‘พิษจาก COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพจิตของพวกเราทุกคนเพียงเท่านั้น’
แต่ยังส่งผลกระทบต่อโลกไม่น้อยเลยทีเดียว New Normal ทำให้ผู้คนหันมาอยู่บ้านมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากความหวาดระแวงไม่อยากพบเจอผู้คน จึงทำให้ไม่อยากออกจากบ้านไปไหน เพื่อลดอัตราความเสี่ยงต่อโรค COVID-19 อีกทั้งความนิยมที่พุ่งสูงของบริการ Food Delivery ที่แม้จะทำให้เราสะดวกสบาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยปริมาณขยะพลาสติกที่สูงขึ้นเช่นกัน
ท่ามกลางความสะดวกสบายกลับส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดเมื่อขยะพลาสติกจำนวนมากจากระบบ Food Delivery และ Online Shopping ส่งผลให้ขยะพลาสติกในกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 ในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นปัญหาพลาสติกในท้ายที่สุด
ปัญหาของขยะพลาสติก
ในหนึ่งวันคนกรุงเทพฯ สร้างขยะจำนวนมากถึง 10,500 ตัน คิดเป็นขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 20 หรือ 2,000 ตันต่อวัน แต่หลังจากการเข้ามาของ COVID-19 ทำให้ปริมาณขยะโดยรวมลดลงคิดเป็นร้อยละ 11 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับน่ากลัวกว่าที่คิดเพราะถึงแม้ขยะโดยรวมจะลดลง แต่ปริมาณขยะพลาสติกกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นกังวล โดยมีจำนวนขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 ในกรุงเทพมหานคร
กลายเป็นปัญหาในเรื่องการจัดการขยะ นั่นเป็นเพราะถ้าเทียบกับขยะชนิดอื่นๆ แล้ว ขยะพลาสติกนั้นกำจัดยากกว่าขยะชนิดอื่น เนื่องจากพลาสติกถูกออกแบบมาให้มีความคงทนในการใช้งาน ซึ่งตัวมันเองตอบโจทย์การทำงานอย่างสูง แต่อาจจะดีเกินไปสักหน่อย จนไม่ตอบโจทย์การจัดการสักเท่าไหร่ กลายเป็นข้อเสียที่ใหญ่หลวงเพียงข้อเดียวคือ ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายที่ยาวนานถึง 500 ปี
นำไปสู่การจัดการขยะที่ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างการฝังกลบและเผาทำลาย ทว่าการแก้ไขปัญหาขยะดังกล่าว ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศอย่างมากเพราะการฝังกลบต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ในการทำเป็นถังขยะขนาดใหญ่ใต้ดิน นอกจากนั้นยังทำให้เกิดสารตกค้างในดินในที่สุด และอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการขยะพลาสติกคือการเผาทำลายซึ่งส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศ ผ่านไอควันจากการเผาพลาสติก ที่ส่งผลต่อระบบหายใจและก๊าซเรือนกระจกนำไปสู่การปนเปื้อนแหล่งน้ำและดินที่ประชาชนจะได้รับในที่สุด
จากฝังกลบเผาทำลายสู่ Reuse และ Recycle
การฝังกลบและเผาทำลายจึงไม่ใช่หลักการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เลยเกิดการคิดค้นหานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่วิธีการที่หลายคนคงคุ้นเคยที่มีชื่อเรียกว่า Reuse หลักการง่ายๆ คือการนำเอาของที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง เช่น การนำเอาถุงพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใส่สิ่งของใหม่ หรือการนำเอาขวดพลาสติก กลับมาใช้อีกครั้งนึง
หรือจะเป็นการจัดการขยะด้วยวิธีการอย่าง Recycle ซึ่งเป็นรูปแบบวิธีในการนำเอาวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะ เช่น อาจจะแตกหัก ฉีกขาด ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบเพื่อนำกลับมาผลิตใหม่ โดยเราจะเห็นได้จากการนำเอากระดาษที่ใช้แล้วมา Recycle หรือการนำเอาขวดพลาสติกใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการย่อยให้กลายเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อผลิตเป็นขวดพลาสติกอีกครั้งหนึ่ง
สวีเดนประเทศต้นแบบในการ Recycle อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการ Recycle เป็นหลักการที่หลายประเทศนำเอาไปต่อยอดเพื่อจัดการปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเมือง Eskilstuna เมืองเล็กๆ ในประเทศสวีเดน ที่สามารถรีไซเคิลขยะในครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมืองดังกล่าวมีจำนวนขยะที่ต้องนำไปฝังกลบใกล้เคียงกับศูนย์ ผ่านความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐกับคนในเมืองที่ปฏิบัติตามนโยบายการคัดแยกขยะอย่างเคร่งครัด
เทคนิคที่เมือง Eskilstuna ใช้เพียงความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างถุงขยะ 7 สีที่แบ่งขยะออกเป็นหมวดหมู่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน และง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล โดยในแต่ละสีแบ่งขยะได้ดังนี้
ถุงสีขาว : สำหรับใส่ขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อาทิ ผ้าเปียก เศษชนม
ถุงสีเขียว : สำหรับใส่ขยะประเภทเศษอาหาร
ถุงสีแดง : สำหรับใส่ขยะอันตรายเช่น ถ่าน ไฟแช็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ถุงสีน้ำตาล : สำหรับใส่ขยะจำพวกโลหะต่างๆ
ถุงสีเหลือง : สำหรับขยะจำพวกสิ่งทอ
ถุงสีฟ้า : สำหรับใส่ขยะจำพวกหนังสือ กระดาษ โปสเตอร์ เอกสาร หรือหนังสือพิมพ์
ถุงสีส้ม : สำหรับใส่ขยะประเภทพลาสติก
รหัสสีต่างๆ จะทำให้ง่ายต่อการแยกเมื่อถึงโรงงานรีไซเคิล เช่น เศษอาหารจะถูกนำเข้าไปทำก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นพลังงานของรถประจำทางภายในเมือง ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกส่งเข้าเตาเผาเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในเมือง ส่วนขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ก็จะถูกนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อไป
‘Upcycle’ ทางออกใหม่ของการแก้ปัญหาขยะควบคู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืน
แม้จะเป็นทางเลือกที่ดีแต่กระบวนการ Recycle เองก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้เกิดช่องโหว่ในการจัดการขยะ นั่นก็คือกระบวนการ Recycle เพราะไม่สามารถรีไซเคิลขยะชนิดเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกได้เรื่อยๆ เหตุเพราะการ Recycle 1 ครั้งส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของวัสดุ เช่น กระบวนการรีไซเคิลทำให้พลาสติกมีกระบวนการหลอมละลายและบีบอัดพลาสติกให้กลายเป็นเม็ดขนาดเล็ก ทำให้ตัววัสดุเสื่อมคุณภาพจากความร้อนซึ่งทำให้คุณภาพการใช้พลาสติกลดลง จึงไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ เหมือนที่เราวาดฝันไว้ นำไปสู่การคิดค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีและยั่งยืนกว่าเดิม จนเกิดเป็นการจัดการขยะที่มีชื่อว่า ‘Upcycle’ กระบวนการใหม่ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง
‘ข้อแตกต่างระหว่าง Recycle กับ Upcycle ให้จำง่ายๆ ว่า Recycle มาจากคำว่า Re หรือการนำกลับมาเข้าสู่วงจร (Cycle) แต่ Upcycle มาจากคำว่า Up หรือคือการเพิ่มมูลค่าให้กับวงจร (Cycle)’
หลักการของ Upcycle จึงเป็นการเน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยนำเอาวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ที่ถูกใช้งานแล้ว สร้างเป็นสิ่งใหม่ สร้างมูลค่า ผ่านการใส่ไอเดียลงไปในสินค้า เช่นการนำเอาเศษพลาสติกใช้แล้วมา Upcycle ใหม่ให้กลายเป็นถนนให้คนในสังคมได้ใช้ หรือการนำเอาเศษพลาสติกมา Upcycle ใหม่ให้กลายเป็น โต๊ะเก้าอี้แจกจ่ายให้โรงเรียน หรือจะเป็นการ Upcycle อะไรใกล้ตัวอย่างหน้ากากอนามัยที่ทำจากกล่องนม หรือการ Upcycle ถุงขนมให้กลายเป็นกระเป๋า เป็นต้น กระบวนการ Upcycle จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมผนวกกับการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือสังคมผ่านความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว
‘Upcycle’ ผ้าห่ม ThaiBev จากพลาสติกสู่ความอบอุ่นในคืนที่เหน็บหนาว
ในประเทศไทยมีหลายองค์กรที่นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า Upcycle ซึ่งมีกรณีศึกษาที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน คือกรณีผ้าห่มที่ผลิตมาจากขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลหรือ Recycled PET (rPET) 100% เพื่อผลิตเป็น “ผ้าห่มรักษ์โลก” ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หลายๆ คนคงคุ้นตากับผ้าห่มผืนเขียว ที่ทางบริษัทฯ แจกจ่ายไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหนาวในทุกปี และในปีนี้โครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” ปีที่ 21
ทางบริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด จึงผลิต “ผ้าห่มรักษ์โลก” ที่ทอด้วยเส้นใยจากขวดพลาสติก ซึ่งส่งผลดีในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ เรื่องลดพลังงานการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เส้นใยจากพืช การผลิตเส้นใยจากขวด rPET ใช้พลังงานลดลงร้อยละ 60 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ได้ถึงร้อยละ 32 โดยในกระบวนการผลิตผ้าห่มหนึ่งผืน ต้องใช้ขวดพลาสติกประมาณ 38 ขวด นั่นเท่ากับว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ผลิตผ้าห่มแจกจ่ายจำนวน 200,000 ผืน โดยใช้ขวดพลาสติกทั้งหมด 7,6000,000 ขวด ในการผลิตผ้าห่มผืนเขียวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 15 จังหวัด 194 อำเภอ
ผ้าห่มที่ช่วยลดขยะพลาสติกไปกว่า 7,600,000 ขวด
และนอกจากการช่วยเหลือเรื่องผ้าห่มแล้ว ไทยเบฟยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ยั่งยืน ด้วยการให้โอกาสด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านกีฬา พร้อมกิจกรรมสันทนาการที่มอบความสุขในทุกๆ ครั้งที่ลงพื้นที่แจกผ้าห่มอีกด้วย เพราะหัวใจหลักซึ่งเป็นความตั้งใจของไทยเบฟคือ การให้ที่ “มากกว่าความอบอุ่น คือการสร้างสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน”
Source :
http://bbc.in/2WEinhL
http://bit.ly/3rk4qDH
http://bbc.in/3nEzHiu
http://bbc.in/3rlsvKo