‘GAY GAMES’ กีฬาไม่กีดกันเพศสภาพ เพศไหนก็ร่วมแข่งได้ - Urban Creature

“ผมหวังว่าสิ่งที่ผมพูดอยู่นี้จะส่งเสริมคนอื่น คุณสามารถเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เล่นในจุดสูงสุดได้ โดยที่คุณเป็นเกย์ ผมพิสูจน์มาแล้ว”

ในปี 2014 อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมัน ‘Thomas Hitzlsperger’ ส่งสัญญาณไปถึงทุกคนบนโลกว่า LGBTQ+ พร้อมที่จะเผยตัวตนในวงการกีฬาแล้ว เขาบอกกับสื่อว่านี่เป็นเวลาเหมาะเจาะที่จะประกาศให้ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นเกย์ หลังจากที่เขารีไทร์จากการเป็นนักเตะไปถึง 6 เดือน

นี่คือข่าวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในวงการฟุตบอล เพราะโทมัสเป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง เคยติดทีมชาติมาแล้วกว่า 52 ครั้ง คำพูดของเขา น่าเชื่อถือ และหนักแน่น อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็น LGBTQ+ มาเคาะประตูบ้านวงการกีฬา

มีนักกีฬาหลายต่อหลายคนที่เคยประกาศว่า ตัวเขานั้นเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน แต่ก็ไม่ได้รับการรับฟังและปล่อยให้ประเด็นนี้ถูกปัดตกเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีอยู่ในสังคม 

“คงจะดีไม่ใช่น้อย ถ้าเมืองซานฟรานซิสโก มี Gay Olympics แล้วชวนทุกคนบนโลกมาเข้าร่วม”

คำพูดของ ‘Tom Waddell’ – นักกรีฑากระโดดสูงวัย 35 ผู้ยอมรับว่าเขาเป็นเกย์ ในงานรับรางวัลนักกรีฑายอดเยี่ยมแห่งหนึ่ง ผู้เข้าร่วมงานต่างลุกขึ้นยกมือเชียร์สนับสนุนความคิดของเขา ซึ่งคำพูดของเขาไม่ใช่คำพูดสุ่มสี่สุ่มห้า ที่หลุดปากออกมาเฉยๆ แต่หากเป็นคำพูดที่ซื่อสัตย์และทะเยอทะยาน และทำให้ Waddell ได้ตระหนักขึ้นมาในใจแล้วว่า “มันเป็นไปได้”

จากประสบการณ์การเป็นนักกีฑาและการเดินทางไปที่ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เขาเห็นทัศนคติ และความคิดของคนหลายกลุ่ม จนตระหนักได้ว่า ทัศนคติ และความรู้ที่มีเกี่ยวกับชาวเกย์นั้นไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ เรียกได้ว่า ไม่ตรงกับความจริงที่เคยประสบพบเจอมาเลยด้วยซ้ำ เขาจึงกลับมาที่ San Francisco และเริ่มเข้าสู่แวดวงกีฬาอีกครั้งเพื่อสานต่อความคิดให้เป็นจริง นั่นคือการจัดการแข่งขัน ‘Gay Olympics’ ครั้งแรกในรูปแบบของการแข่งขันกีฬาและงานศิลปะ เมื่อปี ค.ศ 1982 ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยเพียงไม่กี่อาทิตย์ก่อนเริ่มงาน Olympics ฟ้อง Tom Waddell เนื่องจากใช้ชื่อละม้ายคล้ายคลึงกับ Olympics Games จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gay Games’ ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน แต่ถึงจะมีการเปลี่ยนชื่อกระทัน เกมครั้งนี้ก็ยังได้ผลตอบรับค่อนข้างดี มีนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกเข้าแข่งขัน รวมไปถึงนักกีฬาจากประเทศที่เรื่อง LGBTQ+ ยังถูกจัดว่าผิดกฎหมาย

“เกมเพื่อทุกคน” ยินดีต้อนรับผู้คนจากทุกภูมิหลัง ทุกสัญชาติ และทุกเพศสภาพ มาเข้าร่วมเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จและมิตรภาพ

ต่อมา Gay Games ได้จัดขึ้นในเมืองใหญ่ที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ โดยตลอด และเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งในเรื่องของผู้เข้าแข่งขัน ผลตอบรับ และ สปอนเซอร์ต่างๆ จนทำให้งานกีฬามีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ รวมไปถึงได้มีการก่อตั้งองค์กรกีฬาสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศขึ้นหลายแห่งอีกด้วย

ทุกครั้งที่มีงาน Gay Games จะมีการแสดงชนิดหนึ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของงานเลยก็ว่าได้ นั่นคือ ‘The Pink Flamingo’ การแสดงหรือการทำกิจกรรมบนน้ำทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละคร เต้นรำ หรือร้องเพลง ซึ่งผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ได้ตลอด นอกจากนี้โชว์ The Pink Flamingo ยังสื่อให้ทุกคนตระหนักถึงโรคเอดส์อีกด้วย เพราะ Gay Games นั้นเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับช่วงที่โรคเอดส์เริ่มเป็นที่รู้จักและกำลังระบาด โดยในโชว์นั้นจะนำโบว์สีแดงขึ้นมาใช้ เพื่อแสดงความเคารพแด่ผู้ติดเชื้อ

Gay Games ยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่จะสื่อสารไปยังชุมชนหรือสังคมที่ยังคลุมเครือเรื่อง LGBTQ+ รวมถึงยังเปิดโอกาสให้ทุกคนและทุกเพศเข้าร่วม เช่น อาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานใน Gay Games ก็ไม่ใช่ชาว LGBTQ+ ทุกคน ดังนั้นงานนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะเปิดให้ทุกคนเรียนรู้วัฒนธรรมและตัวตนของ LGBTQ+ โดยที่ผ่านมามีการจัดการแข่งขัน Gay Games มาแล้วกว่า 10 ครั้งในทุกๆ 4 ปี 

ครั้งที่ 1 ปี 1982 : ซานฟรานซิสโก, สหรัฐอเมริกา
ครั้งที่ 2 ปี 1986 : ซานฟรานซิสโก, สหรัฐอเมริกา
ครั้งที่ 3 ปี 1990 : แวนคูเวอร์, แคนาดา
ครั้งที่ 4 ปี 1994 : นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
ครั้งที่ 5 ปี 1998 : อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์
ครั้งที่ 6 ปี 2002 : ซิดนีย์, ออสเตรเลีย
ครั้งที่ 7 ปี 2006 : ชิคาโก, สหรัฐอเมริกา
ครั้งที่ 8 ปี 2010 : โคโลญจน์, เยอรมนี
ครั้งที่ 9 ปี 2014 : คลีฟแลนด์ และ แอครอน, สหรัฐอเมริกา
ครั้งที่ 10 ปี 2018 : ปารีส, ฝรั่งเศส

ละแน่นอนว่าครั้งที่ 11 กำลังจะเกิดขั้นในปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเจ้าภาพปีนี้คือ ประเทศฮ่องกง ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ Gay Games จะจัดขึ้นในทวีปเอเชียและจัดขึ้นในประเทศที่ยังมีปัญหาคลุมเครือเกี่ยวกับ LGBTQ+ ทั้งในเรื่องกฎหมาย การยอมรับทางวัฒนธรรม และสิทธิเสรีภาพอีกด้วย ซึ่งตอนนี้สิทธิพื้นฐานของชาว LGBTQ+ กำลังได้รับแรงผลักดันในประเทศฮ่องกง ทั้งยังมีการสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคในการแต่งงาน รวมไปถึงกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติสำหรับชาว LGBTQ+

อีกหนึ่งสัญญาณที่ดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงและควรจับตามอง คือประเทศจีนเปิดตัวนักกีฬาครั้งแรกใน Gay Games ครั้งที่ 10 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีน แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีอย่างมากเมื่อผู้คนเริ่มให้ความสำคัญ

ในขณะที่ภาพรวมของวงการกีฬา การเปิดรับเรื่องเพศกำลังเป็น ‘กระแส’ กีฬาหลายต่อหลายประเภทเปิดรับ และมีการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรกีฬาระหว่างประเทศที่เริ่มเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง และตรวจสอบการแข่งขันในประเทศที่สิทธิเสรีภาพของ LGBTQ+ ยังไม่เป็นไปตามนโยบายที่ตั้งไว้

เมื่อ LGBTQ+ กำลังออกมาเคลื่อนไหว และเริ่มเปิดเผยตัวตนขึ้นในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของเรา ผนวกกับการเรียกร้องสิทธิที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้กลับมาคิดว่า “เมื่อไหร่” เราจะเห็นนักกีฬาหลากหลายทางเพศอย่างอิสระ และเราหวังว่า สิ่งที่กำลังรอคำตอบอยู่นั้นจะไม่นานเกินไป

“คนยุคเก่าที่มีอคติจะไม่มีจุดยืนในการกีฬาสมัยใหม่ ผมหวังว่าสิ่งที่ผมทำอยู่จะสร้างความกล้าหาญให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพ” – Thomas Hitzlsperger

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.