Hugely แบรนด์กระเป๋าจากสายดับเพลิงเก่า - Urban Creature

สายดับเพลิง 1 เส้น ผ่านอะไรมาบ้าง

ช่วยชีวิตคน มอบความปลอดภัย หรือดับไฟที่กำลังมอดไหม้บ้านเรือน ล้วนเป็นเบื้องหลังเรื่องราวที่ ‘พัด–นวรัตน์ โชคล้ำเลิศ’ หยิบสายดับเพลิงทิ้งแล้วที่หลายคนมองว่าไร้ค่า มาแปลงโฉมเป็นกระเป๋าที่ทั้งแข็งแรง ทนทาน กันน้ำ กรีดไม่เข้า แถมดีไซน์ยังเรียบง่ายโดนใจ จะนำมาแมตช์กับเสื้อผ้าแบบไหนก็ดูดี ภายใต้แบรนด์ชื่อว่าHugely

การเดินทางของสายดับเพลิง

พัดเจ้าของแบรนด์เริ่มเล่าถึงวันแรกที่ความคิดอยากทำกระเป๋าผุดขึ้นมา พัดเท้าความว่าคุณพ่อมีงานอดิเรกคือ ‘ทำธุรกิจประมูลของเก่า’ ที่โมเดลธุรกิจของมันอาจจะไม่ได้ชูว่ารักษ์โลกโดยตรง แต่มันก็ทำให้ของหลายชิ้นที่ถูกทิ้งแล้วกลายเป็นของที่มีประโยชน์ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งยังทำให้พี่พัดได้เจอกับ ‘สายดับเพลิง’ ที่กลายมาเป็นวัสดุตัวชูโรงในการทำแบรนด์กระเป๋า

“ประมูลของเก่าอาจจะนึกว่ามันเป็นธุรกิจใหญ่โต จริงๆ เตี่ยเราอยากทำเป็นงานอดิเรกมากกว่า เกษียณแล้ว อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร เขาก็ชวนเพื่อนไปหาประมูลตามหลวงตามรัฐเวลาที่เขามีประกาศประมูลบ้าง บางทีก็ไปรับซื้อนิดๆ หน่อยๆ ตามบ้านคน ก็จะได้ของเช่น เครื่องตัดหญ้า ตู้เหล็ก หรือแอร์เก่ามา ซึ่งสายดับเพลิงก็ได้ติดมาจากของพวกนี้นี่แหละ

“พอเตี่ยเอามาขาย คนจะสนใจเครื่องตัดหญ้า คอมเพรสเซอร์แอร์ หรือแอร์เก่ามากกว่า เพราะมันมีใบพัด ซึ่งแม่ค้าในตลาดจะชอบมาก ส่วนสายดับเพลิงจะไม่ค่อยมีคนสนใจนอกจากชาวสวนชาวไร่ เขาจะเอาไปซ่อมแซมเป็นที่รดน้ำในสวน เพราะมันแข็งแรงกว่าสายยางตามบ้าน”

สมัยที่พัดทำธีสิส พัดใช้สายดับเพลิงที่มีอยู่ในบ้านเพียงไม่ก่ีม้วนในการทำโปรเจกต์ส่งอาจารย์ แต่เมื่อความคิดอยากทำแบรนด์กระเป๋าผุดขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเรียนจบไป 2-3 ปี “เอาไงล่ะทีนี้” จะไปหาสายดับเพลิงจากไหน เพราะที่บ้านก็ไม่มีแล้ว พัดเล่าต่อว่าสายดับเพลิงของบ้านเรามันมีข้อจำกัดมากมาย

“สายดับเพลิงที่มาจากรัฐกับหลวง เขาจะมีตู้เก็บสายดับเพลิง หรือถังดับเพลิงตามพวกเทศบาล พอถึงเวลาที่เขาจะทิ้ง เขาก็จะเรียกประมูล ซึ่งข้อเสียของสายดับเพลิงบ้านเราคือ ถ้าสายมันเสียส่วนหนึ่งเขาจะยังไม่ทิ้ง แต่จะตัดออกแล้วเอาส่วนที่ยังใช้ได้อยู่มาสวมต่อกัน ซึ่งเราต้องการสายดับเพลิงที่มาแบบเต็มม้วน และทิ้งเป็นรอบชัดเจน พอเขาทิ้งไม่เป็นรอบปี มันเลยเกิดความยากในการหาวัสดุ ทั้งที่ใจจริงอยากใช้วัสดุของบ้านเราก่อนจะไปสรรหาจากที่อื่น

“ตอนที่เริ่มจะทำแบรนด์ แรกๆ ก็ให้เตี่ยช่วยติดต่อเทศบาลก่อนว่ามีที่ทิ้งแล้วไหม และใช้ข้อมูลจากที่บ้านว่าเคยได้ของเก่ามาจากที่ไหนบ้าง เลยไปเจอพวกโกดังญี่ปุ่นที่เขาจะทิ้งของของเก่าเป็นรอบปีชัดเจน คือสามปีห้าปีจะทิ้งเลย จำนวนที่มามันเลยเยอะมาก ที่สำคัญคือถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหรือไม่ได้คุณภาพ เขาจะทิ้งทั้งเส้นเลย เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นจริง มันอาจจะใช้ไม่ได้ สายดับเพลิงอาจจะรั่ว เราเลยได้สายดับเพลิงที่ถูกใจแบบเต็มเส้น

แม้พัดจะไม่สามารถใช้สายดับเพลิงในไทยได้ แต่พัดยังยึดหลักคือ ‘ไม่เอาสายดับเพลิงใหม่ แต่เอาจากที่ทิ้งแล้วเท่านั้น’ 

สายดับเพลิง อึด ถึก ทน

แม้พัดจะชื่นชอบกระเป๋าเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขนาดตอนทำธีสิสก็คิดว่า “ยังไงโปรเจกต์จบก็จะต้องทำกระเป๋าเท่านั้น” และพอความคิดอยากทำแบรนด์เด้งขึ้นมา ‘กระเป๋า’ ก็ยังเป็นตัวเลือกแรกที่พัดจะทำ แต่เมื่อเป็นวัสดุอย่าง ‘สายดับเพลิง’ แล้วล่ะก็…มันไม่ง่ายเลย

“คุณสมบัติที่ดีของสายดับเพลิงมีเยอะมากคือ ทนทาน แข็งแรง ซักแล้วไม่ต้องตากแดด ป้องกันรอยขีดขูด ทนความร้อนได้ กันน้ำได้ เพราะสายดับเพลิงทำมาเพื่อทนแรงดันน้ำมหาศาล” พัดเล่าถึงข้อดีของเจ้าสายดับเพลิงก่อนจะเผยถึงอุปสรรคที่ซ่อนอยู่

“สายดับเพลิงทิ้งแล้วที่ได้มา มันยากตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหาจนถึงขั้นตอนการทำเลย อย่างตอนทำความสะอาด แค่ซักอย่างเดียวเราใช้เวลาสามวัน เพราะสายดับเพลิงมันผ่านการใช้งานมาเยอะ ผ่านการม้วน การลาก การเก็บ มันมีคราบที่ฝังแน่น เราเลยจำเป็นต้องใช้สารฟอกขาว ซึ่งความแข็งแรงของมันก็กลายเป็นความยากให้ช่าง เวลาทำกระเป๋าต้องกรีดให้แรงที่สุด ช่างก็ถอดใจกันไปหลายคนเพราะไม่ไหวกับเนื้อของสายดับเพลิง” 

เมื่อสายดับเพลิงกลายเป็นกระเป๋า

สายดับเพลิงจะมี 2 ฝั่ง คือฝั่งยางกับฝั่งผ้า ถ้ามันหมดอายุการใช้งานแล้วทิ้งไว้นานเกิน ฝั่งยางจะกรอบ เวลาเย็บมันก็จะแตกออกมา ทำให้ไม่สามารถนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าได้ ซึ่งข้อดีด้านความอึด ถึก ทนของสายดับเพลิง ก็เป็นเหมือนบททดสอบให้พี่พัดฝ่าฝันมันกว่าจะออกมาเป็นกระเป๋า 1 ใบ

“แรกๆ เราไม่รู้ว่ากระเป๋ามันต้องทำยังไง เราก็ต้องศึกษาเพิ่ม เริ่มทำจากผ้าก่อน มันก็ซับซ้อน คิดรูปแบบปุ๊บก็ต้องไปวาดแพทเทิร์นลงกระดาษ มันมีทั้งซิป ทำเป็นช่องบ้าง ตัดเย็บยังไงให้ใส่ซิปพอดี ยิ่งใบเล็กยิ่งยาก” แม้พัดเรียนโปรดักต์ดีไซน์มา แต่งานนี้ก็ต้องศึกษาเพิ่มเป็นเท่าตัว

แล้วชื่อ Hugely นี้ได้มาอย่างไร พัดตอบเราโดยไม่ต้องนึกเลยว่า “‘ชอบตัว H มันรู้สึกแข็งแรง ดูหนา น่าจะเหมาะกับสิ่งที่เราจะทำ” ความรู้สึกนั้นกลายเป็นชื่อแบรนด์ที่แปลความหมายว่า เบ้อเร่อ มหาศาล และใหญ่โต ซึ่งทำให้เรารู้สึกไม่ติดขัดเลยแม้แต่น้อย เพราะมันช่างเข้ากันดีกับเรื่องราวของสายดับเพลิงที่ผ่านอะไรมามากมาย 

ทุกร่องรอยทิ้งเรื่องราว

อย่างที่บอกว่า Hugely นั้นเจอความยากตั้งแต่ด่านแรกคือการสรรหาวัสดุ พัดบอกกับเราว่า ผิวและสัมผัสของกระเป๋าทุกใบไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าคาด กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่แล็ปท็อป ถุงผ้า ไปจนถึงกระเป๋าสตางค์ พัดทิ้งความดิบและความเรียลของสายดับเพลิงไว้กับโปรดักต์ทุกชิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์

“สายดับเพลิงที่ได้มา เราไม่มีสิทธิ์เลือกได้เลยว่าเราจะเอาลายนี้สีนี้ เราได้สายดับเพลิงมาก็ต้องมาคัดอีกว่าเส้นไหนใช้ได้จริง หนาไปก็เย็บไม่ได้ แข็งและกรอบก็เย็บไม่ได้ แต่พยายามคิดหาวิธีต่อว่าส่วนที่ยังใช้ได้จะเอาไปทำอะไรต่อ” พี่พัดเล่าถึงข้อจำกัดของสายดับเพลิงทิ้งแล้ว ซึ่งเรามองว่ามันกลายเป็นเสน่ห์ของ Hugely ที่เราจะได้ใช้กระเป๋าที่เป็นสายดับเพลิง แบบสายดับเพลิงจริงๆ

เราอดถามพัดต่อไม่ได้ว่า แต่ละกระบวนการชอบโมเมนต์ไหนที่สุด ซึ่งพัดก็ตอบเราทันทีว่า “ชอบที่สุดคือตอนเห็นสายดับเพลิงมา ลุ้นมากเลยว่าจะได้สีอะไร ลายจะซ้ำไหม ให้เราจินตนาการต่อ” ก่อนจะบอกต่ออีกว่า

“Hugely ก็เป็นเสียงหนึ่งที่ช่วยโลก กระเป๋าของเราคือสิ่งที่คนทิ้งแล้ว ไม่เห็นคุณค่าแล้ว การย่อยสลายของมันก็ยาก ผ้าว่ายากแล้ว ยางยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะยางมันก็ต้องเผา การที่เราทำมันช่วยลดการเผาไหม้ เราอยากสร้างคุณค่าต่อไปอีกเยอะๆ เลย”

ก่อนจบบทสนทนากับพัด เรามีโอกาสได้ลองสัมผัสสายดับเพลิงที่กลายมาเป็นกระเป๋าน่าใช้ เราชอบความไม่สมบูรณ์แบบของมัน บางใบไม่ได้ดูขาวใสสะอาด แต่ยังคงทิ้งรอยม้วนรอบพับจนไม่สามารถกำจัดออกได้ แถมจับปุ๊บก็รู้ทันทีว่ามันแข็งแรงจริงๆ ที่สำคัญคือเราได้จินตนาการต่อไปว่า กระเป๋าจากสายดับเพลิงกี่เส้นต่อกี่เส้นเหล่านี้ มันเคยช่วยชีวิตคน หรือผ่านอะไรมามากมาย มันมีคุณค่าทางจิตใจที่เราอยากให้ลองมาสัมผัสดู 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.