การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย แม้ว่าจะเปิดดูตาม Google Maps แล้วก็ตาม แต่ถ้ามีป้ายบอกทางสักหน่อยก็คงจะทำให้ผู้ขับขี่หรือผู้ไม่คุ้นชินเส้นทางสบายใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ในบรรดาป้ายที่เราเห็นกันมักจะเป็น ‘ป้ายบอกทาง’ (Guide Sign) ที่มีลักษณะเป็นป้ายสีเขียวตัวหนังสือสีขาว หรือป้ายสีขาวตัวหนังสือสีดำ เหมือนกับป้ายบอกทางบนถนนหลวงทั่วไป
แต่บางป้ายก็ติดตั้งกีดขวางทางเดิน ทำให้ไม่เหลือพื้นที่บนทางเท้าราวกับไม่ได้รับอนุญาต หรือบางครั้งก็ดูแตกต่างจากป้ายอื่นๆ ทั่วไป จนทำให้เกิดคำถามว่า แล้วป้ายทั้งหมดที่เราเห็นตามทางเหล่านี้ถูกกฎหมายหรือไม่
คอลัมน์ Curiocity อาสาพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับป้ายบอกทางไปยังสถานที่ต่างๆ ว่า ป้ายแบบไหนที่ผิดกฎหมายบ้าง และถ้าต้องติดตั้งป้ายแบบไหนถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย
ป้ายแบบไหนที่ไม่สามารถติดตั้งบนพื้นที่สาธารณะได้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร มีป้ายทั้งหมด 7 ประเภทที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้ง คือ ป้ายเกาะกลางถนน ป้ายบนสะพานลอย ป้ายหน้าปากซอย ป้ายที่อยู่ในเขตทาง ป้ายอวยพรในเทศกาลต่างๆ ป้ายติดตามผนังกำแพงบ้านเรือนประชาชน และป้ายลอกเลียนแบบ กทม.
อ่านๆ ดูป้ายประเภทอื่นๆ ก็พอเข้าใจได้ แต่ป้ายลอกเลียนแบบ กทม. คืออะไร ทุกคนสงสัยไหม
ป้ายประเภทนี้เรามักพบเห็นได้ทั่วไป จนแทบแยกไม่ออกว่าอันไหนคือป้ายที่ถูกกฎหมาย หรืออันไหนคือป้ายเลียนแบบเพื่อเลี่ยงภาษีป้าย
โดยปกติแล้วหากมีผู้พบเห็นและแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ ทาง กทม.ก็จะรื้อถอนหากไม่มีเจ้าของป้ายมาแสดงตน แต่ถ้าในกรณีที่ป้ายติดตั้งในพื้นที่เอกชน เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหาเจ้าของว่าได้เสียภาษีป้ายอย่างถูกต้องตาม ‘พ.ร.บ.ภาษีป้าย’ และ ‘พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง’ หรือไม่
หากไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปรับเรียกภาษีย้อนหลัง หรือหากเป็นป้ายผิดกฎหมายจะรื้อถอนออกทันที
แล้วป้ายแบบไหนไม่ผิดกฎหมาย
กรมทางหลวงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ติดตั้งป้ายแนะนำสถานที่ราชการและเอกชน เมื่อผู้ประกอบการต้องการติดตั้งป้ายบอกทางไปยังสถานที่ของตนเอง จะต้องเข้าไปยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา 47 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ไว้ว่า สถานที่นั้นต้องเป็นสถานที่ราชการและสถานที่เอกชน เช่น สนามกีฬา ศูนย์การค้า แหล่งท่องเที่ยว สถานศึกษา โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม ศาสนสถาน นิคมอุตสาหกรรม มูลนิธิและองค์กรการกุศล และสำนักงานพรรคการเมือง ที่มีประชาชนเดินทางมาติดต่อจำนวนมาก แต่ไม่ได้เดินทางมาเป็นประจำ ซึ่งอาจจะทำให้หลงทางหรือเข้าออกบริเวณนั้นไม่สะดวก
ป้ายที่ถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.ทางหลวง ต้องมีลักษณะเป็นป้ายบอกจุดหมายปลายทาง ที่ติดตั้งบนทางหลวงในระยะ 25 ถึง 150 เมตรก่อนถึงทางแยกสาธารณะหรือทางเชื่อมไปสู่สถานที่ดังกล่าว และเป็นป้ายชี้ทาง บอกระยะทางจากทางแยกถึงสถานที่ดังกล่าวเป็นกิโลเมตรหรือเมตร โดยมีลักษณะดังนี้
ป้ายบอกจุดหมายปลายทางที่เป็นสถานที่ราชการและสถานที่เอกชน
- ป้ายติดตั้งบริเวณข้างทางต้องเป็นป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีดำ
- ป้ายแขวนสูงแบบยื่นต้องเป็นป้ายพื้นสีเขียว ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีขาว
ป้ายชี้ทาง
- ป้ายชี้ทางสถานที่ราชการต้องเป็นป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีดำ
- ป้ายชี้ทางสถานที่เอกชนต้องเป็นป้ายพื้นสีน้ำตาล ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีขาว
ทำอะไรได้บ้างเมื่อพบป้ายผิดกฎหมาย
ในกรณีที่จับสังเกตได้ว่าป้ายที่พบนั้นผิดกฎหมาย ใช่ว่าผู้พบเห็นจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะป้ายที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ หากไม่เป็นไปตามกฎและเงื่อนไขที่กำหนดถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท รวมถึงทำผิด พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน โดยประชาชนผู้พบเห็นป้ายโฆษณาที่มีลักษณะผิดกฎหมายบนทางหลวง โทรแจ้งได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586
หรือหากเจ้าหน้าที่สำนักงานเทศกิจเป็นผู้พบเห็น ก็จะประเมินว่าถูกกฎหมายตามที่กรมทางหลวงพิจารณากำหนดประเภทและมาตรฐานของป้ายหรือไม่ รวมทั้งตำแหน่งติดตั้งป้ายที่เหมาะสม หากฝ่าฝืนมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างอาคารหรือสิ่งใดในเขตทางหลวง หรือรุกล้ำเข้าไปในเขตทางหลวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง เจ้าหน้าที่สามารถทำการรื้อถอนและปรับทันทีตามมาตรา 37 วรรคสาม เพื่อเรียกคืนภาษีคืนสู่การคลังของ กทม. อย่างถูกต้อง
Sources :
MGR Online | t.ly/SUZxn
Thai PBS | t.ly/KtOju
กรมทางหลวง | t.ly/FHA02
อบต. ซับสมบูรณ์ | t.ly/8mfE5
อบต. หัวสำโรง | t.ly/pMjoZ