แดดสี่โมงเย็นของยังคงส่องแสงแรงกล้า ช่วงเวลาที่ตะวันยังไม่คล้อยต่ำ บรรยากาศของเมืองปัตตานีมีลมพัดเป็นระลอก ที่ลานสเก็ตก็มีเพียงหนุ่มน้อยจากชุมชนบือตงกำปงกูสามนาย ที่มาพร้อมกับสเก็ตบอร์ดหนึ่งแผ่นเดินเข้ามาทักทาย บอกว่าเดี๋ยวอาจารย์อาร์ม-ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ที่นัดกันไว้ก็จะมาแล้ว
คุยไปไถเล่นไปโชว์ลีลาไปไม่นานเท่าไหร่ เสียงเครื่องยนต์ที่คุ้นเคยก็ดังขึ้นจากทางเข้ากำปงกู นักกีฬาสามคนหมดความสนใจสเก็ตอันจิ๋ว วิ่งไปเปิดท้ายรถซีดานสีเขียวแก่อย่างคุ้นเคยก่อนจะช่วยขนทั้งสเก็ตบอร์ด เซิร์ฟสเก็ต หรือโรลเลอร์เบลดออกมาคอยท่าเพื่อนๆ
ตัวเล็กเหล่านี้จะรู้จักกำปงกูกันในฐานะลานสเก็ตประจำชุมชน ที่ข้างในเป็นห้องสมุดเปิดให้เข้าไปอ่านหนังสือ นั่งเล่น นอนเล่นกันได้ แต่เราขอนิยามที่นี่ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่จัดทำโดยประชาชนดีกว่า เป็นที่สาธารณะที่ไม่ได้มีไว้เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจผู้ใช้งาน ไม่มีเวลาเปิด-ปิด ไม่มีค่าใช้จ่าย จะมาใช้งานตอนไหนก็ไม่ว่ากัน
01 ชุมชนบือตงกำปงกู
เวลาผ่านไปไม่นานนัก ชาวแก๊งมากันเต็มลาน บางคนเหมือนจะเพิ่งเริ่มหัดยืนบนกระดานได้ไม่นาน บางคนดรอปอินลงมาจากแลมป์อย่างคล่องแคล่ว ส่วนบางคนก็ถนัดที่จะดูเพื่อนมากกว่า หลังจากทักทายและเซย์ฮายกันเรียบร้อย เราชวน อ.อาร์ม เข้าร่มไปยังบริเวณห้องสมุดที่ยังอยู่ในสภาพกึ่งทางการ คือบางมุมก็เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่บางจุดก็ยังรอการจัดการอยู่
“ทีแรกเป็นร้านชาบูมาก่อน เสร็จแล้วพอโควิดมันเล่นงานคนเช่าก็เลยเลือกที่จะเปลี่ยนลุคใหม่ไปเลย แล้วตอนนี้เขาก็เลิกทำไปก่อน ทุบทั้งหมดออกแล้วเหลือเศษกระจกไว้ให้เราดูต่างหน้า (ยิ้ม) ทีแรกเราตั้งใจทำแค่ลานสเก็ตข้างหลังนี้แหละ ก็เลยเริ่มจากการเคลียร์พื้นที่ด้านหลังที่เคยเป็นป่ามาก่อน กะว่าจะลาดปูนเฉยๆ เพราะเท่านี้ก็ไถสเก็ตได้แล้ว แล้วถ้าเกิดว่างๆ ก็อาจจะมาทำตลาดทำอะไรก็ว่าไป เราคิดแค่นั้นเอง
“แต่ว่าในช่วงที่เราเข้ามาดูพื้นที่กันก็เห็นคนเข้ามาซื้อขายยาเสพติด ทั้งที่เราก็ยืนอยู่ตรงนั้นนะแต่เขาก็ทำธุรกรรมกันได้ (หัวเราะ) เราก็รู้สึกว่ามันทำให้พื้นที่ตรงนี้ฮาร์ดคอร์เกินไปหน่อย ก็เลยคุยกับทางทีมดีไซเนอร์แล้วบอกให้เขาออกแบบลานสเก็ตให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลยดีกว่า บังเอิญว่าคนออกแบบก็เล่นไม่เป็นด้วย ที่ทำไปก็ไม่รู้ว่าเล่นได้หรือเปล่า (หัวเราะ) มาดูแบบดูหน้างานแล้วก็ลุยกันเลย”
ช่วงที่ผ่านมาในบ้านเราคงจะคุ้นเคยกับเซิร์ฟสเก็ตเป็นอย่างดี เพราะเป็นกีฬาที่โด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง เราไปไถกันหลายที่ทั้งในปั๊มน้ำมัน ในซอยบ้าน ตามสวนสาธารณะที่อนุญาตให้เล่น แล้วลานสเก็ตของเอกชนที่คิดค่าบริการก็เปิดใหม่อยู่หลายที่เหมือนกัน
“ทีแรกก็คิดว่าอาจจะเก็บเงินเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้พื้นที่มันมีเงินเข้ามาโฟลว์บ้าง แต่พอเอาเข้าจริง ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จดีก็เห็นแล้วว่าเด็กๆ มากันเยอะ ซึ่งก็ถามตลอดว่าอาจารย์จะเปิดเมื่อไหร่ แล้วจะเก็บเงินเท่าไหร่ แต่ที่เราเห็นคือไม่ว่าจะเก็บเท่าไหร่ก็น่าจะได้อดข้าวมาจ่ายแน่ๆ
“ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกตอนที่เราเอาหนังสือเข้าเขาก็ดูตื่นเต้นกันมาก แล้วก็มาคุยๆ ว่าที่ TK Park ในปัตตานีเนี่ยเขาเข้าไปใช้บริการไม่ได้เลยเพราะมันเก็บเงินยี่สิบบาท โห เราก็รู้เลยว่าถ้าเก็บเท่านี้ยังไม่ไหว จากที่เราคิดจะเก็บประมาณสี่สิบถึงห้าสิบบาทเด็กกลุ่มนี้คงไม่มีสิทธิ์เล่นแน่ๆ”
ถ้ามีลานสเก็ตแต่ไม่มีคนไถ หรือแก๊งขาประจำที่เคยมาเล่นตอนยังไม่เสร็จอยู่ทุกวัน พอวันหนึ่งมีเนินมีอะไรให้เล่นท่าแล้วดันไม่มีสิทธิ์เล่นก็เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็เลยต้องคิดหาทางออก เช่นจะมีตั๋วพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มนี้ไว้เข้าฟรีไหม แล้วเกณฑ์สำหรับตั๋วพิเศษนี้คืออะไร แต่ยิ่งคิดก็ยิ่งหัวจะปวด เพราะไม่ว่าจะคิดออกมารูปแบบไหนก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากทั้งนั้น
“คิดไปคิดมาฟรีมันง่ายกว่า แต่พอฟรีแล้วมันก็ต้องคิดอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน อย่างมุมมองของคนบ้านเรา พอมีคำว่าสาธารณะก็อาจจะแปลว่าไม่ต้องดูแลหรือเปล่า ทิ้งขยะยังไงก็ได้หรือเปล่า ปัญหาช่วงแรกก็หนักอยู่เหมือนกัน บางทีก็มีคนเข้ามามั่วสุม เอาขยะมาเผาบ้าง บางทีก็มีวัยรุ่นอายุไม่น่าจะถึงสิบสี่เข้ามาสูบบุหรี่”
พอชุมชนเห็นแบบนี้เขาก็ไม่ชอบ ไม่สบายใจ เคยมาบอกให้ผมฝากกุญแจไว้เดี๋ยวเขาจะเปิดปิดให้แบบเป็นเวลา ซึ่งผมก็บอกว่าผมไม่เห็นด้วยนะ ผมมีความรู้สึกว่าพื้นที่สาธารณะควรจะเข้าถึงได้สำหรับทุกคนและทุกเวลา ไม่ใช่ว่าวันนี้ไม่ว่างก็ไม่มาเปิด
“เมื่อไหร่ที่มีกุญแจ ความคิดของผมเกี่ยวกับที่นี่ก็อาจจะเปลี่ยนไป สิ่งที่เราต้องการจะสื่อก็คือพื้นที่สาธารณะมันมีการใช้งานที่หลากหลาย แต่เราอาจจะไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่เราก็ควรจะต้องเอดูเคตกันไปเรื่อยๆ ว่าควรจะทำอย่างไรกับพื้นที่สาธารณะ”
สิ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างมากกับแนวคิดของ อ.อาร์ม คือการเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาชวนคุยกันต่อว่ากำปงกูจะกลายเป็นอะไรได้บ้าง แต่ก่อนที่จะมีกิจกรรมที่หลากหลาย อันดับแรกเราอาจจะต้องมีวิธีการดูแลพื้นที่หรือข้าวของที่มีความเป็นสาธารณะให้ต่างไปจากเดิมบ้าง“เราไม่อยากล็อกประตู ไม่อยากเจาะรูขัน ไม่อยากใช้วิธีแก้ปัญหาไทยๆ มันไม่มีความน่าภูมิใจเลยการตัดรองเท้าไปครึ่งหนึ่งเพื่อไม่ให้โดนขโมย เราคิดกันว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าหากเอาที่นี่เป็นพื้นที่ทดลอง ให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ แล้วมีมุมมองที่เปลี่ยนไปหรือเป็นสากลมากขึ้น”
02 พื้นที่สาธารณะที่เติบโตไปพร้อมกับชุมชน
ถึงจะอยู่ในตัวอาคารและไม่ได้มีเครื่องปรับอากาศไว้คอยบริการ แต่ด้วยโครงสร้างที่ออกแบบมาให้ไม่ต้องพึ่งแอร์คอนดิชันเนอร์ อากาศในกำปงกูจึงถ่ายเทได้ดี ในฐานะที่ที่แห่งนี้เคยเป็นร้านชาบูมาก่อน พวกเราแค่นั่งคุยกันธรรมดา จึงไม่ได้มีปัญหาอะไรด้านความร้อน ลมที่พัดเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เมื่อบวกกับร่มเงา หากไม่นับเสียงที่ดังเจี๊ยวจ๊าวอยู่ข้างนอก หรือว่ากาลเทศะที่อยู่ในระหว่างการทำงานแล้วก็น่าเอนหลังสักงีบเหมือนกัน
หากมีโอกาสได้มาเยือนอีกครั้งผมอาจจะพกเสื่อมาทิ้งไว้สักผืน ขอหยิบหนังสือที่วางอยู่เรียงรายภายในอาคารมาอ่านเล่น แล้วพอแดดร่มลมตกเข้าหน่อยก็ค่อยออกไปจอยน์กับทีมสเก็ต จากที่ลองทอดสายตาดูรอบๆ กำปงกูยังพร้อมรองรับกิจกรรมอีกมาก ยังไม่ได้จำกัดความเป็นไปได้ ไม่คิดที่จะจำกัด แล้วพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับชุมชนจริงๆ
“ผมคิดว่าการเปิดพื้นที่แบบนี้ให้คนได้มีโอกาสเข้ามาปฏิสัมพันธ์ ได้มาเรียนรู้ มันก็เหมือนกับการสร้างความหวัง โดยเฉพาะกับคนที่อยากจะทำโปรเจกต์ที่มีความท้าทายในลักษณะเดียวกัน ผมคิดแบบนี้เพราะถึงเฟลหรือไม่เฟลก็ไม่สำคัญ ในเมื่อเราไม่ได้รับเงินใครมา สถานการณ์เลวร้ายที่สุดก็แค่ปิดประตู ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นหรอก
“แล้วเราก็ไม่ได้มีเครื่องมืออะไรนอกจากเปิดโอกาสให้เรียนรู้ พูดง่ายๆ คือไม่ได้เลกเชอร์ หมายความว่าทุกรอบที่มีการมั่วสุมและมีขยะเกิดขึ้น ผมก็เก็บทุกวันกวาดทุกวัน ไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือไปจากนี้ ซึ่งเราไม่ได้มีขยะแปลกๆ เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว ครั้งสุดท้ายก็มีเด็กกลุ่มนั้นแหละเหมือนขับมอเตอร์ไซค์มาดูลาดเลา แล้วผมก็ชวนเขาเล่นสเก็ตไปได้ทีหนึ่ง ได้ไถไปไถมา เราก็ไม่รู้ว่ามันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีขยะในรูปแบบนั้นเกิดขึ้นอีก มีแค่ขยะเล็กๆ น้อยๆ ที่เด็กเอาเข้ามา แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับในช่วงแรก”
ปกติแล้วหลักการทำงานของคนทำนิตยสารแบบพวกเราก็คือออกไปสัมภาษณ์ จะมีการตั้งประเด็นไปก่อน แต่ก็จะมีเรื่องราวที่นอกเหนือจากที่คิดไว้อยู่ดี เราก็เลือกหยิบเอาเรื่องที่คิดว่าเข้าท่ามาเล่าต่อให้ผู้อ่านฟังอีกทีหนึ่ง ก่อนจะเดินทางมาถึงที่นี่ เราก็คิดว่าจะมาพูดคุยกันเรื่องการทำลานสเก็ตและห้องสมุด แต่ที่จริงแล้วมีประเด็นมากกว่าที่คิดไว้เยอะมาก
“ตรงนี้มันปีนเข้าได้ (ชี้ไปที่หน้าต่าง) ช่วงที่เราเปิดแรกๆ ก็มีเด็กปีนเข้ามาอ่าน ก็บอกว่าอย่าปีน ให้เลิก แต่ผมก็ยังไม่รู้นะว่าห้องสมุดจะจัดการอย่างไรดี เพราะกุญแจก็ยังอยู่กับผมและส่วนนี้ก็ยังไม่ได้อยากเปิดฟรีอะไรขนาดนั้น เพราะมันมีช่องทางในการมั่วสุมเยอะเกินไป วันก่อนก็ทดลองเอาโรลเลอร์เบลดอันหนึ่งที่มันพังๆ หน่อย เอามาเก็บไว้ในห้องนี้แทน จะดูว่าหายหรือเปล่า (“หายไหม” พวกเรารับลูก) หาย (ฮา) พอมาอีกวันหนึ่งก็มีเด็กที่เล่นโรลเลอร์เบลดคู่นี้อยู่คนเดียวมาถามว่า อาจารย์ รองเท้าสเก็ตหายไปไหน ผมก็บอกว่าไม่รู้ เด็กก็บอกว่าถ้างั้นหนูรู้ว่าใครเอาไป
“ความจริงละแวกนี้เด็กก็รู้จักกันหมด เขาก็บอกว่าเดี๋ยวหนูจะไปเอามาคืนให้ ตอนเย็นผู้ใหญ่ก็ขับรถเอามาคืนให้บอกว่าหลานเอาไป ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อนะ แต่อย่างน้อยผู้ใหญ่ก็รู้ว่าหลานขโมยไป รู้ว่าเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเด็กก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นอะไรมากมายกับเหตุการณ์นี้ แล้วเราก็ให้เด็กที่บอกว่ารู้ว่าใครเอาไป ให้เอาโรลเลอร์เบลดไปดูแลเลย เขาก็แฮปปี้นะ”
อ.เด๊ะ ซึ่งมานั่งพูดคุยด้วยกัน รวมถึงช่วยดูแลกำปงกูด้วยก็บอกขึ้นมาว่า ที่จริงเราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นเครื่องมือหรือวิธีการอะไร เพียงแต่ว่าที่นี่จะไม่มีการตำหนิกัน ไม่ได้ว่าอะไรใคร และไม่มีใครถูกลงโทษ เพราะการโยนความผิดให้แบบที่ทำกันมาก็ดูไม่ได้เวิร์กสักเท่าไหร่ ที่นี่ก็ลองเปลี่ยนกระบวนการเท่านั้นเอง เพราะอย่างที่คุยกันไปว่าผลเสียมันน้อย แต่ผลดีอาจจะคุ้ม อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง หรือได้การเปลี่ยนแปลงอะไรกลับมา
“ห้องสมุดเราก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน แล้วที่จริงมันก็เวิร์กนะ เพราะก็มีเด็กรอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอาสามาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้น้องๆ ฟัง มาบอกว่า อ.เด๊ะ หนูว่างนะ อยากเข้ามาสอนน้องๆ สิ่งเหล่านี้มันก็เกิดขึ้นมาเองทั้งนั้น แล้วก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่พารุ่นน้องมาขอจัดหนังสือเองเลย ที่เห็นวางเรียบร้อยแบบนี้ก็เป็นผลงานเขาทั้งหมด” อ.เด๊ะ เล่า
ไอเดียห้องสมุดของที่นี่จะคล้ายกับกิจกรรม Book Fairy ที่ อ.อาร์มเคยทำ คอนเซปต์ก็คือเอาหนังสือไปซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ หากใครเจอก็หยิบไปได้เลย
“เราแค่คิดว่าการเอาหนังสือมาวางไว้ไม่น่าจะมีผลเสียนะ ตอน Book Fairy ไม่ค่อยเวิร์กเพราะคนไม่กล้าหยิบ และไปเที่ยวซ่อนของตามปัตตานีก็อาจจะดูคล้ายๆ ว่ากำลังวางอะไรหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) แต่เอาไอเดียนี้มาใช้กับห้องสมุดแทน ถ้าใครอยากหยิบก็หยิบไปได้เลย แต่เอามาคืนด้วยนะ แต่เราก็ไม่ได้มานั่งเช็กว่าใครเอาเล่มไหนไปแล้วเอามาคืนหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเขาจะเอาไปเลยก็ไม่เป็นไร
“ห้องสมุดก็จะมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งมาใช้ เด็กที่เขาอาจจะเล่นสเก็ตไม่ค่อยเก่ง ไม่ถนัดเรื่องออกแรง ห้องสมุดก็เป็นพื้นที่ที่เขาอยู่แล้วรู้สึกว่าสบายใจกว่าเดิม”
03 พื้นที่สาธารณะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
กำปงกูคือพื้นที่สาธารณะที่จัดทำขึ้นโดยประชาชน ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณตามมาด้วย ทั้งเรื่องเวลา เรื่องคนทำงาน ก็ต้องทำภายใต้ข้อจำกัดทั้งนั้น อ.อาร์ม ในฐานะเจ้าของที่ก็มองว่าถ้าจะเปิดให้บริการแบบฟรี ก็ไม่อยากที่จะลงเงินตัวเองไปมากกว่านี้ เพื่อจะให้ความเป็นเจ้าของต่ำที่สุด
“คือพื้นที่โดยกรรมสิทธิ์มันเป็นของผมอยู่แล้ว แต่เขาเป็นคนมาเช่า พอเขาลงเงินไปผมก็ให้ความเคารพเขาเหมือนกัน แล้วก็สัญญากันไว้แล้วว่าถ้าเขาทำอะไรเชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ผมค่อยเก็บค่าเช่า แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรก็ไม่ต้องจ่าย
“เวลาที่จะมีอะไรใหม่ก็อยากให้เกิดจากใครบางคนที่เห็นด้วยกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ในเมื่อเราพยายามที่จะทำให้ความเป็นเจ้าของมีน้อยที่สุด เราก็อยากจะเปิดพื้นที่ให้คนอื่นมีส่วนร่วม ถ้าได้คนอื่นเข้ามาเป็นเจ้าของโปรเจกต์ก็อาจจะสนุกขึ้น อย่างน้อยมันก็เกิดการทำซ้ำ ถ้าเราทำเองทุกอย่างเบ่งพลังรอบเดียวแล้วก็คงหมดแรง ผมก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ขอเป็นพื้นที่ที่เตรียมความพร้อมไว้ให้ มันก็พอเห็นทิศทางแล้วว่าเป็นไปได้ และผมก็เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่อยากเข้ามาทำด้วย ถ้าเราไปคุยกับเขาแบบเป็นเรื่องเป็นราว มีแผนที่ชัดเจน”
พูดแบบนี้ก็ได้ครับว่า จะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรืออาสาสมัคร กำปงกูก็ยินดีที่จะสนทนาด้วยทั้งนั้น เพราะอยากให้พื้นที่นี้เป็นของทุกคนจริงๆ แล้วข้อสำคัญก็คือไม่ได้มีแค่พื้นที่ แต่จะบอกว่ามีชีวิตอยู่ในนั้นก็ได้ เช่นเรื่องของกลุ่ม Trash Hero Pattani ที่ อ.เด๊ะบอกว่าเคยชวนนักศึกษามาคุยกันที่นี่จนเกิดโปรเจกต์ที่มีมุมมองแบบใหม่ขึ้นมา
“ตอนแรกไม่รู้จะไปที่ไหน จะไปโรงแรมซี.เอส. มันก็ดูไม่ใช่ ก็เลยชวนกันมาที่กำปงกู แล้วพื้นที่นี้ก็เหมือนได้จุดประกายอะไรบางอย่าง การได้มารู้จักคนในชุมชน ได้มากินข้าวแถวนี้ มันก็เกิดการเชื่อมโยงกันเอง กิจกรรมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีใครมาจัดตั้ง จะทำอะไรก็ไม่ต้องมีประธานชุมชนมาเปิดงานอย่างเป็นทางการ เราไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นเลย เราไม่เกณฑ์ใคร เราอยากให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ อยากให้ภาพที่ออกไปเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง”
ตะวันเริ่มคล้อยเวลาผ่านไปพอสมควร ถ้าจะออกไปใช้เวลากลางแจ้งตอนนี้ก็คงเหมาะสมที่สุดแล้ว ที่จริงกำปงกูยังมีแผนอีกเยอะครับ ระยะที่เร็วที่สุดอาจจะเป็นการทาสีซึ่งก็มีผู้ใจดีมาดูเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ให้แล้ว หรืออาจจะสร้างพื้นที่สำหรับปีนเขาซึ่งนักปีนเขาเยาวชนทีมชาติไทยก็กำลังสนใจอยู่ และได้ข่าวว่ามีแบรนด์อุปกรณ์กีฬาก็สนใจมาสนับสนุน เพราะเอาเข้าจริงพื้นที่นี้ก็ทำได้อีกหลายมุม
ส่วนฝันไกลๆ ของทุกคนก็มี อ.เด๊ะก็มองว่าอยากให้มีมุมกาแฟ เพราะจะอ่านหนังสือให้สนุกยังไงก็ต้องมีเครื่องดื่มไว้แก้กระหายบ้าง หรือจะเคลียร์พื้นที่ตรงกลางให้โล่งหน่อยก็แสนจะเหมาะกับการแสดงละครที่อาจจะไม่ต้องมีเวทีของนักศึกษา ความเป็นไปได้สำหรับที่นี่คงจะมีอีกเยอะ แต่สิ่งที่เหมาะที่สุดสำหรับตอนนี้น่าจะเป็นการกดปุ่มหยุดอัดเสียง เดินออกไปข้างนอก หยิบสเก็ตมาสักแผ่น แล้วลองล้มดูสักที (ซึ่งล้มจริงๆ) น่าจะเข้าท่าที่สุดแล้วครับ