HACK VAX แฮ็กกระบวนการฉีดวัคซีน COVID-19 - Urban Creature

ใกล้เวลา “ฉีดวัคซีน” ควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อน 30 นาที

ข้อความแจ้งเตือนในหน้าจอสมาร์ตโฟนโชว์ขึ้นมา เมื่อใกล้ถึงเวลาเรียกตัวไปฉีดวัคซีน ความรู้สึกเดียวที่รู้ว่าตัวเองต้องก้าวเท้าไปโรงพยาบาลคือ กลัว กลัวและก็กลัววววววว ไหนจะเครียดเรื่องวัคซีนฉีดแล้วจะเป็นอะไรไหม ต้องไปที่ไหน ทำอะไรบ้าง หรือต้องใช้เวลานานหรือเปล่า เพราะภาพจำการเข้าคิวรับการรักษาในบ้านเรานั้นแสนอดทน นัดสิบโมงเช้าแต่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ไก่โห่มารับบัตรคิว และหาที่นั่งหลบตามมุมเสาของโรงพยาบาลจนถึงเวลาหมอนัด เรียกว่าใช้เวลาเบ็ดเสร็จไปเกือบทั้งวันเลยทีเดียว

คงจะดีกว่าถ้าเราสามารถทำให้การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องไม่เหนื่อยใจอย่างที่คิด เหมือนโปรเจกต์ Hack Vax การออกแบบขั้นตอนและพื้นที่ฉีดวัคซีน ให้คนใช้บริการรู้สึกรวดเร็ว สบายใจและปลอดภัยตั้งแต่เดินเข้าไปถึง ซึ่งปัจจุบันเคยทำสำเร็จมาแล้วที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดโคราชและล่าสุดสถานีกลางบางซื่อ แถมยังเปิดแชร์โมเดลนี้ให้กับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่สนใจสามารถนำไปใช้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้ริเริ่มโปรเจกต์ Hack Vax นี้นำทีมโดยคุณมารุต ชุ่มขุนทด ที่จะมาแฮ็กเบื้องหลังการดีไซน์ขั้นตอนและพื้นที่ฉีดวัคซีนที่ดีอย่างไร ให้คนหลักหมื่นต่อวันสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดายและสบายใจไม่มีเครียด แถมยังอยากกวักมือเรียกคนรอบข้างให้มาฉีดกันเถอะ มันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด!

| ดีไซน์อย่างใจเขาใจเรา

จุดเริ่มต้นของ Hack Vax มาจากมารุตไปเห็นวิธีการฉีดวัคซีนในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านเฟซบุ๊กรุ่นน้องที่เรียนด้วยกันในมหาวิทยาลัย MIT สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาทำได้รวดเร็วมาก จากคำแถลงการณ์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเคยพูดว่า ผ่านมา 100 วันฉีดไปได้มากถึง 200 ล้านครั้ง ซึ่งใครก็สามารถเดินไปฉีดชิลๆ ประมาณสิบนาทีที่สนามกีฬาหรือห้องประชุมใกล้บ้าน บรรยากาศไม่น่ากลัว แถมหมอก็ไม่ได้เป็นคนฉีดให้เองอีกด้วย แล้วพวกเขาทำกันได้อย่างไร?

ด้วยความสงสัยปนอยากรู้ เพราะคิดว่าวิธีนี้น่าสนใจและนำมาปรับใช้กับบ้านเราได้ เขาจึงลองไปศึกษาจนค้นพบว่า วิธีการต่างๆ ไม่ได้โฟกัสแค่ช่วงตอนฉีดวัคซีนให้เสร็จ แต่มันมีการคิด วางแผนและออกแบบก่อน-หลังฉีดวัคซีนแสนละเอียด ตั้งแต่คนออกจากบ้านไปตามจุดนัดหมาย เดินเข้าไปนั่งตรงไหน ฉีดเสร็จแล้วจะกลับบ้านอย่างไร ออกมาเป็นขั้นตอนที่ง่าย รวดเร็วแถมสร้างความรู้สึกอุ่นใจให้คนมาใช้บริการอีกต่างหาก

“การออกแบบต้องมี Empathy
เข้าใจคนใช้งาน”

มารุตอธิบายต่อว่า กุญแจสำคัญในการออกแบบวิธีฉีดวัคซีนให้คนอุ่นใจคือ การเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นคนถูกฉีดยา เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ คนบริจาคสิ่งของหรือแม้กระทั่งอาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือ ก็ต้องถูกนำมาคิดเป็นตัวแปรในสมการ เช่น การฉีดยาครั้งแรกของทุกคนจะไม่รู้ว่า ต้องทำตัวอย่างไร ไม่ให้พวกเขารู้สึกงง ก็ต้องมีลูกศรหรือป้ายบอกทางเป็นระยะในทางเดิน

หากมีคนมามากขึ้น ช่วงที่เจ้าหน้าที่ฉีดยาจะทำงานหนักมากกว่าเดิม ก็ต้องมีคนช่วยส่งยาให้ เพราะช่วงเตรียมสูบยาเข้าหลอดฉีดยาก็ต้องใช้เวลา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครก็ต้องมีมุมพักผ่อนและให้พลังงานอย่างเต็มที่ ต้องเตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 1,000 กล่อง/วันสำหรับ 600 คน รวมไปถึงคนที่มาบริจาคสามารถส่งสิ่งของสะดวกและพบเห็นจุดบริจาคได้ง่าย พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกลำบากที่อยากจะช่วยเหลือครั้งต่อไป

ดังนั้นการดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ จึงต้องอาศัยความรู้หลายด้าน ทั้งทีมเทคโนโลยี สถาปัตย์ การแพทย์ การออกแบบและการสื่อสารมาแท็กทีมกัน จนออกมาเป็นขั้นตอนและพื้นที่ฉีดวัคซีนที่เกิดประโยชน์ต่อทุกคนมากที่สุด

| โซนที่ 1 เตรียมพร้อมก่อนฉีด

ผลงานออกแบบของแต่ละฝ่ายถูกแบ่งหน้าที่ไปตามแต่ละขั้นตอน เริ่มแรกหากคุณกำลังเดินเข้ามาในพื้นที่ฉีดวัคซีน อย่างแรกคนจะเอ๊ะ! ก่อนว่าต้องไปตรงไหน ซึ่งพวกเส้นทางเดินและแผนผังจะเป็นหน้าที่ของทีมสถาปัตย์เป็นคนออกแบบ 

ขั้นตอนก่อนฉีดยามีหลายส่วน เริ่มจากกรอกประวัติ วัดความดัน ลงทะเบียนและไปคัดกรองก่อนจะฉีดยาจริง เป็นช่วงที่ต้องใช้เวลาและซับซ้อนมาก เราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างง่ายและเป็นระบบ ก็มาถึงพวกเขาจะเห็นโต๊ะกรอกประวัติและวัดความดันหน้าทางเข้าเลย เสร็จแล้วก็เดินตามลูกศรบนพื้นหรือป้ายบอกทางพาไปจุดลงทะเบียน จุดคัดกรองและห้องเตรียมยาก่อนจะไปฉีด

“สังเกตทางเดินจะบิดเป็นเส้นโค้งไปมา เพื่อลดปัญหาคอขวดคนยืนออกัน หากคนทำเสร็จเร็วเกินไปก็จะไปยืนงงๆ กันในแต่ละจุด ก็รู้สึกไม่ดีละ แต่ถ้าสมมติมันช้าเกินไป ต้องเพิ่มจุดลงทะเบียนจากยี่สิบเป็นห้าสิบที่ ก็จะลดความหนาแน่นให้เบาบางลง ส่วนทางเดินของคนพิการจะแตกต่างกัน เป็นทางเดินตรงๆ เลย เพราะต้องการให้เขาเคลื่อนที่ไม่ต้องเยอะก็ถึงจุดบริการต่างๆ รวดเร็ว รวมทั้งปกติเขาจะมีคนดูแลมาด้วย ก็ต้องดีไซน์พื้นที่และเก้าอี้เพิ่มให้เขาอยู่ใกล้ๆ กัน

เขาเสริมต่อ “ตรงช่วงระหว่างไปจุดคัดกรองมันมีรายละเอียดอีกนะ อ่อ! มีคนแพ้ยา เราก็ต้องคุยกับนางพยาบาลว่า จะคำนวณพื้นที่รองรับมากเท่าไหร่ อย่างน้อยหนึ่งเปอร์เซ็นต์ สมมติวันนี้ฉีดหกพันคนก็เท่ากับมีหกสิบคนนะ ที่ต้องเตรียมเก้าอี้แยกให้เขา ให้ยาแก้แพ้และนั่งดูอาการคนละสี่สิบห้านาที รวมทั้งมีเภสัชกรและหมอให้คำแนะนำ ถึงจะไปขั้นตอนต่อไป”

| โซนที่ 2 เตรียมฉีดวัคซีน

ผ่านจุดคัดกรองแล้ว เดินหน้าต่อมาถึงขั้นตอนฉีดวัคซีน ออกแบบโดยคุณหมอ ผู้เป็นพระเอกของโซนนี้ “ปัญหามีอยู่ว่าเราไม่มีหมอเยอะ ทีนี้ใครจะทำแทนได้ไหม เราก็ปรึกษาทีมแพทย์ว่า ใครกันนะที่เหมาะที่สุด นั่นก็คือนางพยาบาลเด็กในแผนกกุมารเวช เพราะเขาต้องฉีดยาหลอดเล็กๆ ให้เด็กเหมือนฉีดให้ของเราเลย แถมยังพอหาคนมาช่วยได้มากกว่า มันก็จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนคุณหมอได้ 

“รวมทั้งการสูบยาเข้าหลอดฉีดยาก็มีดีเทลนะ ถ้าเป็นวัคซีน Sinovac จะใช้หนึ่งขวดต่อหนึ่งครั้ง แต่ถ้าเป็น AstraZeneca หนึ่งขวดสูบได้สิบสองครั้ง ซึ่งคนมาแค่หนึ่งคิวก็ต้องเปิดขวดยาใช้แล้วหนึ่งครั้ง แต่ในขวดยายังมีเหลือใช้อีกสิบเอ็ดครั้ง ก็ต้องมีทีมอาสาสมัครคอยช่วยสูบยาเข้าหลอดฉีดยาให้หมด จะได้ไม่เสียของและยาไม่เสื่อมคุณภาพ 

“รวมทั้งคอยส่งเข็มฉีดยาให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ตอนที่กำลังฉีดให้คนจำนวนมาก เขาจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาสูบยาเข้าหลอดฉีดยาเอง ในขณะเดียวกันคนโดนฉีดเองก็ไม่ต้องรอนาน ทั้งหมดนี้นับตั้งแต่เดินเข้ามากรอกประวัติจนฉีดยาเสร็จใช้เวลาประมาณสิบนาทีเท่านั้น”

| โซนที่ 3 เตรียมกลับบ้านอย่างอุ่นใจ

เมื่อเสร็จขั้นตอนการฉีดยาไปได้ด้วยดี คุณก็มีสิทธิ์ได้ไปต่อที่ ห้องสังเกตอาการ พื้นที่สำหรับนั่งเช็กอาการหลังฉีดยาว่ามีผลข้างเคียงหรือไม่ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หากเกิดอาการแปลกๆ ล่ะก็ ไม่ต้องตกใจไป เพราะจะมีทีมงานพาไปห้องปฐมพยาบาล ที่ออกแบบให้อยู่ด้านหลังตรงกลางของพื้นที่ เพื่อให้ทุกโซนสามารถเดินเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งใกล้กับประตูทางออก เตรียมพร้อมสำหรับมีเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถเคลื่อนย้ายคนส่งโรงพยาบาลทันท่วงที 

แต่ถ้าคุณนั่งครบเวลาแล้วไม่แสดงอาการอะไร ขอให้เดินตามลูกศรไปรับใบนัดฉีดยาครั้งต่อไป พร้อมกับได้รับการ์ดขอบคุณ ‘ฉีดแล้วนะ’ เป็นการย้ำเตือนว่า คุณทำภารกิจสำเร็จแล้ว เชื่อว่าอารมณ์กลัวช่วงแรกๆ ที่เข้ามาตอนต้นคงจะเริ่มหายไปอย่างปลิดทิ้ง และสบายใจที่จะฉีดครั้งต่อไปแน่นอน

“ยิ่งฉีดวัคซีนมาก ยิ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาก”

ระหว่างพูดคุยเรื่องการ์ดขอบคุณ เราสังเกตเห็นความใส่ใจของแผ่นกระดาษเล็กๆ ที่มีตัวการ์ตูนเป็นขวดวัคซีนสุดน่ารัก ตกแต่งด้วยโทนสีเขียวแสนสบายตา จนต้องเอ่ยปากชมว่า สวยจังเลยค่ะ มารุตเฉลยให้ฟังว่า เป็นทีมออกแบบทำทั้งหมด ไม่ใช่แค่ทำให้คนรู้สึกมีความสุขที่ได้รับ แต่ยังส่งต่อรอยยิ้มให้กับร้านค้าต่างๆ รอบข้างอีกด้วย

“เราสามารถออกแบบขั้นตอนหลังฉีดให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรอบข้างมากขึ้น เช่น คนที่ได้รับการ์ดสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดที่ร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟหรือร้านชานมไข่มุก พวกเขาก็จะมีลูกค้าเข้าร้าน หรือเข็มกลัดฉีดแล้วนะ ก็เป็นตัวแทนของความเชื่อมั่นได้ เช่น ร้านกาแฟหนึ่งมีพนักงานไปฉีดวัคซีนครบทุกคนและติดเข็มกลัดนี้เอาไว้ เมื่อลูกค้าเข้ามาก็จะรู้สึกอุ่นใจมากกว่าร้านที่พนักงานไม่ได้ติด เพราะไม่รู้ว่าฉีดวัคซีนมาหรือยัง ซึ่งเคยทำมาแล้วที่โคราช เห็นได้ชัดว่า ยอดขายในร้านค้าที่เข้าร่วมโปรเจกต์ระหว่างฉีดวัคซีน มันเติบโตต่างกันมากเลย”

| การสื่อสารด้วยพลังกราฟิก

ผลงานของทีมออกแบบ ไม่ได้ทำแค่การ์ดเพียงอย่างเดียว แต่คิดตั้งแต่สัญลักษณ์ต่างๆ ของแต่ละขั้นตอนฉีดยา ป้ายบอกทาง สติกเกอร์ติดพื้น รวมไปถึงป้ายห้อยคอของทีมงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เปรียบเสมือนไกด์นำทางให้คนเดินทางไปจุดต่างๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องป่าวประกาศเสียงดังให้วุ่นวาย

“พอคนมาอยู่ด้วยกันเยอะๆ การควบคุมด้วยป้ายมันคือหัวใจ ที่ทำให้คนเดินไปในพื้นที่ไม่เด๋อๆ ด๋าๆ ไม่ต้องถามคนรอบข้างไปเรื่อยๆ ว่าทำอย่างไรต่อ ตรงนี้คืออะไร หรือไม่เจอคนมาตะโกนสั่ง เพราะแต่ก่อนภาพจำงานช่วยเหลือต่างๆ ส่วนใหญ่จะเอิกเกริกและส่งเสียงดัง พอมีป้ายบอกทางต่างๆ มันก็ช่วยสื่อสารแทนคนไปทีละสเต็ปจนจบ เหมือนเวลาไปสนามบิน เรารู้ว่าต้องไปช่องทางตรงไหน แค่สังเกตป้าย สี และไอคอน เพื่อให้คนรับรู้และสังเกตได้เท่านั้นเอง คนที่เข้ามาใช้บริการก็จะรู้สึกว่าสามารถทำด้วยตัวเองไม่ต้องเป็นภาระใคร”

I แผนต่อไปของ Hack Vax

หลังจากฟังเบื้องหลังการออกแบบ Hack Vax จนหมดเปลือก ปัจจุบันโปรเจกต์ถูกต่อยอดมาทำที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานทุกที่สามารถนำไปใช้งาน รวมทั้งมีแผนต่อไปจะนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกมากกว่าเคย

“เรามีเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผล ว่าแต่ละโซนมีคนใช้งานมากน้อยแค่ไหน มันก็จะส่งสัญญาณว่า โซนนี้ต้องทำงานเร็วขึ้นแล้วนะ เพราะคนมากันเยอะแล้ว ต้องเตรียมยามากขึ้นหรือเปล่า หรือโซนนี้ที่นั่งว่างอยู่ ส่งคนที่เข้ามาใหม่ไปแทนได้ไหม รวมไปจนถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ว่า วันนี้มีการฉีดวัคซีนเสร็จแล้วในพื้นที่ไหนบ้าง หรือมีคลัสเตอร์เกิดขึ้นกี่จุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือให้คุณหมอนำไปใช้ทำงานต่อได้สะดวกสบาย เบาแรงคนไปได้มาก และทำงานได้อย่างแม่นยำ

“อีกอย่างหนึ่งที่ต่อยอดจาก Hack Vax เรากำลังเริ่มคิดพื้นที่การขยายฉีดวัคซีนอย่าง Drive Thru ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอเมริกา แต่ต้องปรับให้เข้ากับคนไทยอีกสักหน่อย เนื่องจากขับรถกันคนละฝั่งทำให้ฉีดยาไม่สะดวก ซึ่งบ้านเราอาจจะเหมาะกับ Ride Thru ก็ได้นะ เพราะคนไทยขี่มอเตอร์ไซค์มาก แถมยังฉีดได้ทั้งสองแขน กับอีกโปรเจกต์ Home Isolation การกักตัวอยู่ที่บ้านในเวลาเราป่วย ถ้าไม่มีเตียงจะทำอย่างไร เราก็ต้องคิดและออกแบบการพักอาศัยให้คนมีความสุขต้องทำอย่างไร ทั้งหมดนี้กำลังคิดและวางแผนครับ”

จากการพูดคุยจนใกล้จบบทสนทนา ขอสารภาพตามตรง ในขณะสัมภาษณ์ เรารู้สึกอึ้งถึงเบื้องหลังของการออกแบบทุกดีเทล ทุกอย่างผ่านการคิดแล้วคิดอีก จากการช่วยกันคิดและลงมือทำของทุกฝ่าย จนออกมาเป็นวิธีการและพื้นที่ฉีดวัคซีนสุดเรียบง่าย แต่ตอบโจทย์การใช้งานกับกลุ่มคนหลากหลายได้อย่างลงตัว 

ก่อนทิ้งท้ายมารุตกล่าวถึงสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยที่ทำให้โปรเจกต์วิ่งต่อไปได้ไม่มีสะดุด คือ การมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้สกิลที่ตัวเองถนัดมาช่วยเหลือกัน เช่น เจ้าของโรงพิมพ์อยากช่วยเหลือ ก็สามารถพิมพ์ป้ายบอกทางได้เจ๋งที่สุด หรือการบริจาคอาหาร หากใครทำกับข้าวอร่อยแต่ขาดกล่องข้าว ก็สามารถคุยกันกับร้านขายกล่องข้าว ที่ก่อนหน้านี้เคยทิ้งนามบัตรไว้กับทางทีมงาน ทำให้ร้านค้าได้ขายของต่ออีกทางหนึ่ง หากมองดีๆ มันไม่ใช่แค่การช่วยเหลือคนที่มาฉีดวัคซีน แต่ช่วยสนับสนุนทุกคนตลอดกระบวนการ

“ผลลัพธ์ที่ได้ คือทีมเวิร์ก เราจะทำได้นานขึ้น 
เหมือนกับการแข่งมาราธอนที่วิ่งได้ไกล 
ถ้าเรารู้จักพลังของตัวเองและการจัดการที่ดี”


หากใครสนใจอยากเป็นอาสาสมัคร หรือต้องการช่วยเหลืออาหารและสิ่งของ รวมไปถึงโรงพยาบาลและหน่วยงานไหนอยากนำโมเดลนี้ไปใช้ประโยชน์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : Hack Vax

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.