ปทุมวันน่าจะเป็นย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีคนเลือกเป็นจุดหมายปลายทางในการนัดพบ แลกเปลี่ยนบทสนทนา และใช้เวลาผ่อนคลายมากที่สุด นั่นเป็นเพราะย่านนี้เป็นที่ตั้งของสยามและศูนย์การค้าที่อุดมไปด้วยร้านรวงมากมาย
แต่ขณะเดียวกันท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยวิถีชีวิตแบบร่วมสมัยและความวุ่นวายใจกลางเมือง ยังมีพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน อาคารทรงเรือนไทยที่รายล้อมไปด้วยสวนเขียวขจีซ่อนตัวอยู่ในซอยเกษมสันต์ 2 ซึ่งนอกจากประวัติศาสตร์และของสะสมเก่าแก่ของจิม ทอมป์สัน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยแล้ว ที่นี่ยังติดท็อป 2 ในบรรดาสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวมากที่สุดรองจากวัดพระแก้วด้วย
ถึงจะเป็นสถานที่ที่มีความน่าสนใจ แต่ด้วยองค์ประกอบทั้งหลายนี้ย่อมสร้างภาพจำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับที่นี่ ขนาดเราที่อาศัยอยู่ย่านนี้มานานหลายปีก็ไม่เคยคิดมาเยือน เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
จนเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวหอศิลป์ Jim Thompson Art Center (JTAC) ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน เป็นตึกสูง 4 ชั้นบนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร มีพื้นที่ใช้สอยครบครันตั้งแต่ลานจอดรถ คาเฟ่ ห้องสมุด อาร์ตช็อป แกลเลอรี ไปจนถึงพื้นที่จัดกิจกรรม เพื่อตอบโจทย์ในการเป็นแหล่งความรู้และจุดพบปะของผู้คนที่สนใจศิลปะ ทำเอาเราต้องติดต่อขอพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับผู้อำนวยการหอศิลป์ ‘เจี๊ยบ-กฤติยา กาวีวงศ์’
ภายในหอศิลป์มีอะไรบ้าง ความตั้งใจและหมุดหมายของการขยับขยายเขตแดนทางศิลปะร่วมสมัยครั้งนี้คืออะไร เรามาทัวร์พื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ไปพร้อมๆ กัน
เพิ่มโอกาสด้วยการสร้างพื้นที่แห่งใหม่
ก่อนทัวร์หอศิลป์ Jim Thompson Art Center ทีมงานผู้ดูแลหอศิลป์ได้พาเราไปเดินชมพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ก่อน ซึ่งนั่นทำให้รู้ว่านอกจากสิ่งของเก่าแก่มีมูลค่าที่เป็นตัวชูโรงในอาคารทรงเรือนไทยแล้ว ยังมีชิ้นงานศิลปะของศิลปินไทยได้แก่ งานประติมากรรมของแป๋ง-ดุษฎี ฮันตระกูล และ งาน Installation ของกวิตา วัฒนะชยังกูร จัดแสดงโดยแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านด้วย
เจี๊ยบเล่าให้ฟังว่าที่เป็นแบบนั้น เพราะช่วงโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักหายไป นำไปสู่คำถามว่าทำยังไงให้คนไทยอยากมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไอเดียที่ได้คือการเปิดบ้านชวนศิลปินมาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นการปะทะและผสมกลมกลืนกันระหว่างศิลปะไทยแบบจารีตกับร่วมสมัย
ส่วนตัวหอศิลป์หลังใหม่เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2014 โดยเป็นการขยายออกมาจาก Jim Thompson House Museum เนื่องจากที่มูลนิธิจิม ทอมป์สันทำงานด้านศิลปะร่วมกับนักวิชาการและมิวเซียมกับแกลเลอรีทั่วโลกมากขึ้น บวกกับผู้ชมที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทางคณะกรรมการมูลนิธิจึงคิดถึงการสร้างตึกใหม่ที่มีลานจอดรถขึ้นมารองรับ
“ทีนี้มันเลยกลายเป็นโจทย์คือ Art Center ที่มีที่จอดรถ เราเลยเสนอว่าอยากได้พื้นที่ที่คนมาดูงาน ใช้งานห้องสมุด และเป็นจุดให้คนมาพบปะสนทนากันได้ เพราะแกลเลอรีหรือมิวเซียมในเมืองไทยเป็นพื้นที่ให้คนมาดูงานศิลปะ แต่ไม่ใช่พื้นที่ให้คนมานั่งเมาท์กัน มันไม่มีพื้นที่ที่คุณสามารถมานั่งเงียบๆ ทำงาน อ่านหนังสือในห้องสมุด เจอเพื่อนในคาเฟ่ หรือดูงานจริงจังในที่เดียวได้”
เมื่อทางมูลนิธิไฟเขียวกับไอเดียนี้ Jim Thompson Art Center จึงเกิดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ของการเป็นพื้นที่ศิลปะที่ให้ผู้คนมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
หอศิลป์ที่ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ชมงานศิลปะเท่านั้น
เจี๊ยบเล่าถึงไอเดียหลักในการออกแบบอาคารหลังนี้ว่าต้องเป็นอาคารที่มีความยั่งยืน ประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเปิดแอร์ทั้งชั้น และอีกองค์ประกอบสำคัญคือประโยชน์ในการใช้สอยกับการสื่อสารความเป็นจิม ทอมป์สัน
จากความตั้งใจนั้นทำให้มีการออกแบบพื้นที่ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ทั้งที่อยู่ด้านในแต่ก็มองเห็นและรับรู้ทิวทัศน์ด้านนอกไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่ทุกชั้นให้มองเห็นพิพิธภัณฑ์เรือนไทยจิม ทอมป์สัน เพื่อสื่อสารถึงแนวคิดการย้อนกลับไปดูอดีต สำรวจตัวเองในปัจจุบัน และก้าวไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นพันธกิจของตัวหอศิลป์เอง ทั้งยังมีการตกแต่งด้วยวัสดุท้องถิ่นอย่างอิฐแดงจากจังหวัดอ่างทองและเทคนิคปูนเปลือย สร้างความโดดเด่นให้สถานที่ด้วย
อย่างที่เราบอกไปช่วงข้างต้นว่าที่นี่มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยแต่ละชั้นต่างมีความพิเศษแตกต่างกันไป ใครใคร่อยากชมงานศิลปะเพียวๆ ก็ทำได้ ใครใคร่อยากมาเอนจอยบทสนทนาที่คาเฟ่ อ่านหนังสือเงียบๆ ในห้องสมุด หรือช้อปปิงอุดหนุนโปรดักต์คนทำงานศิลปะก็มี ว่าแล้วก็มาทัวร์แต่ละชั้นกันเลยดีกว่า
- ชั้นกราวนด์ฟลอร์ : ลานจอดรถอเนกประสงค์
ใครที่กังวลว่าถ้าขับรถมาจะมีที่จอดรถไหมขอให้สบายใจได้ เพราะที่นี่มีลานจอดรถอัตโนมัติ (Automatic Parking) จำนวน 62 คันไว้คอยให้บริการ ซึ่ง ‘มาลินา ปาลเสถียร’ ตัวแทนทีมสถาปนิกผู้ออกแบบ บริษัท ดีไซน์กว่า (design qua) เล่าให้ฟังว่าในอนาคตถ้าเทรนด์ของเมืองเปลี่ยนไป คนขับรถส่วนตัวน้อยลง พื้นที่จอดรถไม่ได้รับการใช้สอยแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นลานอเนกประสงค์หรือแกลเลอรีย่อมๆ ได้ด้วย
- ชั้น 1 : พักผ่อนจิบกาแฟและอุดหนุนศิลปินคนทำงานสร้างสรรค์
เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะพบกับ Artzy คาเฟ่ขนาดย่อมของอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน โดยมีการวางคอนเซปต์ร้านให้เป็นส่วนหนึ่งของหอศิลป์ นั่นคือ โดดเด่นอย่างร่วมสมัย ทั้งยังมุ่งเน้นนำเสนอความดีงามของเมล็ดกาแฟไทยที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย เสริมทัพด้วยคราฟต์เบียร์ไทยหลากยี่ห้อ และของหวานอย่างเค้กรสชาติดี สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เหมาะกับการนั่งคิดอะไรนิ่งๆ หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับคนที่มาด้วยกัน
ส่วนคนไหนเป็นสายช้อปปิงก็ขยับมาที่มิวเซียมช็อปใกล้เคียงอย่าง JTAC Shop ที่คอลแลบกับ Mass Art Project (MAP) จำหน่ายหนังสือศิลปะ เครื่องเขียน และโปรดักต์จากเหล่าศิลปิน โดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่สนับสนุนคนทำงานศิลปะและนักออกแบบ ใครสนใจอยากฝากผลงานขายที่นี่ก็ติดต่อสอบถามได้
- ชั้น 2 : นั่งนอนอ่านหนังสืออย่างสบายใจในห้องสมุด William Warren Library
ชาวนักอ่านต้องดีใจแน่ๆ เพราะห้องสมุดแห่งนี้นอกจากสวยงาม น่าอ่านหนังสือแล้ว ยังมีสเปซให้คนนอนอ่านหนังสือได้ รวมถึงในอนาคตจะมีมุมทีวีให้คนใช้ดูหนัง และ Kid Corner ที่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นย่อมๆ สำหรับคนที่มาเป็นครอบครัว ส่วนหนังสือเน้นหนักไปทางหัวข้อ Textlie ประวัติศาสตร์ และศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเจี๊ยบเล่าว่าจะเติมหนังสือเพิ่มอีกและกำลังเจรจาเป็น Outlet กับมูลนิธิหนังไทยที่ศาลายาให้คนเข้ามาดูหนังที่นี่ได้ด้วย
ขณะเดียวกันถ้าอยากออกมาสัมผัสบรรยากาศภายนอก อีกด้านของชั้นนี้ก็มีโถงอาคารกลางแจ้งที่มองเห็นสีเขียวของต้นไม้และสถาปัตยกรรมโดยรอบ ทั้งยังเชื่อมต่อกับห้องประชุมอเนกประสงค์ที่หอศิลป์มุ่งหมายให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมด้านความรู้ เช่น คลาสเรียน เวิร์กช็อป เป็นต้น ใครสนใจคอยติดตามกิจกรรมดีๆ ที่จะเกิดขึ้นไว้ได้เลย
- ชั้น 3 : ชมนิทรรศการ ใคร่ครวญถึงชิ้นงานศิลปะที่โซนห้อง Gallery
ไฮไลต์ของหอศิลป์แห่งนี้ คือส่วนจัดแสดงนิทรรศการที่ประกอบด้วยแกลเลอรีห้องใหญ่และห้องเล็ก (มีค่าเข้าชมคนละ 50 บาทสำหรับผู้ใหญ่) ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการที่มีชื่อว่า Future Tense จาก 14 ศิลปินทั่วโลก ว่าด้วยการถ่ายทอดผลกระทบและผลพวงอันเนื่องจากสงครามเย็นที่ยังคงหลงเหลือถึงทุกวันนี้ โดยจะมีการหมุนเวียนนิทรรศการใหม่ทุก 3 – 4 เดือน
ในฐานะคนที่คลุกคลีกับแวดวงศิลปะมานาน เจี๊ยบอธิบายว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว การแสดงงานในมิวเซียมยุคใหม่ต้อง Inclusive ด้วยการเปิด Open Call เพื่อให้โอกาสศิลปินว่าอยากร่วมงานกับที่นี่หรืออยากแสดงงานประเด็นไหน อย่างนิทรรศการ Future Tense ก็ได้ชิ้นงานมาจากระบบการทำงานแบบนั้น ทั้งนี้เธอยังต้องการขยายขอบเขตเนื้อหาศิลปะให้ไกลออกไปจากประเทศไทย บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป หรืออเมริกาที่คนไทยคุ้นเคยกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความหลากหลายและแปลกใหม่ ซึ่งในปีนี้จะมีนิทรรศการน่าสนใจให้คนไทยได้ดูตลอดปีเลยทีเดียว
- ชั้น 4 : ชั้นดาดฟ้าที่พร้อมเป็นพื้นที่ใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยือน
ปิดท้ายการทัวร์หอศิลป์ด้วยสเปซที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่ เพราะปกติแค่ขึ้นมาในช่วงเย็นชมวิวดูพระอาทิตย์ตกก็สวยงามมากแล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้พื้นที่ตรงนี้จะทำเป็นสวนจัดนิทรรศการศิลปะในรูปแบบประติมากรรมหรือรูปปั้น รวมถึงโซนอาหารไว้บริการแก่ผู้มาเยือน เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่สามารถมองเห็นความมีชีวิตชีวาของย่านปทุมวัน
ยิ่งมีพื้นที่แบบนี้มากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อเมืองมากเท่านั้น
หลังจากเดินทัวร์ทั่วหอศิลป์แล้ว เราพบว่าที่นี่ได้เปลี่ยนภาพจำที่เรามีต่อบ้านจิม ทอมป์สันไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังทำให้นิยามของแกลเลอรีที่เป็นสถานที่ชมงานศิลปะอย่างเดียวมีเขตแดนที่ขยายออกไปกว้างขึ้น ซึ่งเมื่อเราสะท้อนความคิดเห็นนี้ไป เจี๊ยบก็ตอบรับด้วยความยินดี
“เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่คนทุกเพศทุกวัยมาเจอมาคุยกัน มันเป็นสถานที่เปิดและใหญ่พอที่คนจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ปะทะ มีพื้นที่หลากหลายให้ทำกิจกรรมตามความสนใจ ส่วนตัวนิทรรศการ เราก็อยากนำเสนองานศิลปะที่ไม่ได้มีแต่ความสวยงาม อยากให้มันมีหลายเลเยอร์ ใครจะบอกว่ายากไปก็ไม่เป็นไร ได้เท่าไหร่เท่านั้น หลักๆ คืออยากให้คนมาทำความเข้าใจและขบคิดไปกับมัน”
เพราะเคยอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และต่างประเทศมาอย่างยาวนาน เจี๊ยบจึงมองว่าการมีสเปซอย่างหอศิลป์ ไม่ได้รับใช้แค่คนในแวดวงศิลปะเท่านั้น แต่มันยังรับใช้และถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมืองด้วย
“เราคิดว่าพื้นที่ของศิลปะยิ่งมีเยอะยิ่งดีนะ แต่ละเขตของกรุงเทพฯ อย่างน้อยๆ ควรมีเหมือนโอท็อปด้วยซ้ำ เพราะในเมืองใหญ่จะมีปัญหาที่คนทะเลาะกันเยอะในแง่ความคิด พื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ที่ให้คนคิดต่างมาเจอกันและอย่างน้อยหัดที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะสมัยหนึ่งมันมีช่วงที่เราไม่พอใจใครก็อันเฟรนด์กัน แต่ยุคนี้มันน่าจะมีการเรียนรู้ รู้จักอดทนอดกลั้น และมูฟออน ซึ่งเราคิดว่าบ้านเมืองเรามันโตพอที่จะเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนนี้ ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม และเราในฐานะอาร์ตเซนเตอร์ก็ขอปวารณาตัวเองว่าอยากเป็นพื้นที่แบบนั้นให้สังคม”
The Jim Thompson Art Center
แกลเลอรีและร้านค้า เปิดทุกวัน 10.00 – 18.00 น.
ห้องสมุด William Warren เปิด 10.00 – 18.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์-อังคาร)
โทร : 02-216-7368
ซอยเกษมสันต์ 2 BTS สนามกีฬาแห่งชาติ (มีที่จอดรถ)
6 ซอยเกษมสันต์ 2 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Facebook : The Jim Thompson Art Center