ในวันที่คำว่า ‘Green’ ไม่ได้แปลว่าสีเขียวอย่างเดียว แต่ยังมีนัยยะซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและโลกอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะท่องเที่ยว จับจ่ายสิ่งของ กิจกรรมยามว่าง ไปจนถึงเรื่องสุดสำคัญกับชีวิตอย่าง ‘อาหาร’
ชวนทุกคนขยับเข้ามาใกล้ชิดชีวิตรักษ์โลก และรักตัวเองด้วยวิถีการกินอย่างยั่งยืนกับ ‘ธนบูรณ์ สมบูรณ์’ ผู้ก่อตั้ง Greenery คอมมูนิตี้ที่อยากเห็นสังคมตระหนักถึงความสำคัญของอาหารปลอดภัย และการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อสุขภาพตัวเองและสุขภาพโลก ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยการพูดคุยครั้งนี้ พี่เอชจะพาทุกคนออกเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตสายกรีน และการกินที่มีคุณภาพและยั่งยืนตามแนวคิด Sustainable Lifestyle ซึ่งเชื่อว่าการออกเดินทางครั้งนี้จะมีเพื่อนร่วมเดินมากขึ้น พร้อมกับความสุขที่มากขึ้นเช่นกันอย่างแน่นอน
| ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว จุดเริ่มต้นของวิถีกรีน
พี่เอซ : เราเคยมองว่า วัตถุดิบที่มาจากการทำเกษตรอินทรีย์ทำไมราคาแอบสูง ตอนนั้นเรายังไม่ได้เริ่มกินของพวกนี้นะ แต่เมื่อหลายปีก่อน มีโอกาสได้เข้าร่วมวงสนทนากับเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ จึงถามคำถามที่เคยสงสัย ซึ่งมีคนตอบมาว่า
“ถ้าจะให้ราคาวัตถุดิบอินทรีย์ลดลงมา ต้องมีผู้บริโภคมากขึ้น เพราะการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์มีต้นทุนค่อนข้างสูง เกษตรกรไม่อัดปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลงทำให้ได้ผลผลิตไม่เยอะเท่ากับผักปกติทั่วไป”
เราฟังแล้วคิดตามว่า ถ้าเราทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ผู้บริโภคหันมาบริโภควัตถุดิบอินทรีย์มากขึ้นคงเป็นเรื่องที่ดี เลยมีโจทย์ที่อยากสร้างคอมมูนิตี้ให้คนเริ่มรู้จักเกษตรวิถีอินทรีย์มากขึ้น
| กินดี กรีนดี อยู่ดี ความสัมพันธ์ที่แท้จริงของชีวิต
พี่เอซ : หลังจากมีแพลนอยากสร้างคอมมูนิตี้ เราจึงเริ่มโดยหันมาเรียนรู้อาหารออร์แกนิก และอินทรีย์ครับ จนระยะเวลาผ่านไป 3 ปี ก็ลงมือทำโปรเจกต์ที่วาดไว้อย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของ Greenery ด้วยคอนเซปต์ ‘กินดี กรีนดี’ หรือ ‘Eat good Live green’ เพื่อชวนให้คนหันมาสนใจการกิน และการใช้ชีวิตมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ เพราะการบริโภคอาหารที่มาจากเกษตรอินทรีย์ คือการทำให้เกษตรกรมีรายได้ และเราได้กินของคุณภาพ นอกจากนี้สารเคมีก็ถูกใช้น้อยลงไปด้วย ดิน น้ำ อากาศ ก็ไม่ถูกทำลาย รวมถึงเกษตรกรเองก็ไม่ต้องป่วยจากสารเคมีอีกต่อไป
‘กินดี’ คืออาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม หรือกินอาหารออร์แกนิก และอินทรีย์มากขึ้น ส่วน ‘กรีนดี’ คือการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
| จุดสีเขียวจุดแรก กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่มีที่สิ้นสุด
พี่เอซ : เมื่อเราเริ่ม Greenery เพราะอยากสื่อสารให้คนกลุ่มใหม่ได้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เลยมองไปไกลกว่านั้น เราอยากขยายคอมมูนิตี้ให้กว้างขึ้น ไปถึงจุดที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนขายมีพื้นที่ที่คนซื้อเข้าถึงสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราตกผลึกได้ว่า ต้องนำของดีๆ พวกนี้มาอยู่ใจกลางเมือง ให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไปพร้อมกับการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจผ่านเว็บไซต์และเพจ นั่นหมายถึงการทำงานแบบออนไลน์ควบคู่ไปกับออฟไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีแหล่งซื้อที่ราคาไม่แพง และมีความเข้าใจ จะได้เริ่มกินดีกันตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตามครับ
| Greenery Challenge ชุมชนของคนสายเขียว
พี่เอซ : เรื่องสนุกในโลกออนไลน์อย่างหนึ่งที่เราทำ คือกลุ่ม ‘Greenery Challenge’ เป็นกลุ่มในเฟซบุ้กที่ชวนคนมาชาเลนจ์การใช้ชีวิตที่ใส่ใจตัวเองและโลกใบนี้ เริ่มจากชวนพกถุง หลอด แก้ว ช้อนส้อม ตะเกียบ หรือของใช้รอบตัว พร้อมกับแจกรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ทุกเดือน แล้วเราก็ค้นพบว่า มันสนุกดีนะ บางทีเข้าไปอ่านในกลุ่มเราเองยังนั่งยิ้มเหมือนกัน (หัวเราะ) เลยเริ่มคิดโจทย์ชาเลนจ์ให้มากขึ้น
โดยในกลุ่มจะมีตั้งแต่คนที่พกถุง พกขวดเป็นปกติอยู่แล้ว กับกลุ่มหน้าใหม่ที่เมื่อก่อนเป็นสายซุ่มก็เริ่มออกมาชาเลนจ์บ้าง เริ่มมาโชว์เทคนิคต่างๆ กลายเป็นรุ่นใหญ่กับรุ่นใหม่คอยแนะนำกัน ซึ่งเป็นสังคมที่น่ารักมากๆ ครับ รู้ไหมว่าตอนเปิดกลุ่มเดือนแรกมีคนเข้าประมาณพันคนเอง แต่พอครบปีก็เป็นหมื่นคนเลย เราก็ดีใจนะครับที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ได้
| ตลาดอินทรีย์เชื่อมเกษตกรและผู้บริโภค
พี่เอซ : นอกจากกลุ่ม Greenery Challenge เราก็ยังพัฒนา ‘Greenery Market’ คือตลาดที่เปิดให้เกษตกรมาขายของโดยตรง หมดปัญหาเรื่องการตัดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภคก็ได้รับของสดใหม่ นอกจากนี้การจัดตลาด Greenery Market ยังทำให้เราเห็นเสน่ห์ของการพูดคุยอย่างสนุกสนานระหว่างเกษตกรและผู้บริโภค อย่างพ่อค้าแม่ค้าทุกคนพร้อมคุยมากๆ เลยครับ (หัวเราะ) เราจะสัมผัสได้ถึงความสุขในการออกไปซื้อของมากกว่าทุกครั้งที่เคยไป ทั้งยังมีกิจกรรม พื้นที่นั่งทานอาหาร ไปจนถึงดนตรีสด ควบคู่ไปกับการขายวัตถุดิบและอาหาร กลายเป็นคอมมูนิตี้สีเขียวที่สมบูรณ์
สำหรับการเข้าร่วมขายของในตลาด ตอนนี้เรากำลังพัฒนา PGS หรือ มาตรฐานแบบมีส่วนร่วม ครับ ซึ่งจะจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานการทำเกษตร มีทั้งกรรมการจากทางตลาด เกษตรกร ไปจนถึงผู้บริโภคมาตั้งกฎกติกา 5-10 ข้อ เพื่อใช้คัดเลือกคนที่จะเข้ามาขายของในตลาด เช่น ต้องเป็นเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตต้องมาจากสวนของตัวเองเท่านั้น แพจเกจจิ้งเป็นอย่างไร หน้าร้านดึงดูดคนหรือเปล่า พร้อมตรวจแปลงลงพื้นที่จริงด้วย ถ้าตรวจเจอแม้แต่ถุงปุ๋ยเคมีถุงเดียวก็ไม่ได้นะครับ ที่สำคัญมีการประเมินและควบคุมราคาด้วยครับ
“เราไม่อยากให้ราคาของในตลาดแพงเกินไปต้องเหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้และผู้บริโภคเองก็มีกำลังพอที่จะซื้อด้วย”
| ทำไมต้องเริ่ม (กรีน) แล้ว ?
พี่เอซ : เราว่ามันถึงเวลาต้องเริ่มแล้วจริงๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นอยู่ โลกร้อนขึ้นทุกวัน ไฟป่า น้ำท่วม สัตว์ล้มตาย อากาศแย่ๆ ที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใช้ถุงพลาสติกอย่างเดียวนะครับ แต่ยังรวมไปถึงทุกอย่างในชีวิตของเรา การกินอาหาร การทำเกษตร ทุกอย่างส่งผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็จะมีคนบอกว่า แค่พกกล่องข้าว ใช้ถุงผ้า พกหลอด หรือแม้แต่แยกขยะจะช่วยได้สักเท่าไหร่เชียว เราก็จะบอกพวกเขาเสมอว่า
“ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำแล้วใครจะช่วยเราล่ะถ้าเรายังไม่อยากจะช่วยตัวเองเลย”
ตัวเราเองเริ่มพกขวดน้ำจากการปั่นจักรยาน แล้วเริ่มจริงจังขึ้นตอนทำ Greenery Challenge เราคำนวณว่า ถ้าพกแก้วไปซื้อเครื่องดื่ม อย่างน้อยก็ช่วยลดขยะได้ตั้ง 3 ชิ้น คือแก้ว ฝา หลอด แถมบางร้านยังลดราคาน้ำให้ด้วย อย่างตอนที่เราไปไต้หวัน กินชาไข่มุก 5 ร้าน ไม่ได้ใช้แก้วของร้านชาไข่มุกสักใบ ซึ่งพอลองทำแล้วมันเปลี่ยนตัวเรามากนะครับ
แต่ต้องบอกก่อนว่า เราและชาว Greenery ไม่ใช่สายสุดโต่ง อย่างมีแฮชแท็ก #GreenerySin เป็นพื้นที่ให้สารภาพกันว่าเผลอรับถุงพลาสติกมา หรือวันนี้สร้างขยะหลายชิ้น เพราะส่วนตัวเราคิดว่า ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัด 100% ขนาดนั้นหรอก แต่ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า เราไม่ได้เป็นศัตรูกับพลาสติก แต่ควรรู้จักการ Reuse หรือนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าได้ถุงพลาสติกมา เราต้องจัดการให้ได้ เช่น บางบ้านจะเก็บไว้ทำถุงขยะ หรือถ้าทำได้ก็พกถุงผ้าไว้ใช้
“สิ่งที่ต้องทำจริงๆคือลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพราะพลาสติกมีประโยชน์นะครับ ถ้าเรารู้จักใช้งานให้คุ้มค่าและนานที่สุด”
| สุดท้ายแล้ว Zero Waste เป็นไปได้จริงไหม ?
พี่เอซ : เรามองว่าเป็นไปได้ครับ แต่มันไม่ง่ายเลย อันดับแรกเลยทุกคนควรเข้าใจหลัก 3R คือ Reduce (ลด) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับไปใช้ใหม่) ให้รอดก่อน ทำอย่างไรให้ขยะเหลือน้อยที่สุด หรือเราจะใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้สูงสุดอย่างไร ซึ่งในปัจจุบัน เชื่อไหมว่ามีสัญญาณที่ดีที่นะ เพราะวัยรุ่นอายุ 20 ต้นๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันแล้ว หรือคุณแม่วัย 30 เขาก็รู้สึกภูมิใจที่วันนี้ลูกหิ้วถุงผ้า ไปจนถึงเกิดเทรนด์ดีๆ เช่น หิ้วปิ่นโตเท่จะตาย โครตคูลเลย !
แม้จะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นจากการที่หลายคนหันมาให้ความสำคัญ แต่เราก็คิดว่าอาจจะช้าไปหน่อยกับสถานการณ์โลกตอนนี้ คือมันช้าไปแล้วจริงๆ นั่นแหละ แต่ก็ยังดีที่เราไม่ทำให้โลกแย่ลงไปกว่าเดิมว่าไหมครับ ?
“การเปลี่ยนโลกง่ายนะถ้าทุกคนเริ่มทำไปด้วยกัน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงมือทำ เพราะมันไม่มีโลกใบที่สองสำหรับเราแน่นอน”
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครอยากเริ่มต้นใช้ชีวิตด้วยวิถีกินดี กรีนดี (Eat good Live green) ก็สามารถร่วมเดินไปกับพี่เอซ – ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ได้ที่ https://www.greenery.org/