ยุคต่อไปของรถยนต์ คือ ระบบไฟฟ้า ?
หลังจากช่วงไวรัส COVID-19 ระบาดหนัก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนหยุดชะงักเป็นวงกว้าง รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ความต้องการ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ กลับเติบโตมากขึ้น จากข้อมูลสถิติกรมการขนส่งทางบก ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2563 พบว่า จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี พ.ศ. 2558 มีแค่จำนวน 76 คัน แต่ล่าสุดปี พ.ศ. 2563 ช่วงเดือนมกราคม -มิถุนายนกลับเพิ่มขึ้นมากถึง 3,076 คันเลยทีเดียว
ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าใช้งานง่าย สามารถชาร์ตไฟฟ้ากับปลั๊กที่บ้านได้ทันที รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย และรักษาสิ่งเเวดล้อมได้ในระยะยาว บวกกับการมาของเทคโนโลยีสุดทันสมัย ที่ทำให้คนขับรู้สึกปลอดภัยในการขับขี่ จึงทำให้หลายประเทศเองหันมาใช้กันอย่างเเพร่หลาย รวมถึงแผนในอนาคตที่จะเลิกพึ่งน้ำมัน แล้วหันมาใช้พลังงานทดแทน อย่างไฟฟ้าทั้งหมด
| COVID-19 ตัวเร่งรถยนต์ไฟฟ้า
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถึงประเด็นที่ว่า มุมมองของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ?
“รถยนต์ไฟฟ้าก็เหมือนกับช่วงที่เราเริ่มใช้มือถือ
วันหนึ่งมันอาจจะเป็นสิ่งทั่วไปที่ใช้ทุกวัน”
อาจารย์ยศพงษ์บอกว่า ปัจจุบันจะเห็นว่ามีหลายประเทศผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างเเพร่หลาย จนเป็นสิ่งพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน มันก็เหมือนอดีตที่คนใช้มือถือไว้คุยกับคนอื่น แต่ใครจะไปรู้ว่าตอนนี้กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ทำได้มากกว่าแค่สื่อสารแล้ว ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน
แล้วยิ่งสถานการณ์ช่วง COVID-19 นับว่าเป็นตัวผลักดันให้คนเห็นความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้นภายใน 2-3 ปีต่อจากนี้ เขาก็ต้องปรับตัวมองหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดของบริษัทเอง และตอบโจทย์ต่อคนขับทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งก็ต้องวางเเผนการลงทุนลงเงินให้คุ้มค่า ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจากเดิมที่เคยเป็นเเค่ทางเลือกในการขับขี่ อาจจะกลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคนี้
| ยุคที่คนไม่อยากซื้อรถ แต่อยากใช้รถ
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดหลัง COVID-19 คือไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อย่างการ พึ่งพาระบบออนไลน์และบริการขนส่งมากกว่าเคย
“เดี๋ยวนี้ถามคนรุ่นใหม่ถ้าใช้เงินตัวเอง สิ่งเเรกที่จะซื้อคืออะไร ระหว่าง บ้าน คอนโดฯ และ รถ ? ถ้าถามรุ่นผมเมื่อ 20 ปีที่เเล้ว ส่วนใหญ่ 80% เลือกซื้อรถ เพราะการเดินทางยากลำบากมาก แต่ทุกวันนี้มันง่ายกว่าเดิมเยอะ เด็กส่วนใหญ่ในเมืองเลือกซื้อคอนโดฯ เพราะรู้ว่าซื้อรถยนต์ไปสุดท้ายมูลค่าจะตก และตอนนี้มีทางเลือกการเดินทางมากมาย มีรถไฟฟ้าและบริการต่างๆ อย่าง Grab, Kerry และ Line Man”
“เพราะเขาเริ่มไม่เห็นความจำเป็นในการมีรถเเล้วหรือจะเห็นความจำเป็นอีกครั้งก็ตอนที่มีครอบครัวซึ่งอาจจะใช้เเค่วันหยุดเพื่อไปเที่ยวด้วยกัน”
“ซึ่งธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางจะเกิดขึ้น อย่างรูปแบบ Car Sharing เหมือนกับ Air bnb จะมีให้เห็นมากขึ้น ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งจะยอมให้คนแปลกหน้ามาอยู่บ้านตัวเองได้ แต่ตอนนี้เป็นไปได้เเล้ว และอีกหน่อยเราก็อาจจะซื้อรถยนต์มาทำเป็นธุรกิจ เพื่อเเชร์ให้คนอื่นใช้ได้ ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลง แถมยังเพิ่มมูลค่าให้กับรถเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
| รถกับถนนจะสนิทโดยไม่มีใครมากั้น
แม้ว่าต่อไปคนจะเลือกซื้อรถยนต์น้อยลง แต่สมัยนี้เรียกว่าเป็นยุคที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้กระทั่งรถเองก็พัฒนาเพื่อสร้างความสะดวกสบายไปอีกขั้น อย่างเรื่องความปลอดภัยรูปแบบ Automated Driving Systems ระบบการขับเคลื่อนรถยนต์แบบไร้คนขับ ที่ช่วยควบคุมการขับขี่ หลีกเลี่ยงการชน และช่วยบริการจอดรถสร้างความสะดวกสบาย
เมื่อรถยนต์เก่งเเล้ว ก็ถึงเวลาของถนน โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพัฒนาให้เท่าทัน ซึ่งก็จะเป็นยุคที่ถนนเชื่อมต่อกับรถผ่านระบบ Easypass คือตัวที่รถยนต์ไว้สื่อสารกับถนนโดยไม่ต้องมีตัวกลางคอยช่วยเหลือ เช่น เวลาขึ้นทางด่วน รถของเราก็จะมีกล่อง Easypass เป็นตัวจ่ายเงินได้ทันที ซึ่งไม่ต้องมีพนักงานคอยรับเงินอีกต่อไป รวมทั้งการเดินทาง หากอยากลงเเค่หน้าโรงเเรม เจ้า Easypass มันก็จะคุยกับถนนว่า ที่จอดรถตรงไหนว่างบ้าง แล้วมันก็จะขับวนไปจอดรถให้อัตโนมัติ
| ขนส่งสาธารณะครอบคลุม ช่วยให้คนเท่าเทียม
อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ อาจารย์ยศพงษ์กล่าวว่า เมื่อระบบสาธารณะครอบคลุม ในยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงคนได้อย่างเเพร่หลาย จะช่วยสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้สมดุลขึ้น
“เพราะพฤติกรรมของคนจะค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาเเล้ว เขามีสัดส่วนคนที่มีรถยนต์ต่อคนมากกว่าประเทศเราเสียอีก เเต่เขาไม่ได้ใช้รถยนต์ขับทุกวันนะ เขามองรถยนต์เป็น Community Product คือเน้นใช้งานอยากไปไหนก็ไปจนกว่าจะครบอายุก็เปลี่ยนใหม่ แต่ต่างจากบ้านเราที่มองรถยนต์เป็นสถานะทางสังคม โชว์ความเป็นแบรนด์มากกว่าการใช้งาน”
แต่ถ้าวันหนึ่งที่ทุกคนซื้อรถมาเพื่อใช้งานจริงไม่ได้หวังอวดใคร รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะดีจนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ก็จะช่วยให้ระยะห่างทางสังคมน้อยลง กลายเป็นสิ่งของที่ทุกคนได้ใช้เหมือนกัน ซึ่งต่อไปทุกแบรนด์รถยนต์ก็พยายามสร้างประสิทธิภาพของตัวเองให้ดีขึ้น จนถึงจุดหนึ่งที่ความแตกต่างไม่ห่างกันมากเเล้ว เหมือนอย่างมือถือที่ใครๆ ก็มีกันทุกคน
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ที่ : https://urbancreature.co/ev-car-thailand/