ความชอบหนังสือและนิสัยรักการอ่าน พาให้เราไปทำอะไรได้บ้าง
บางคนเดบิวต์เป็นนักเขียน บางคนเป็นนักสะสมหนังสือ บางคนลงทุนเปิดร้านขายหนังสือ แต่ความชอบหนังสือของ ‘เวฟ-สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์’ เจ้าของเพจ ‘JUST READ’ นั้นพาให้เขาเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการการอ่านผ่านการจัดอีเวนต์ต่างๆ โดยเริ่มจาก Book Club วงเล็กๆ ในมหาวิทยาลัย จนมาถึงงานหนังสือสเกลใหญ่ระดับเมือง อย่างงาน ‘หนังสือในสวน’ ที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนหลายร้อยคน
คอลัมน์ Art Attack ขอชวนทั้งนักอ่านและนักอยากอ่านไปพูดคุยกับผู้ก่อตั้งเพจ JUST READ ถึงจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนเรื่องหนังสือและการอ่าน มุมมองการจัดงานหนังสือจากภาคประชาชน และความคิดเห็นต่อวัฒนธรรมการอ่านในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นด้วยกลุ่มคนผู้รักการอ่าน
แรกเริ่มเดิมที JUST READ เป็นเพียงคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่เวฟก่อตั้งขึ้น สำหรับกลุ่มคนที่อ่านหนังสือแบบเดียวกันในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี 2563 และได้จัด Book Club เป็นครั้งแรกกับกลุ่มคนเล็กๆ เพียง 5 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะคำว่า Book Club ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย
“ขนาดเรายังเพิ่งเคยได้ลองทำอะไรแบบนี้ครั้งแรกเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ก็เลยไม่แปลกใจที่คนไทยอาจยังไม่ค่อยรู้จัก คุ้นชิน หรือไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า Book Club” เขาเสริม
แต่ถึงอย่างนั้น การจัด Book Club เล็กๆ ในวงคนกันเองของเวฟ ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาทดลองขยายกิจกรรมออกไป โดยมี B2S มาเป็นสปอนเซอร์ในการจัดงาน จนทำให้คนเริ่มหันมาสนใจ Book Club มากขึ้น นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมการอ่านหลายๆ ครั้งก็ทำให้เขาเห็นว่า ไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่ยังมีนักศึกษาจากหลายรั้วมหาวิทยาลัยทั้งธรรมศาสตร์ ลาดกระบัง หรือบางคนมาไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อเข้าร่วม Book Club ด้วย
ด้วยเหตุนี้ ทำให้เวฟไม่อยากตีกรอบนักอ่านไว้แค่ในรั้วมหาวิทยาลัยของตัวเองเท่านั้น จึงตัดสินใจขยายพื้นที่จากกลุ่มคนเล็กๆ ให้กลายมาเป็นเพจ ‘JUST READ’ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ก็มาแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องหนังสือกันได้
จาก Book Club กลุ่มเล็กๆ สู่งานหนังสือในสวน
หากพูดถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับหนังสือและการอ่านในประเทศไทย ภาพที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือฯ และ Book Festival อื่นๆ ซึ่งเป็นอีเวนต์ที่มีการซื้อ-ขายหนังสือ แต่กับกิจกรรมแนว Book Club อาจยังไม่ค่อยมีให้เห็นขนาดนั้น จนเมื่อไม่นานมานี้ได้มีกิจกรรมหนังสือในสวน ที่จัดไปสองครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างเพจ JUST READ และกรุงเทพมหานคร ที่อยากพาคนรักหนังสือทั่วมุมเมืองมาพบปะกัน
“จุดเริ่มต้นมาจากการแค่ถามคนในเพจว่าเรามาทำงานหนังสือในสวนกันบ้างดีไหม เห็นมีแต่ดนตรี แค่นี้เลย” เวฟหัวเราะพลางเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้เกิดงานใหญ่นี้ขึ้นมา “ทีมงานของ กทม.เลยทักมาชวนว่าจัดงานร่วมกันไหม เดี๋ยวทางเขาช่วยซัปพอร์ต เลยเป็นที่มาของการทำงานใหญ่ในเวลาไม่ถึงเดือน”
แม้จะเป็นงานที่หนัก แต่ขณะเดียวกัน เวฟก็มองว่าเป็นเรื่องสนุกและท้าทายที่ได้จัดงานขนาดใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์ของมันไม่ได้ให้แค่การกลับมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสืออย่างที่เขาตั้งใจเท่านั้น ทว่ายังประสบความสำเร็จในส่วนของผู้จัดงานเจ้าอื่นๆ ด้วย เพราะงานหนังสือในสวนได้สร้างภาพจำเกี่ยวกับการจัดงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก แค่ต้องมีไอเดียเริ่มต้นที่แข็งแรงมากกว่า กลายเป็นโมเดลการจัดงานที่หลายหน่วยงานชื่นชมและหยิบยืมเอาไปใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมของตัวเอง
“เหมือนเราเป็นตัวจุดประกายให้หลายๆ ที่ได้มาลองทำอะไรใหม่ๆ นอกจากรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใหญ่อย่างเดียว เพราะเดี๋ยวนี้คนตัวเล็กก็สามารถจัดงานและขับเคลื่อนสิ่งที่เชื่อได้เอง”
Book Club ที่ดีต้องทำให้ผู้เข้าร่วมมีตัวตน
“ไม่มีดีที่สุด” เวฟตอบแทบจะทันทีเมื่อฟังคำถามจากเราที่ว่า ‘Book Club ที่ดีต้องเป็นแบบไหน’ ก่อนเสริมว่ากิจกรรมแบบนี้ต้องขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้จัดว่าต้องการให้กิจกรรมออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งในแต่ละครั้งผู้จัดก็สามารถลองผิดลองถูกได้เรื่อยๆ หรือจะลองไปเข้าร่วมกิจกรรมของผู้จัดเจ้าอื่นๆ เพื่อให้ได้ไอเดียหรือความเข้าใจใหม่ๆ ด้วยก็ได้
“สำหรับ Book Club ของ JUST READ จะเน้นให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อทำให้การมา Book Club มีคุณค่าบางอย่างกับคนที่อุตส่าห์เดินทางมาร่วมกิจกรรม อย่างน้อยการได้แชร์ไอเดียหรือเรื่องราวของตัวเองก็น่าจะเป็นการทำให้เขารู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนมีตัวตน อยู่แล้วสบายใจ คนอื่นๆ รับฟังในสิ่งที่ใครสักคนพูด”
การลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมการอ่านจากภาคประชาชน
“เราต้องมองในอีกมุมหนึ่งว่า ถ้าเรารักและอยากสนับสนุนวงการของตัวเองจริงๆ เราควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ควรเป็นคนเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงเอง ไม่ใช่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว”
ไม่ใช่แค่ Book Club ที่จัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ หรืองานหนังสือในสวนเท่านั้นที่เป็นอีเวนต์จาก JUST READ แต่ยังมีอีกหลายงานทั้ง READATHON การอ่านหนังสือมาราธอนเพื่อทลายกองดอง, เดินตามหนังสือที่จะพาเดินไปยังสถานที่ต่างๆ ตามรอยหนังสือ หรือพฤหัสอ่าน ที่ชวนทุกคนใช้เวลาว่างทุกวันพฤหัสบดีไปกับการอ่านหนังสือ โดยเวฟให้เหตุผลของการลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกในการจัดอีเวนต์ต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือว่า เขาแค่มองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของวงการการอ่านเท่านั้น ซึ่งนั่นเพียงพอที่จะทำให้เขาลงมือสร้างอีเวนต์การอ่าน แทนที่จะรอให้มีหน่วยงานทำกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นมา
อีกสาเหตุหนึ่งคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอ่านนั้นดูไม่มีไอเดียที่จะสร้างสรรค์อีเวนต์สนุกๆ ขึ้นมา อาจเพราะด้วยกรอบความคิดและการทำงานบางอย่างขององค์กรที่ทำให้ไม่สามารถครีเอตกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ จึงต้องเป็นหน้าที่ของคนในวงการหนังสือที่จะช่วยเหลือในด้านความคิด และขอความร่วมมือให้องค์กรต่างๆ ซัปพอร์ตในส่วนอื่นๆ เพื่อทำให้กิจกรรมเหล่านั้นออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งกว่าจะผ่านมาจนถึงขั้นตอนการลงมือทำได้ ตัวเขาเองก็ต้องทำให้องค์กรต่างๆ เห็นก่อนว่าสิ่งที่จะทำขึ้นมานั้นจะทำประโยชน์อะไรให้ใครบ้าง ขณะเดียวกัน เขาก็ยังต้องหาทางบาลานซ์ทั้งการทำเพื่อสังคมและการทำกำไรให้ไปด้วยกันได้
“เราไม่ได้มองว่าตัวเองจะสามารถเปลี่ยนหรือขับเคลื่อนสังคมได้ขนาดนั้น แต่อยากเป็นแค่จุดเล็กๆ ค่อยๆ หาคนที่อยากมาเปลี่ยนด้วยกัน แล้วขยายกระจายมูฟเมนต์ต่อไปในจุดต่างๆ เพราะเราไม่อยากทำแบบตู้มเดียวแล้วเปลี่ยนเนื่องจากมันไม่ค่อยยั่งยืน บริษัทใหญ่ๆ ชอบคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนทีเดียวไปเลยจะได้จบ แต่จริงๆ แล้วมันต้องค่อยๆ เปลี่ยน ไม่มีใครแก้นิสัยที่ไม่ดีของเราในวันเดียวได้ มันต้องค่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง
“เราคิดว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดของทุกการเปลี่ยนแปลงคือความต่อเนื่องนี่แหละ เพราะการจัดกิจกรรมหนึ่งให้มันต่อเนื่องได้ทั้งปีหรือทุกปีเป็นเรื่องที่ยากมากเลยนะ เพราะใช้ทรัพยากรเยอะ เราถึงบอกว่าการทำอะไรได้อย่างสม่ำเสมอคือสิ่งที่ยากและน่ากลัว แต่ขณะเดียวก็เป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำมากที่สุดในวงการหนังสือ”
ความฝันที่อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมรักการอ่าน
ถึงแม้ว่าคนเข้าร่วมงานหนังสือในสวนจะมีจำนวนมากก็ตาม แต่ในสายตาของเวฟกลับมองว่าสถานการณ์การอ่านหนังสือในประเทศซบเซาและใกล้ตายลงทุกวัน อ้างอิงจากสถิติยอดขายและสถิติมูลค่าตลาดในหนังสือไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนจะเติบโตขึ้น แต่ยอดขายกลับหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง จากเกือบ 30,000 ล้านบาทในปี 2557 เหลือเพียง 15,000 ล้านบาทในปี 2565
“เคยวาดฝันไว้เหมือนกันว่าเราอยากทำให้การอ่านเป็นเรื่องสำคัญของทุกคน เป็นเหมือนกิจวัตรของคนทั่วไป ซึ่งสุดท้ายก็ต้องไปคิดกันต่อว่าจะทำยังไงให้เป็นไปได้ ไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐ แต่เป็นทุกคนในวงการหนังสือที่ต้องมาช่วยกันคิดและหาไอเดีย”
ทั้งนี้ เวฟแสดงความคิดเห็นจากฝั่งของเขาว่า อุปสรรคการอ่านในประเทศไทยคือการที่หนังสือไม่ได้อยู่ในหมวดส่งเสริมวัฒนธรรม แต่อยู่ในหมวดธุรกิจ ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมนี้ทำกำไรได้น้อยมาก
“หากอยากให้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาวงการหนังสือจนกลายเป็นวัฒนธรรมก่อน เนื่องจากวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเรายังอ่อนมากๆ เพราะไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐเลย แม้จะมีคนพูดถึงจุดด้อยนี้มาหลายครั้งแล้วก็ตาม” ชายหนุ่มทิ้งท้าย
3 หนังสือที่เปลี่ยนมุมมองต่อเมือง โดยเพจ JUST READ
Give and Take
นักเขียน : Adam Grant
สำนักพิมพ์ : WeLearn
เวฟเลือกหนังสือเล่มนี้มาแนะนำเล่มแรก เพราะ Give and Take ช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิดต่อการจัด Book Club และทำให้เข้าใจว่าต้องเป็นคนแบบไหนถึงจะจัดหรือทำงานในลักษณะที่นึกถึงใจคนที่เข้าร่วมงานได้ดีที่สุด เช่นเดียวกันกับเรื่องเมืองที่หากจะออกแบบผังเมืองหรือนโยบาย คนทำงานก็ต้องมองออกว่าจะต้องออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด โดยต้องเริ่มจากการมีมายด์เซตของการเป็นผู้ให้ก่อนถึงจะมองไปถึงจุดนั้นได้
Made in Italy
นักเขียน : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
สำนักพิมพ์ : openbooks
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงประเทศอิตาลีที่สามารถพัฒนาทั้งเมืองให้คนที่ไปเที่ยวรู้สึกว่าเมืองนี้ไม่ใช่เมืองธรรมดา แต่เป็นเมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ภายในเล่มมีภาพผลงานของศิลปินและเจ้าของร้านต่างๆ ว่าพวกเขาทำอย่างไรให้สินค้าของตัวเองเป็นจุดขายในเมือง ทั้งๆ ที่ก็มีอีกหลายร้านหลายแบรนด์ที่ทำออกมาคล้ายกัน โดยวิธีการหลักๆ คือ ร้านค้าเหล่านี้ไม่รอให้ภาครัฐยื่นมือมาช่วยเหลืออย่างเดียว แต่เลือกที่จะผลักดันตัวเองให้โดดเด่นและแตกต่าง เพื่อทำให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญและเข้ามาซัปพอร์ต
Bangkok Shophouses ตึกแถวกรุงเทพฯ และชีวิตชาวย่าน
นักเขียน : Louis Sketcher
สำนักพิมพ์ : Louis Sketcher
หนังสือเล่มนี้คือไกด์บุ๊กที่เวฟนำไปใช้ทำกิจกรรมเดินทัวร์ย่านพระนคร จนทำให้หลายคนสนใจหนังสือและกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ มากขึ้น เพราะนักเขียนเหมือนได้พาผู้อ่านไปสำรวจว่ามีพื้นที่ไหนในกรุงเทพฯ ที่เราเดินไปเห็นกับตาตัวเองได้บ้าง และหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีดีแค่ภาพประกอบที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นความสำคัญของการดีไซน์เมืองที่ดีและการวางผังเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม