หนึ่งวันกับคนไร้บ้าน ชีวิตที่อยากให้สังคมเข้าใจ - Urban Creature

คนไร้บ้าน น้อยครั้งนักที่เรื่องราวของพวกเขาจะถูกพูดขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม และน้อยครั้งนักที่จะมีใครเข้าใจ พร้อมใส่ใจพวกเขาอย่างจริงจังและจริงใจ แต่ในจำนวนน้อยครั้งที่เกิด ยังมีกลุ่มคนที่แทนตัวเองว่า ทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนน จาก มูลนิธิกระจกเงา ที่ให้ความสำคัญและไม่ทิ้งให้คนไร้บ้านเดียวดายในสังคม 

เรียนรู้ชีวิตคนไร้บ้านไปพร้อมกับ พี่เอ๋-สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนที่จะพาเราไปเข้าถึงคนไร้บ้านอย่างเปิดใจให้ว่าง เพื่อทำความเข้าใจ รับฟังเรื่องราว รับรู้ปัญหา และถ่ายทอดสิ่งที่พบเจอให้ทุกคนได้สัมผัสคนไร้บ้านในมุมมองใหม่

.

ไม่มีใครอยากไร้บ้านหรอก

คนไร้บ้าน-homeless

“ไม่มีใครอยากออกจากบ้านที่เคยหลับนอน แล้วมาเตร็ดเตร่ข้างนอกหรอกครับถ้าไม่จำเป็น” พี่เอ๋บอกกับเราเมื่อเริ่มสนทนาด้านหน้าสวนสันติภาพ สวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนรางน้ำและถนนราชวิถี ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งจุดนี้คือจุดที่เหมาะสำหรับพักอาศัย ด้วยความสะดวกสบายทางด้านการเดินทาง และความส่องสว่างที่จำเป็น ระหว่างนั้นเขาทอดสายตามองไปยังกลุ่มคนไร้บ้านที่มาเพื่อรับงานจากโครงการจ้างวานข้า ที่มูลนิธิกระจกเงาเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น 

“รู้หรือเปล่าว่าที่นั่งอยู่ตรงนี้ไม่ได้มีแค่คนไร้บ้าน” พี่เอ๋บอกว่าส่วนมากสังคมจะรู้จักเพียง กลุ่มคนไร้บ้าน แต่ในความจริงแล้วยังมี คนจนเมือง ที่ยังไม่ตัดขาดจากครอบครัวและเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ แต่กำลังเผชิญกับปัญหาความยากจน ไม่มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง รวมถึงต้องแบกรับภาระในครอบครัว ทำให้อาจสุ่มเสี่ยงเปลี่ยนสถานะสู่คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกได้ว่า การพัฒนาเมืองกำลังมีปัญหา ไม่เท่าเทียม และไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่า คนจนเมืองต้องอยู่ในสลัมเท่านั้น แต่เปล่าเลย เพราะจากการสำรวจของโครงการผู้ป่วยข้างถนนพบว่า คนจนเมืองที่กำลังเผชิญปัญหาจะอยู่ตามห้องเช่ารายวันหรือหอพักเล็กๆ ที่ชีวิตของพวกเขาค่อนข้างโดดเดี่ยว ขาดความเป็นชุมชนคอยช่วยเหลือ หรือการปรึกษากับคนรอบข้างเมื่อมีปัญหา 

“เราเจอคุณลุงอายุหกสิบกว่าปีคนหนึ่ง พิการด้วยอาการหูตึงและเป็นโรคหัวใจ แต่ต้องดูแลลูกอายุประมาณสี่สิบปีที่ป่วยเป็นออทิสติก อาศัยอยู่ในห้องเช่าราคาถูก ซึ่งค่าห้องรวมค่าน้ำค่าไฟอยู่ที่หนึ่งพันเจ็ดร้อยบาท แต่เมื่อได้รับเบี้ยคนพิการและเบี้ยผู้สูงอายุ รวมกันได้หนึ่งพันสี่ร้อยบาท ซึ่งนั่นก็จ่ายค่าห้องไม่พอแล้ว ดังนั้นจึงต้องหารายได้เพิ่ม และแน่นอนว่าเขาไม่สามารถเข้าไปสู่ระบบงานประจำได้ ประกอบกับสวัสดิการที่น้อยและไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตจริง ทำให้เกิดภาวะเครียด กดดัน และไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตดี”

.

อายุมากขึ้นแต่บ้านที่อยู่ได้กลับน้อยลง

คนไร้บ้าน-homeless

ผลสำรวจจำนวนคนไร้บ้าน พ.ศ. 2562 จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเผยข้อมูลว่า พบคนไร้บ้านทั่วประเทศทั้งสิ้น 2,719 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 38 เปอร์เซ็นต์ นครราชสีมา 5 เปอร์เซ็นต์ เชียงใหม่และสงขลา 4 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งชลบุรีและขอนแก่น 3 เปอร์เซ็นต์ ที่กว่า 57 เปอร์เซ็นต์อยู่ในช่วงอายุ 40 – 59 ปี หรือวัยแรงงานตอนปลาย ตัวเลขที่ปรากฏผ่านสายตาขณะค้นหาไม่ได้ทำให้รู้สึกประหลาดใจสักเท่าไหร่ แต่ข้อมูลอีกชุดที่พบว่า คนไร้บ้านที่พบรองลงมาคือกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 18 เปอร์เซ็นต์ และยังอยู่คนเดียวมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ กลับทำให้เรานึกสงสัยว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น 

“คนไร้บ้านที่พบส่วนมากจะอยู่ในวัยผู้สูงอายุ นั่นคือห้าสิบห้าปีขึ้นไป จนถึงเจ็ดสิบปี มักจะเป็นคนจนเมืองมาก่อน เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่บ้านแล้วรู้สึกกดดัน คิดว่าตัวเองเป็นภาระ รวมไปถึงมีปัญหากับครอบครัวในด้านต่างๆ ทำให้รู้สึกไร้ที่พึ่งและตัดสินใจเก็บกระเป๋าออกจากบ้านมา”

พี่เอ๋สร้างความกระจ่างให้สิ่งที่เราสงสัย พร้อมบอกต่อว่าส่วนมากจะทำงานนอกระบบมาตลอดชีวิต ความน่าเป็นห่วงที่มีนั้นเลยเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว เพราะสวัสดิการต่างๆ ที่ควรได้รับกลับเข้าถึงยาก ทำให้เมื่อเลือกออกมาใช้ชีวิตตามลำพังจึงมีต้นทุนไม่พอในการที่จะไปสร้างชีวิตใหม่ อีกทั้งเบี้ยยังชีพที่รัฐจัดให้ผู้สูงอายุ 600 – 1,000 บาท/เดือน (ตามอายุของผู้พิการ) นั้นไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตและดูแลตัวเองได้

คนไร้บ้าน-homeless

การออกสำรวจพร้อมทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนนครั้งนี้ เราตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนมาว่าต้องขอพูดคุยกับคนไร้บ้านให้ได้สักครั้ง เพราะหากไม่ได้พูดคุย จะรับรู้ความรู้สึกและเหตุผลที่เลือกเป็นคนไร้บ้านของแต่ละคนได้อย่างไร เราจึงผละจากการยืนคุยกับพี่เอ๋ แล้วตามเขาไปคุยกับคุณพี่ คุณอา คุณลุงที่ส่งยิ้มอย่างเป็นมิตรมาให้ เพื่อส่งต่อเรื่องราวของพวกเขาในอีกมุมหนึ่งที่คนในสังคมอาจไม่เคยรู้

ก่อนเริ่มต้น เราแจกกระดาษให้คนละหนึ่งแผ่นพร้อมปากกาเมจิ ให้สำหรับเขียนความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ที่รู้สึก และให้สิ่งนี้เป็นเหมือนกุญแจที่ปลดล็อกความไม่คุ้นเคยระหว่างกัน หลังจากนั้นเริ่มสนทนาอย่างเป็นกันเองกับคุณลุงท่านแรกที่ไม่ประสงค์ออกชื่อ

“ที่เลือกออกมาจากบ้านเพราะเราตกงาน และก็อายุมากแล้ว หกสิบกว่าปีแล้ว ทำให้ทำงานที่ไหนก็ไม่ได้ เลยต้องหาวิธีใช้ชีวิตให้พออยู่รอดมาได้ห้าหกเดือนแล้ว ก็มีรับพระ รับข้าวสารมาขายต่อบ้างให้พอมีรายได้ไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่วาดก็ตรงกับความรู้สึกตอนนี้ เพราะบ้านคือที่หลับนอน แต่ในภาพตัวเรากลับอยู่ข้างนอก ก็คนไร้บ้านนะหนู ซึ่งตอนนี้อยากได้บ้าน แต่ยังทำไม่ได้ สั้นๆ แต่มันมีความหมายมาก”

คนถัดมาคือ ‘คุณลุงสุวัฒน์’ ที่ถึงแม้จะอยู่ในสถานะไร้บ้าน แต่เขาบอกกับเราว่า “ผมยังทำงานประจำอยู่ครับ” แต่เหตุผลที่ทำให้เขาต้องไร้ที่หลับนอน ออกมาอยู่ตรงหลังป้ายรถเมล์บริเวณเกาะพญาไทแทน เพราะเมื่อช่วงโควิด-19 ระบาด เจอปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้เงินที่ใช้เช่าบ้านมีไม่พอ

“ตอนแรกผมนอนบนหินก้อนใหญ่ๆ สี่ก้อนหลังป้ายรถเมล์ตรงเกาะพญาไท ก่อนนอนก็ทำความสะอาด แต่เพราะต้องการที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ต้องการที่ทำงาน ที่เก็บเอกสาร เลยขอมาอยู่สถานพักพิเศษของมูลนิธิบ้านพูลสุข ซึ่งแนะนำโดยมูลนิธิกระจกเงา เพราะตัวผมเองก็ยังทำงานอยู่ ก็เป็นอาคารพักอาศัยรวม จัดแบ่งเป็นห้องแยกชาย-หญิง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ตอนนี้ก็อยู่มาได้เดือนกว่าๆ แล้ว”

‘ลุงศรีเงิน’ คือคุณลุงคนต่อมาที่เริ่มคุยกับเราด้วยประโยคที่ว่า ออกมาใช้ชีวิตของตัวเองแบบนี้มันสุขสบายกว่ากันเยอะเลย

“หลังปลดเกษียณจากราชการทหารมา ลุงก็เอาเงินบำเหน็จบำนาญที่ได้ไปปลูกบ้านให้ลูกคนละหลัง พออยู่บ้านได้ประมาณสองปีก็ตัดสินใจออกมา เพราะตอนอยู่กับลูก เขาเป็นเจ้าหน้าที่ก็อาจจะติดมาใช้ระเบียบกับพ่อบ้าง บางครั้งไม่ค่อยให้ออกไปไหน เพราะกลัวพ่อเอาเรื่องต่างๆ นานาไปเล่า ต้องอยู่ในบ้าน ลุงเลยไม่ไหว ก็เลยเลือกออกมาใช้ชีวิตดีกว่า 

“ตอนแรกๆ ลุงนอนตามดอนเมือง บางทีก็ย้ายไปหัวลำโพง แล้วก็จะไปรับของที่เขาแจกให้ผู้สูงอายุมาค้าขายเพื่อเลี้ยงชีพ แต่เพราะกลัวโดนปล้นหรือมีอันตรายที่เราไม่รู้ เลยตัดสินใจหาบ้านอยู่ ก็ได้มาอยู่ที่บ้านพูลสุขตามที่มูลนิธิกระจกเงาแนะนำ ซึ่งตอนนี้ลุงอยู่มาได้ปีหนึ่งแล้ว ซึ่งพอมาอยู่ถ้ามีงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างตัดต้นไม้ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมบ้านก็จะมาหาให้ลุงไปช่วย คือจริงๆ แล้วพวกเราทำงานกันตลอดนะ เพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเอง”
 

“แบบนี้คุณลุงคิดอยากกลับบ้านบ้างไหมคะ?”

“คงไม่ล่ะ” ลุงศรีเงินตอบ ก่อนเล่าต่อว่า ก่อนออกจากบ้านเขาบอกกับลูกๆ ว่า ถ้าพ่อไม่มีกิน ไม่มีใช้จะกลับไปหา แต่ตอนนี้ที่ยังพอมีเงินรายได้ซึ่งได้จากทหารผ่านศึก เลยเลือกที่จะยังไม่กลับไป เพราะตอนนี้คำว่า ‘บ้าน’ ของคุณลุงตามมาด้วยคำว่า อิสระ สบายใจ และเป็นที่ที่คุณลุงได้ใช้ชีวิตของตัวเอง

คนสุดท้ายที่เรามีโอกาสได้นั่งคุยคือ ‘พี่ชาลี’ คนไร้บ้านที่ถึงแม้จะตาเสียข้างหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยยอมงอมืองอเท้า และพยายามหางานเลี้ยงชีพเท่าที่จะทำได้

“พี่ตกงานช่วงโควิด-19 ระบาด แล้วก็เลยหางานใหม่ ได้งานเลี้ยงเป็ดมา แต่ออกมาแล้วเพราะทำไม่ไหว ไปหางานใหม่ตอนนี้ไม่มีเลย เราก็ไม่มีที่พัก เลยไปนอนที่ใต้สะพานลอยตรงตลาดที่สะพานขาวได้สองสามเดือนแล้ว บางทีฝนตกก็ต้องย้ายที่นอน ไปนั่งตามหน้าเซเว่นบ้าง คือนอนตรงนั้นสบายใจนะ ไม่มีใครมารบกวน เพราะจะมีคนเข็นผัก เข็นของทั้งวัน บางทีก็มีตำรวจมาเดินดูแล เราก็รู้สึกปลอดภัย เพราะเคยไปนอนหัวลำโพงแล้วของหายไปเยอะ ส่วนกลางวันจะออกไปหางานทำ ซึ่งคนที่บ้านในต่างจังหวัดไม่รับรู้นะ พี่ไม่อยากให้เขารู้ว่าเราลำบาก

“ซึ่งพอออกมาอยู่ตรงนี้ การเข้าถึงเรื่องต่างๆ มันยากขึ้นกว่าเก่า โดยเฉพาะเรื่องการรักษาร่างกาย พี่เลยอยากให้มีที่รักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือราคาถูก แล้วก็ช่วยบอกให้ได้รู้ว่าต้องใช้อะไรบ้าง ให้พวกเราได้เข้าถึงการรักษาได้ แต่มันดูเป็นเรื่องใหญ่นะ ก็ดูรัฐบาลสิ”
 

พี่ชาลีส่งท้ายว่า ถึงตอนนี้ไม่มีงานและไม่มีเงินแต่ก็พอใจที่จะลำบากต่อไป เพราะความพอใจที่ว่าคือการไม่ได้ไปรบกวนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แม้บางครั้งการใช้ชีวิตจะมีลำบากบ้างเพราะสายตาที่เสียไปหนึ่งข้างก็ยังขอสู้ต่อไป “ถึงพี่มองโลกได้ครึ่งเดียว แต่หัวใจพี่เต็มร้อยอยู่แล้ว”

.

ไร้บ้านแต่ต้องไม่ไร้คุณภาพชีวิต

พี่เอ๋-สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน

หลังคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง และมีโมเมนต์ที่เราแอบน้ำตาซึมไปหลายครั้ง เราได้รับรู้เรื่องราวปัญหาและสิ่งที่พวกเขาต้องการ จนทำให้หันกลับมาคุยกับพี่เอ๋อีกครั้งว่า สวัสดิการที่กลุ่มคนไร้บ้านควรมี ตอนนี้พวกเขาได้รับบ้างไหม ซึ่งคำตอบที่ได้คือตอนนี้คนไร้บ้านยังไม่มีสวัสดิการที่ดีพอให้ใช้ชีวิตได้

โดยสวัสดิการแรกที่สำคัญคือ มิติด้านสุขภาพ ที่พบว่าคนไร้บ้านส่วนมากจะมีโรคกระเสาะกระแสะ ไม่แข็งแรง ซึ่งมาตรการที่ควรมีเพิ่มเติม เขาบอกว่าคือช่องทางในการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีด้วยตัวเองได้

ถ้าเราบอกว่ามาตรฐานของทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพทุกปี ปีละ 1 – 2 ครั้ง เอาแค่พื้นฐานเท่านี้ก่อน เราจะทำอย่างไรให้เกิดระบบเหล่านี้กับคนไร้บ้านที่มีการย้ายถิ่นตลอดเวลา

“เราอยากให้คนไร้บ้านสามารถมีช่องทางในการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีด้วยตัวเองได้ หรือการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนดำเนินการในเรื่องนี้ได้ด้วย เพื่อนำไปสู่การรับรู้ปัญหาเฉพาะบุคคล ติดตามผลอย่างต่อเนื่องว่าแต่ละคนสุขภาพเป็นอย่างไร

“แต่เนื่องจากช่องทางการเข้าไปตรวจสุขภาพให้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไรนั้นยังไม่มีและเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐใช้มาตรฐานและระบบเดียวกันหมดในการให้ทุกคนเข้าไปสู่ระบบการจัดการ ทั้งที่จริงๆ แล้วระบบควรถูกออกแบบมาเพื่อความหลากหลาย เพราะเมื่อเราพบความหลากหลายในสังคม พบว่ามีกลุ่มคนไร้บ้าน หรือกลุ่มคนที่เข้าสู่ระบบยากด้วยเงื่อนไขส่วนตัว ระบบก็ควรต้องสร้างระบบย่อย เพื่อทำให้เกิดการดูดซับพวกเขาเข้าสู่ระบบให้ได้”

ต่อมาคือ มิติงาน เพราะจากที่เราได้พูดคุยกับคนไร้บ้าน ประกอบกับข้อมูลของทางทีมงานเอง จะค้นพบว่าจริงๆ แล้วคนไร้บ้านยังคงทำงานและต้องการงานเพื่อเลี้ยงปากท้อง ซึ่งพี่เอ๋บอกเราว่า ไม่ใช่คนไร้บ้านทุกคนที่อยากไปต่อคิวรับข้าวฟรี ดังนั้น หากพวกเขาสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง การทวงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมาก็คือเรื่องที่เขาอยากทำกัน เพื่อมีเงินไปใช้ชีวิตและสร้างความภูมิใจให้กับตัวเอง เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลให้ทางมูลนิธิกระจกเงาสร้าง ‘โครงการจ้างวานข้า’ ขึ้น เพื่อสร้างงานให้กับคนไร้บ้านและคนจนเมือง โดยแบ่งการให้งานเป็น 2 กลุ่มใหญ่

1. ให้งานสัปดาห์ละ 4 วัน – สำหรับคนจนเมืองที่ไม่มีช่องทางเข้าถึงอาชีพ หรือคนไร้บ้านที่หางานได้ยาก มีปัญหากับพื้นที่สาธารณะ และตั้งความหวังไว้ว่าอยากพ้นออกมาจากสถานะไร้บ้าน ทางโครงการจ้างวานข้าจะซัปพอร์ตงานให้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขามีรายได้ประจำสำหรับแบ่งเก็บและใช้จ่ายส่วนอื่นๆ

2. ให้งานสัปดาห์ละ 1 วัน – สำหรับกลุ่มคนที่ไร้บ้านมานานมากประมาณ 5 – 10 ปี ไม่มีแนวโน้มที่อยากจะออกจากชีวิตไร้บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าแนวโน้มในการเก็บหอมรอมริบก็จะมีน้อย การให้งานสัปดาห์ละ 1 วันจึงเกิดขึ้นเพื่อให้เขามีรายได้ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น ค่ารถ ค่าอาหาร และอื่นๆ

มิติสุดท้ายที่พี่เอ๋ยกตัวอย่างให้ฟังคือ มิติทางสังคม นั่นคือทัศนคติที่ผู้คนมีต่อกลุ่มคนไร้บ้าน เขาบอกเราด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า กำลังพยายามสร้างความเข้าใจให้กับสังคม และส่งต่อภาพลักษณ์คนไร้บ้านในมุมใหม่

“ส่วนมากคนในสังคมจะมองว่า การมาอยู่ข้างถนนของคนไร้บ้านจะตามด้วยเครื่องหมายเท่ากับว่าไม่ขยัน ไม่ทำงาน ไม่ขวนขวาย เลยตกอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่เราเชื่อว่า การเลือกเป็นคนไร้บ้าน เขามีปัจจัยที่ออกมาแตกต่างกัน และไม่ได้เท่ากับว่าพวกเขาต้องยอมรับกับชีวิตที่แย่ เพราะมันมีการจัดการที่ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้แม้จะไร้บ้าน”

.

ไร้คนไร้บ้าน คือภาพที่ฝัน

ทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนน

แม้เขาไร้บ้าน ไม่ใช่ว่าเขาต้องมีชีวิตที่เลวร้าย นั่นคือสิ่งที่เราคิดเมื่อมีโอกาสได้คุยกับทีมงานผู้ป่วยข้างถนน จากมูลนิธิกระจกเงา และกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง เราจึงถามคำถามสุดท้ายกับพี่เอ๋ถึงภาพฝันวันข้างหน้าเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่อยากเห็น เพราะในฐานะที่เขาและทีมทำงานด้านนี้มาอย่างจริงจังร่วม 5 ปี คงต้องมีเส้นชัยที่ตั้งไว้และอยากทำให้เกิดขึ้นจริง

“ภาพฝันของพวกเรา แน่นอนว่าอยากให้คนไร้บ้านหลุดจากสภาพความเป็นคนไร้บ้าน มีบ้าน มีห้องเช่า มีรายได้ และมีการเข้าถึงสวัสดิการที่ดี”

เขาบอกต่อว่า แม้คนไร้บ้านกลุ่มที่ไม่ได้คาดหวังจะมีบ้านอาจจะปฏิเสธการมีบ้านอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ควรที่จะเข้าถึงสวัสดิการบางอย่างที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น อาบน้ำ แปรงฟันทุกวัน และมีเสื้อผ้าใหม่ 

สำหรับเชิงนโยบาย พี่เอ๋และทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนนทุกคนเห็นตรงกันว่า การเข้าถึงสุขภาพและการตรวจรักษาคือเรื่องสำคัญ อีกด้านคือ Emergency Shelter ที่รัฐควรมีเพื่อตอบสนองให้คนไร้บ้านใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น สุดท้ายเขาเล่าภาพฝันที่อยากเห็นมากที่สุดให้ฟัง คือภาพที่ภาครัฐรับโมเดลอย่างจ้างวานข้าไปใช้ เพื่อผลิตพื้นที่การสร้างงานให้กับคนไร้บ้าน คนจนเมือง และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงงานและรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.