๆ เท่านั้นที่หายไป แต่รายการใหม่ก็แทบจะไม่มีให้เห็นเลย 

คอลัมน์ Curiocity จึงอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กมีน้อยลงเรื่อยๆ และในอนาคตรายการประเภทนี้ยังจำเป็นสำหรับประเทศไทยหรือไม่

Kids TV Shows Thailand

เนื้อหารายการเด็กที่ไม่เหมือนเดิม

หากพูดถึงรายการสำหรับเด็ก หลายคนอาจมองว่าช่องโทรทัศน์ของไทยมีการ์ตูนให้ดูเยอะอยู่แล้ว ทว่ารายการเด็กที่เรากำลังพูดถึงไม่ใช่แค่สื่อเพื่อความสนุกหรือความบันเทิงเท่านั้น แต่หมายถึงรายการที่แฝงไปด้วยความรู้รอบตัวมากมายที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้แก่เด็ก 

ตัดภาพมาที่รายการเด็กในตอนนี้ ถ้าไม่นับช่องการ์ตูนจากต่างประเทศ รายการอื่นๆ มักเน้นไปที่การแข่งขันโดยมีเด็กเป็นตัวหลักของรายการ เช่น การแข่งขันชิงรางวัลด้วยการร้องเพลงหรือเล่นเกม กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ดูรายการเหล่านี้กลับไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ที่อยากติดตามความน่ารักของเด็กๆ ที่ร่วมรายการแทน

รายการเด็กทำกำไรได้ไม่ดี

ในปี 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีข้อกำหนดว่า ช่องโทรทัศน์ทุกช่องจะต้องมีรายการสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาเหมาะสมและไม่เป็นภัยต่อการพัฒนาทั้งสติปัญญา อารมณ์ และสังคมของเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 60 นาที ในช่วง 16.00 – 18.00 น. ของทุกวัน และ 06.00 – 10.00 น. ในวันเสาร์และอาทิตย์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกช่องจะทำตามข้อกำหนดนี้ได้ เนื่องจากช่องโทรทัศน์เป็นธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยผลกำไรและความนิยมจากเรตติง หากรายการได้รับความนิยมมากก็ส่งผลให้มีผู้สนับสนุนในการผลิตรายการมากขึ้น ทำให้ธุรกิจดำเนินงานต่อไปได้

ซึ่งรายการเด็กเองอาจไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่าหรือมีผู้ชมมากเท่ากับรายการอื่นๆ เช่น รายการเล่าข่าว รายการประกวดร้องเพลง และละคร จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ช่องเด็กต้องปิดตัวหรือลดจำนวนรายการลง เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลกำไร และหันไปพัฒนารายการที่ตอบรับกับกระแสนิยมแทน

เด็กไม่ดูทีวีหรือทีวีไม่มีอะไรให้เด็กดู

เมื่อรายการเด็กบนโทรทัศน์มีน้อยลง เด็กส่วนใหญ่อาจหันไปใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงเนื้อหาสำหรับเด็กที่หลากหลายและมีเยอะกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายุคนี้ไม่มีเด็กดูโทรทัศน์เหลืออยู่แล้ว 

เพราะผลสำรวจของสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะของช่อง Thai PBS ในปี 2561 พบว่า โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่เด็กอายุ 3 – 6 ปีดูมากที่สุด เพราะผู้ปกครองมักเปิดให้เด็กดูในช่วงเช้าก่อนไปโรงเรียน และช่วงเย็นหลังจากเลิกเรียน สื่อที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือ YouTube และหนังสือตามลำดับ ส่วนเด็กวัย 7 – 10 ปี จะรับสื่อผ่านทาง YouTube เป็นอันดับแรก ตามด้วยโทรทัศน์และหนังสือตามลำดับ

จึงอาจสรุปได้ว่า โทรทัศน์ยังเป็นสื่ออันดับหนึ่งของประเทศไทย เพราะเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึงกว่าช่องทางออนไลน์อื่นๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และยังสามารถเป็นกิจกรรมร่วมในครอบครัวได้ด้วย 

เพราะฉะนั้นปัญหาหลักอาจจะไม่ใช่เด็กไม่ดูโทรทัศน์ แต่เป็นเพราะว่ารายการที่มีเนื้อหาสำหรับเด็กนั้นมีน้อยลงเรื่อยๆ จนทำให้เด็กต้องหาช่องทางอื่นๆ ในการเข้าถึงรายการที่พวกเขาสนใจ ดังนั้น ธุรกิจโทรทัศน์จึงยังควรผลิตรายการสำหรับเด็กออกมาเพื่อให้เด็กไทยส่วนใหญ่ยังคงเข้าถึงสื่อสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด 

ถึงจะมีน้อยลงแต่ก็ยังมีให้ดูอยู่บ้าง

แม้จะมีน้อยจนแทบหาไม่เจอ แต่ก็ไม่ใช่ว่ารายการเด็กจะหายไปจากประเทศไทยเลย ปัจจุบันยังมีช่อง ALTV ของ Thai PBS ที่ยังคงเดินหน้าผลิตรายการสำหรับเด็กอยู่ มีตั้งแต่รายการสาระความรู้เชิงวิชาการ ความรู้ทั่วไป การ์ตูน รวมถึงรายการสำหรับครอบครัวเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกันด้วย

เมื่อปี 2562 บนเวทีสาธารณะกับหัวข้อ ‘อวสานทีวีเด็กไทย! ยอมแพ้ หรือ ไปต่อ’ นั้น ผศ. ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงความสำคัญของช่องโทรทัศน์สำหรับเด็กโดยยกตัวอย่างกรณีของช่อง BBC ของสหราชอาณาจักรที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจนต้องปิดตัวลงไปหลายช่อง แต่ทาง BBC เลือกที่จะรักษาช่องสำหรับเด็กเอาไว้ และยังเพิ่มงบประมาณเพื่อพัฒนารายการเด็กพร้อมกับพัฒนาสื่อออนไลน์ควบคู่ไปด้วย โดยมองว่าการพัฒนาหลากหลายสื่อควบคู่กันไปจะเป็นการตอบสนองเด็กได้ทุกที่ทุกเวลา และยังครอบคลุมทุกเรื่องที่เด็กสนใจด้วย

ดังนั้น นอกจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนใกล้ชิดของเด็กๆ จะต้องตั้งคำถามถึงการหายไปของรายการที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กแล้ว ด้านผู้ผลิตรายการก็ต้องปรับตัวและผลิตรายการที่ยืดหยุ่นสำหรับหลายๆ แพลตฟอร์ม เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมเด็กยุคใหม่ที่เสพคอนเทนต์ผ่านทั้งโทรทัศน์และช่องทางออนไลน์ รวมถึงภาครัฐเองก็ต้องใส่ใจและสนับสนุนการใช้สื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพอนาคตของชาติมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ขับเคลื่อนด้วยผลกำไรและเรตติงเป็นหลัก ในอนาคตรายการที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กไทยอาจจะค่อยๆ หายไปจนไม่เหลือเลยก็ได้


Sources :

ALTV | bit.ly/3w01QXb
Dhurakij Pundit Communication Arts Journal | bit.ly/3GD7ROg
Marketeer Online | bit.ly/3QAHqgN
NBTC | bit.ly/3Zt5juP
R-U-Go | bit.ly/3vXaCoP
Songsue | bit.ly/3GBpON7

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.