‘กัลชนา เนตรวิจิตร’ พนักงานกวาดถนน ผู้เป็นฟันเฟืองของเมือง - Urban Creature

หากพูดถึงฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำให้เมืองของเราน่าอยู่ขึ้น คุณจะคิดถึงอะไร

คำตอบแรกสำหรับเราที่ผุดขึ้นมาในหัวคงเป็นบรรดาพี่ๆ ที่ทำงานบริการใน 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ ยิ่งในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยขยะจากใบไม้กับเศษกิ่งไม้ที่ร่วงหล่น ไปจนถึงเศษซากอาหาร ถุงขนม กระดาษ ขวดพลาสติก หรือขยะชิ้นเล็กๆ อย่างก้นบุหรี่กับหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วจากฝีมือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ยิ่งทำให้ ‘พนักงานกวาดถนน’ ทวีความสำคัญขึ้นไปอีก

วันนี้เราจึงเดินทางมายังเขตจตุจักรเพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตของ ‘แก้ว-กัลชนา เนตรวิจิตร’ ลูกจ้างชั่วคราวพนักงานทั่วไป (กวาด) ที่ก่อนหน้านี้เธอออกสื่อมาแล้วมากมาย เนื่องจากมีโอกาสได้รับประทานอาหารกับผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังจากเหตุการณ์ช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนหอวังที่โดนโจรจี้ 

เราหวังว่าถ้อยคำต่อจากนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจถึงการทำงาน ความเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องของรายได้และรัฐสวัสดิการของอาชีพพนักงานกวาดถนนมากขึ้นอีกหน่อย แล้วทุกคนจะรู้ว่าคนทำงานตัวเล็กๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันมีความสำคัญต่อเมือง และต้องการคุณภาพในการใช้ชีวิตไม่ได้ยิ่งหย่อนไปจากอาชีพอื่นๆ เลย

กัลชนา เนตรวิจิตร พนักงานกวาดถนน


พนักงานกวาด ที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่กวาด

ในขณะที่ชีวิตของใครหลายคนเริ่มต้นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า แต่ชีวิตทุกวันของแก้วกลับเริ่มต้นขึ้นในยามที่ดวงจันทร์กำลังลาลับไป

“เราตื่นนอนออกจากบ้านประมาณตีสี่ครึ่ง มาถึงก็ไปเอาไม้กวาดกับบุ้งกี๋มากวาดตรงจุดรับผิดชอบที่เขากำหนด จากนั้นมีเวลาพักช่วงแปดถึงเก้าโมงหนึ่งครั้ง ก่อนกลับมากวาดรอบสอง และนั่งอยู่บริเวณที่รับผิดชอบเผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน”

‘เหตุการณ์ฉุกเฉิน’ ที่ว่ารวมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างขยะปลิว ไปจนถึงต้นไม้หัก น้ำท่วม หรือรถยนต์ที่ผ่านไปมาทำน้ำมันหก ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของพนักงานกวาดถนนทั้งนั้น 

แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นพนักงานกวาดถนน แต่หน้าที่การงานไม่ได้ทำแค่กวาดอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ เพราะควบรวมไปถึงการดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างในพื้นที่นั้นๆ ด้วย

“อย่างหน้าฝนเราต้องใส่ชุดกันฝนคอยแยงท่อน้ำ เพื่อไม่ให้ใบไม้ เศษขยะไปอุดตันจนเกิดน้ำท่วม เดี๋ยวเขาจะหาว่า กทม. ไม่ดูแล”

นอกจากงานในพื้นที่ของตนแล้ว แก้วบอกกับเราว่างานอีกส่วนที่ต้องทำบ้างเป็นครั้งคราวตามแต่หัวหน้าสั่งคือ ‘งานพัฒนา’ ที่อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นงานเบ็ดเตล็ดตามแต่ประชาชนในเขตร้องเรียน เช่น พื้นที่บริเวณนี้สกปรก ต้องการการทำความสะอาดเพิ่มเติม หรือบางครั้งทางเขตมีงานที่ต้องการความช่วยเหลือก็จะเรียกพนักงานแบบเธอเข้ามาช่วยบ้าง

พนักงานกวาดถนน


3 ปี กับการเป็นลูกจ้างชั่วคราว

แก้วเล่าให้เราฟังว่า ปกติแล้วการทำงานของพนักงานกวาดจะแบ่งเป็น 2 กะ คือกะเช้าตั้งแต่ตี 5 ถึงบ่ายโมง และกะบ่ายที่จะมารับช่วงต่อตั้งแต่บ่ายโมงไปถึง 3 ทุ่มวนไปอย่างนี้ทุกวัน โดยเธอทำงานประจำกะเช้ามาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงาน นับรวมถึงวันนี้ก็ 3 ปีเข้าไปแล้ว

เป็น 3 ปีที่รับผิดชอบพื้นที่บริเวณหน้าโรงเรียนหอวังทั้งหมด ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าจนสุดเขตโรงเรียน และเป็น 3 ปีอีกเช่นกันที่เธอเป็นเพียง ‘พนักงานสัญญาจ้าง’ ของทาง กทม. ไม่ใช่ ‘พนักงานประจำ’

“เราเป็นลูกจ้างชั่วคราวของ กทม. ทำสัญญาปีต่อปี ไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ เลยไม่มีสวัสดิการพิเศษใดๆ มีแค่ถ้าคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็สามารถสำรองจ่ายก่อนแล้วค่อยมาเบิกได้”

การเป็นลูกจ้างชั่วคราวของแก้วทำให้เธอไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือทุนการเล่าเรียนของบุตร อีกทั้งการเป็นลูกจ้างชั่วคราวยังได้รับค่าตอบแทนจากงานน้อยกว่าพนักงานประจำอยู่ไม่น้อย

“เงินเดือนเราได้เดือนละแปดพันหกร้อยบาท รวมกับค่าครองชีพอีกสี่พันบาท แต่ก็ถูกหักค่าประกันสังคมต่างๆ รวมได้รับเงินจริงๆ เดือนหนึ่งเต็มที่ก็หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยบาท ถ้าหยุดงานก็โดนหักเงินไปอีก”

เงินเพียง 11,100 บาทต่อเดือน ในยุคที่ค่าครองชีพรวมเฉลี่ยในกรุงเทพฯ สูงถึง 33,032 บาท ถือเป็นเรื่องยากในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ยิ่งสำหรับแก้วที่ต้องเลี้ยงดูลูกในวัยเรียนอีก 2 คนด้วยแล้ว เธอจึงต้องมองหาลู่ทางอื่นในการหารายได้เสริมควบคู่ไปกับการทำงานเป็นพนักงานกวาดในแต่ละวัน

“หลังจากเลิกงาน เรากลับไปขายของที่หน้าโรงเรียนใกล้บ้าน พอขายเสร็จ ก็กลับไปขายหน้าบ้านต่อ ได้นอนประมาณสี่ห้าทุ่ม ตีสี่ก็ต้องตื่นมาทำงานแล้ว” แก้วเล่า

พนักงานกวาดถนน

ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หากเจอขวดพลาสติกหรือขวดเบียร์ เธอจะเก็บรวบรวมเอาไว้ขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ได้เงินมากมายนัก แต่อย่างน้อยก็พอได้เงินมาไว้ใช้จ่ายบ้าง

“ลำพังเงินเดือนเราไม่พอใช้หรอก เพราะต้องหาเลี้ยงลูกสองคน ต้องหายืม หาหมุน ทำยังไงก็ได้ให้มีเลี้ยงลูก ให้ค่าเรียนลูก ให้ลูกมีข้าวกินไปวันๆ ก็พอแล้ว”


พนักงานกวาด อาชีพที่ภูมิใจ

ถึงแม้ว่าเงินเดือนของพนักงานกวาดจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของแก้วและครอบครัว แต่ตลอดการพูดคุย เธอก็ทำให้เราเห็นถึงเลือดนักสู้ของผู้หญิงผู้เป็นแม่ลูกสองคนหนึ่งที่พยายามใช้ชีวิต และภาคภูมิใจในอาชีพของตนไม่น้อย

“เรามั่นใจว่าถึงจะมีหุ่นยนต์ทำความสะอาดมา แต่มันก็ไม่มีทางสะอาดเหมือนคนทำหรอก เพราะคนสามารถกวาดได้ทุกซอกทุกมุม” แก้วกล่าว

และอีกอย่างที่หุ่นยนต์ให้ไม่ได้แต่เธอทำได้ คือการเป็นหูเป็นตาให้นักเรียนและประชาชนในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ที่หน้าโรงเรียนหอวังของเธอ

พนักงานกวาดถนน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ในขณะที่แก้วกำลังขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจออกปฏิบัติงานตามปกติ กลับมีความไม่ปกติเกิดขึ้นเมื่อเธอพบผู้ชายคนหนึ่งเข้าประชิดตัวนักเรียนที่กำลังเดินมาโรงเรียนในช่วงเวลาประมาณตี 5 ครึ่ง ทำให้เธอตัดสินใจขี่รถไปขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ภายในโรงเรียน 

“ตอนแรกเราไม่กล้าเข้าไปช่วย เพราะโจรเป็นผู้ชาย แต่จิตใต้สำนึกทำให้เราคิดถึงลูกตัวเอง ถ้าลูกเราโดนแบบนี้บ้างแล้วจะทำยังไง จะมีใครช่วยลูกเราไหม เราเลยไปเรียกอาจารย์ในโรงเรียนให้มาดูนักเรียน แล้วก็ขี่มอเตอร์ไซค์ตามไปดูว่าโจรหนีไปทางไหน” 

จากเหตุการณ์นั้นเองที่ทำให้ชัชชาติลงพื้นที่มาขอบคุณแก้วถึงหน้าโรงเรียนหอวัง และชวนไปกินข้าวร่วมโต๊ะพร้อมพนักงานในแผนกอื่นๆ 

“เราไม่คิดว่าการช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งมันจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เราแค่ทำตามหน้าที่และสัญชาตญาณของคนเป็นแม่”

แก้วเสริมว่าเหตุการณ์นั้นเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทั่วไปเปิดใจต่อเราในฐานะพนักงานกวาดถนนมากขึ้น มีบางคนที่จำได้จากข่าวแล้วเข้ามาพูดคุยให้ความสนใจ

แต่ถึงอย่างนั้น เวลาที่เธอไปไหนมาไหนในชุดพนักงานก็ยังมีคนมองมาด้วยความอคติอยู่บ้าง จนทำให้บางทีที่จำเป็นต้องขึ้นรถไฟฟ้า เธอไม่กล้าแม้กระทั่งจะนั่งลงทั้งที่เห็นว่ามีที่นั่งว่าง เพียงเพราะกลัวว่าจะมีใครรังเกียจไหม 

“อยากให้ทุกคนมองว่าพนักงานกวาดก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่อาชีพที่ต้อยต่ำ เพราะถ้าไม่มีเราถนนก็ไม่สะอาด ถูกไหม ถือว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ช่วยรักษาความสะอาดให้พวกคุณ” 

พนักงานกวาดถนน


ยืนหยัด แม้เป็นลูกจ้างชั่วคราว

ถึงแม้ว่าพนักงานกวาดถนนจะได้รับเงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น อีกทั้งการเป็นลูกจ้างชั่วคราวยังทำให้แก้วไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างที่ควรจะเป็น แต่เมื่อเราถามถึงอนาคตในการทำงานของเธอ แก้วก็ยังตอบเราอย่างชัดเจนว่าเธอจะยังคงทำงานเป็นพนักงานกวาดของเขตจตุจักร โดยรับผิดชอบบริเวณหน้าโรงเรียนหอวังไปเรื่อยๆ เหมือน 3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผูกพันกับพื้นที่และผู้คนในบริเวณนั้น บวกกับการทำงานที่ใช้เวลาไม่นาน สามารถไปขายของต่อได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บขวดเป็นรายได้เสริม แตกต่างจากงานอื่นที่จำเป็นต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการทำงาน

“เราคงทำงานนี้ไปเรื่อยๆ อยากบรรจุเป็นพนักงานประจำให้ได้ก่อนลูกเรียนจบ เพราะจะได้เบิกค่าเล่าเรียนลูกได้ แต่เรารู้ว่ามันมีโอกาสน้อย เพราะเราอายุสี่สิบเอ็ดแล้ว บางคนเขาอยู่มาสิบปียังไม่ได้บรรจุเลย” ลูกจ้างชั่วคราวเขตจตุจักรบอกกับเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่แฝงไปด้วยความเศร้า

แก้วรู้จักหลายคนที่เข้ามาทำงานที่เขตเพราะหวังว่าจะเป็นงานที่มั่นคงถาวร ได้รับสวัสดิการ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานจนเกิดความท้อ หมดหวัง ลาออกไปแล้วจำนวนไม่น้อย

“พอเป็นลูกจ้างชั่วคราว เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะจ้างเราถึงเมื่อไหร่ แต่ถ้าเขายังจ้างต่อ เราก็ไม่คิดจะไปไหนแล้ว อยากอยู่ที่นี่จนกว่าจะทำไม่ไหว แค่อยากให้ได้บรรจุไวๆ” 

กัลชนา เนตรวิจิตร

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.