ทุกๆ วัน คนส่วนใหญ่ประสบปัญหาสุขภาพจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และมีภารกิจมากมายจนละเลยเรื่องการกินอาหาร จนส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา Mark Mattson จาก Johns Hopkins University จึงได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการทำ Intermittent Fasting (IF) ซึ่งเป็นการกินอาหารที่จะเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล
ต้องทำอย่างไรถึงจะหายอ้วน ?
การทำ Intermittent Fasting (IF) เรียกง่ายๆ คือ ‘การกินอาหารแบบจำกัดช่วงเวลา’ ที่จะแบ่งการกินออกมาเป็น 2 ช่วง อย่าง ‘ช่วงอด (Fasting)’ กับ ‘ช่วงกิน (Feeding)’ ซึ่งแบ่งไว้ 2 สาย สำหรับคนเพิ่งเริ่มต้น และคนที่กินเป็นปกติอยู่แล้ว โดยจะใช้วิธี ‘กิน 6 – 8 ชั่วโมง อด 16 – 18 ชั่วโมง’ ส่วนคนที่เริ่มมาสักระยะแล้ว อยากเพิ่มความท้าทายให้ตัวเองสามารถใช้วิธี ‘กิน 5 วัน อด 2 วัน’ ซึ่งวันที่อดอาหารสามารถกินได้ไม่เกิน 500 แคลอรี หรือเทียบเท่ากับความต้องการของร่างกายในแต่ละวันเท่านั้น
ทดลองแล้วได้ผลจริงเหรอ ?
บทความ the New England Journal of Medicine ได้ระบุว่า ผลจากการทำ IF ช่วยลดความดัน ลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ยังช่วยให้มีอายุยืนยาว
จึงมีการทดลองกับหนูทดลองและคนที่มีน้ำหนักเกิน โดย IF มีหลักการเผาผลาญพลังงานจากการอดอาหาร ซึ่งทำให้ระดับอินซูลินลดลง ต่อมาร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต (Growth Hormone) และนำไขมันมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน ทำให้น้ำหนักลดลง และช่วยลดโรคอ้วนได้จริง
ทั้งนี้ยังได้มีการทดลองเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ซึ่งพบว่า 2 ใน 3 คน มีน้ำหนักลดลง และเลิกใช้อินซูลินในการรักษาได้สำเร็จ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการทำ IF ได้เป็นอย่างดี
ข้อจำกัดของการทำ Intermittent Fasting (IF)
ตอนนี้ผลการทดลองส่วนใหญ่ครอบคลุมอยู่แค่กลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มคนอ้วน ทำให้ผลการทดลองยังไม่กระจายเป็นวงกว้าง อีกทั้งมีการยกเลิกการทำ IF กลางคันถึง 40% เพราะโดยธรรมชาติของคนเรามีการกินอาหาร 3 มื้อ และของว่าง 1 มื้อ ซึ่งการทำ IF ในช่วงแรกมีความทรมานต่อร่างกาย ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาปรับตัวกว่าที่สมองจะจดจำพฤติกรรมการกินแแบบใหม่ได้
Source : https://cnn.it/2uhPTQ4