ปริมาณรถบนท้องถนนกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหา PM2.5 สืบเนื่องไปถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าอย่างสภาวะโลกร้อน เพราะ 14% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมาจากการคมนาคมขนส่ง การส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว
คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากแค่ไหน ?
สถิติ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 รถจดทะเบียนสะสมทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 40.7 ล้านคัน เป็นรถใช้น้ำมันเบนซิน 27.7 ล้านคัน น้ำมันดีเซล 11.3 ล้านคัน รถที่ใช้ NGV 5.3 หมื่นคัน และรถที่ใช้ NGV ร่วมหรือสลับกับน้ำมันเชื้อเพลิง 3.1 แสนคัน ขณะที่ยอดรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนสะสม มี 2.8 พันคัน เป็นรถบัสไฟฟ้า 117 คัน ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) มี 1.5 แสนคัน จากตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังมีไม่มากเท่าที่ควร อาจด้วยราคานำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูงและมีตัวเลือกไม่มากนัก
ในอีกมุมหนึ่ง การจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 ต.ค. 2562 สถิติการจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 มีจำนวนมากถึง 2.4 หมื่นคัน ซึ่งคิดเป็นกว่า 116% ของยอดจดทะเบียนปี 2561 จะเห็นได้ว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกหลายบริษัท
ลดภาษีรถ EV เหลือ 0% ส่งเสริมการผลิต
ปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ผ่านนโยบายการขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิต โดยต้องยื่นความประสงค์เข้ารับมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมีมาตรการลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าให้เหลือ 0% เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2565 รวม 3 ปี จากเดิมกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 2% เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตลงทุนเร็วขึ้น ส่วนผู้บริโภคจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง โดยประเมินว่าหากรถราคาคันละ 1 ล้านบาท จะลดลงคันละ 2 – 3 หมื่นบาท ถือเป็นราคาที่เข้าถึงได้ และเมื่อถึงปี 2566 จึงกลับไปใช้มาตรการเก็บภาษี 2% ตามเดิม
อย่างไรก็ตาม นางออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้กล่าวว่า “แม้จะมีการลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ แต่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศยังคงต้องเสียภาษีรถยนต์นำเข้าถึง 20%” นอกจากนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “อุปสรรคอีกอย่างก็คือแบตเตอรีแพงทำให้ราคาจำหน่ายสูงมาก แนวทางออกคือต้องลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง โดยสามารถลดภาษีนำเข้าทั้ง 2 รูปแบบ คือ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไม่ว่าจะเป็นอะไหล่นำเข้าหรืออะไหล่ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้ามาทั้งคัน (CBU)”
มาตรการอื่นๆ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย
ภาครัฐตั้งเป้าให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนภายใน 5 ปี โดยคาดหวังว่าปี 2573 จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 7.5 แสนคัน นอกเหนือจากมาตรการลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังได้ส่งเสริมให้มีการลงทุนเกิดขึ้นในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การใช้รถยนต์อีวีในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ และรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะไฟฟ้า (วินสะอาด) ซึ่งมีเป้าหมาย 5.3 หมื่นคันในปี 2563 – 2565 รวมถึงส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศไทยและประชาชนให้เข้าถึงอีวี (Smart City Bus) ให้ได้ 5 พันคันในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น รวมไปถึงสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์อีวี (EV Charging Stations) ที่ได้มอบให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือกันพัฒนาเพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยระยะห่างของสถานีชาร์จไฟฟ้าควรอยู่ในรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) ต่อ 1 สถานีชาร์จไฟฟ้า ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เรายังต้องจับตามองกันต่อไปว่าในอนาคตไทยจะเป็นเมืองแห่งยานยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่
Sources : โพสต์ทูเดย์ | https://bit.ly/3mWMhsB
แนวหน้า | https://bit.ly/3p4Jn6U
มติชนออนไลน์ | https://bit.ly/2IdUQA4
ไทยโพสต์ | https://bit.ly/2JI4OdZ
ไทยรัฐออนไลน์ | https://bit.ly/34ZUKoU