คุณรู้ไหมว่าอาหารที่ร้านผลิตเกินมาในแต่ละวันถูกจัดการอย่างไร?
สำหรับคนที่ชอบเดินซูเปอร์มาร์เก็ตช่วงค่ำๆ จะเห็นหลายร้านนำอาหารที่ยังคุณภาพดีเหล่านี้มาติด ‘ป้ายเหลือง’ และลดราคาในช่วงสุดท้ายของวัน แต่ก็ยังมีอีกหลายร้านเช่นกันที่แม้จะมีอาหารเหลือจำนวนมาก แต่พวกเขาเลือกที่จะทิ้งโดยเสียเปล่าเพราะเป็นมาตรการด้านความสะอาดและเพื่อรักษามาตรฐานของร้าน
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การทิ้งอาหารที่ยังคุณภาพดีเหล่านี้ทำให้เกิด ‘ขยะอาหาร (Food Waste)’ ปริมาณมากในแต่ละวัน แค่ลองคิดเล่นๆ ว่าแต่ละร้านต้องทิ้งอาหารวันละ 1 กก. ทั้งเดือนก็ไม่ต่ำกว่า 30 กก. และถ้าทุกร้านมีขยะที่ต้องทิ้งทุกวัน กรุงเทพฯ จะมีขยะอาหารเยอะมากแค่ไหน?
จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถนำอาหารส่วนเกินเหล่านี้มาทำเป็น ‘อาหารป้ายเหลือง’ และขายผ่านช่องทางเดลิเวอรีได้ ทำให้ผู้คนในเมืองนี้ได้เข้าถึงอาหารคุณภาพดีในราคาที่ถูกลง และยังมีส่วนช่วยในการลดขยะอาหารที่เกิดขึ้นในทุกๆ วันได้อีกด้วย
คอลัมน์ Debut สัปดาห์นี้เราจะพาไปรู้จักกับ ‘Food Matter’ แพลตฟอร์มสั่งอาหารส่วนเกินจากร้านอาหารที่ทำให้คนเมืองเข้าถึงอาหารคุณภาพดีในราคาที่ถูกลง เหมือนได้เข้าไปเดินเลือกซื้ออาหารป้ายเหลืองในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยตัวเอง
ธีสิสนี้ออกแบบโดย กรีน-เมธพร ทุกูลพาณิชย์ บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ CommDe (Communication design) กรีนเป็นผู้เห็นถึงปัญหาของอาหารส่วนเกินที่เหลือทิ้งจากร้านอาหารในแต่ละวัน เธออยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขยะ และอยากทำให้ผู้บริโภคในเมืองนี้มีทางเลือกในการกินมากขึ้นด้วย จึงทำแอปฯ ฉบับทดลองใช้ 11 วันขึ้นมาเพื่อดูว่าจะช่วยลดขยะอาหารในเมืองนี้ได้มากแค่ไหน ทดลองใช้เว็บไซต์ได้ที่นี่ www.foodmatterth.com
สารคดีสั้นปี 3 ตัวจุดประกายการตระหนักรู้
กรีนเล่าว่าตอนที่ตัดสินใจเลือกทำธีสิสเกี่ยวกับ Surplus Food หรืออาหารส่วนเกินนั้น ไม่ใช่เพราะเพิ่งมาสนใจประเด็นดังกล่าวในช่วงปีที่ 4 แต่มันถูกต่อยอดมาจากหนังสารคดีสั้นที่เธอได้มีโอกาสทำในรายวิชาหนึ่งในช่วงปีที่ 3 มาก่อนหน้านี้
ด้วยความที่พื้นฐานความชอบของกรีนเป็นคนชอบทำและกินอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้เมื่อต้องตัดสินใจทำหนังสารคดีขึ้นมาหนึ่งเรื่อง จึงไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับอาหารและร้านอาหารอย่างที่ตัวเองชอบ
“ตอนนั้นมีโอกาสได้ไปเจอกับ เชฟต้อยติ่ง-กานต์ตา สิทธิธรรม ที่เคยทำงานที่ร้าน Noma ร้านอาหารใน Copenhagen ที่เคยได้อันดับหนึ่งของโลกจาก The World’s 50 Best Restaurants พอได้คุยก็เริ่มรู้สึกว่ามุมมองของเขาน่าสนใจ เพราะการเป็นเชฟอาหาร Fine Dining เขาจะคัดส่วนที่ดีที่สุดมาใช้ในการทำอาหาร ทำให้เกิด Food Waste เยอะมาก” กรีนเล่า
ทำให้เธอตัดสินใจพูดถึงปัญหาขยะอาหารที่เหลือทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นจากร้านอาหาร หรือจากการบริโภคของผู้คนทั่วไปผ่านสารคดี และจากหนังสารคดีสั้นเพียง 3 – 4 นาทีที่เล่าเรื่องปัญหา Food Waste ในตอนนั้นนี่เอง ที่ทำให้กรีนตัดสินใจนำประเด็นนี้มาทำอีกครั้ง ในธีสิสที่ชื่อ Food Matter แพลตฟอร์มสั่งอาหารที่ต้องการจะช่วยให้โลกมีขยะอาหารน้อยลง ผสมกับการเล่าเรื่อง Surplus Food และ Food Waste ที่มากขึ้น ด้วยความตั้งมั่นที่อยากให้คนที่ได้รับสารนั้นนอกจากได้ความรู้แล้ว ยังสามารถเป็นส่วนช่วยในการลด Food Waste ในชีวิตประจำวันได้จริงด้วย
8 เดือน จากแนวคิด สู่แพลตฟอร์มที่ใช้ได้จริง
กรีนเล่าคอนเซปต์ของตัวธีสิส Food Matter ให้เราเข้าใจอย่างง่ายๆ ด้วยการให้ทุกคนลองนึกภาพถึง ‘อาหารป้ายเหลือง’ ที่ขายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป ซึ่งอาหารเหล่านี้ที่จริงแล้วยังเป็นอาหารทานได้ เว้นแต่ว่าเป็นอาหารปรุงสุกวันต่อวัน ทำให้ไม่สามารถเก็บค้างคืนไว้ขายในวันถัดไปได้ และหากไม่มีการซื้อขาย ก็จะกลายเป็นขยะในที่สุด
“จากเดิมที่คนต้องเดินไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อไปซื้ออาหารป้ายเหลือง ก็สามารถสั่งอาหารป้ายเหลืองหรือที่เรียกว่า Surplus Food ได้ผ่าน Food Matter ของเรา ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมร้านอาหารที่อยากจะช่วยลดขยะจากอาหารที่จะเกิดขึ้น” กรีนกล่าว
กว่าธีสิสนี้จะออกมาเป็นรูปเป็นร่างตามความตั้งใจของกรีน ก็กินเวลาเกือบ 8 เดือน ตั้งแต่ขั้นตอนการรีเสิร์ชทำแบบสอบถามเพื่อตามหา Insight ของผู้บริโภคในไทย ที่พบว่าส่วนใหญ่มักจะเหลือเศษอาหารในแต่ละมื้อ ไปจนถึงเริ่มทำ Business Model Canvas แก้ปัญหาพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย และปล่อยตัวเว็บไซต์ Food Matter ให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ทดลองใช้กัน
และในช่วงระหว่างการรีเสิร์ชนี่เอง ที่ทำให้เธอได้พบเข้ากับคำตอบจากแบบสอบถามฉบับหนึ่งที่ทำให้ไอเดียของการทำ Food Matter ชัดเจนยิ่งขึ้น
“หลังจากที่ได้อ่านข้อความหนึ่งในแบบสอบถามที่เป็นข้อความจากเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เขาทำร้านอาหารมานาน เห็น Food Waste ที่ต้องทิ้งในแต่ละวันตลอดเลย”
จากประโยคง่ายๆ ทำให้กรีนย้อนกลับมามองที่ต้นทางอย่างร้านอาหารมากขึ้น แทนที่จะเป็นหน่วยครัวเรือนอย่างที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก และลงมือสร้างเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่จะเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่อยากมีส่วนร่วมให้การช่วยลดปริมาณขยะขึ้นมาในที่สุด
โดยในตัวเว็บไซต์ที่ได้มีการปล่อยให้ทดลองใช้สั่งอาหารจริงๆ นั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของตัว Prototype ของแอปพลิเคชันทั้งหมดของ Food Matter เท่านั้น เธอดึงเอาเพียงส่วนที่ใช้สำหรับการสั่งอาหารออกมาสร้างให้เกิดขึ้นได้จริงภายในระยะเวลา 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 – 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา และเปิดให้สั่งซื้อได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลา 18.00 – 19.00 น. เป็นระยะเวลา 11 วันเท่านั้น
“ผลลัพธ์ก็คือ เราสามารถช่วยลดตัว Surplus Food จากร้านอาหารที่เป็นพาร์ตเนอร์กับเราได้มากถึงสองร้อยแปดสิบเอ็ดออเดอร์ คิดเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ก็คือทุกชิ้นที่เราเอามาขาย สามารถขายได้หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นจากร้าน Tokyo Land, นายกอล์ฟ ปาท่องโก๋, Pleased Yoghurt Bar หรือ Drop by Dough” กรีนกล่าว
โดย 3 กลุ่มผู้ใช้หลัก ได้แก่ กลุ่มคนสาย Eco-friendly ผู้ที่ชอบอาหารลดราคา และคนทั่วไปที่อยากลองสัมผัส Experience ใหม่ๆ ในการใช้งาน รวมไปถึงเหล่า Influencer และ KOL ที่ช่วยโปรโมต ต่างก็ให้กระแสตอบรับที่ดีมากทั้งต่อตัวโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์
นอกจากนี้ กรีนยังบอกอีกว่าได้รับฟีดแบ็กที่ดีทั้งในเรื่องของการออกแบบ UX UI ว่าใช้งานง่าย รวมไปถึงกิมมิกน่ารักๆ อย่างการบอกปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ผู้ใช้สามารถลดไปได้แตกต่างกันในแต่ละครั้งที่สั่งอาหาร เนื่องจากมีการคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์โดยอิงจากอาหารที่สั่งซื้อในแต่ละครั้ง รวมไปถึงระยะทางขนส่งจาก Hub กลาง โดยใช้ SKOOTAR ที่สามารถปักหมุดใกล้ๆ กัน เพื่อให้การส่งแต่ละครั้ง ลดปริมาณมลภาวะได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
และจากการคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่สามารถลดไปได้ใน 11 วันทำการ ผ่านการคำนวณสูตรโดยอิงจากส่วนผสมอาหารของร้านค้าที่มาพาร์ตเนอร์ด้วย Food Matter มีส่วนช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ไปได้ถึง 130 กิโลกรัม
Food Matter มากกว่าแค่ตัวกลางสั่งอาหารส่วนเกิน
แค่พูดว่า Food Matter ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเราและร้านค้า เพื่อช่วยให้เราได้รับอาหารที่ต้องการในราคาที่ถูกลง แล้วช่วยร้านค้าในการลดปริมาณอาหารส่วนเกินในแต่ละวันได้ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากแล้ว แต่ความจริงตัว Prototype ของ Food Matter มีความน่าสนใจมากกว่านั้นมาก
มากขนาดจนเราที่นั่งฟังกรีนเล่ารายละเอียดทั้งหมดของแอปพลิเคชัน แล้วคิดตามว่าถ้าในอนาคตมันถูกพัฒนาและสร้างออกมาให้ใช้งานได้จริงก็คงจะดีไม่น้อย
แอปพลิเคชัน Food Matter จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่เปิดให้สั่งซื้ออาหาร เหมือนที่ปล่อยตัวทดลองมา และส่วนของ Community ที่อยู่ในตัว Prototype สำหรับธีสิส
ส่วนที่ 1 สำหรับสั่งอาหาร
เป็นตัวกลางระหว่างร้านอาหารพาร์ตเนอร์ และผู้บริโภค โดยจะมีการสอบถามปริมาณอาหารส่วนเกินของแต่ละร้านจริงๆ และรวมสต็อกมาไว้ที่ Hub ส่วนกลาง ก่อนจะเปิดให้ผู้ใช้กดสั่งซื้อ เพื่อกระจายสินค้าจากจุดเดียวออกไป ด้วยขนส่งอย่าง SKOOTAR จากนั้นตัวแอปพลิเคชันจะคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เราช่วยลดในแต่ละครั้งที่สั่ง และแปลงเป็นคะแนนไว้ใช้แลกส่วนลดค่าอาหารหรือค่าขนส่งในครั้งถัดไป
ส่วนที่ 2 สำหรับ Community
ที่เป็นแหล่งรวมคนที่ใช้แอปพลิเคชัน และมีความสนใจในปัญหา Food Waste ให้เข้ามาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมสนุกไปด้วยกัน ผ่าน 3 รูปแบบที่แตกต่างออกไป คือ
- Challenge ที่มีเกมสนุกๆ มิชชันที่ทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าวให้หมดจาน หรือแยกขยะ และอัปโหลดรูปเพื่อสะสมคะแนนเก็บไว้
- Ranking คือการนำคะแนนที่สะสมผ่านการสั่งอาหาร หรือการเล่นเกม มาเรียงลำดับแข่งกันกับผู้ใช้แอปฯ คนอื่นๆ โดยยิ่งคะแนนสูงเท่าไหร่ ยิ่งได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
- Board เป็นแหล่งรวบรวมบทความน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และตัวช่วยง่ายๆ ที่จะทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น รวมไปถึงสามารถแสดงความคิดเห็น หรือแชร์ทริกส่วนตัว เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้ด้วย
เพราะฉะนั้น Food Matter จึงไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มสำหรับสั่งอาหารส่วนเกิน แต่ยังเป็นพื้นที่ที่รวมเอาความรู้ ความสนุก และผู้คนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันมาไว้ด้วยกัน
ธีสิสจบ ความตั้งใจยังอยู่
ถึงแม้ว่าจะผ่านช่วงเวลาของการปล่อยตัวเว็บไซต์ Food Matter ให้คนเข้าไปสั่งอาหารมาได้สักพักใหญ่แล้ว กรีนก็ยังไม่ได้ละทิ้งความตั้งใจเดิมของเธอ แต่เพราะการที่จะรวมร้านค้าและทำให้แอปพลิเคชันเป็น Operate มากขึ้น อาจจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม รวมไปถึงการทำในส่วนของ Community ให้สามารถใช้งานได้จริง
อีกทั้งในส่วนของการให้ลูกค้าได้เลือกอาหารที่ต้องการในราคาที่ถูกลงได้จริง และช่วยลดปริมาณ Surplus Food ก็ยังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความตั้งใจของกรีนตั้งแต่ต้น หากในอนาคตสามารถต่อยอดออกไปได้ เธอก็หวังว่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยโลกของเราได้
“ในอนาคตก็อยากให้โซเชียลมีเดียของ Food Matter ได้ดำเนินต่อไป อาจเสนอคอนเทนต์ตามความตั้งใจเดิมของเราตั้งแต่แรกที่อยากจะสร้างการรับรู้ให้คนในสังคมมองว่า Food Waste กำลังเป็นปัญหาอยู่จริง” กรีนกล่าวทิ้งท้าย