‘ปันอาหารปันชีวิต’ โครงการที่อุดหนุนสินค้าเกษตร ส่งต่ออาหารให้คนอิ่มท้องช่วงโควิด-19 - Urban Creature

เรามีโอกาสได้คุยกับ พี่ปุ้ย-คนางค์ นิ้มหัตถา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มปันอาหารปันชีวิต สิ่งที่น่าสนใจก็คือพี่ปุ้ยบอกเราว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น สิ่งตอกย้ำที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นคือ ประเทศไม่ได้มีการเตรียมตัวอย่างจริงจังในเรื่อง ‘อาหาร’ ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าระบบอาหารของเมืองไม่สมดุล เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนกันอีกครั้ง เพราะเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ หล่าคนเปราะบางยิ่งเข้าถึงอาหารได้น้อยลง 

ขณะเดียวกันทางเครือข่ายสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และมูลนิธิสุขภาพไทย รวมถึงจิตอาสาที่มาเข้าร่วม จึงปิ๊งไอเดียขอรับบริจาคอาหารและเงินทุน ในชื่อโครงการ ‘กลุ่มปันอาหารปันชีวิต’ วิกฤตโควิด 19 เราจะไม่ทิ้งกัน เพื่อกระจายอาหารให้เข้าถึงกลุ่มคนเปราะบางมากที่สุด อีกทั้งนำเงินจำนวนนี้ไปอุดหนุนเกษตรกรที่ประสบปัญหาไม่มีช่องทางระบายสินค้าอีกด้วย

| เกษตรกรได้ขาย คนลำบากได้อิ่มท้อง

จุดโฟกัสที่ทำให้มูลนิธิและจิตอาสานั้นหันหัวเรือไปทางเดียวกัน คือพวกเขามองว่าช่วงโควิด กลุ่มคนเปราะบางนั้นได้รับผลกระทบที่น่าจะยืดยาว ไม่ว่าจะเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป, วินมอเตอร์ไซค์, คนเก็บขยะหรือคนหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่ได้มีนายจ้างรองรับหรือไม่มีแม้แต่ประกันสังคม เป็นต้น

รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกรที่ทางมูลนิธิเคยร่วมงานกันมา ก็กำลังประสบปัญหาไม่สู้ดีเช่นกัน เมื่อร้านอาหารปิด ตลาดคนเดินน้อยลง แต่ผักผลไม้กลับเติบโตขึ้นทุกวัน สุดท้ายไม่มีช่องทางจำหน่ายหรือระบายสินค้าออก บางครั้งต้องจำใจทิ้งทั้งผลผลิตและเม็ดเงินทั้งหมด ทำเอาคนทั้งสองกลุ่มนี้พลอยจะติดร่างแหตอนช่วงโควิดไปด้วยเช่นกัน 

ทำให้มูลนิธิเริ่มเปิดโครงการรับบริจาคเงินขึ้นตั้งแต่ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากอาหารที่อยู่ในพื้นที่สวนผักคนเมืองเองที่เคยปลูกอยู่ประมาณ 300 ตารางเมตรไม่เพียงพอหากเทียบกับจำนวนคนที่ต้องช่วยเหลือ

| เงินที่ได้นำไปอุดหนุนสินค้าเกษตรกร

ในแต่ละอาทิตย์ทางโครงการจะรวบรวมเงินไป ‘อุดหนุนสินค้าของเกษตรกร’ ที่อยู่ในเครือข่ายมูลนิธิ ซึ่งตอนนี้มีกว่า 20 กลุ่ม ทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศไทย เช่น ผักจากตลาดสีเขียวขอนแก่น, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า จ.นครปฐม กลุ่มเกษตรอินทรีย์กระโสบ จ.อุบลฯ เป็นต้น

ส่วนจะอุดหนุนเกษตรกรกลุ่มไหนก่อน ทางกลุ่มจะประสานงานเพื่อขอข้อมูล และเรียงลำดับความเดือดร้อนของเกษตรกร ว่ามีกลุ่มไหนบ้างที่ต้องการกระจายผักผลไม้ชนิดไหนอย่างเร่งด่วน และจำนวนเท่าไหร่บ้าง ทางกลุ่มจะรีบเข้าไปหาและรับซื้อได้ตรงตามเวลา 

ซึ่งพี่ปุ้ยบอกว่าส่วนใหญ่เป็นผักที่โตเต็มที่ต้องเก็บเกี่ยวและส่งขายแล้ว หรือมีผลไม้บางส่วนที่กำลังจะตายคาต้น แต่ยังเก็บและมาตัดแต่งแจกจ่ายได้อยู่บ้าง

เมื่อเห็นหน้าค่าตาเหล่าผักทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อย จะเข้าสู่ช่วงตีราคา ซึ่งเรื่องราคานั้นพี่ปุ้ยบอกกับเราว่า ต้องเป็นราคาที่เกษตรกรไม่ลำบาก และเป็นราคาที่สมเหตุสมผล เพราะทางโครงการก็รับไปแบ่งปันให้กลุ่มคนเปราะบางเช่นกัน 

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยจะมีรถขนส่งสินค้าจากเกษตรกรนำไปส่งให้กับเจ้าหน้าที่ประสานงานเพื่อทำการจัดสรรปันส่วน เพื่อไปแจกจ่ายเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกกระบวนการนั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 

| รับบริจาคทั้งเงินและสิ่งของจำเป็น

สิ่งที่จำเป็นต่อปากท้องหนีไม่พ้นข้าวสาร และผัก ส่วนผลไม้นั้นนานๆ จะมีครั้ง ขึ้นอยู่กับเกษตรกรที่ไปรับว่าเขาปลูกอะไรบ้าง อีกทั้งเมื่อประกาศรับบริจาคไปสิ่งที่ได้กลับมานั้นไม่ใช่แค่เม็ดเงิน บางบริษัทหรือผู้ขอร่วมบริจาคได้มีการส่งข้าวสาร อาหารแห้ง หรือเครื่องปรุงต่างๆ มาให้กับทางมูลนิธิแทน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล, น้ำปลา, ซอส, เต้าหู้, หอม, กระเทียม  หรือแม้แต่อุปกรณ์ป้องการติดเชื้อ ทั้งเครื่องพ่นและน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือ face shield เป็นต้น

| แบ่งปันให้ชุมชนและกลุ่มแรงงานนอกระบบ

ทางกลุ่มปันอาหารปันชีวิตจะเข้าไปแจกจ่ายอาหารสัปดาห์ละครั้งเพื่อลดความเสี่ยงของผู้นำไปมอบและคนที่เข้ามารับอาหารด้วยเช่นกัน โดยใช้รถกระบะบรรทุกอาหารเต็มคันเพื่อไปแบ่งปันให้มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในเครือข่ายสลัม 4 ภาค จำนวน 57 ชุมชน 1,531 คน และกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งตอนนี้หากนับกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีประมาณ 2,000 กว่าครอบครัว

โดยกลุ่มชุมชนที่ทางมูลนิธิต้องดูแลนั้นมีหลากหลาย ทั้งชุมชนนางเลิ้ง, กลุ่มโรงงานเย็บผ้าบางบอน, ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่, ชุมชนพูนทรัพย์, ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู (บางกอกน้อย), ศูนย์คนไร้บ้านปทุมธานี และชุมชนหลังสน. ทองหล่อ

โดยอาหารที่นำไปแบ่งปันนั้นจะไม่ใช่การปรุงสุก แต่จะเป็นการส่งมอบเป็นวัตถุดิบมากกว่า เนื่องจากชาวบ้านบางกลุ่มหรือชุมชนนั้นๆ จะมีครัวกลางในการจัดสรรปรุงอาหารเอง หรือบางบ้านก็สามารถนำไปปรุงอาหารได้ตามต้องการ

ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานคอยดูแลแจ้งจำนวนคน และสิ่งของหรืออาหารที่ขาดเหลือ ให้กับทางมูลนิธิทราบ เพื่อทำการจัดสรรอาหารให้เพียงพอ ทำให้ในแต่ละบ้านแต่ละชุมชนนั้นจะได้ของไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้อาหารนั้นกลายเป็นของเหลือทิ้ง

| ‘พื้นที่อาหาร’ แนวทางช่วยเหลือที่ยั่งยืน

โครงการนี้ยังไม่มีช่วงเวลาว่าจะหมดลงเมื่อไหร่ แต่พี่ปุ้ยได้บอกว่า “จะดูแลพวกเขาจนกว่าสถานการณ์นั้นคลี่คลาย คือเมื่อพวกเขาสามารถออกไปทำงานได้ปกติ หรือทางชุมชนแต่ละชุมชนนั้นสามารถบริหารจัดการเรื่องอาหารกันเองได้”

กลุ่มปันอาหารปันชีวิตหาทางออกที่ยั่งยืนสำหรับพวกเขาเช่นกัน หากวันใดที่เงินบริจาคหมดลง ก็อยากให้พวกเขามีพื้นที่อาหารของตัวเอง โดยมีการตั้งเป้าไว้ว่าจะพัฒนาพื้นที่อาหาร 30 พื้นที่ให้กับกลุ่มคนเปราะบาง เริ่มจากการให้ปลูกผักสวนครัว หรือผักอายุสั้นที่ง่ายต่อการปลูก เรื่องนี้ได้มีการชวนคุยกับชาวชุมชนไปแล้ว


ช่องทางการบริจาค การสมทบทุนจัดซื้ออาหาร
บัญชีบริจาค ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาประชานิเวศน์ 1

เลขบัญชี 085-213416-0 ชื่อบัญชี “มูลนิธิสุขภาพไทย”

*** ขอความร่วมมือ ใส่ยอดสตางค์ .19 ***

ยกตัวอย่างโอนสมทบทุน 100.19 บาท หรือ 1,000.19 บาท

*** ท่านสามารถขอใบลดหย่อนภาษีได้โดย

แจ้งยอดโอนและชื่อที่อยู่ เพื่อออกใบเสร็จ

Email : [email protected] หรือ โทร 081-5686217

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :  โทร 081 639 2223 (ป้าหน่อย) 089-641-9283 (น้องมิ้ม)

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.