ปี 2563 ที่ผ่านมา ในต่างจังหวัดมีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชน คอยทำหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกด้านการดำรงชีวิต อย่างเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
แต่เมื่อหันมามองที่กรุงเทพมหานคร ก็คิดว่า เมื่อไรจะมีการเลือกตั้งกับเขาสักที?
คำถามนี้สะท้อนว่า เราไม่ได้เลือกตั้งผู้แทนเข้าไปทำงานเป็นปากเสียงให้มานานมากแล้ว หลังจากอยู่กับปัญหาสะสมเรื้อรังมากมาย ตั้งแต่ อากาศเป็นพิษ รถติดยาวเหยียด ทางเท้าพัง เหยียบแล้วชุ่มโชก รถเมล์ที่มาช้า กะเวลาไม่ได้ น้ำท่วมขังทุกครั้งที่ฝนตก รถไฟฟ้าราคาครึ่งร้อย หรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจว่า จะใช้ชีวิตยังไงให้รอดในแต่ละวัน ฯลฯ
จริงๆ แล้วประเด็นพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งที่เป็นคนพื้นที่ และคนที่เข้ามาเรียน ทำงาน หรือเหตุผลอื่นๆ ต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
นำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วปัญหาที่อยู่รอบตัวเราในทุกๆ วันแบบนี้ จะแก้ไขหรือจัดการอะไรได้บ้าง ซึ่งหนทางแก้คงหนีไม่พ้นการกลับไปสำรวจว่า คนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองเป็นอย่างไร งบประมาณก้อนต่างๆ จำนวนมหาศาลที่ได้รับจากภาษีที่ทุกคนจ่ายๆ กันแต่ละปีจัดสรรไปกับอะไรบ้าง ใช้มันคุ้มค่าหรือเปล่า และที่สำคัญคือ เรามีสิทธิ์ ‘เลือก’ ‘ออกแบบ’ หรือ ‘กำหนด’ อนาคตชีวิตร่วมกันได้มากน้อยขนาดไหนในสภาวะสิ้นหวัง จากภาวะวิกฤติในเมืองมากมาย แต่กลับได้รับการจัดการที่ไม่ดีพอ
ถ้าย้อนกลับไปวันที่ 3 มีนาคม 2556 นั่นคือวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด นับดูคร่าวๆ ก็ผ่านมาเกือบครบ 9 ปีแล้ว ที่ชาวกรุงไม่ได้เลือกผู้ว่าฯ และต้องอยู่กับผู้ว่าฯ กทม. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตรวจสอบไม่ค่อยได้ และทำงานโดยไม่สอบถามความต้องการประชาชนไปแล้วเกือบ 6 ปีเต็ม!
แต่ปี 2565 นี้อาจจะแตกต่างออกไปจากเดิม เมื่อมีแนวโน้มว่าเราจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กันอีกรอบ
ในบรรยากาศสิ้นหวังแบบนี้ ‘ความหวัง’ อาจมาจากความเชื่อว่า อนาคตของชีวิตพวกเราจะดีขึ้นได้ ผ่านการลงมือเปลี่ยนวิถีเดิมๆ ที่เป็นเหตุของปัญหา หนึ่งในวิถีทางที่ว่า ก็อาจมาจากการกากบาทลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แล้วหย่อนลงหีบ เพื่อเลือกผู้แทนตามวิถีประชาธิปไตย
เราเริ่มต้นซีรีส์ Bangkok Hope ด้วยการพาไปสำรวจว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่มีมาตลอด 49 ปี มีที่มาที่ไปอย่างไร เกิดขึ้นในบริบทการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบไหน และมีพัฒนาการอะไรบ้างในสังคมไทย และที่สำคัญคือ ตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไรกับชีวิตของพวกเรากันบ้าง มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลย
ทำไมต้องสนใจ ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ’
อันดับแรกเลย ลองไปดูที่ตัวเลขงบประมาณกัน
เจ็ดหมื่นหกพันล้านบาท คืองบประมาณรายจ่ายที่กรุงเทพมหานครได้รับในปี 2564 และเพิ่มขึ้นกว่าสามพันล้านเป็น เจ็ดหมื่นเก้าพันล้านบาท ในปี 2565 นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยในแต่ละปี ถ้าลองเทียบดูจังหวัดที่มีประชากรอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ อย่างนครราชสีมา จังหวัดนี้ได้งบประมาณในปี 2565 ไปจำนวน 2,622 ล้านบาท จำนวนเงินนั้นห่างจากกรุงเทพฯ เกือบ 30 เท่าเลยทีเดียว
หมายความว่า งบประมาณมหาศาลเหล่านี้ถูกจัดสรรและใช้ไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และคนที่ได้รับตำแหน่ง ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ คือคนที่จะมีอำนาจกำหนดทิศทางงบประมาณเหล่านี้ว่า จะใช้ไปกับอะไร นำมาสู่คำถามสำคัญว่า เงินจากภาษีเหล่านี้จะตอบแทนสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า เรามีผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารมานานกว่า 6 ปีแล้ว และนอกเหนือจากตำแหน่งผู้ว่าฯ นั้น กรุงเทพฯ ยังมีกลไกที่เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบการทำงานของผู้ว่า และสภาเขต (ส.ข.) ที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลในระดับเขต ซึ่งก่อนหน้าปี 2557 มาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในวันที่ 29 สิงหาคม 2553 (ซึ่งก็ไม่ได้มีการเลือกตั้งมา 12 ปีแล้ว!) นั่นหมายความว่างบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีไม่ได้รับการตรวจสอบจากตัวแทนประชาชนเลย
แน่นอนล่ะ บางคนอาจจะบอกว่ากรุงเทพฯ คือเมืองหลวง เป็นหัวใจของประเทศ และสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง คนจึงมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในพื้นที่ตัวเอง รวมถึงงบประมาณมหาศาลในแต่ละปีที่ได้รับ แต่ทำไมมันถึงเป็นเช่นนี้ ทำไมต่างจังหวัดถึงไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ และไม่มีสัดส่วนงบประมาณที่มากเท่านี้บ้าง การสำรวจประวัติศาสตร์ครั้งนี้อาจช่วยหาคำตอบได้
กำเนิด ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองทาสสร้าง
ต้นกำเนิด ‘กรุงเทพมหานคร’ อาจย้อนกลับไปตั้งต้นที่ประวัติศาสตร์ปลายสมัยสิ้นสุดอาณาจักรอยุธยาเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ธนบุรี’ ที่มี ‘พระเจ้าตากสิน’ เป็นผู้นำคนใหม่แทนขั้วอำนาจเดิม และได้วางหมุดหมายสร้างเมืองชั่วคราวไว้ที่ฝั่งธนฯ แต่ช่วงนั้นก็เกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในจากสงคราม ทำให้เกิดการจลาจลในนครหลวงและขั้วอำนาจใหม่ก็เถลิงชัยชนะเป็นราชวงศ์ปัจจุบัน
หมุดหมายสำคัญคือวันที่ 21 เมษายน 2335 มีการ ‘วางเสาหลักเมือง’ เพื่อสร้างพระราชวังใหม่จากฝั่งตะวันตก มาสู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุผลด้านการขยายเมืองที่เอื้อกว่าเพราะปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และในมุมยุทธศาสตร์การรบ จนเกิดการเริ่มต้นสร้างวัด วัง รวมถึงการสร้างกำแพงเมือง ขุดคูคลองต่างๆ ด้วยแรงงานทาสที่เกณฑ์มา ไม่ใช่เทพสร้างอย่างที่เข้าใจ และขยายตัวเมืองกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเรื่อยมาจนเป็นกรุงเทพฯ อย่างเห็นกันทุกวันนี้
นี่คือต้นกำเนิดคร่าวๆ แบบรวบรัดของ ‘กรุงเทพฯ’ ในเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ แต่ในเชิงการเมืองและการปกครอง หรือการบริหารจัดการพื้นที่ที่หนึ่ง ยังมีประวัติศาสตร์อีกยาวนานจนถึงประวัติศาสตร์ประเทศไทยร่วมสมัย
การเมืองการปกครองไทย กับ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’
เมื่อกรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการใช้ศูนย์กลางนี้เป็นจุดเริ่มต้นขยายอำนาจการปกครองของราชวงศ์จักรี เพื่อรวมพื้นที่ต่างๆ ให้เข้าสู่อำนาจส่วนกลางกรุงเทพฯ พูดอีกแบบคือ กว่าจะมาเป็น ‘ประเทศไทย’ ทุกวันนี้ ต้องผ่านกระบวนการควบรวมพื้นที่ต่างๆ เข้ามาอยู่ใต้การปกครองของกรุงเทพฯ
พื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ หรือแถบภาคอีสานในสมัยก่อน ล้วนเป็นดินแดนที่มีการปกครองยิบย่อย มีเจ้าผู้ปกครองตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘กรุงเทพฯ’ ใช้กำลังช่วงชิงอาณาจักร เพื่อให้ขึ้นตรงสู่อำนาจศูนย์กลางที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ
นี่คือการอธิบายคร่าวๆ ของสิ่งที่เรียกว่า ‘การรวมศูนย์อำนาจ’ คำศัพท์ที่หลายคนมักเห็นบ่อยครั้งในหน้าข่าว เวทีถกเถียงทางการเมือง หรือแม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่กำลังจะมาถึงนี้ แล้วมันสำคัญยังไง เกี่ยวอะไรกับ ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ เราจะค่อยๆ ร้อยเรียงเรื่อยๆ ให้เห็นภาพไปด้วยกัน
ถ้ามองจากข้อเท็จจริงแล้ว ศูนย์กลางอำนาจของประเทศไทยตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างน้อยๆ คือฝ่ายบริหารในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการปกครองหรือบริหารพื้นที่ประเทศไทยกว่าห้าแสนตารางกิโลเมตร ย่อมทำได้ไม่ง่ายเลยถ้าเป็นการตัดสินใจจากคนในพื้นที่ส่วนกลางเพียงแห่งเดียว
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ‘การแบ่ง’ อำนาจการตัดสินใจ จัดสรรงบประมาณ และการบริหารจากพื้นที่กรุงเทพฯ ไปไว้ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ มากขึ้น เช่น ทำบัตรประชาชนก็ไม่ต้องมาที่กรุงเทพฯ ทำใบขับขี่ก็สอบที่กรมการขนส่งทางบกจังหวัดของตัวเองได้เลย นี่คือส่วนที่เรียกว่า ‘ราชการส่วนภูมิภาค’ ที่รับนโยบายส่วนกลางจากกรุงเทพฯ ไปทำตาม
แต่ถ้าสังเกตว่า ‘การรวมศูนย์อำนาจ’ และ ‘แบ่งอำนาจ’ จากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคนั้น มีลักษณะทำตามสั่ง Top-Down หรือนโยบายแบบบน (ผู้กำหนดนโยบาย) ลงล่าง (ให้ผู้ปฏิบัติทำตาม) แต่ถ้าเราบอกว่าที่นี่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้วล่ะก็ ภาพที่ควรจะเป็นคือประชาชนต้องมีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องการเมือง หรือออกแบบนโยบายสาธารณะได้ในหัวข้อที่หลากหลาย รวมทั้งงบประมาณที่ถูกจัดสรรต้องมีความเท่าเทียมมากกว่านี้ ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ สิ่งที่พูดถึงอยู่คือ ‘การปกครองส่วนท้องถิ่น’ ที่เป็น ‘การกระจายอำนาจ’ หรือยุติการรวมศูนย์อำนาจส่วนกลาง เพื่อให้การปกครองและงบประมาณมาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น เวลาที่เราถามว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขนาดไหน อาจจะดูได้จาก ‘อำนาจรวมศูนย์’ จากส่วนกลาง และ ‘การกระจายอำนาจ’ ว่าเป็นอย่างไร อย่าง การประท้วงคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ก็ต้องมาเรียกร้องกับรัฐบาลที่ส่วนกลางเพราะการตัดสินใจอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงที่เดียว ไม่ได้ให้ส่วนของพื้นที่ตัดสินใจยังไงล่ะ
เมื่อเราลองใช้แนวคิดพวกนี้มาทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. ที่เพิ่งผ่านมาในปี 2564 นั้น เป็นการเลือกตั้งในรูปแบบ ‘การปกครองส่วนท้องถิ่น’ ที่เข้าข่ายเป็นอำนาจรูปแบบที่กระจายจากส่วนกลาง แล้วมาอยู่ในมือของประชาชนที่เลือกผู้แทน ซึ่งรับผิดชอบดูแลคนในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น การจัดการน้ำประปา การทำให้ถนนหนทางมีไฟสว่าง รวมถึงการจัดสรรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือแม้แต่การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล
แต่ถ้าจะพูดถึง จังหวัด อำเภอ/เขต ตำบล/แขวง และหมู่บ้าน เหล่านี้คือ ‘การปกครองส่วนภูมิภาค’ ที่เป็นการยึดโยงกับ ‘การแบ่ง’ อำนาจจากส่วนกลางมาอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น ถ้าถามว่า ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ คืออะไร จึงตอบได้ว่า เป็นผู้ที่ดูแลพื้นที่ ‘จังหวัด’ นั้นๆ และมาจากการแต่งตั้งของส่วนกลางเพื่อนำนโยบายมาดำเนินการต่อในพื้นที่ ไม่ใช่การกระจายอำนาจในส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกตั้งตามนโยบายที่ผ่านการนำเสนอ และแข่งขันกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของผู้ว่าฯ ที่มาจากส่วนกลางนั้นมีสองแบบ
หนึ่ง เป็นประธานคณะกรรมการ เช่น ในช่วงโควิดที่เราเห็นผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดเป็นแม่งานในการดูแลทิศทางการควบคุมโรค
สองคือ เป็น ‘นายทะเบียน’ ที่มีอำนาจอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น โรงแรม โรงหนัง ร้านเกม เป็นต้น
นี่คือแนวคิดภาพรวมด้านบทบาทของตำแหน่ง ‘ผู้ว่าฯ’ ส่วนภูมิภาค ซึ่งสิทธิ์ขาดมาจากการแต่งตั้งหรือโยกย้ายของส่วนกลาง
สายธารประวัติศาสตร์ ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร’
อย่างที่เล่าไปในส่วนแรกว่าในเชิงประวัติศาสตร์ ก่อนมาเป็น ‘กรุงเทพมหานคร’ ในปัจจุบันนี้ พื้นเพเดิมมาจากการสร้างเมืองเก่าในเขตธนบุรีก่อน แล้วขยายมาทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือพระราชวังที่เป็นศูนย์กลางอำนาจในระบอบเก่า
ดังนั้นในเชิงการเมืองการปกครอง ‘กรุงเทพฯ’ เคยมีลักษณะการปกครองแบบภูมิภาคในฐานะ ‘จังหวัด’ ซึ่งประกอบด้วย ‘จังหวัดธนบุรี’ และ ‘จังหวัดพระนคร’ จนมาถึงปี 2514 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รวมเอาจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเป็นจังหวัดเดียวในชื่อ ‘นครหลวงกรุงเทพธนบุรี’ และเปลี่ยนเป็น ‘กรุงเทพมหานคร’ ในปี 2515 จากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335
กล่าวเพิ่มเติมได้ว่า ภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คณะราษฎรมีความพยายามปรับเปลี่ยนระบบการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ตลอดๆ จนในปี 2499 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ออกพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2499 ที่ส่วนหนึ่งกำหนดให้ลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดลง หลังจากเผด็จการอำนาจนิยม สฤษดิ์, ถนอม และประภาส ขึ้นสู่อำนาจหลังรัฐประหารล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2515 ช่วงเดียวกับที่ปรับเปลี่ยน ‘กรุงเทพฯ’ นั้นก็ได้รื้อฟื้นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีบทบาทมากขึ้นอีกครั้ง จากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 วันที่ 29 กันยายน 2515
ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ระบุเหตุผลของการควบรวมจังหวัดธนบุรีและพระนครว่า เป็นไปเพื่อความสะดวกด้านการบริหาร และกำหนดให้มีสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน และมาจากการแต่งตั้งจำนวนเท่ากับเลือกตั้ง โดยใน 4 ปีแรกนั้น สภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่จากประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่เป็นการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีในฐานะข้าราชการการเมืองคนหนึ่งเท่านั้น นี่คือจุดเริ่มต้นที่เรามีผู้ว่าฯ กรุงเทพคนแรกที่เข้าสู่ตำแหน่งในเดือนมกราคม ปี 2516
สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ เกิดขึ้นหลังการขับไล่เผด็จการถนอม-ประภาส-ณรงค์ จากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยกลับชัดเจนขึ้นมาอีกครั้ง และ ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ’ ที่มาจากการเลือกตั้งก็กำเนิดขึ้นในยุคสมัยนี้ หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 สถานะของกรุงเทพมหานครจึงเปลี่ยนจาก ‘ส่วนภูมิภาค’ ที่รับอำนาจจากส่วนกลางอีกต่อหนึ่ง มาเป็น ‘ส่วนท้องถิ่น’ ที่หมายถึงการใกล้ชิดกับประชาชนและเลือกฝ่ายบริหาร (ผู้ว่าฯ) และฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ก. และ ส.ข.) ได้โดยตรง
แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และการรัฐประหารที่ตามมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เข็มนาฬิกาก็วนกลับไปสู่ห้วงเวลาของเผด็จการอีกครั้ง อำนาจในมือของประชาชนลดลงจากการถูกลิดรอนโดยคณะรัฐประหาร ส่งผลให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กลับไปเป็นรูปแบบแต่งตั้งจากส่วนกลางอีกครั้งหนึ่ง เดี๋ยวนะ นี่กำลังพูดถึงเมื่อ 40 กว่าปีก่อนอยู่ แต่ทำไมสถานการณ์ไม่ต่างจากปัจจุบันเลย…
จนกระทั่งเมื่อปี 2528 เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายต้นทางอีกครั้งหนึ่ง สภาลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ 2528 และมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ว่าฯ มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
หมุดหมายสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ขับไล่การเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของพลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตผู้บัญชาการสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ผลสุดท้ายผู้คนต้องเสียเลือดเนื้อจากความรุนแรงของรัฐ แต่ก็จบลงที่ชัยชนะของประชาชน ทำให้ ‘ทหารกลับกรมกรอง’ ไปในที่สุด กระแสการ ‘ปฏิรูป’ หลายอย่างส่งผลมาถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นฉบับปี 2540 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และผลที่ได้คือเกิดการ ‘กระจาย’ อำนาจส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นและลดบทบาทของ ‘ส่วนภูมิภาค’ ลง
‘ผู้ว่าราชการ’ ในสมัยนั้นจึงเป็นไปในทางการดูแลทิศทางภาพรวมให้ไปในทางเดียวกันกับนโยบายจากส่วนกลาง ดังที่เราได้ยินคำว่า ‘ผู้ว่าซีอีโอ’ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีลักษณะการทำงานในเชิงกำกับทิศทางมากกว่าดำเนินงานเอง
การพัฒนาประชาธิปไตยที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่นนี้ต้องหยุดชะงักลงไปเพราะรัฐประหารในปี 2549 และพังครืนลงในอีก 8 ปีต่อมา หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เรารู้จักกันดี๊ดีนั่นแหละ
‘กรุงเทพฯ’ หลัง คสช. กับ ผู้ว่าฯ กทม. ที่มีอำนาจอย่างจำกัด
อย่างที่ได้เล่าไปว่าสายลมแห่งประชาธิปไตยมักมาคู่กับการให้อำนาจประชาชนในระดับท้องถิ่น แต่เมื่อการรัฐประหารคู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยขึ้นสู่อำนาจจากรถถัง กระบอกปืน และลายเซ็น… ก็ทำให้แนวโน้มนั้นเดินสวนทางกัน
จาก พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพฯ ปี 2528 ที่ใช้จนถึงปี 2557 อย่างที่เล่าไปข้างบนว่าการปกครองในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน หนึ่งคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สองคือ สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สามคือ สภาเขต (ส.ข.) ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 ขึ้น ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 85/2557 สั่ง ‘แช่แข็ง’ ท้องถิ่นไม่ให้จัดการเลือกตั้ง และให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งดำรงตำแหน่งต่อไป
ในส่วนของกรุงเทพฯ นั้น ประกาศฉบับที่ 86/2557 คือให้ ส.ก. และ ส.ข. ในตำแหน่งเดิมที่มาจากการเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นการแต่งตั้งแทน และ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงและดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2559 เมื่อเกิดคดีทุจริตโครงการไฟประดับส่งเสริมการท่องเที่ยว จนมีคำสั่งมาตรา 44 พักงานสุขุมพันธุ์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 จากนั้นก็ได้ปลดและแต่งตั้งให้นายตำรวจอย่าง อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ ในขณะนั้นปฏิบัติงานแทนในวันที่ 18 ตุลาคม 2559 นี่เป็นจุดเริ่มต้นของผู้ว่าฯ ‘ลากตั้ง’ ที่อยู่มาเกือบ 6 ปีแล้ว
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครคือ 3 มีนาคม 2556 และ การเลือกตั้งสภากรุงเทพมหานครและสภาเขตครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 ปีนี้คือปี 2565 เท่ากับว่า 9 ปีแล้วที่ชาวกรุงเทพฯ ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ และ 12 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ข. ถ้าว่ากันตามตรงนี่ก็เกือบจะหนึ่งทศวรรษแล้ว เป็นช่วงชีวิตที่ยาวนานของคนคนหนึ่งเลย
ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายครั้งใหญ่ของกรุงเทพฯ เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2562 หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม้จะไม่ได้ย้อนให้ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และสภามาจากการแต่งตั้งอีก แต่อำนาจหน้าที่การบริหารราชการของผู้ว่าฯ และผู้แทนจากประชาชนนั้นมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับเพิ่มอำนาจการตรวจสอบและควบคุมให้กับกระทรวงมหาดไทยแทน
จากเดิมที่อำนาจผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ได้เยอะ ยกตัวอย่างเรื่องขนส่งสาธารณะทั้งรถเมล์ก็อยู่ภายใต้ ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ภายใต้กระทรวงคมนาคม ปัญหาเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี่ก็โยนกันไปมาระหว่างผู้ว่าฯ กับคณะรัฐมนตรีว่า ใครจะเป็นคนตัดสินใจ หรืออย่างเรือโดยสารก็อยู่ภายใต้กรมเจ้าท่าของกระทรวงคมนาคมอีกต่อหนึ่ง ตัวอย่างเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วอำนาจผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มีเพียงน้อยนิดและต้องต่อรอง เจรจา หรือทำงานร่วมกับส่วนกลางอื่นเสียมากกว่า แต่กฎหมายฉบับนี้กลับทำให้อำนาจที่หดแคบอยู่แล้วนี้ ลดลงมากขึ้น และไปอยู่ภายใต้การควบคุมของส่วนกลางมากขึ้นไปอีกเป็นทอดๆ
แต่ไม่ได้หมายความว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้นไม่มีความหมายอะไรเสียทีเดียวเลย ขึ้นชื่อว่า ‘มาจากการเลือกตั้ง’ นั้นก็มีความชอบธรรมระดับหนึ่งแน่นอน
อนาคตของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ในปี 2565 นี้ จะเป็นอย่างไร ผู้สมัครแต่ละคนจะชูนโยบายแบบไหน รวมถึงจะมีใครลงชิงตำแหน่งตัวแทน ส.ก. และ ส.ข. บ้าง นี่อาจเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดข้อถกเถียงทางนโยบายสาธารณะ และการถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตว่า คนต่างจังหวัดควรมีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตัวเองบ้างหรือไม่ และถ้ามีผู้ว่าฯ โดยตำแหน่งควรได้รับอำนาจมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์พื้นที่อย่างสูงสุดหรือเปล่า เผื่อว่าสักวันหนึ่งหากโจทย์นี้ถูกแก้อย่างโปร่งใสและมีประชาชนในสมการมากขึ้น
เราจะได้เห็น ‘ความหวัง’ ที่จะเปลี่ยนแปลงให้ประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหานี้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่กันสักที
ซีรีส์ Bangkok Hope จาก Urban Creature คือซีรีส์ที่จะชวนทุกคนมองหา ‘ความหวัง’ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ดังนั้นความหวังสู่การเปลี่ยนแปลงนี้จึงควรมีทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ ขีดเขียน และเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวไปพร้อมๆ กัน
Sources
- คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2558).
- ดูสถิติผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ย้อนหลังได้ที่ : https://bit.ly/3oBdd4y
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯ มาจากไหน? (กรุงเทพฯ : สำนักพิมดรีม แคชเชอร์, 2555).
- The101.world | https://bit.ly/3Liy9XN, https://bit.ly/3swqBIt
- BangkokBiz | https://bit.ly/3uJHcuK
- Common School | https://bit.ly/3owVpYo
- ELECT | https://bit.ly/3svkhAK
- iLaw | https://bit.ly/3JcOqeN
- Matichon | https://bit.ly/3GCIPg8
- The Active | https://bit.ly/337oqCi, https://bit.ly/3gAG6cw