‘กชกร วรอาคม’ กับปณิธานออกแบบพื้นที่เพื่อผู้คน - Urban Creature

Can we fix the climate problem in one generation?

เป็นคำถามที่กชกร วรอาคม ถามกับตัวเอง

เป็นคำถามที่ทำให้เธอที่เป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ บนโลก เริ่ม ‘ลงมือทำ’ หลายสิ่งหลายอย่าง

เป็นคำถามที่เธอพูดในคลิป ที่ท่านเซอร์ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญ นำไปเปิดประกอบสปีชที่ COP26 หรือการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกชกรได้เข้าร่วมเพื่อรับรางวัลด้านการออกแบบจาก UN

เป็นคำถามที่เธอถามกับผู้คนที่มาร่วมงานประกาศเดินหน้าธุรกิจควบคู่กับการกู้วิกฤตโลกของ SCG หรือ SCG ESG Pathway เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อโลก ในครั้งนี้ และ My answer would be yes. We have to. เป็นประโยคที่เธอตอบคำถามของตัวเอง

‘กชกร วรอาคม’ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘อาจารย์กช’ ตามบทบาทภูมิสถาปนิก พ่วงด้วยอาจารย์พิเศษด้านภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นทีมงานออกแบบโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะเด่นๆ หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ, สวนหลังคาอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต, Siam Green Sky สวนเกษตรลอยฟ้า สยามสแควร์, สวนบำบัดลอยฟ้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดี, ทางเดินคนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ที่ดัดแปลงจากโครงสร้างเดิมของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน, สวนสาธารณะเลียบคลองช่องนนทรี และงานอื่นๆ อีกมากมาย

สาวแพสชันสูงคนนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีระดับโลกต่างๆ เธอเป็นคนไทย 1 ใน 3 คน ที่ติดอยู่ในลิสต์ ‘TIME 100 Next 2019’ พร้อมกับเป็น 1 ใน 15 Women Leading the Fight with Climate Change ในนิตยสารหัวเดียวกัน และอย่างที่เล่าไปข้างต้น ล่าสุดเธอได้รับรางวัลด้านการออกแบบจาก UNFCCC Global Climate Action Award 2020 ที่งาน COP26

กชกรโดดเด่นทั้งในระดับประเทศทั้งในระดับสากล เธอมาพร้อมกับผลงานและตำแหน่งพ่วงเต็มกระเป๋า แต่หากต้องนิยามสั้นๆ เราอยากจะเรียกเธอว่า มนุษย์ผู้หวังดีต่อโลก

​8 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ทาง SCG ได้จัดงาน ‘SCG ESG Pathway เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อโลก’ ขึ้น ที่ SCG สำนักงานใหญ่บางซื่อ โดยเนื้อหาของงานในครั้งนี้คือการประกาศเดินหน้าธุรกิจควบคู่กู้วิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน ทรัพยากรขาดแคลน และลดความเหลื่อมล้ำ ชูธง ESG 4 Plus ‘มุ่ง Net Zero (ภายในปี 2050) – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ’ เน้นความเป็นธรรมและความโปร่งใสในทุกการดำเนินงาน ซึ่ง ESG (Environmental-Social-Governance) นี้เป็นกรอบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลก ซึ่งมีเป้าหมายในการร่วมกันพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อโลกที่ดีกว่า และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน

ภายในงานมี Inspiration Talk จากเหล่าผู้ลงมือทำเพื่อโลกหลากหลายเจเนอเรชัน และหลายบทบาทในสังคม ซึ่งกชกรเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ที่ได้ขึ้นไปแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาให้โลกบนเวที

“สโคปงานของภูมิสถาปนิกก็มีหลากหลาย แต่สิ่งที่อาจารย์ฝันอยากจะ Expert คือการทำพื้นที่สาธารณะหรือ Public Space เพื่อผู้คน” ภูมิสถาปนิกสาวเล่า เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ ถามถึงความเป็นกชกร หลังจากที่เวที SCG ESG Pathway จบลง

กชกรย้อนความถึงสมัยเรียนจบใหม่ๆ ที่เธอได้ไปทำงานในออฟฟิศแลนด์สเคประดับท็อปโลก แล้วเกิดคำถามกับงานที่ทำ ว่าทำไมเราต้อง Serve เฉพาะกลุ่มคนมีเงิน อย่างการออกแบบคาสิโนที่ลาสเวกัส ทำบ้านพักตากอากาศเจ้าชายซาอุฯ ที่แอสเพน หรือกระทั่งทำ White House

“มันก็ดี แต่มันไม่ Fulfill” เธอว่าอย่างนั้น

ด้วยเหตุนี้กชกรจึงอยากจะเดินหน้าทำงานเพื่อสังคม-สิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจาก KOUNKUEY Design Initiative (KDI) ที่เน้นกระบวนการในการออกแบบสลัม ออกแบบเพื่อชุมชน มาจนถึง Landprocess ที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่คิดอยากออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เอื้อกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมาทำงานด้วยกัน

“มันก็เสี่ยงแล้วก็บ้าบิ่นมากในการที่จะมาตั้งออฟฟิศแบบ Landprocess แต่ว่าสุดท้ายเมื่อเราชนะประกวดแบบ เราก็เริ่มมีงานในภาคสังคมเยอะ อย่างมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล งานภาครัฐ แล้วเราก็ได้โน้มน้าวใจผู้คนให้เชื่อในสิ่งที่เราเชื่อและโลกเชื่อ

“อยากเป็นภูมิสถาปนิกที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องโลกรวนค่ะ” กชกรมุ่งหมาย

“ตอนนี้ผู้คนในโลกมี Goal เดียวกันคือ Net Zero Carbon Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 สำหรับเราที่มีเครื่องมือเป็นภูมิสถาปัตยกรรม ก็ต้องคิดว่าเราจะใช้มันในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศเรา โลกเราไปถึงเป้าประสงค์นี้ยังไง” เธอบอกว่า ทุกคนในโลกกำลัง ‘ใส่รองเท้าเดียวกัน’ และ ‘มี Deadline เดียวกัน’ ด้วยเราทุกคนกำลังแบกรับปัญหาที่เราสร้างคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโลกตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรมีใครเพิกเฉย

กชกรพูดถึงกรุงเทพมหานคร เป็นเวลาหลายปีแล้วที่มีนักวิชาการหลากสำนักออกมาเตือนถึงประเด็นโลกรวน และ ‘น้ำท่วมกรุงเทพฯ’ ที่จะรุนแรงขึ้น ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ นั้น เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตร หากมีปริมาณน้ำฝนมาก ไปพร้อมกับที่พื้นที่กรุงเทพฯ ทรุดตัวลงต่ำจากระดับน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสาเหตุสำคัญ นั่นก็คือ ‘วิกฤต Climate Change’ ที่ทำให้น้ำเหนือมากขึ้นกว่าการคาดการณ์ และระดับทะเลหนุนสูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เมืองหลวงแห่งนี้จะจมน้ำและหายไปจากแผนที่ในอนาคต

หากยึดการวิเคราะห์ทางวิชาการที่มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยอ้างอิงเมื่อปี 2552 ซึ่งกล่าวว่ากรุงเทพฯ เหลือเวลาอีก 25 ปี ในปี 2565 เราจะเหลือเวลาอีกเพียง 12 ปี ถ้าไม่รีบลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ แล้วทำราวกับว่าทุกอย่างยังคงปกติ ก็คงเป็น ‘การสร้างความฝันบนความไม่จริง’ อย่างที่กชกรว่า ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด

ในฐานะภูมิสถาปนิกผู้ตั้งใจรักษาโลก กชกรยืนยันว่า สิ่งที่เมืองต้องการคือ ‘การเรียกคืนระบบนิเวศ ที่สร้างความยืดหยุ่นให้กับเมือง’ 

พื้นที่สาธารณะของเมืองเมืองหนึ่งนั้นบอกได้หลายอย่าง ทั้งความเชื่อ สิทธิความเท่าเทียมของที่นั่น สิ่งที่เมืองนั้นให้คุณค่า และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งอีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็คือการที่เมืองของเราขาดแคลนพื้นที่สีเขียว พื้นที่รองรับน้ำ พื้นที่ไหลของน้ำ ที่จะรองรับปริมาณน้ำ

“พื้นที่สาธารณะที่ดี ต้องดีกับคน และสิ่งมีชีวิตที่มากไปกว่าคน ซึ่งคำว่าดีกับคนนี่คือไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนะ มันต้องดีกับคนทุกกลุ่มทุกวัย แล้วก็ยังต้องนึกถึงคนที่จะตามเรามาในเจเนอเรชันต่อไปด้วย” ภูมิสถาปนิกสาวกล่าวเพิ่มถึงคุณสมบัติของพื้นที่สาธารณะที่ดี ที่มองไกลออกไปมากกว่าการตอบโจทย์การใช้งานยุคปัจจุบัน

“นอกจากนี้ มันต้องดีกับสุขภาพของสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการยึดถือสุขภาพคนเพียงอย่างเดียว เราต้องการพืชพันธุ์ ต้องการแมลง หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะช่วยเราในอนาคต ซึ่งอาจทำเป็นยาหรือเป็นอะไรก็ได้ ทุกอย่างมันเกี่ยวกันหมด สุขภาพคน สุขภาพเมือง สุขภาพผืนดิน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้”

พูดมาถึงตรงนี้ กชกรยกอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต มาอธิบายให้เราเห็นภาพ ที่นั่น เธอและทีม Landprocess ออกแบบด้วยการคิดถึงหลายปัจจัยไปพร้อมกัน เช่น การเป็นสวนสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม การทำหน้าที่เป็นปอดผลิตออกซิเจนให้คนและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่โดยรอบ การใช้ Renewable Energy (พลังงานหมุนเวียน) การชะลอน้ำไม่ให้ท่วมเมือง การคิดระบบจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่หมุนเวียนน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ได้ และการเพาะปลูกพืชออร์แกนิก เพื่อใช้เป็นอาหารในมหาวิทยาลัย

“อยากนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในชีวิตของตัวเอง มาทำให้เกิดประโยชน์งอกงามในทิศทางที่จะเป็นทางรอดของเมืองและสิ่งแวดล้อมค่ะ” กชกรหวังว่าความเชี่ยวชาญในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของเธอและทีม จะมีประโยชน์ต่อโลกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

       ​แล้วสำหรับอาจารย์กชกรแล้ว กลยุทธ์อย่าง ESG ที่เขาพูดกันบนเวทีวันนี้ ตอบโจทย์เมืองมากน้อยแค่ไหนกันนะ – เราถาม

       ​“อาจารย์ว่ามันก็ตอบในเชิงหัวข้ออยู่แล้วนะ Environmental, Social, Governance แต่อาจารย์รู้สึกว่าสิ่งที่ต้องการคือ Race to Resilience (การเร่งรัดฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ไม่หยุดหย่อน) เราต้องทำสามสิ่งนี้ให้ หนักแน่น สอดคล้อง โปร่งใส แล้วก็รีบพุ่งไปข้างหน้า เพื่อที่จะยุติวิกฤต Climate Change นี้ค่ะ”

“อาจารย์เคยใช้ CPAC 3D Printing Solution ที่ SCG ซัปพอร์ตกรุงเทพมหานคร ในโครงการคลองช่องนนทรี” กชกรเล่าถึงนวัตกรรมของ SCG ที่ลดของเสียในการผลิต ที่เธอและทีม Fab Café ใช้ในงานออกแบบพื้นที่สาธารณะ “กรุงเทพมหานคร โชคดีที่ได้ทีม Fab Cafe Bangkok อย่างอาจารย์เบลกับอาจารย์เจน (อ.กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ – อ. สมรรถพล ตาณพันธุ์) มาช่วยออกแบบ 3D Printing ด้วย ก็เลยได้งานออกแบบที่ตอบโจทย์

CPAC 3D Printing Solution นี้ เป็นเทคโนโลยีการขึ้นรูปคอนกรีตเป็น 3 มิติด้วยระบบดิจิทัลที่รวดเร็วและแม่นยำ ทำให้นักออกแบบปั้นรูปทรงได้ดั่งใจ ทั้งงานภายในและภายนอก นวัตกรรมที่มีการผลิตที่แม่นยำนี้ จะช่วยลดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากไซต์งานก่อสร้าง จึงเรียกได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรทุกชิ้นอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ก่อนหน้านี้ที่อุทยานจุฬาฯ เราก็ใช้บล็อกปูพื้นรุ่น Porous block จาก SCG ที่เป็นคอนกรีตซึมน้ำได้ น่าจะเป็นโครงการแรกๆ ที่คำนึงเรื่องพื้นที่พรุนน้ำ และนำมาใช้ในโครงการ” เธอเล่าเพิ่ม ซึ่งความพิเศษของ Porous block นี้ คือการมีช่องว่างในเนื้อคอนกรีตมากกว่าทั่วไป ทำให้น้ำไหลผ่านลงไปได้เร็ว ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขัง และส่งผลดีต่อการดูดซับน้ำของรากต้นไม้ในทางอ้อม

​เพราะการลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ SCG เชื่อว่านวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ผู้คนจะได้มีทางเลือกสำหรับสินค้าและบริการที่รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น

“SCG เป็นบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ สิ่งที่เราทำได้คือเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ขึ้นพูดบนเวทีต่อจากกชกร ถึงการมุ่งดำเนินธุรกิจตามกรอบ ESG เพื่อกู้วิกฤตโลก

ไม่ต่างกันกับเป้าหมายของภูมิสถาปนิกสาว รุ่งโรจน์ ประกาศว่า SCG เองก็มุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมลงมือแก้ไขปัญหาตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อส่งมอบโลกที่น่าอยู่ให้กับเจเนอเรชันถัดไป

กชกรกล่าวว่าเธอรู้สึกดีใจ ที่ได้มาร่วมงาน SCG ESG Pathway ได้เห็นความมุ่งมั่นของ SCG ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคเอกชน และเธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกๆ คน ไม่ว่าจะหน่วยงานเล็ก ใหญ่ จะร่วมมือกันทำเพื่อโลกด้วยเช่นกัน

“ไม่อยากให้เกิดแค่ในสเกล Corporation แต่ควรจะต้องเกิดในสเกลประเทศ สุดท้ายแล้วมันเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการสื่อสาร-เชื่อมโยงกัน ไม่ใช่แค่การที่ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น เช่น ภาคโยธาธิการจับมือกับคนทำเรื่องน้ำ จะได้ตอบไปเลยทีเดียว หรือสิ่งแวดล้อมไปจับกับโยธาธิการ การก่อสร้างจะได้ไม่ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก ว่าต้องการอะไรกันแน่

“นอกจากนี้ก็อยากให้ Policy (นโยบาย) เชื่อมกับ Action (การลงมือทำ) ให้คนในแต่ละเจเนอเรชันมองเห็นภาพร่วมกัน และเข้าใจว่าต้องทำอะไรต่อไปในปัจจุบันทันด่วน” กชกร วรอาคม มนุษย์ผู้หวังดีต่อโลกกล่าวสรุปการสนทนา

ติดตามข้อมูล ESG ของ SCG เพิ่มเติมได้ ที่ www.scg.com/esg

รับชมย้อนหลังงาน SCG ESG Pathway เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อโลก https://www.youtube.com/watch?v=4uKY54o66RQ&t=5568s

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.