รอบเดือนเป็นสิ่งที่ผู้มีประจำเดือนทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังกลายเป็นส่วนหนึ่งในปัญหาขยะจากผ้าอนามัย เพราะโดยปกติแล้วผ้าอนามัยทั่วๆ ไปประกอบด้วยพลาสติกถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และเพียงแค่ในสหราชอาณาจักรก็มีการใช้กว่า 3,000 ล้านชิ้น สร้างขยะมากถึง 200,000 ตัน นี่ยังไม่นับรวมทั้งโลกเลย
‘Fluus’ แบรนด์ผ้าอนามัยจากสหราชอาณาจักรจึงมองหาวิธีช่วยลดขยะและลดการฝังกลบ ด้วยผ้าอนามัยชิ้นแรกที่สามารถทิ้งลงชักโครกเพื่อให้สลายตัวไปกับน้ำ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวผ้าอนามัยเท่านั้น แต่กระดาษห่อและกระดาษรองก็ทิ้งลงชักโครกได้ด้วยเหมือนกัน
ผ้าอนามัยของ Fluus ประกอบไปด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มจากการใช้เส้นใยจากพืชเพื่อให้ผ้าด้านบนและด้านล่างนุ่มเป็นพิเศษ ระบายอากาศได้ดี ช่วยให้รู้สึกแห้งสบาย และพอลิเมอร์ชีวภาพที่ช่วยให้เลือดซึมเข้าสู่แผ่นรองได้อย่างรวดเร็ว ไม่เลอะเทอะ ส่วนกาวที่ยึดผ้าอนามัยก็ทำมาจากเยื่อไม้ที่ไม่เป็นพิษ และมีคุณสมบัติกระจายตัวในน้ำได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ระบบน้ำอุดตัน
เมื่อทิ้งผ้าอนามัยลงไปในชักโครก การเคลื่อนที่ของน้ำจะดึงชั้นต่างๆ ของผ้าอนามัยออกจากกัน จากนั้นจะนำไปบำบัดที่ศูนย์บำบัดน้ำพร้อมกระดาษชำระและสิ่งปฏิกูลที่สลายตัว เกิดเป็นน้ำสะอาด พลังงานทดแทน และปุ๋ย
การฝังกลบขยะจากผ้าอนามัยอาจใช้เวลากว่า 500 ปีในการย่อยสลาย ในขณะที่ Fluus สามารถทำให้ผ้าอนามัยสลายไปได้ในพริบตา นอกจากปัญหาขยะแล้ว Fluus ยังช่วยลดปัญหาการทิ้งผ้าอนามัยหากห้องน้ำที่เราเข้าไปใช้งานไม่มีถังขยะ หรือบางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจหากต้องทิ้งผ้าอนามัยที่บ้านคนอื่น
Sources :
DesignTAXI | bit.ly/42F3Cez
Fluus | wearefluus.com