‘เห็นใจ’ จนลืมมองปัญหาใต้พรม - Urban Creature

ความเห็นใจ คือคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนควรมี ทุกคนถูกสอนมาแบบนั้นกันใช่หรือเปล่า ?

มนุษย์ดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึก หลายครั้งที่เรายกให้มันอยู่เหนือเหตุผลอย่างไม่มีสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือภาวะความรู้สึกที่เรียกว่า ความเห็นใจ (Empathy) ซึ่งบางครั้งเราใส่ความรู้สึกกับบางเรื่องลึกเกินไป จนลืมมองปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ความเห็นใจ (Empathy) คือความรู้สึกร่วมที่เรามีต่อเรื่องราวต่างๆ ของคนอื่น เราทดลองสวมบทบาทให้ลึกลงไปในความรู้สึกของใครคนนั้น คล้ายว่าเราเป็นเสาอากาศยื่นยาวออกไปรับสัญญาณความรู้สึกของคนอื่น นั่นเพราะร่างกายเรามี ‘เซลล์สมองกระจกเงา’ (Mirror Neurons) ที่ทำให้เรารู้สึกร่วมโดยอัตโนมัติ เช่น หาวตามคนอื่น เศร้าไปกับเขา รวมถึงเกิดความเห็นใจ ซึ่งแน่นอนว่า ความเห็นใจคือกุญแจดอกสำคัญที่ดี และช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข 

.

| ความเห็นใจในมุมต่าง

ความเห็นใจมีแต่ด้านดีงั้นเหรอ ? ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกมั้ง

หนังสือเรื่อง ‘Against Empathy: The Case for Rational Compassion’ ของ ‘Paul Bloom’ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Yale ประเทศสหรัฐอเมริกาบอกเอาไว้แบบนั้น เขาเล่าว่าหลายต่อหลายครั้งที่ความเห็นใจทำให้เกิดปัญหาได้อย่างคาดไม่ถึง และความเห็นใจอาจเป็นจุดเริ่มของศีลธรรมที่ผิดก็ได้ จนอาจนำไปสู่การแบ่งแยก หรือบางครั้งความเห็นใจก็อาจพาไปสู่การช่วยเหลือแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บลูมไม่ได้บอกว่าความเห็นใจคือเรื่องไม่ดี คือสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เขาเพียงอยากให้ทุกคนเห็นใจอย่างมีเหตุผล ใส่ใจดูแลอย่างไม่ลืมที่จะคิดวิเคราะห์บริบทรอบข้างของแต่ละเรื่อง

.

| ฉวยโอกาสจากความเห็นใจ

ทำไมถึงหยิบยกอีกด้านของความเห็นใจขึ้นมาพูด แปลว่าอยากให้ทุกคนเลิกเห็นใจกันใช่ไหม คำตอบคือ ‘ไม่’ อย่างแน่นอน แต่เราอยากให้เก็บสิ่งที่บลูมนำเสนอเรื่องอีกมุมของความเห็นใจ มาวิเคราะห์กับเรื่อง ‘การบริจาค’

ลองนึกทบทวนว่าที่ผ่านมา เราบริจาคให้กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้วกี่ครั้ง ?

ปลายปีที่แล้วออสเตรเลียเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดอย่างไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยเฉพาะรัฐนิวเซาธ์เวลส์ที่กินเวลากว่าหลายเดือนก่อนไฟจะสงบลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้คนเสียชีวิต ผืนป่าสูญหาย สัตว์ป่าล้มตาย แต่ถ้าใครตามข่าวก็คงจะรู้ดีว่า ‘นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียไม่ใยดีกับเรื่องนี้สักนิด’ ไม่แม้กระทั่งจัดสรรงบประมาณดับเพลิงเพื่อป้องกันไฟป่าจนสถานการณ์รุนแรง หนำซ้ำเมื่อปี 2019 รัฐบาลยังตัดงบประมาณ 12.9 ล้าน AUD (ราว 270 ล้านบาท) จากหน่วยดับเพลิง Fire and Rescue NSW ของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ทำให้เหล่านักผจญเพลิงหลายพันคนต้องต่อสู้กับเปลวไฟร้อนระอุและเขม่าควัน อย่างไม่ได้รับค่าตอบแทน แม้จะมีค่าตอบแทนภายหลังจากการโดนเรียกร้องก็ตาม

ชาวออสเตรเลียและผู้คนทั่วโลกต่างเห็นใจ ทุ่มกันบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลายคนเจ็บใจที่รัฐบาลไม่ลงมาช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ คล้ายกับว่าเอาแต่มองดูยอดเงินบริจาคที่สูงขึ้นเรื่อยๆ บรรดาสิ่งของมากมาย และอาสาสมัครนับไม่ถ้วนทำงานกันอย่างที่รัฐไม่ต้องลงมือเอง เพราะแค่สิ่งที่บริจาคเข้ามาก็เพียงพอแล้วอย่างไรอย่างนั้น

.

| เราเห็นใจกันแต่ใครบางคนไม่เห็น

#SaveUbon #โกวิท20ชนะโควิด19
#Savechiengmai #Savechiengmai1 #Savechiengmai2 #Savechiengmai3
ท่วมท้นด้วยความเห็นใจ

หันกลับมามองความเห็นใจในสังคมไทย จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่อุบลฯ โรคระบาดโควิด-19 และล่าสุดไฟป่าภาคเหนือ ถ้ายกตัวอย่างเหตุการณ์ใหญ่ๆ ทั้งสามนี้ ทุกคนบริจาคไปแล้วเท่าไหร่ ? การตั้งคำถามแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าการบริจาคเงินช่วยเหลือเป็นเรื่องไม่ควรทำ เพราะเราก็เป็นหนึ่งคนที่บริจาคมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เราเห็นใจคนทำงาน หรือใครก็ตามที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ ทั้งยังดีใจที่ทุกคนหยิบยื่นน้ำใจ ช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ความเห็นใจที่เรามอบให้แก่กัน มันทำให้ใครบางคนที่ควรทำหน้าที่ ที่ควรจัดการ และควรแก้ปัญหาให้ได้ ละเลยเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือเปล่า

ยกตัวอย่างกรณีไฟป่าภาคเหนือ ทั้งที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ทำไมการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด มาตรการช่วยลดการเกิดไฟป่า หรือแม้แต่การเข้าเยียวยาจากรัฐถึงไม่มีให้เห็นอย่างจริงจังเสียที เราเห็นเพียงการติดป้ายประกาศห้ามเผาทุกปี แต่ก็ยังมีภาพป่าถูกเผาวอดวายเกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกคนรู้ว่าเรื่องไฟป่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ ที่บ้างตั้งใจ หรือบ้างคือเกษตรกรที่ต้องเผาป่าทำพื้นที่ทำกินเพื่อเลี้ยงชีพ และบางครั้งที่ชาวบ้านต้องชิงเผาก่อนเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ ทั้งที่รู้ แต่ก็ยังปล่อยให้เกิดขึ้นทุกปี ความเข้มงวดด้านการจัดการที่ควรเป็นกลับไม่มี มาตรการต่างๆ ยังหละหลวม และที่สำคัญการเข้าช่วยเหลือแทบไม่มีให้เห็น 

กลายเป็นเราต้องช่วยกันระดมทุน คนตัวเล็กๆ ต้องลุกขึ้นมาสร้างแฮชแท็กเพื่อกระจายข่าว ขอความช่วยเหลือ รวมถึงอาสาสมัคร และชาวบ้านมากมายกระโดดลงดับไฟป่าด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาเกรงว่าถ้ารอเจ้าหน้าที่มาไฟอาจจะไหม้มากกว่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนเต็มใจช่วย เพราะรับรู้ว่าพวกเขาไม่มีคนที่ควรช่วยเข้าไปหา กลายเป็นว่ายิ่งนานเข้า ความเห็นใจที่เรามีให้แก่กันและกัน กลับเป็นช่องว่างให้ใครบางคนฉวยโอกาสละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ใต้พรม 

เห็นใจได้อย่างมีการตั้งคำถาม เห็นใจกันได้แต่เราต้องไม่ปล่อยให้ใครก็ตามใช้ความเห็นใจเป็นเครื่องมือบดบังปัญหา

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.