“ภายในปี 2040 รถยนต์ทุกคันที่ขายบนโลกนี้จะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า”
นี่คือคำสัมภาษณ์กับ CNBC ของ ‘Darren Woods’ ซีอีโอบริษัทน้ำมัน ExxonMobil ที่คาดการณ์ว่าในอนาคตโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พลังงานเชื้อเพลิงครั้งยิ่งใหญ่
หากเป็นในอดีตที่รถยนต์ทุกคันใช้เชื้อเพลิงน้ำมันในการขับเคลื่อน อนาคตที่เต็มไปด้วยยานพาหนะไฟฟ้าอาจดูเหลือเชื่อไปเสียหน่อย แต่สำหรับปัจจุบันที่หลายค่ายรถยนต์เริ่มออกรถรุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน แถมคนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้น คำคาดการณ์ดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป
คอลัมน์ City by Numbers จึงขอหยิบเอายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาให้ดูกัน เพื่อทำความเข้าใจทิศทางและความนิยมของรถประเภทนี้ และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของใครหลายคนในอนาคต รวมถึงชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าช้าไปสักหน่อย แต่ท้ายที่สุดคำกล่าวของ Darren Woods ก็อาจเกิดขึ้นได้
รถยนต์ไฟฟ้ามีหลายประเภท จะมาเป็นเหมือนกันไม่ได้
นั่นก็รถยนต์ไฟฟ้า นี่ก็รถยนต์ไฟฟ้า
ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มักได้ยินคนพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าเต็มไปหมด แต่ถ้าพูดคุยหรืออธิบายลึกลงไปอีก ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ ‘รถยนต์ EV (Electric Vehicle)’ ในมุมมองของเขาและคุณ ความหมายอาจจะไม่ตรงกันเสียทีเดียว เพราะความจริงแล้วรถยนต์ไฟฟ้าแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้
- ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle | HEV) : เป็นยานยนต์ไฟฟ้าลูกผสม (Hybrid) มีทั้งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่ สามารถนำพลังงานกลที่เหลือหรือไม่ใช้ประโยชน์เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่ แต่ไม่มีช่องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟฟ้า
- ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle | PHEV) : เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อจาก HEV มีการทำงานด้วยระบบน้ำมันและไฟฟ้าเหมือน HEV แต่เพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟขึ้นมา (Plug-in) สามารถวิ่งได้ในระยะที่ไกลกว่า HEV
- ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle | FCEV) : เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานมาจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) โดยการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก
- ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle | BEV) : เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กชาร์จในการขับเคลื่อนอย่างเดียว ไม่ปล่อยไอเสียออกมาเลย จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
ถึงแม้ว่าทั้ง 4 ประเภทจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน แต่ก็ล้วนมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น แต่บทความนี้จะขอเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เพื่อทำให้เห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดในไทย
ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ปี 2565
สถิติจาก ‘กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก’ พบว่า จำนวนรถจดทะเบียนใหม่ จำแนกตามชนิดเชื้อเพลิง (รายเดือน) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม ปี 2565 จากทั้งหมด 2,550,953 คัน มีรถจดทะเบียนใหม่ที่ใช้ไฟฟ้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์หรือ BEV จำนวน 15,423 คัน แจกแจงเป็นยอดของแต่ละเดือนได้ ดังนี้
- มกราคม มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 628 คัน คิดเป็น 0.25% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 251,792 คัน
- กุมภาพันธ์ มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 873 คัน คิดเป็น 0.34% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 254,515 คัน
- มีนาคม มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,567 คัน คิดเป็น 0.56% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 281,372 คัน
- เมษายน มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,232 คัน คิดเป็น 0.57% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 215,907 คัน
- พฤษภาคม มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,567 คัน คิดเป็น 0.57% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 275,938 คัน
- มิถุนายน มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,623 คัน คิดเป็น 0.57% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 286,669 คัน
- กรกฎาคม มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,459 คัน คิดเป็น 0.66% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 220,570 คัน
- สิงหาคม มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2,304 คัน คิดเป็น 0.82% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 279,373 คัน
- กันยายน มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2,210 คัน คิดเป็น 0.84% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 263,693 คัน
- ตุลาคม มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,960 คัน คิดเป็น 0.89% จากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 221,124 คัน
ยอดจดทะเบียนรวมของรถยนต์ไฟฟ้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีทั้งหมด 15,423 คัน โดยมีตั้งแต่รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้แก่
– รย.1 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
– รย.3 รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
– รย.4 รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
– รย.6 รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน
– รย.8 รถยนต์รับจ้างสามล้อ
– รย.12 รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
– รย.17 รถจักรยานยนต์สาธารณะ
นอกจากนี้ยังรวมถึงรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่เริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ย้อนหลัง 10 ปี
หากย้อนดูข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกปี
– ปี 2555 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 172 คัน
– ปี 2556 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 145 คัน
– ปี 2557 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 245 คัน
– ปี 2558 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 76 คัน
– ปี 2559 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 161 คัน
– ปี 2560 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 165 คัน
– ปี 2561 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 325 คัน
– ปี 2562 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,572 คัน
– ปี 2563 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2,999 คัน
– ปี 2564 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 5,889 คัน
รวมทั้งสิ้น 11,749 คัน ทำให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพียงแค่ 10 เดือนของปี 2565 นี้ ก็สามารถเอาชนะยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าย้อนหลังรวม 10 ปีไปได้แบบง่ายๆ แถมมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากนโยบายลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ยานพาหนะที่ช่วยลดมลพิษในเมือง
น้ำมันแพง ภาษีลด รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตเกิดจากกระแสที่ผู้คนทั่วโลกใส่ใจปัญหา ‘ภาวะโลกรวน (Climate Change)’ และเริ่มมองหาทางเลือกที่ส่งเสริม ‘ความยั่งยืน (Sustainability)’ กันมากขึ้น
แต่สำหรับประเทศไทย การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในท้องตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเกือบแตะ 45 บาทต่อลิตร เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้คนหันมาลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะเมื่อคำนวณค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายทั้งหมดในอนาคต อาจมากกว่าการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาอาจสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปหน่อย แต่สามารถประหยัดเงินในระยะยาวได้ หลายคนจึงมองว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นคุ้มค่าแก่การลงทุน
อีกสาเหตุมาจากมติเห็นชอบนโยบายสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประกาศเมื่อ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อันได้แก่
1) ลดอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ประจำปีลงร้อยละ 80 เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน สำหรับรถยนต์จดทะเบียนระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568
2) ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลก็ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยการให้เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน รถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2 เปอร์เซ็นต์ และรถกระบะเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 รวมถึงยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ
ทั้งสองนโยบายของรัฐมีส่วนกระตุ้นให้รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ต่างๆ เข้ามาตีตลาดในไทยจำนวนมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งของตลาดตามสัญชาติของรถยนต์ BEV ในปี 2022 ได้แก่ ประเทศจีน 80 เปอร์เซ็นต์ ประเทศฝั่งตะวันตก 14 เปอร์เซ็นต์ ประเทศญี่ปุ่น 5 เปอร์เซ็นต์ และจากประเทศอื่นๆ อีก 1 เปอร์เซ็นต์
ส่งผลให้แบรนด์น้องใหม่อย่าง ORA ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ภายใต้บริษัทสัญชาติจีน Great Wall Motor มีส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยเมื่อเดือนมิถุนายนไปมากกว่า 43.8 เปอร์เซ็นต์
จึงเป็นที่น่าจับตามองในอนาคตว่าจะมีแบรนด์ใดโค่นแชมป์ ORA ได้ไหม หลังจากเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ต่อคิวข้ามคืนเพื่อซื้อรถไฟฟ้าแบรนด์ BYD รวมถึงข่าวการจดทะเบียน ‘บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด’ เพื่อเปิด Flagship Store ที่ EMSPHERE ในโครงการ THE EM DISTRICT ของ The Mall Group ใจกลางกรุงเทพฯ ปี 2023 ที่จะถึงนี้
Sources :
AutolifeThailand | t.ly/8rP-
CNBC | t.ly/yzKR
Finnomena | t.ly/u_g6
Marketeer Online | t.ly/fkjF
PeerPower | t.ly/MtwI
กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก | t.ly/4-w3
สถาบันพลังงาน มช. | t.ly/bNIo