บันไดเลื่อนควรหยุดยืนหรือแบ่งช่องเดินชิดขวา - Urban Creature

ช่วงเวลาไพร์มไทม์บนสถานีรถไฟฟ้าของมนุษย์เงินเดือน ต้องเข้าแถวเรียงเดี่ยวชิดขวา ปล่อยบันไดเลื่อนฝั่งซ้ายโล่งโจ้งเพื่อเป็นช่องทางเร่งด่วนให้คนรีบทำเวลา แต่การแบ่งฝั่งให้คนยืนและเดินช่วยเคลื่อนย้ายคนได้เยอะจริงหรือเปล่า

ความน่าสนใจของข้อสันนิษฐานนี้ คือข้อมูลจากเอกสารวิชาการ ‘Estimation of Capacity of Escalators in London Underground’ โดย Paul Davis และ Goutam Dutta ที่ลงพื้นที่สำรวจสถานีรถไฟใต้ดิน ‘Holborn Station’ ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารใช้งานมากถึงปีละ 56 ล้านคน พบว่ามีการแบ่งฝั่งบันไดเลื่อนสำหรับการเดินและยืน คำนวณจากความยาวบันไดเลื่อน 24 เมตร ฝั่งเดินใช้เวลา 46 วินาที และฝั่งยืนใช้เวลา 138 วินาที เพื่อไปถึงที่หมาย 

Paul Davis และ Goutam Dutta สองนักวิจัยไหว้วานให้นายสถานีขอความร่วมมือผู้โดยสารให้ยืนทั้งสองฝั่งบันไดเลื่อน ถึงแม้จะมีบางส่วนที่ยังเผลอยืนแบ่งฝั่งด้วยความเคยชินก็ตาม แต่ผลสรุปของพวกเขาพบว่า การยืนทั้งสองฝั่งใช้เวลา 59 วินาทีเพื่อไปถึงที่หมาย นั่นหมายความว่าฝั่งคนเดินจะเสียเวลาเพิ่ม 13 วินาที แต่คนยืนจะลดเวลาได้มากถึง 79 วินาที! ประหยัดเวลาไปได้ 1 นาทีกว่าๆ ก็ช่วยให้ขึ้นรถไฟทันนะเออ

นอกจากการยืนบนบันไดเลื่อนทั้งสองฝั่งจะช่วยประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยลดความแออัดของผู้คนบนสถานีก่อนขึ้น-ลงได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเคลื่อนย้ายคนได้ประมาณ 113 คนต่อนาที ส่วนการแบ่งฝั่งยืนและเดินมีประสิทธิภาพเคลื่อนย้ายคนได้ถึง 81 คนต่อนาที ยังไม่รวมถึงการยืนยังใช้พื้นที่น้อยกว่า 2 เท่าของการแบ่งฝั่งเดินและยืน เพราะฝั่งยืนต้องใช้พื้นที่ 3 ตร.ฟุตต่อคน ขณะที่ฝั่งเดินต้องใช้พื้นที่ 8 ตร.ฟุตต่อคน

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย มีหลายสถานีที่ใช้นโยบายให้แบ่งฝั่งสำหรับเดินและยืน ยกตัวอย่าง ‘สถานีสยาม’ ซี่งมีผู้ใช้บริการวันละ 112,600 คน หรือปีละ 41 ล้านคน ช่วงเวลาพีก 08.00 – 08.30 น. และ 17.00 – 20.00 น. เรียกว่าคนแน่นจนต้องร้องขอชีวิต เพราะเป็นสถานีเชื่อมต่อจุดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งการใช้บันไดเลื่อนเต็มพื้นที่ด้วยการยืนทั้งสองฝั่งอาจเสียเวลาเพิ่มสักเล็กน้อยสำหรับคนรีบ แต่มันเป็นตัวเลือกที่ช่วยเคลื่อนย้ายคนและลดความแออัดได้มากที่สุด 

รวมไปถึงบันไดเลื่อนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อคนยืนทั้งสองฝั่ง เพราะบันไดเลื่อนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักจากการเดิน ดังนั้น ถ้าใครไม่อยากเสียเวลาเพิ่มจากการต่อคิวหรือยืนเฉยๆ บนบันไดเลื่อน การใช้ ‘บันได’ ก็ช่วยทำเวลาได้เช่นกัน


Sources : 
Estimation of Capacity of Escalators in London Underground | https://bit.ly/3cOruVS
Independent | https://bit.ly/31QTxxy
Modelling Evacuation using Escalators : a London Underground Dataset | https://bit.ly/3dBEkWF

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.