มังงะ ART OF WALL รั้วก่อสร้าง Akira ที่ชิบุยะ - Urban Creature

นักท่องเที่ยวสายเสพงานศิลป์ เวลามาญี่ปุ่นน่าจะพุ่งไปงานนิทรรศการกรุบกริบต่างๆ ตามมิวเซียมเก๋อย่าง Mori Art Museum หรือ 21_21 DESIGN SIGHT จริงๆ แล้วถ้าสังเกตให้ดี ในเมืองแอบมีงานศิลปะน้อยใหญ่ซ่อนตัวอยู่ตามจุดต่างๆ มากมาย และจุดที่คนน่าจะมองข้ามกันมากที่สุดคือ ‘ไซต์ก่อสร้าง’

ตั้งแต่อยู่ญี่ปุ่นมาหลายปี ไม่มีวันไหนที่ออกจากบ้านแล้วไม่เจอการก่อสร้าง ภาพที่เห็นจนชินตามาพร้อมกับความชื่นชมเรื่องความสะอาด ความเงียบ และความเอาใจใส่ชุมชนรอบๆ เช่น มีการใช้แผ่นชีตเก็บเสียง เครื่องเก็บฝุ่น และล้างล้อรถที่ใช้ในการก่อสร้างทุกครั้ง เพื่อกันไม่ให้ความสกปรกหลุดออกมาภายนอก และมีพี่ รปภ. คอยโบกอำนวยความสะดวกให้ผู้สัญจร

และในช่วงหลายปีมานี้ ไซต์ก่อสร้างพัฒนาความกรุบกริบด้วยการเติมความคาวาอี้ในหลายจุด จนต้องหยุดเดินหันมาถ่ายรูป ความเก๋ที่ว่านั้นมีหลากหลาย เช่น ผ้าใบลายเดียวกับสิ่งที่กำลังสร้าง รั้วกั้นเขตลายการ์ตูน (คนไทยน่าจะเคยเห็น AKIRA, ART OF WALL รั้วก่อสร้างลาย Akira ที่ชิบุยะ ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จก็จัดนิทรรศการแสดงผลงานเหล่านั้นต่อ แล้วเอารั้วก่อสร้างมาทำของเล่นขายด้วย) ผนังรั้วก่อสร้างผลงานออกแบบของศิลปิน รวมไปถึงกรวยเรืองแสง ไฟกะพริบลายดอกซากุระ บางครั้งเลยเถิดถึงขั้นเอาดวงรายเดือนตามราศีมาให้อ่านที่กำแพงด้วย

แม้แต่ไซต์ก่อสร้างก็ยังคาวาอี้ ความเวรี่เจแปนนีสนี้มีที่มาอย่างไร ไปสำรวจที่มาความน่ารักเหล่านั้นกัน

ภาพ : www.koen-dori.com

Animal Guard

เริ่มต้นที่ Animal Guard ชื่อฟังดูงงๆ แต่เห็นรูปแล้วน่าจะร้องอ๋อ น้องๆ ทำหน้าที่เป็นรั้วกั้นเขตชั่วคราว ครั้งแรกที่เราเห็นคิตตี้อยู่ริมถนนหน้าไซต์ก่อสร้างคือ ว้าว ไม่เลือกงาน ไม่ยากจนที่แท้ และความกลัวอุบัติเหตุลดลงแทบจะในทันที หัวใจเปี่ยมล้นด้วยความสดใส หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นน้องอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น น้องลิง น้องช้าง น้องกวาง น้องจิ้งจอก น้องคุมะมงจอมทะเล้น แม้แต่ลูฟี่พ่อหนุ่มโจรสลัดก็ขึ้นบกมาช่วยกั้นด้วย

ภาพ : www.s-meiban.com

ความน่ารักริมทางนี้ถูกริเริ่มโดยบริษัท Sendai Meiban ซึ่งเป็นบริษัทรับผลิตอุปกรณ์และป้ายต่างๆ เพื่อความปลอดภัยที่ใช้ในไซต์งาน ในปี 2006 พวกเขารับงานที่เมือง Asahikawa ในฮอกไกโด ซึ่งเมืองนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวอันแสนโด่งดังคือสวนสัตว์ Asahikawa

ภาพ : www.s-meiban.com


แทนที่จะให้คนจดจำเมืองนี้ในฐานะเมืองที่มีไซต์ก่อสร้างเต็มไปหมด พวกเขาอยากทำให้คนรู้สึกว่าก่อสร้างกันเยอะก็จริงแต่ก็เหมือนได้ไปเที่ยวสวนสัตว์นะเออ แผงกั้นน้องลิงชูมือสุดแขนทำท่าบันไซเลยได้ถือกำเนิดขึ้น

นอกจากนี้ คนของบริษัท Sendai Meiban ยังบอกอีกว่า ถ้าแถวนั้นมีโรงเรียน แทนที่จะบอกเด็กๆ ที่นี่ว่าอันตรายและสกปรก อย่าเข้าใกล้ตรงๆ การสื่อสารด้วยคาแรกเตอร์จะทำให้เข้าใจง่ายกว่าแถมทำให้ไซต์ก่อสร้างดูซอฟต์ลงด้วย คนบ่นเรื่องเสียงและความสกปรกน้อยลง แถมชมว่าดีต่อใจ

ภาพ : www.s-meiban.com

ความทะเล้นน่ารักของน้องลิงทำให้คนชื่นชอบมากและถูกนำไปใช้ทั่วประเทศ ทางบริษัทเลยจัดน้องกบมาให้เพิ่มอีกหนึ่งประเภท กระแสดีไม่มีตก สาขาย่อยของบริษัทนี้ตามท้องถิ่นต่างๆ จึงเลือกสัตว์ที่คนในย่านนั้นชื่นชอบหรือผูกพันมาทำแผงรั้วมากมาย ในปัจจุบันมีมากกว่า 30 แบบแล้ว และไม่ได้มีแค่สิงสาราสัตว์อีกต่อไป ชินคันเซ็น สกายทรีก็มา

เห็นแบ๊วๆ แบบนี้ แต่เซฟตี้เป๊ะ น้องๆ มีขนาดมาตรฐานคือ 45 x 75 cm ทำจากพลาสติกชั้นดีที่ต่อให้โดนรถชนก็ไม่แตกกระจายกลายเป็นเศษที่อาจทำให้คนบาดเจ็บ ไม่ย่อท้อต่อความร้อน ความหนาว และความเปียก ส่วนยุบยื่นที่เห็นคือการคิดมาแล้วว่าช่วยเสริมความแข็งแรงให้น้อง และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าหลายจุดเป็นวัสดุสะท้อนแสงในความมืด เช่น ดวงตา (คิดแล้ว ตอนกลางคืนคงแอบน่ากลัวนิดหน่อย แต่ปลอดภัย!) 

กรวยจราจร

4 ปีที่แล้ว ตอนที่เราได้เห็นกรวยเรืองแสงเรียงรายเต็มถนนอย่างสวยงามเป็นครั้งแรก บอกเลยว่าปลื้มมาก ต่อมาได้เจอกรวยไม้ไผ่สุดคราฟต์ที่มีไว้เพื่อรักษาบรรยากาศในแถบเมืองเก่าซึ่งมีอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ยิ่งประทับใจและคิดว่าสักวันหนึ่งจะเขียนถึงเรื่องนี้ให้ได้ แต่ก็เก็บไว้ในใจจนกระทั่งเจอกรวยพระพุทธรูปสุดโมเดิร์นที่เป็นผลงานศิลปะของศิลปินชาวยุ่น นี่แหละสัญญาณว่าต้องแชร์ความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มความสดใสให้ความปลอดภัยแล้ว

ภาพ : yamawake.co.jp

ชาวพุทธอย่าเพิ่งโมโห ที่ญี่ปุ่น ศาสนา การค้า และศิลปะ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ พระที่กรวยของญี่ปุ่นนั้นคือพระจิโซในศาสนาชินโต ซึ่งปกติมักพบเห็นเป็นหินแกะสลักวางเรียงรายอยู่ตามข้างทาง

ผู้คนเคารพบูชาเพราะเชื่อว่าท่านจิโซจะช่วยปกป้องนักเดินทาง ในปี 2009 คุณศิลปิน Fusao Hasegawa เลยปิ๊งไอเดียนำความเชื่อมาผสมผสาน ทำกรวยท่านจิโซเพื่อให้ท่านช่วยปกป้องท้องถนนด้วยเลย

จุดเริ่มต้นงานนี้คือ Fusao อยากทำ Public Art ที่ไม่ได้ตั้งโชว์ในหอศิลป์แต่กลมกลืนไปกับชีวิตของผู้คน แต่ด้วยความที่ยังไม่ดังพอจะไปขอใช้ที่สาธารณะ เลยพยายามหาทางเอาไปสิงไว้กับของที่อยู่ในที่สาธารณะอยู่แล้ว ซึ่งกรวยตอบโจทย์เพราะปกติเราเอาของไปวางบนถนนไม่ได้ แต่เอากรวยไปวางได้

เขาเริ่มจากการนำไปแอบวางตามจุดต่างๆ เพื่อสังเกตท่าทีของผู้คน ปัจจุบันท่านจิโซพลาสติกเดินทางไปทั่วจนศิลปินเองก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหนบ้าง บางครั้งต้องไล่ดูตามสื่อโซเชียล (ที่แน่ๆ หลุดมาแถวบ้านฉัน 1 ที่คุณร้านเหล้า คาดว่าทำให้ท่านจิโซจำต้องขยายขอบเขตงานไปคุ้มครองคนเมาด้วย อาริกาโต้ คัมไป!)

ปัจจุบันนี้ฟุซะโอะยังรับทำตามออเดอร์บ้าง แต่ไม่ทำเยอะ เพราะเดี๋ยวความสนุกในการค้นพบจะลดลง สนนราคากรวยไม่ศักดิ์สิทธิ์แต่สนุกนี้อยู่ที่ 8,000 เยน ใครไหว มาซื้อหอบกลับไทยได้ แต่ถ้าไม่สู้ทั้งเรื่องราคาและขนาด มีบริษัทของเล่นเอาไปทำฟิกเกอร์จิ๋วขายแล้ว

ศิลปินหนุ่มบอกว่า เป้าหมายสูงสุดของเขาคือ สร้างทิวทัศน์ของเมืองที่มีกรวยจิโซเป็นส่วนหนึ่งอย่างกลมกลืน

รั้วชั่วคราว

หน้าที่หลักของรั้วชั่วคราว คือกันเสียง กันฝุ่น และความปลอดภัย 

เมื่อดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์ทำให้มันสวยขึ้นและเติมคอนเทนต์ให้พื้นที่ว่าง รั้วชั่วคราวในญี่ปุ่นกลายเป็นพื้นที่สื่อสาร โฆษณา สร้างความบันเทิง และส่งเสริมความสัมพันธ์กับท้องถิ่น แถมเป็นจุดสำคัญที่ช่วยทำให้ไซต์ก่อสร้างมีเสน่ห์

คนที่มีส่วนช่วยส่งเสริมเทรนด์นี้อย่างมากคือ Ayumi Han ซึ่งเป็น Urban Scape Architect เจ้าของผลงานเติมความเก๋ให้การก่อสร้างแถวสถานีชินจุกุในช่วงปี 2004 – 2007 ผลตอบรับของงานนั้นดีมาก และได้รางวัล Good Design ในปี 2005 ด้วย 

อะยุมิมองเห็นศักยภาพของไซต์ก่อสร้างในฐานะ Public Space ที่ใช้ดีไซน์เพิ่มคุณค่าและเปลี่ยนมุมมองที่ผู้คนมีต่อการก่อสร้างในแง่ลบได้ เพราะไซต์ก่อสร้างเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในที่สาธารณะเป็นเวลานาน ยิ่งโปรเจกต์ใหญ่ยิ่งหลายปี 

ในโลกปัจจุบัน ไซต์ก่อสร้างคือส่วนหนึ่งของเมืองและวิวไปแล้ว บริษัทรับเหมาก่อสร้างเองก็เกรงใจชุมชน เพราะต้องสร้างความลำบากเป็นเวลานาน ถ้าเป็นโปรเจกต์ใหญ่หรืองานของรัฐจะมีงบดูแลอิมเมจอยู่แล้ว เธอจึงลองนำงบส่วนนี้มาทำอะไรที่สร้างอิมแพกต์ต่อผู้คน

สิ่งที่ดีไซเนอร์สาวทำในตอนนั้น คือเน้นการออกแบบที่มีต่อจิตใจ ใช้กราฟิกที่สื่อสารกับทั้งคนรุ่นใหม่และสูงอายุ และให้คนได้มีส่วนร่วมด้วยการส่งรูปพอร์เทรตของตนเองและคีย์เวิร์ดที่รู้สึกต่อชินจุกุเข้ามา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พื้นที่หน้าไซต์กลายเป็นจุดที่คนใช้ยืนรอเพื่อนหรือสูบบุหรี่ และชาวชินจุกุในภาพพอร์เทรตที่ไม่รู้จักกันมาก่อนก็หากันจนเจอบนโลกออนไลน์และสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมา 

นอกจากนี้ แม้เวลาผ่านไปหลายปี เวลาเธอไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย มักจะมีเด็กนักศึกษาเข้าชวนคุยถึงเรื่องโปรเจกต์นี้อยู่เสมอ จากความสำเร็จนี้ เธอได้เรียนรู้ว่า รั้วชั่วคราวอาจจะอยู่แป๊บเดียว แต่อิมแพกต์ที่เกิดขึ้นยังอยู่เสมอในความทรงจำของผู้คน

จะเห็นได้ว่าความกรุบกริบของแต่ละสิ่งเริ่มต้นในยุคใกล้ๆ กันและต่างได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้จะพัฒนาไปไกล แม้ความคาวาอี้ในไซต์ก่อสร้างจะมีที่มาแตกต่างกัน แต่ล้วนมีรากฐานมาจากความรับผิดชอบต่อชุมชน นอกจากหน้าที่หลักเรื่องความปลอดภัย แต่ยังใส่ใจบรรยากาศและความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในย่านนั้นๆ เมื่อความใส่ใจรวมตัวกับความคิดสร้างสรรค์ ชาวญี่ปุ่นเลยได้พื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรต่อร่างกายและหัวใจ

ข้อมูลอ้างอิง
วารสาร まちづくりフィールドレポート Vol.10 gazoo.com/column/daily/20/03/15/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.