คุยกับน้องฝึกงาน งานที่ฝัน vs งานที่ทำให้อยู่รอด - Urban Creature

คาดว่าพิษจากโควิด-19 จะทำให้นักศึกษาจบใหม่เสี่ยงตกงานถึง 5 แสนคน 

“ล้มตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม” คือประโยคที่คงอธิบายความรู้สึกของเหล่านักศึกษาจบใหม่ หรือใกล้จะจบที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยทำงานได้อย่างดี เพราะบาดแผลใหญ่ที่เกิดจากการระบาดโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ คือ ‘พิษเศรษฐกิจ’ ที่ยังไม่สามารถหาทางฟื้นตัวได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลาเยียวยานานถึง 2 ปี และแน่นอนว่านั่นส่งผลกระทบกับจำนวนเก้าอี้ทำงานของคนไทยนับล้าน 

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการพัฒนาแรงงาน (Thailand Development Research Institute หรือ TDRI) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้คนไทยมีแนวโน้มตกงานสูงกว่า 3-4 ล้านคน ในขณะที่นักศึกษาจบใหม่อาจเสี่ยงตกงานมากถึง 5 แสนคน ตัวเลขที่เห็นสูงจนน่าตกใจ โดยเฉพาะกับเหล่านักศึกษาจบใหม่ที่คงเคว้งอย่างไร้ที่ยึด เราจึงชวนน้องฝึกงานรุ่นที่ 4 ของ Urban Creature ทั้ง 3 คนมาล้อมวงคุยถึงความกดดันต่างๆ ที่ต้องแบกไว้บนบ่า และเส้นทางการทำงานในวันข้างหน้าที่เรียกว่าเปรียบได้กับถนนซึ่งโรยด้วยเสี้ยนหนาม

เอิร์ธ – ธนาดล เอื้อศิริศักดิ์ | กราฟิกผู้ลองมาแล้วทุกสนามออกแบบ

เอิร์ธ คือน้องฝึกงานจากคณะวิทยาลัยนานาชาติ สาขาการออกแบบการสื่อสารดิจิทัล มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ชอบศิลปะ และมุ่งมั่นกับการอยากขอลองฝึกทำกราฟิกให้ครบทุกรูปแบบ

ความตั้งใจของเอิร์ธพุ่งไปยัง ‘วงการศิลปะ’ เกือบทั้งหมด เมื่อได้เข้ามหาวิทยาลัย น้องจึงเลือกเรียนด้านการปั้นเซรามิก แต่เมื่อลองเรียนได้หนึ่งเดือนก็ค้นพบว่า ศิลปะแขนงนี้ไม่ตอบโจทย์ เอิร์ธจึงตั้งสินใจหยุด และไปทดลองใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้เห็นโลกของงานศิลป์ ก่อนกลับมายื่นเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้งที่ยังคงไม่ละทิ้งแพสชั่นในศิลปะที่เขามี

“ผมไปอยู่กับลูกพี่ลูกน้องที่อเมริกา เขาทำงานด้านกราฟิกเหมือนกัน เวลาทำงานกราฟิก ดีไซน์ออกมาชิ้นหนึ่ง จะได้จดลิขสิทธิ์ เหมือนงานนี้เป็นของแบรนด์นี้นะแต่เป็นชื่อเขา ถ้าเขาลาออกไปแล้ว แต่แบรนด์ต้องการนำมาใช้อีก เขาก็จะได้รับเงินมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างจากที่บ้านเรามากๆ ครับ ที่คนยังไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าของศิลปะ”

ได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นไปแล้วว่าเอิร์ธคือเด็กซิ่ว เราจึงอยากรู้ว่าน้องคิดเห็นอย่างไร กับประโยคที่บางคนมักพูดว่า “ซิ่วเหรอ ? เด็กมันไม่ทนนี่หว่า”

“ผมไม่ว่าอะไรนะ แล้วแต่ความคิดใคร ความคิดมันว่ามองเด็กซิ่วยังไง แต่สำหรับผม รู้สึกว่าถ้าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ มันก็ไปต่อไม่ได้ครับ”

รู้สึกว่าพลาดโอกาสอะไรบ้างไหม ? 

“พลาดเยอะมากในสองปีที่ผ่านไป อย่างด้านการเงิน ตอนนี้ถ้าผมไม่ซิ่ว ผมสามารถไปทำงานหาเงินได้แล้ว แต่ว่าโอกาสตรงนั้นมันเหมือนหายไป แล้วก็ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน บางทีเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนหรือความสัมพันธ์ต่างๆ มันก็ขาดหาย เช่น ช่วงที่คนอื่นทำงานกันแล้วผมยังเรียนอยู่ บางทีมันก็หายไปเพราะว่าชีวิตมันคนละแบบกันแล้วนะจุดนั้น”

แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้งานศิลปะสักชิ้นออกมาดี นั่นคือการฝึกฝน เพื่อพัฒนาฝีมือ ซึ่งเอิร์ธบอกกับเราว่า ช่วงระยะเวลาฝึกงานที่มหาวิทยาลัยมีให้นั้นไม่พอ และหากจะให้พอสำหรับการเรียนรู้ ต้องให้เวลานักศึกษาฝึกงานอย่างน้อยสามเดือน 

“ถ้าเพียงเดือนเดียวผมว่ามันไม่พอนะ อย่างผมมาได้ฝึก ผ่านไปเดือนหนึ่งก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้อะไรที่พอใจเลยครับ และแม้สองเดือนจะได้อะไรเยอะแล้ว แต่หากสามเดือนจะทำให้เข้าใจถึงการทำงานของบริษัทมากขึ้น ดังนั้นสามเดือนน่าจะเป็นเวลาที่กำลังดีครับ”

เมื่อได้ลองทำ ได้ลองคิดงานด้านกราฟิก สิ่งต่างๆ บอกให้เอิร์ธรู้ว่า อาชีพกราฟิก คือคำตอบที่ใช่ แม้ตอนแรกอยากทำงานกราฟิกในสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เมื่อมีคนบอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย เลยหันมาดูทางคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น และเมื่อชอบขนาดนี้ สื่งนี้เป็นพรสวรรค์ของเอิร์ธหรือเปล่า 

“ผมไม่ได้มองว่าเป็นพรสวรรค์ เพราะรู้สึกว่างานทางด้านกราฟิก ต้องรู้หลักการ รู้วิธีการทำ มันจึงเป็นพรแสวงมากกว่าครับ คือเราอาจจะไม่ได้เก่งมันทันที แต่ก็ใช้เวลาฝึกฝนมากๆ จนสามารถเก่งได้ตามเวลาที่ฝึกมา แต่อาจจะไม่ได้เร็วเท่าพรสวรรค์ครับ”

คิดว่าพรสวรรค์และพรแสวงสำคัญสำหรับการทำงานยุคนี้ไหม ?

“สำคัญครับ โดยเฉพาะสำหรับสายงานทางด้านกราฟิก ผมมองว่าพรแสวงคือพอร์ต ถ้าเรามีพอร์ตที่ดีหรือว่าเราฝึกฝนมันไปนานๆ แล้วเราเอาไปใส่พอร์ตเพื่อยื่นไปบริษัทที่เราต้องการจะทำ เราก็จะมีโอกาสสูงมากกว่าที่จะไปอยู่ในบริษัทนั้นได้”

งานที่ใช่ vs งานที่ทำให้รอด

จากที่คุยกันมาสักระยะ เอิร์ธคือน้องที่มีภาพในวันข้างหน้าในโลกการทำงานชัดเจนพอสมควร แต่ในทางกลับกัน แม้ความตั้งใจจะชัดแค่ไหน แต่ความกลัวที่จะตองเผชิญกับโลกการทำงานก็เคียงคู่มากับภาพที่คิด

“ผมกลัวเมื่อถึงวันที่ต้องทำงานนะ อย่างถ้าเราจบมาแล้วจะมีงานทำไหม หรือมันจะเป็นงานที่เราชอบหรือเปล่า เพราะถ้าเอาตามจริง ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ลึกๆ แล้วผมก็อยากทำในสิ่งที่ผมรัก ทำในสิ่งที่ผมอยากทำมากกว่าที่จะไปอยู่กับงานที่มั่นคงแต่ตัวเองไม่ได้รักเลย”

แต่ถ้าในวันที่เลือกงานไม่ได้ เพราะคนตกงานเป็นล้าน เอิร์ธยอมได้ไหมถ้าต้องทำงานที่ไม่ใช่ ? 

“ก็คงต้องเลือกงานที่ทำให้มีชีวิตรอดได้ เพราะยุคนี้เงินทองสำคัญครับ แล้วผมคงหางานที่ผมชอบ พวกกราฟิก งานศิลปะอื่นๆ เป็นงานอดิเรก หรือรับหรือรับฟรีแลนซ์เอา แต่ว่างานประจำที่จำเป็นต้องใช้เงินก็คงทิ้งไม่ได้”

แปลว่างานที่ใช่ที่สุดมัน ไม่ได้แปลว่าจำเป็นที่สุดสำหรับเด็กจบใหม่ ?

ใช่แต่ไม่ทั้งหมดครับ แม้ยุคนี้งานจะหายากมาก ซึ่งถ้าคนที่ได้งานที่ตรงสายจริงๆ ตรงกับสิ่งที่หวัง ก็คงโชคดีมากเลย แต่อีกด้านเรายังมีทางในการทำสิ่งที่เรารักได้อยู่ และถ้าผมมีโอกาสก็จะพยายามวิ่งไปคว้ามา

ยุคที่งานหายาก และเงินก็ได้มายากไม่แพ้กัน การที่เงินเดือนของเด็กจบใหม่จะพอกับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ อาจเป็นไปได้ยาก แต่เอิร์ธบอกกับเราว่า ถ้าเกิดการพัฒนาที่ดี วันนั้นจะมีขึ้นมาได้

“ผมว่าวันนั้นมีได้นะ แต่ประเทศต้องพัฒนาไปมากกว่านี้ ถ้าวัดจากประเทศตอนนี้ ยังไงก็ไม่มีทางได้เงินเดือนพอกับค่าครองชีพอยู่แล้วครับ มันเป็นเหมือนเดิมมาตลอดเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่าถ้าประเทศเราพัฒนาขึ้น เงินเดือนเราก็ขยับขึ้นตามแน่นอน และค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพต่างๆ ก็จะลดลง”

อีกประเด็นหนึ่งที่อยู่คู่กับเด็กจบใหม่ คือเรื่องของบริษัทที่ยึดเอามหาวิทยาลัยที่เด็กจบเป็นที่ตั้ง เอิร์ธแชร์มุมมองเรื่องนี้กับเราว่า จากการเล่นโซเชียล เช่น ในทวิตเตอร์มีคนจำนวนไม่น้อยมาตีแผ่เรื่องนี้กันเยอะพอสมควร บ้างก็ว่าบริษัทนี้รับแค่เด็กจบจากมหาวิทยาลัยนั้น บ้างก็ว่าเขามองแต่เกรด และถึงบางบริษัทจะบอกว่าไม่สนใจเกรดหรอก ให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่า แต่เอิร์ธคิดว่าก็ต้องมีบ้างที่เหลียวมองเกรดและชื่อมหาวิทยาลัย

น้องฝึกงานที่มีอาวุธประจำกายเป็นแว่นกรอบกลมทิ้งท้ายกับเราว่า แม้ความสุขในการทำงานจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกินการอยู่ก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นในวันหนึ่งถ้าไม่ได้เริ่มทำงานกับสิ่งที่ฝัน เอิร์ธคงยอมทำไปก่อน แต่จะไม่ทิ้งความตั้งใจที่มีอย่างแน่นอน และยังเอิร์ธคงหวังให้ความเป็นเด็กจบใหม่ ไม่ต้องเผชิญกับความกลัวเรื่องไม่มีงานทำ หรือตกงานอย่างที่เป็นอยู่เหมือนทุกวันนี้

จับอิก – ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์ | ครีเอทีฟที่เขียนและถ่ายได้

จับอิก คือนักศึกษาฝึกงานจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สาขาวิชาการออกแบบสนเทศสามมิติ  (3D-Based Communication Design) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มาเพื่อฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ พร้อมขอเก็บสกิลการเขียนติดตัวไปด้วย น้องคือเด็กอารมณ์ดีที่มีรอยยิ้มกว้างๆ เป็นเอกลักษณ์ แต่ลึกๆ แล้วเแอบกังวลกับโลกแห่งการทำงานอยู่ไม่น้อย 

มีอาชีพในฝันหรือยัง ? เราเริ่มบทสนทนากับจับอิกด้วยคำถามที่เด็กกำลังจะเรียนจบต้องเจอ ซึ่งจับอิกตอบกลับมาพร้อมเสียงหัวเราะว่า “สุดยาก” เพราะอาชีพในฝันของจับอิกคือการทำงานด้าน UX Research ที่ได้วิเคราะห์พฤติกรรมบางอย่าง แต่ตัวเองกลับไม่ได้เต็มที่กับมันขนาดนั้น สเกลฝันจึงเล็กลงสู่การเป็น ‘นักเขียน’ 

“มีครั้งหนึ่งอิกนั่งคุยกับเพื่อนเรื่องการทำงาน แล้วก็ลองเปิดไดอารี่ให้เพื่อนดู เพื่อนก็บอกว่า มึงเขียนไม่แย่นะ ลองไปทำงานเขียนสิ นี่ก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่อิกเลือกมาฝึกงานที่นี่ด้วย ซึ่งเราก็ได้รู้ว่า เรายังอยู่รุ่นบิกินเนอร์ (หัวเราะ)”

คำตอบที่ว่า “เขียนไม่แย่นะ” ชวนให้นึกถึงคำว่า พรสวรรค์ เลยถามน้องกลับไปว่า หาพรสวรรค์ตัวเองเจอหรือยัง น้องบอกว่า ตอนเด็กๆ คิดว่าพรสววรค์คือคนที่เล่นกีตาร์ได้ดี คนที่วาดรูปสวยมากๆ โดยไม่ต้องฝึกเป็นชั่วโมง แต่เมื่อโตขึ้นจนถึงวัยที่ใกล้เข้าสู่การเป็นบัณฑิต วิธีคิด และการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลมาจากการได้เปิดกว้างทางความคิดในวัยมหา’ลัย และค้นพบว่า

“พรสวรรค์คือสิ่งที่ทำได้ดี ทำแล้วไม่รู้สึกทรมาน” 

อย่างไรก็ตามจับอิกก็มองว่า แม้จะมีพรสวรรค์แล้ว แต่ พรแสวงนั้นสำคัญกว่าเป็นไหนๆ เพื่อทำให้สิ่งที่เราทำได้ดีมันโตเต็มร้อย

“ตัวอิกเอง ตอนแรกก็ไม่รู้นะครับว่าพรสวรรค์ของตัวเองคืออะไร (หัวเราะ) เราต้องใช้เวลาค้นหา ทำนู่นนี่ แสวงหาจนเจอ สุดท้ายแล้วก็พบว่า พรสวรรค์มาคู่กับสัญชาตญาณ แต่มันก็ขาดพรแสวงที่จะมาช่วยเติมพรสวรรค์ให้ดีอย่างมีความสุขไปไม่ได้ อย่างถ้าอยากรู้อะไร อิกจะพยายามแสวงหาจนตัวเองได้รู้ หรือเรื่องการถ่ายรูปที่ชอบ ก็เริ่มจากซื้อกล้องมาลองถ่ายโดยที่ไม่ได้เรียน จากนั้นก็ไปฝึก ไปเรียนถ่ายรูปเพิ่มเติม”

งานที่ใช่ vs งานที่ทำให้รอด

เมื่อรู้อาชีพในฝัน แต่ในยุคที่ฐานเศรษฐกิจกำลังล้ม การได้มาซึ่งงานกลายเป็นเรื่องยากขึ้นอีกหลายเท่า รวมทั้งแรงกดดันรอบตัวที่มี ทำให้ภาวะคล้ายตกงานที่ยังไม่ได้เริ่มเกิดขึ้น คำตอบระหว่างงานที่ใช่กับงานที่ทำให้รอดของจับอิกจึงคือ งานที่ทำให้รอด

ถ้าจบแล้วต้องตกงานเลย คงคิดอะไรไม่ออก ต้องพังไม่เป็นท่าตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสู่โลกแห่งการทำงาน แม่งโคตรน่ากลัวเลยพี่

ที่เรียนมาตลอดหลายปีก็คงพัง แต่เราก็ต้องใช้ชีวิตต่อ ต้องออกไปหางาน อิกเห็นพี่หลายคนเครียดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มันมีอะไรที่มากกว่าเรื่องที่เป็นตัวเอง มันน่ากลัว

“อิกเลยรู้สึกว่า งานอะไรที่ทำให้เรามีชีวิต ถ้าทำได้ก็ทำไปก่อน งานหายากแน่ๆ เพราะบริษัทคงมองหาคนที่ทำอะไรได้หลายๆ อย่าง เหมือนเป็ดเลย (หัวเราะ) แต่เราก็ต้องยอมให้รู้รอบถึงจะไม่ถนัด”

แล้วจะทนกับงานที่ไม่ชอบได้เหรอ ? 

“ก็คงต้องทนไปก่อนครับ เพราะตัวเองไม่ได้มีทุนที่จะมารอโอกาสอะไรขนาดนั้น อีกอย่างเรื่องเงินมันสำคัญ อาจเพราะเราโตมากับโลกทุนนิยมด้วย (หัวเราะ) ถ้ามีอะไรมาก็ต้องทำก่อน แล้วถ้าวันหนึ่งมีจังหวะและโอกาสที่ใช่ ก็คงกลับไปหางานที่ฝันไว้ครับ” 

คิดว่าเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะพอกับการใช้ชีวิตของเด็กจบใหม่ ? 

“ส่วนใหญ่เริ่มต้น 12,000-15,000 บาท ใช่ไหม แต่อิกรู้สึกว่าไม่พอตั้งต้นชีวิต ซึ่งตัวเราเองมองว่าประมาณ 25,000 บาท เพื่อให้มีชีวิตรอดและมีเงินเก็บ แต่บริษัทก็จะมองว่าเยอะ เพราะเด็กจบใหม่ประสบการณ์เป็นศูนย์ แต่ถ้าเรามีพอร์ตที่ดี ให้เขาเห็นผลงานเป็นรูปธรรมไปแลก อิกว่ามันก็คุ้มที่จะแลกเปลี่ยนกันนะ เพราะส่วนตัวอิกมองว่า จำนวนปีของประสบการณ์ ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี ถ้าไม่มีผลงานให้เขาเห็นเลย มันก็จะกลายเป็นแค่ช่วงเวลาที่คุณบอกใครต่อใครว่า คุณอยู่ในแวดวงนี้มานานแค่ไหนแล้วครับ”

เราจบการสัมภาษณ์จับอิกด้วยคำว่า งานที่มั่นคง จับอิกยืนยันว่าไม่ค่อยเชื่อกับความมั่นคงเท่าไหร่ เพราะแค่พลิกนิดเดียวมันก็ไปได้ง่ายๆ ถึงแม้บริษัทจะมีสวัสดิการดีให้ แต่ในระยะยาวมันไม่มีอะไรมั่นคง น้องเลยมองว่า ความมั่นคงคือการทำงานที่ไม่ทรมานกับใจตัวเอง เพราะแม้เงินสำคัญ แต่ความสุขหรืองานที่ตอบโจทย์ก็คือความมั่นคงในการทำงานนั้นๆ เช่นกัน

ปาล์ม – เอกบุรุษ ศรีอัชรานนท์ | นักเขียนที่อยากเรียบเรียงเรื่องราว

เรื่องเครียดปนสนุกเกี่ยวกับโลกแห่งการทำงานในอนาคตต่อเนื่องมาถึงน้องฝึกงานคนสุดท้ายอย่าง ปาล์ม น้องฝึกงานที่มีพลังล้น จากสาขาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตที่อยากเรียนรู้วิธีถ่ายทอดสารที่มีให้ออกมาได้ดั่งใจคิด 

น้องเริ่มเล่าเรื่องราวย้อนไปสมัยประถมฯ ที่ได้การบ้านเป็นการวาดวงจรชีวิตกบ แต่ไม่สามารถวาดสิ่งที่ถูกใจออกมาได้ เด็กชายปาล์มในวันนั้นร้องไห้ จนจุดประกายสู่การขอคุณแม่เรียนวาดรูป ทำให้มีฝันอยากเป็นจิตรกรมาตั้งแต่นั้น และนี่คือพรสวรรค์ที่เด็กชายปาล์มบอกว่ามาคู่กับพรแสวง เพราะน้องหมั่นฝึกฝน เดินสายประกวดวาดภาพจนได้เกียรติบัตรเป็นร้อยใบ แม้สอบเข้ามัธยมก็ใช้ความสามารถพิเศษด้านวาดรูป เลยมั่นใจว่าจะพุ่งตรงสู่การติวเข้าเฉพาะทางเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เพราะสอบตรงไม่ติดคณะที่ฝัน เลยตัดสินใจเรียนด้านกราฟิก ที่มหาวิทยาลัยรังสิต 

“การเรียนของปาล์มไปได้ดีในช่วงปี 1 ที่วาดมือทุกอย่าง งานของเราอยู่กลุ่มเกรดเอเลยครับ แต่เมื่อขึ้นปี 2 ต้องใช้โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ ถึงแม้ว่าจะพอทำได้ แต่ตัวปาล์มเองรู้สึกว่ายังทำมันไม่ได้ดี จนรู้สึกว่าทนทำไปก็ไม่มีความสุข ปาล์มเลยตัดสินใจซิ่วไปเรียนคณะนิเทศน์ฯ แทน แต่ทุกวันนี้ก็ยังวาดรูปได้นะ เพราะปาล์มเชื่อว่าทุกคนมีลายเส้นเฉพาะตัวครับ” 

ช่วงที่ซิ่วจากการเรียนครั้งแรก ปาล์มเลือกกลับไปช่วยที่บ้านทำงาน ซึ่งข้อดีในความคิดน้อง คือการมองเห็นโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น ได้ลองใช้ชีวิต ได้เห็นว่าอะไรดีและไม่ดี จนพอมีภูมิต้านทานการใช้ชีวิตและเข้าสังคมติดตัว ในทางกลับกัน สิ่งนี้ก็คือความเสียเปรียบเช่นกัน น้องบอกกับเราว่าแม้เด็กจบใหม่ที่อายุน้อยกว่าบางคนจะต้องเรียนอย่างหวานอมขมกลืนก็ตาม แต่เขาเหล่านั้นจะมีเวลาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมากกว่า เพราะการทำงานมันคือการเริ่มนับหนึ่งใหม่

งานที่ใช่ vs งานที่ทำให้รอด

เส้นทางฝันที่มีมาตั้งแต่เด็กสู่ตอนนี้ที่อาชีพในฝันเปลี่ยนไป จิตรกรน้อยในวันนั้น เบนเข็มมาหาการทำงานด้าน Content Creator เพราะอยากเติมเต็มชีวิตด้วยการนั่งคุยกับผู้คน

“พอเริ่มกลับมาเรียน ปาล์มเลือกสาขาวารสารฯ เพราะรู้สึกว่ามันคือแก่นแท้ของการสื่อสาร ปาล์มเลยอยากทำงานด้าน Content Creator ที่ได้คุยกับคน ได้พบปะคนเยอะๆ เพราะเราจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างตัวบุคคล ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว และทำให้เราได้เติมเต็มสิ่งที่เราขาดในจุดนั้น แม้จะเป็นเพียงบทสทนาเล็กๆ ก็ตาม”

คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ไหม ในสถานการณ์แบบนี้ไหม ? 

“สำหรับตัวปาล์มมันเกิดขึ้นได้นะ มองบวกไว้ก่อนครับ (หัวเราะ) แม้จะมีเด็กจบใหม่เป็นแสนคน แต่ต้องมีลู่ทางให้เราได้ทำในสิ่งที่รัก เพราะคนผลิตสื่อเป็นที่ต้องการของตลาด และเราอยู่ในโลกที่คนทุกคนสามารถเป็นสารตั้งต้นได้ ยิ่งถ้าเรารู้ลึกในด้านนั้นๆ จะยิ่งทำให้เราเป็นที่ต้องการมากขึ้น

คำตอบดูโลกสวยไหม แต่ที่ผ่านมาเราเป็นกังวลมาตลอด เอาแต่คิดว่าจะรอดไหม จะเก่งไหม แต่ท้ายที่สุดแล้วเรายังไม่ได้ลองเลย งั้นก็ไปเริ่มทำสิ ลองให้มันรู้ !

อีกด้านหนึ่ง หากมุมมองในแง่บวกที่ปาล์มคิดไว้เป็นไปไม่ได้ จนต้องทำงานที่ไม่เคยคิดฝันไว้ แต่สามารถเลี้ยงชีวิตได้ ปาล์มก็ยังยืนยันกับเราว่า จะเลือกทำ

“หลายปีที่ผ่านมาปาล์มค่อนข้างเสียเวลากับการใช้ชีวิตด้วยความคิดที่ว่า ทำไม่ได้หรอก ท้ายที่สุดเราไม่ได้พัฒนาตัวเองเลย ดังนั้นถ้าได้งานที่ไม่ตรงสาย หรือไม่ได้ชอบเลยก็อยากลองทำไปก่อน เราไม่อยากเสียเวลาอีกแล้ว เพื่อให้ตัวเองได้เรียนรู้ ด้วยอายุเท่านี้ อะไรที่ทำได้ ก็คงทำเป็นประสบการณ์ไว้ก่อน ต่อให้ได้เงินน้อยก็ตาม” 

ถ้าไม่มีงานทำจริงๆ จะรู้สึกอย่างไร ? 

“ถ้าตามแผนที่วางไว้ ปาล์มคงกลับไปค้าขายของส่งกับที่บ้าน เหมือนช่วงหนึ่งที่เราตัดสินใจพักเรียนเพื่อลองใช้ชีวิต แต่ในเศรษฐกิจแบบนี้คงเป็นเรื่องยากครับ อีกอย่างมีแนวความคิดนึงว่าอยากเรียนต่อ ซึ่งเรามีเงินเก็บก้อนนึงที่สามารถส่งตัวเองเรียนต่อได้ แต่เพื่อนในกลุ่มที่ทำงานแล้วบอกกับเราว่า จงอย่าไปเรียนต่อเพราะไม่มีงานทำ เพราะจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็คงมืดเลยนะพี่ ยอมรับว่าเราไม่ใช่เด็กจบใหม่ที่อายุ 22 เรามากกว่านั้นปีสองปี เลยต้องแข่งกับเวลาว่า ก่อนที่เราจะอายุสามสิบ เราต้องทำอะไรได้บ้าง เพื่อนำไปใช้ต่อในวันข้างหน้าได้” 

บอกลาน้องฝึกงานคนสุดท้าย ด้วยคำถามสุดท้ายว่าอะไรคือความกดดันของเด็กจบใหม่ที่พ่วงด้วยความเป็นเด็กซิ่ว คำตอบของปาล์มน่าสนใจมากทีเดียว เพราะน้องบอกว่าเราคือ ครอบครัว 

ครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ ว่าเขาจะเข้าใจเราได้มากในระดับไหน 

“เด็กคนหนึ่งจบแล้วไม่มีงานทำ แต่บางครั้งคนรอบตัวไม่รู้หรอกว่าเขาหางานมาแล้วกี่งาน ต้องเหนื่อยแค่ไหนโดยที่ไม่เคยมาถามเลย ดังนั้นถ้าครอบครัวมีความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในสภาวะแบบนี้ จะช่วยคลายความกังวล ความกดดันออกไปได้เยอะมากครับ ส่วนการเมือง เศรษฐกิจ สภาพสังคมมันก็มีส่วน แต่มันเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ปาล์มก็อยากฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นว่า เด็กจบใหม่คือฟันเฟืองสำคัญสำหรับการพัฒนา อยากให้เขาช่วยพวกเรามากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กเคว้งไปเรื่อยๆ แบบที่เป็นอยู่ครับ”


ทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ลองตอบตัวเองดูสิว่า ในสภาวะเศรษฐกิจที่ล้มลงเรื่อยๆ เป็นโดมิโน จะเลือกอะไรระหว่างงานที่ใช่ตามฝัน กับงานที่ไม่ได้ดั่งใจคิดแต่ทำให้ชีวิตอยู่รอด

และในฐานะคนที่อยู่ในวัยทำงานแล้วอย่างเรา การได้รับรู้ถึงความกดดันที่น้องๆ ต้องแบกรับ ได้รู้ว่าสิ่งที่ฝันอาจต้องพัก เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ เราจึงได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง เมื่อเอิร์ธ จับอิก และปาล์มเรียนจบ ทุกอย่างคงดีขึ้น เพื่อที่น้องฝึกงานทั้งสามของเราจะได้เดินตามสิ่งที่ใจหวังได้สำเร็จ สู้ๆ นะ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.