เมื่อพูดถึง ‘ภาคใต้’ หลายคนคงนึกถึงดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ภูมิประเทศที่ขนาบสองฝั่งด้วยทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ภาคการเกษตรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราและปาล์มมากที่สุดในไทย รวมไปถึงบรรดาอาหารปักษ์ใต้ที่ใครได้ลิ้มลองก็ต้องติดใจ เพราะรสชาติทั้งเผ็ด กลมกล่อม และจัดจ้านเป็นเอกลักษณ์แบบสุดๆ
แต่รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังความอุดมสมบูรณ์ที่ทุกคนเห็น ภาคใต้เองก็มีปัญหาใต้พรมอย่าง ‘วิกฤตขาดแคลนอาหาร’ และ ‘อาหารไม่ปลอดภัย’ ซ่อนอยู่มานานหลายปี ซึ่งทำให้ชาวใต้จำนวนมากประสบปัญหาสุขภาพระยะยาว ส่วนเด็กๆ ในพื้นที่ก็ยังเผชิญภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันที่กระทบต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและการพัฒนาสมองของพวกเขาด้วย
เพราะอยากให้ชาวใต้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายหลักของภาคใต้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านทางสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ทำงานเพื่อพัฒนาและผลักดันประเด็นเรื่อง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อน 14 จังหวัดแห่งแดนใต้สู่ ‘ภาคใต้แห่งความสุข’ และยังได้นวัตกรรมจาก Thailand Policy Lab และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชน
Urban Creature ขอพาไปหาคำตอบว่า ภาคใต้มีแนวคิดและแนวทางขับเคลื่อนเรื่องระบบอาหารอย่างไร เพื่อให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีความสุข และเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน
การเพิ่มพื้นที่อาหารในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว
ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า สาเหตุหลักที่ภาคใต้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารก็เพราะมี ‘พื้นที่อาหาร’ ค่อนข้างจำกัด หรือไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ส่วนอีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ก็ถูกใช้ทำเกษตรกรรม ‘พืชเชิงเดี่ยว’ ที่เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างเช่นยางพาราและปาล์ม ซึ่งล้วนไม่ใช่พืชอาหารและบริโภคไม่ได้ ความไม่สมดุลของอุตสาหกรรมการเกษตรนี้เอง ทำให้ชาวใต้ต้องพึ่งพาอาหารจากพื้นที่อื่นเป็นหลัก พื้นที่อาหารที่มีอยู่จำกัดก็เลยกลายเป็น Pain Point ของการส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืนของคนใต้
ภาคีเครือข่ายจึงเห็นตรงกันว่า ภาคใต้ควรมีความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นจริงๆ สักที เพราะถ้าชุมชนมีอาหารที่ปลอดภัยและอุดมสมบูรณ์อยู่ใกล้ตัว พวกเขาก็จะพึ่งพาตนเองได้โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตหรือภัยพิบัติต่างๆ ไม่ต้องง้ออาหารนำเข้า หรือกังวลว่าจะขาดแคลนอาหารกลางคันอีกต่อไป
แนวทางหลักที่ภาคีเครือข่ายนำมาใช้สร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวก็คือ การเพิ่มพื้นที่อาหาร ผ่านวิถีการเกษตรที่เรียกว่า ‘การทำเกษตรผสมผสานแบบประณีต’ ซึ่งเป็นการจัดการที่ดิน ทุน แรงงาน และปัจจัยการผลิตให้เหมาะสำหรับปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือทำประมงในพื้นที่เดียวกัน พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการสร้างพื้นที่การเกษตรแบบ All-in-One ที่ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องยึดติดกับพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง และยังได้ผลผลิตที่หลากหลายกว่าเดิมด้วย
ตัวอย่างคือ โครงการ ‘สวนยางยั่งยืน’ หรือ ‘พืชร่วมยาง’ ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหาร เช่น พืชผัก ไม้ผล ปศุสัตว์ และประมงน้ำจืด ในสวนยางพาราทั่วไป
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายภาคใต้ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดทำ 10 โมเดลพืชร่วมยาง ก่อนนำไปทดลองในพื้นที่จังหวัดสงขลา จากนั้นก็ถอดบทเรียน สังเคราะห์องค์ความรู้ และประเมินผลทางด้านเศรษฐกิจพบว่า พืชร่วมยางสร้างมูลค่าและผลตอบแทนได้มากกว่าพืชเชิงเดี่ยว เป็นโครงการที่นอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรแล้ว พวกเขายังมีแหล่งอาหารใกล้ตัว ทำให้รายจ่ายค่ากินลดลงอีกด้วย
เมื่อได้โมเดลที่เหมาะสมแล้ว แนวคิดนี้ก็ถูกขยายไปในพื้นที่ 40 แปลงของอีก 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี โดยสวนยางยั่งยืนแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
1) ระบบหลากหลายแบบแยกแปลง (Multi-cropping)
2) ระบบเกษตรหลากหลายแบบร่วมยาง (Intercropping)
3) ระบบวนเกษตร (Agroforestry)
4) ระบบเกษตรผสม (Mixed Farming)
เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบระบบที่เลือกทำ ยิ่งถ้าสวนไหนทำการแปรรูปเองก็จะมีรายได้ที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งทางภาคีเครือข่ายยืนยันแล้วว่า การทำพืชร่วมยางสร้างมูลค่าได้มากกว่าพืชเชิงเดี่ยวจริงๆ โดยภายในปี 2565 กยท. ตั้งเป้าขยายสวนยางยั่งยืนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ให้ได้ถึง 30,000 ไร่ ใครอยากเห็นว่าหน้าตาของต้นแบบพืชร่วมยางที่ประสบความสำเร็จและเป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ t.ly/BdCm
การผลิตอาหารให้มีคุณภาพและปลอดภัย
อีกความน่ากังวลจากวิกฤตขาดแคลนอาหารก็คือ ‘ปัญหาสุขภาพ’ ของคนใต้ที่มีแนวโน้มจะแย่ลงเรื่อยๆ
เนื่องจากผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยระหว่างปี 2558 – 2559 โดยองค์การยูนิเซฟ และสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ‘ภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน’ ของเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี ในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสมีมากถึง 13 เปอร์เซ็นต์ และ 11 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยภาวะขาดสารอาหารยังกระทบต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและการพัฒนาสมองของเด็กในจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ด้วย
อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพเกิดจากสาเหตุ ‘อาหารไม่ปลอดภัย’ เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่คนใต้บริโภค เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ล้วนมีสารปนเปื้อน ทำให้ชาวใต้ต้องเจ็บ ป่วย เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดเรื้อรังและมะเร็งมากถึง 1.2 ล้านคนต่อปี ส่วนภาคการเกษตรที่ใช้สารเคมีเป็นหลัก ยังทำให้เกษตรกรมีสารตกค้างเสี่ยงอันตรายมากถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ นอกจากการเพิ่มพื้นที่อาหาร ทางภาคีเครือข่ายยังส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยการใช้ ‘เกษตรอินทรีย์’ หรือกรรมวิธีทางธรรมชาติที่ไม่ใช้สารพิษหรือสารเคมีในการผลิต ซึ่งนอกจากจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อทั้งสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค วิธีนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศของชุมชนด้วย
เกษตรกรในจังหวัดสงขลาที่หันมาทำพืชร่วมยางควบคู่กับเกษตรอินทรีย์ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า แนวทางนี้ช่วยให้พวกเขามีรายได้มากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน
‘จรูญ พรหมจรรย์’ เจ้าของสวนยางยั่งยืน 10 ไร่ กล่าวว่า “การทำพืชร่วมยางทำให้ได้ผลผลิตอาหารใช้ในครัวเรือนและขายส่วนที่เหลือ สุขภาวะในครอบครัวดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น พออยู่พอกิน ไม่มีหนี้สิน ใช้สิ่งที่ผลิตเองเป็นหลัก เพราะคิดว่าปลอดภัย มีภูมิคุ้มกันสุขภาพเบื้องต้น”
อีกเสียงมาจาก ‘ปฎิญญา อิบรอเห็น’ เจ้าของสวนยางยั่งยืน 17 ไร่ “การทำพืชร่วมยางทำให้มีผลผลิตปลอดภัยสำหรับขายและบริโภคในครอบครัว มีภูมิคุ้มกันด้านอาหารและสุขภาพ และผมยังได้เป็นวิทยากรเผยแพร่ประสบการณ์ มีความสุขทั้งกายและใจ ส่วนพื้นที่การเกษตรก็มีสิ่งทดแทนธรรมชาติเข้ามาเอง เช่น เห็ดต่างๆ ที่เกื้อกูลอยู่กับต้นไม้ เช่น เห็ดเผาะ เห็ดชะโงก เห็ดขอบ เห็ดปลวก เห็ดตับเต่า เป็นต้น”
การสร้างชุมชนสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภาคใต้ไม่ได้มองแค่การพัฒนาวงการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของชุมชนโดยรวมด้วย เพราะในปี 2565 มีนโยบายล่าสุดอย่าง ‘การพัฒนาชุมชนสีเขียว’ ซึ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวทางของเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร และเกษตรธรรมชาติ เพื่อทำให้ชุมชนมีอาหารเพียงพอและปลอดภัย มีผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ ส่วนเกษตรกรก็พึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
ชุมชนสีเขียวไม่ได้เน้นกิจกรรมทางการเกษตรอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมกระบวนการอื่นๆ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การเพิ่มมูลค่าให้สินค้า รวมไปถึงการใช้ระบบผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
การขับเคลื่อนชุมชนสีเขียวจึงเป็นเหมือนนโยบายใหญ่ที่ส่งเสริมเกษตรกรรมและการเป็นอยู่ของผู้คนอย่างหลากมิติ ทางภาคีเครือข่ายจะเริ่มนำร่องดำเนินงานชุมชนสีเขียวใน 31 ตำบลของ 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง ชุมพร และภูเก็ต โดยชุมชนสีเขียวแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1) ชุมชนสวนยางยั่งยืน หมายถึงการปรับระบบเกษตรกรรมให้หลากหลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำการตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และต้องรักษาทรัพยากรให้คนรุ่นถัดไป
2) ชุมชนเกษตรอัตลักษณ์ หมายถึงการกำหนดตัวตนหรือสร้างจุดขายให้แก่ชุมชนเกษตร เช่น ชุมชนในนราธิวาสสามารถทำให้ ‘สาคู’ เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ผ่านการอนุรักษ์ป่าสาคู แปรรูปแป้งสาคู จำหน่ายข้าวเกรียบสาคู เป็นต้น
3) ชุมชนประมงยั่งยืน หมายถึงชาวประมงในชุมชนประกอบอาชีพและใช้ชีวิตตามแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับมาใช้ระบบที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศ เชื่อมโยงการผลิตกับการตลาดอย่างยุติธรรม และต้องรักษาทรัพยากรให้คนรุ่นถัดไป
4) ชุมชนลุ่มน้ำสีเขียว หมายถึงการคิดพื้นที่ทั่วไปรวมกับพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งครอบคลุมมากกว่าตำบลใดตำบลหนึ่ง เช่น ลุ่มน้ำปากบางภูมี ที่ครอบคลุมหลายตำบลในอำเภอควนเนียงและอำเภอรัตภูมิของจังหวัดสงขลา เป็นต้น
5) ชุมชนท่องเที่ยวสีเขียว หมายถึงชุมชนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางและบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมของชุมชน และสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวไปในตัว
นโยบายชุมชนสีเขียวกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการและพัฒนาโมเดลในพื้นที่ต่างๆ เบื้องต้นทางคณะทำงานวางแผนดำเนินงานนโยบายนี้ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2566 – 2570) ต้องติดตามกันต่อไปว่านโยบายนี้จะส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และสร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติให้แก่ภาคใต้ได้มากน้อยขนาดไหน
การใช้นวัตกรรมนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบ
นอกจากตัวอย่างโครงการของภาคีเครือข่ายที่เราเล่ามา ภาคใต้ยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านนวัตกรรมนโยบายจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ ‘Thailand Policy Lab’ ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร รวมไปถึงความยั่งยืนในมิติอื่นๆ ของภาคใต้เช่นกัน
Thailand Policy Lab คือห้องปฏิบัติการนโยบายที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสององค์กรอย่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยมีเป้าหมายสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ นำกระบวนการคิดใหม่ๆ มาออกแบบนโยบายใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และเท่าทันบริบทของโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงแทบจะตลอดเวลา
ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ต้องการนำนวัตกรรมนโยบายไปช่วยเหลือพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ในการออกแบบนโยบายที่จะแก้ปัญหาสังคมมิติต่างๆ ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องระบบอาหารและการเกษตรในท้องถิ่นชายแดนใต้ด้วย
เพราะเชื่อว่าการขาดแคลนอาหารคือวิกฤตที่ซับซ้อนและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือวิธีแก้ไขปัญหาวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น ทำให้ UNDP และ Thailand Policy Lab ได้ยกห้องปฏิบัติการไปที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อร่วมออกแบบนโยบายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) จากภาคอาหารและการเกษตรในจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงท้องถิ่น เช่น เกษตรกร ชาวประมง เยาวชน ศิลปิน นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และบริษัทต่างๆ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับระบบอาหารในท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหามิติอื่นๆ อย่างเช่น ความยากจน สุขภาพ การศึกษา และความเหลื่อมล้ำในสังคมภาคใต้ด้วย
นวัตกรรมเชิงนโยบายหลักๆ ที่ Thailand Policy Lab นำไปใช้ในกิจกรรมครั้งนี้ ได้แก่
1) การวาดแผนที่เชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Mapping) : เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพใหญ่และเข้าใจว่า ตัวเองอยู่ตรงไหนของแผนผัง เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือกลุ่มคนไหนบ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม
2) การจำลองบุคคลเพื่อเห็นหน้าผู้ใช้นโยบาย (Personas) : การออกแบบตัวละครสมมติเพื่อให้เห็นว่า ผู้ใช้นโยบายจริงๆ เป็นแบบไหน มีความต้องการอย่างไร และนำข้อมูลไปต่อยอดออกแบบนโยบายอีกที
3) การเชื่อมต่อเพื่อเห็นภูมิทัศน์ของนโยบาย (Connecting Horizontal Dots) : กิจกรรมรวบรวมแนวทางแก้ไขปัญหาและนวัตกรรมจากทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และเอกชนที่ขับเคลื่อนงานระบบอาหารและการเกษตรในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการระบุตำแหน่งแห่งที่ของการดำเนินโครงการโดยแบ่งออกเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ระบบสนับสนุน พร้อมทั้งวิเคราะห์จุดเชื่อมโยงเพื่อทำงานร่วมกัน
4) การวาดแผนที่เส้นทางนโยบายของรัฐและประชาชน (Policy Journey Map) : กระบวนการที่ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ปัญหาและความยากลำบากในแต่ละขั้นจากทั้งฝั่งภาครัฐและประชาชน เพื่อนำไปออกแบบหรือปรับปรุงนโยบาย
5) โมเดลภูเขาน้ำแข็งเพื่อถอดรากสาเหตุของปัญหา (Iceberg Model/Causal Layered Analysis) : วิธีคิดและการแก้ปัญหาให้ตรงจุดผ่านการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง เพื่อให้เห็นว่าบริบทของปัญหาคืออะไร ที่มาของปัญหาอยู่ตรงไหน นำไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และถึงรากสาเหตุของปัญหา
Thailand Policy Lab เชื่อว่า การขาดแคลนอาหารของภาคใต้คือวิกฤตที่ซับซ้อนและไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จึงได้นำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยในกระบวนการคิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) จากภาคอาหารและการเกษตรในจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงท้องถิ่น เช่น เกษตรกร ชาวประมง เยาวชน ศิลปิน นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ รวมไปถึงบริษัทต่างๆ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับระบบอาหารในท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหามิติอื่นๆ อย่างเช่น ความยากจน สุขภาพ การศึกษา และความเหลื่อมล้ำในสังคมภาคใต้ด้วย
ใครที่อยากเข้าใจมากขึ้นว่านวัตกรรมเชิงนโยบายของ Thailand Policy Lab มีส่วนช่วยในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของภาคใต้อย่างไร ชมวิดีโอสรุปกิจกรรมได้ที่ t.ly/c38E
Sources :
Public Policy Institute, Prince of Songkla University | bit.ly/3A660yu, bit.ly/3QvZlEA, bit.ly/3dn7Xyy, bit.ly/3pk0kf4
Thailand Policy Lab | thailandpolicylab.com
เพ็ญ สุขมาก