“แล้วฉันควรจะทำยังไง ห๊ะ”
หลังจากฟังท่อนสุดท้ายของเพลง ‘ควรจะทำยังไง (Dead End)’ ซิงเกิลล่าสุดของ fluffypak จบ เรารู้สึกถึงอะไรบางอย่าง เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย อาจจะเป็นความเศร้า หรือความอึดอัดใจบางอย่างซ่อนอยู่ลึกๆ ในใจของคนฟังอย่างเราที่เพลงนี้นำพาให้เอ่อล้นขึ้นมาก็เป็นได้ ด้วยเนื้อเพลงตรงไปตรงมา และเสียง Synthesizer กระแทกใจเหมือนเจ้าของเพลงอยากจะระเบิดอารมณ์ออกมาในตอนท้าย ทำให้ต้องกดฟังเพลงนี้ซ้ำอีกครั้งเพื่อหาคำตอบ
การพบกันครั้งแรกของเรากับเจ้าของเพลงอย่าง ณภัค นิธิพัสกร หรือ ‘ภัค fluffypak’ นั้นแตกต่างจากความรู้สึกแรกที่เราได้ฟังเพลงเนื้อหาเร้าอารมณ์นี้อย่างสิ้นเชิง ภัคมาถึงสถานที่สัมภาษณ์อย่างรีบร้อน แต่ก็ทักทายทุกคนในห้องด้วยความสดใส fluffypak ศิลปินจาก MILK! Artist Service Platform โปรเจกต์สนับสนุนศิลปินอิสระของค่าย What The Duck
“ดนตรีเป็นเหมือน Safe Space ของเราที่ทำให้เรารู้สึกไปตามเสียงดนตรี ได้ระบาย ได้อยู่กับตัวเอง”
ตั้งแต่มัธยมต้นภัคชอบฟังเพลงร็อก และมีวงดนตรีที่ชอบคือ Bodyslam พอเพลงป็อปเกาหลีเข้ามาก็ฟังตามเพื่อนๆ แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นขาร็อกเพราะภัคก็ยังฟังวงดนตรี Brit-rock อย่าง Arctic Monkeys ด้วย แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้ชมภาพยนตร์ ‘Season Change ฤดูที่แตกต่าง’ ทำให้ภัคตัดสินใจเข้าเรียนต่อวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาดนตรีแจ๊ส สถานที่ที่ทำให้ได้ค้นพบแนวเพลงที่ชื่นชอบใหม่ๆ คือเพลงคลาสสิกยุคโรแมนติกอย่าง Chopin รวมถึงได้ทำวงดนตรีกับเพื่อนอย่างจริงจัง ถึงจะต้องแยกย้ายกันไปในที่สุด
แต่เพราะความ ‘หลงใหลในดนตรี’ ทำให้ภัคตัดสินใจทำงานสายดนตรีต่อไปจนได้มาพบกับ MILK! และทุกๆ ประสบการณ์ด้านดนตรีที่ผ่านมาหล่อหลอมทำให้เกิดเป็น ‘fluffypak’ ศิลปิน Synth-pop ในวันนี้
การเขียนเพลงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งสำหรับศิลปินในช่วงนี้ ที่ไม่สามารถออกไปหาแรงบันดาลใจข้างนอกอย่างอิสระ แต่สำหรับภัคแล้ว ขอแค่มุมเงียบๆ ให้ได้อยู่กับตัวเองก็เปลี่ยนเรื่องราวในหัว ให้ออกมาเป็นเนื้อเพลงโดนใจได้แล้ว เพราะเรื่องราวเหล่านั้นถูกบันทึกเก็บไว้ในรูปแบบของ ‘ความรู้สึก’
“เวลาเขียนเพลง ส่วนใหญ่เราเขียนจากสิ่งที่เรารู้สึก เหมือนดึงความรู้สึกในช่วงเวลาหนึ่งมาใช้ เขียนเสร็จในเวลาสั้นๆ ด้วยซ้ำ ไม่ได้ทำเพลงนานๆ หรือไม่ได้มีคอนเซปต์อะไร รู้สึกอะไรก็เขียน”
แล้วทำไมถึงชอบเขียนเพลงเศร้า
“เพราะเวลาที่เศร้าแล้วเราอยากจะระบายมันออกมา เป็นช่วงเวลาที่เราอยู่กับตัวเอง เขียนเพลงออกมา ตอนมีความสุขก็ไปทำอย่างอื่น กินข้าว กินชาบู เลยไม่ค่อยมาเขียนเพลง”
หากถามถึงมวลความรู้สึกขณะแต่งเพลง ‘ควรจะทำยังไง (Dead End)’ แล้ว ภัคเล่าว่า มันเป็นมวลความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกที่รู้ทุกอย่างว่าควรต้องทำอย่างไรเพื่อให้ผ่านช่วงเวลาเศร้านี้ไป แต่อึดอัดใจที่ไม่สามารถเอาตัวเองออกจากความสัมพันธ์นี้ได้สักที สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบ เพราะแต่งเสร็จแล้วก็ยังเศร้าอยู่เหมือนเดิม
“แล้วฉันควรจะทำยังไง กับความรักที่มันหนักใจ มันไม่มี มันไม่มีทางออก”
เพลงหลายเพลงใช้ดนตรีสร้างอารมณ์ร่วมและมักมีความหมายซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดให้คนฟังตามหาแล้วค่อยๆ อินไปกับมัน แต่เพลงนี้กลับเป็นบทบรรยายตรงไปตรงมาที่สุดสำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหา ‘ความรักที่มันหนักใจ’ ไม่สามารถเดินออกจากความสัมพันธ์ที่จบไปแล้ว แต่ความรู้สึกภายในใจยังไม่จบไปตามสถานะ เหมือนเราหา ‘ทางออกจากความสัมพันธ์นี้’ ไม่เจอ โดยมีดนตรีเป็นส่วนเสริมให้เนื้อหามีมิติมากขึ้น
จริงๆ แล้วเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นในปี 2016 ความรู้สึกที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของเพลงนั้นเรียกได้ว่าเป็นเหมือนแผลสด แต่เวลาก็ผ่านมากว่า 5 ปี เราเลยอยากรู้ว่าสุดท้าย อะไรคือคำตอบของคำถามว่า ‘ควรจะทำยังไง กับความรักที่มันหนักใจ’ ซึ่งสำหรับภัคคำตอบคือ “เวลา + ใจเรา”一เวลา จะช่วยให้ความรู้สึกที่มันเข้มข้นค่อยๆ จางลง แต่ ใจเรา ต้องพยายามผ่านมันไปให้ได้ในแต่ละวันด้วย ทั้งสองอย่างนี้คงจะช่วยให้ผ่านพ้นความเศร้าไปได้
อย่างนั้นแล้วหากให้ภัคฝากถึงนางเอก MV ‘ควรจะทำยังไง (Dead End)’ ที่เป็นเหมือนตัวแทนคนเศร้าในช่วงนี้ ภัคอยากจะฝากอะไร
“อยากบอกว่า เดี๋ยวเวลาจะช่วยทำให้ความรู้สึกตอนนี้มันจางไปนะ ช่วงนี้อาจจะยากหน่อย แต่ว่าสู้ๆ ผ่านมันไปให้ได้”
แล้วถ้าเวลาภัคเจอปัญหาที่ไม่รู้ว่า ‘ควรจะทำยังไง’ พี่ภัคจะไปปรึกษาใคร
“เราจะโทรไปคุยกับเพื่อน เราจะมีเพื่อนอยู่หลายแบบ เราจะรู้ว่าต้องโทรไปหาคนไหนเวลาที่รู้สึกแย่สมมติเรามีปัญหาแต่ไม่ได้อยากได้ทางออก แค่ต้องการพูดให้ใครสักคนฟังแล้วเขาเออออกับเราก็ต้องเป็นคนนี้ หรือถ้าอยากได้คนช่วยเรียกสติให้เรากลับมาเห็นความจริงได้ ก็จะโทรหาอีกคน การได้พูดคุยกับใครสักคนนั้นช่วยมากๆ หากผ่านไปด้วยตัวเองไม่ได้”
ฤทธิ์ไว้ช่วยเยียวยารักษาใจก็เป็นหนึ่งในสรรพคุณของดนตรี แต่อีกหน้าที่คงเป็นเครื่องขยายความรู้สึก ที่พอฟังเพลงแล้วความรู้สึกกลับเด่นชัดกว่าเดิม
“เราว่าดนตรีมันช่วยฮีลจิตใจ ดูแลเรา เช่นเพลงให้กำลังใจช่วยให้เราสู้ต่อกับสิ่งต่างๆ แต่ในบางครั้งมันก็ขยายสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่ให้ใหญ่ขึ้น เช่นเวลาอินเลิฟแล้วฟังเพลงรัก โลกก็กลายเป็นสีชมพู หรือเวลาฟังเพลงเศร้า บางครั้งก็ร้องไห้ เป็นเหมือน Amplifier”
หากมองให้เพลง ‘ควรจะทำยังไง (Dead End)’ เป็นเพื่อนคนหนึ่งหรือมีหน้าที่สักอย่างหนึ่งแล้วคงเป็นเหมือน Amplifier เครื่องหนึ่งที่ยิ่งเพิ่มความดังของความรู้สึกอึดอัดในใจให้ระเบิดออกมาในตอนท้าย หรือหากจะให้เป็นเพื่อนสักคนก็คงเป็นเพื่อนที่คอยรับฟังปัญหาและพยักหน้าอย่างเข้าอกเข้าใจเราอย่างที่ภัคว่า
ช่วงนี้สถานการณ์ไม่เอื้อ ให้พบปะผู้คนได้ยากขึ้น ไม่สามารถไปเยียวยาจิตใจในคอนเสิร์ตหรือในการแสดงดนตรีสด ยิ่งทำให้ผู้คนห่อเหี่ยวกันเข้าไปใหญ่ สิ่งที่พอจะช่วยฮีลใจคนดูได้ก็คงเป็นมิวสิกวิดีโอเพลง ที่ถึงจะไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนเวลาฟังเสียงจากลำโพงในฮอลล์คอนเสิร์ต แต่ทั้งภาพและเสียงก็ก่อให้เกิดความสุนทรียะที่มากกว่าการฟังเพลงผ่านแอปฯ สตรีมมิงเฉยๆ
ทันทีที่มิวสิกวิดีโอเพลง ‘ควรจะทำยังไง (Dead End)’ ปรากฏขึ้นบนหน้าจอในห้องสัมภาษณ์ ก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นอายเพลงยุค 2000 อย่างชัดเจน ทั้งการตัดต่อและเรื่องราวที่ร้อยเรียงออกมาเป็นภาพ เมื่อมาประกอบเข้ากับเพลงแล้วยิ่งทำให้อินมากขึ้นไปอีก
“เราไม่ได้มี Ref. เวลาทำเพลง แค่ลองทำไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าจะออกมาเป็นยังไง พอผู้กำกับได้ฟัง DEMO ของเพลงนี้แล้วนึกถึงเพลงยุค 2000 เขาก็เลยอยากลองทำ MV ไปในทางนั้น ซึ่งเราก็โอเคน่าสนุก”
“เอ็มวีทำให้เกิดภาพจำกับเพลงวัยเด็ก เพลงยุคนั้นเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเรามา”
ความตั้งใจแรกของภัคคืออยากใช้กลองไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความเป็นยุค 2000 ให้มิวสิกวิดีโอ แต่พอได้ลองอัดแล้วลงตัวที่การผสมกันของกลองไฟฟ้าและกลองจริงมากกว่า และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้มาโดยไม่คาดคิดจากการอัดเพลง คือเสียงร้องของ ‘มัด’ น้องคอรัสผู้ชายที่ Ad-lib ขึ้นมาในช่วงท้ายของเพลง ภัครู้สึกว่ามันใช่มากเพราะช่วยให้เพลงมีความเข้ากับยุคนั้นขึ้นไปอีก
นอกจากภัคแล้ว เพลงเศร้ายุค 2000 คงเป็นสิ่งที่ตรึงใจหลายๆ คนไม่ต่างกัน เพราะจริงๆ แล้วในยุคนี้เพลงที่เป็นที่นิยมขึ้นท็อปชาร์ต ก็เป็นเพลงเศร้าเสียส่วนใหญ่ สำหรับภัคแล้ว ทำไมคนถึงชอบฟังเพลงเศร้ากัน?
“เราว่ามันมีความเสพติดอยู่ประมาณหนึ่ง พอเราไปอยู่ในโน้ตนั้นแล้วมันรู้สึกดี รู้สึกเศร้าแต่รู้สึกดี บางคนไม่ได้เศร้าอะไร แต่พอฟังเพลงแล้วเศร้าทิพย์ เป็นเหมือนอารมณ์ร่วม ไม่ได้อยากได้คำปลอบใจ แม้แต่เราเองเราก็พบว่า เออ เราอยากเศร้านี่หว่าเวลาฟังเพลงเศร้า”
“ฟังเพลงเดิม ๆ แล้วนึกถึงวันที่ยังคงมีเรา”
“ภัคเลือกท่อนนี้ให้เป็นท่อนที่ชอบที่สุดในเพลง เพราะมันน่าจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนเป็นแหละ ที่จะชอบฟังแต่เพลงเก่าๆ เพลงเดิมๆ หรือบางทีก็แอบมีคนบางคนซ่อนอยู่ในเพลงเก่าๆ นั้นอยู่ เราเองก็ชอบฟังเพลงเดิมๆ ในเวลาที่อยากนึกถึงเรื่องเก่าๆ อดีตที่มันหอมหวาน แต่คนเรากลับไปฟังเพลงเดียวกันก็นึกถึงเรื่องไม่เหมือนกันหรอก
“เราอยากเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ทำเพลงออกมาแล้วคนฟังอินตามไปด้วย อยากให้เพลงของเราเป็น Theme Song ในช่วงเวลาที่มีความหมายกับเขา ไม่ว่ามันจะดี จะแย่ แบบฟังเมื่อไหร่ก็คิดถึงตอนนั้นนะ หรือในช่วงเวลาที่มีค่ากับชีวิตมากๆ เลยของเขา ก็อยากให้เพลงของเรามีความหมายกับเขา เหมือนที่เพลงของเรามีความหมายกับเราเหมือนกัน”
ในอนาคตคงได้ฟังเพลงที่ทำให้เกิด ‘ความรู้สึก’ หลากหลายมากขึ้นจาก fluffypak เพราะนอกจากเพื่อนที่คอยนั่งฟังเรื่องเศร้าของเราแล้ว ภัคตั้งใจจะทำเพลงแนวให้กำลังใจโดยมีดนตรีสดใสบ้างเหมือนกัน เผื่อเพลงเพลงนั้นจะได้เป็นเพื่อนยามที่เราอยากได้ใครสักคนมาช่วยหาคำตอบให้กับปัญหาในชีวิต