8 สนามบินดีไซน์ล้ำที่ออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม - Urban Creature

ช่วงนี้เรารู้สึกว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เข้าโซเชียลมีเดียทีไรก็ต้องเห็นเพื่อนๆ และคนรอบตัวแพ็กกระเป๋า เช็กอินสนามบิน โบกมือลาด้วยเอเนอร์จีตื่นเต้น ก่อนจะบินลัดฟ้าไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือบางคนก็ไปไกลถึงต่างประเทศ

ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการบินที่กลับมาฟื้นตัวในรอบหลายปีถือเป็นสัญญาณดีว่าภาคธุรกิจจะกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง แต่ถ้ามองในแง่สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการบินนั้นโดนวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอย่างหนักจากหน่วยงานและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมานานหลายปีแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในวงการที่ทำให้โลกของเราเผชิญ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ หรือ ‘Climate Change’

ที่เป็นแบบนั้นเพราะ 2.4 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกมาจากอุตสาหกรรมนี้ และเมื่อรวมก๊าซอื่นๆ บวกกับไอน้ำสีขาวที่เครื่องบินพ่นออกมา ซึ่งมีส่วนทำโลกเผชิญภาวะโลกร้อนมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาแบนการเดินทางด้วยเครื่องบิน และเลือกที่จะเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ อย่างรถไฟแทน เพื่อแสดงจุดยืนและตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น 

ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินยังคงเป็นตัวเลือกที่คนส่วนใหญ่มองว่าจำเป็น คอลัมน์ Urban’s Pick จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจสนามบินจากทั่วทุกมุมโลกที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และพยายามดีไซน์พื้นที่ ติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหามลพิษและร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืน

01 | Dock A at Zurich Airport

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

สนามบินแห่งแรกที่เราอยากพาไปสำรวจก็คือ ‘Zurich Airport’ ตั้งอยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สนามบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1948 แต่ในปี 2032 ที่นี่กำลังจะเปิดอาคารผู้โดยสาร (Terminal) แห่งใหม่ชื่อว่า ‘Dock A’ ซึ่งจะเป็นเทอมินอลใหญ่ที่สุดของสนามบิน ที่สำคัญตัวอาคารยังสร้างจากไม้เกือบทั้งหมดด้วย

ผู้ร่วมออกแบบ Dock A คือบริษัทสถาปนิกชื่อดังระดับโลกจากเดนมาร์กและสหรัฐฯ อย่าง BIG และ HOK ที่ต้องการออกแบบอาคารผู้โดยสารที่มีฟังก์ชันซับซ้อน ด้วยแนวคิดและดีไซน์ที่เรียบง่ายที่สุด วัสดุหลักที่ใช้สร้างอาคารแห่งนี้คือไม้สนแปรรูป (Timber) ท้องถิ่นของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ถูกนำมาออกแบบเป็นโครงสร้างรูปตัว ‘วี (V)’ ทำให้ตัวอาคารโปร่งโล่ง มีบรรยากาศที่อบอุ่นและสบายตาจากไม้สีน้ำตาลอ่อน

ที่สำคัญ หน้าต่างกระจกขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านบนและโดยรอบอาคารยังช่วยให้ผู้โดยสารได้รับแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน ส่วนหลังคาและฐานของเทอมินอลยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะครอบคลุมการใช้ไฟฟ้าประจำปีของสนามบินได้มากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ 

Dock A แบ่งเป็นทั้งหมดเจ็ดชั้น ด้านบนเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ด้านล่างเป็นโถงสำหรับฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง อาคารสูงที่ตั้งอยู่ใจกลางเทอมินอลคือ ‘หอบังคับการบิน’ ส่วนพื้นที่ที่ทอดยาวออกมาจากอาคารหลักคือประตูขึ้นเครื่องบิน ร้านค้า และเลานจ์รองรับผู้โดยสาร ถือเป็นการออกแบบที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้เทอมินอลโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างประสบการณ์เดินทางรูปแบบใหม่แก่ผู้โดยสาร

02 | Terminal 4 at Shenzhen Bao’an International Airport 

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

อีกหนึ่งสนามบินที่กำลังสร้างเทอมินอลใหม่คือ ‘Shenzhen Bao’an International Airport’ ตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ที่นี่กำลังขยาย ‘Terminal 4’ อาคารผู้โดยสารขนาด 400,000 ตารางเมตร คาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 31 ล้านคนต่อปี 

ตัวอาคารถูกออกแบบให้มีรูปทรงเพรียวบาง พร้อมหลังคาที่โค้งเป็นลอนคลื่นเหมือนกับรูปแบบการไหลเวียนของอากาศ Rogers Stirk Harbour + Partners บริษัทสถาปนิกสัญชาติอังกฤษผู้ออกแบบเทอมินอลแห่งนี้เปิดเผยว่า ตรงกลางของอาคารจะมีสวนขนาดใหญ่ 10,000 ตารางเมตร เทียบเท่ากับ 40 สนามเทนนิส เปรียบเสมือนประตูหน้าของเมืองเซินเจิ้น ที่คอยเชื่อมต่อการเดินทางภาคพื้นดินและทางอากาศเข้าด้วยกัน

หัวใจของการออกแบบเทอมินอลแห่งนี้คือ ประสบการณ์ของผู้โดยสาร ความเป็นอยู่ที่ดี และความยั่งยืน สนามบินต้องการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนผ่านการออกแบบอาคารให้มีขนาดกะทัดรัด ใช้แสงธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ลดการใช้ปริมาณน้ำ รวมไปถึงกักเก็บน้ำสำหรับใช้งาน โดยหวังว่าวิธีเหล่านี้จะช่วยลดการใช้พลังงานในอาคารได้

ทางสนามบินยังไม่เปิดเผยว่าเทอมินอล 4 จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ แต่เราเชื่อว่าถ้าการก่อสร้างแล้วเสร็จ ที่นี่จะเป็นอีกหนึ่งโลเคชันสำคัญที่สนับสนุนเป้าหมายของเมืองเซินเจิ้นในการเป็นศูนย์กลางสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลกได้แน่นอน

03 | Red Sea International Airport 

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

อาคารรูปทรงแปลกตาขนาดใหญ่ที่เหมือนหลุดมาจากหนังเรื่อง Dune แห่งนี้คือ ‘Red Sea International Airport’ สนามบินแห่งใหม่ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากสีสันและพื้นผิวของทะเลทรายที่โอบล้อมสนามบิน

ตรงกลางสนามบินคือ 5 โครงสร้างทรงโค้งที่ออกแบบรูปทรงคล้ายกับเนินทราย ซึ่งเป็น ‘เทอมินอลขนาดเล็ก (Mini Terminal)’ สำหรับรับ-ส่งนักเดินทาง ภายในแต่ละเทอมินอลมีห้องรองรับผู้โดยสาร สปา ร้านอาหาร รวมไปถึงแอ่งน้ำและสวนหย่อม เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้สนามบินใจกลางทะเลทรายแห่งนี้ 

ส่วนเหตุผลการออกแบบหลังคาของทุกเทอมินอลให้ยื่นออกมาจากตัวอาคารเพื่อปกคลุมเขตการบินนั้น เนื่องมาจากทางบริษัทนักออกแบบอย่าง Foster + Partners ต้องการให้อาคารผู้โดยสารปกป้องสภาพแวดล้อมภายในจากแสงอาทิตย์ สร้างร่มเงาให้ตัวอาคาร และเป็นการลดพลังงานสำหรับระบายความร้อนภายในเทอมินอลไปในตัว

ขณะเดียวกันสนามบินจะดำเนินงานในเทอมินอลทั้ง 5 แห่งโดยแยกส่วนกันทั้งหมด หรืออธิบายให้ง่ายขึ้นคือ ในช่วงที่มีคนเดินทางบางตา ทางสนามบินอาจปิดให้บริการบางเทอมินอลชั่วคราว เพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยประหยัดการใช้พลังงาน

สนามบินแห่งนี้ยังตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงดำเนินการสร้างและเปิดให้บริการโดยไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) อีกด้วย

สนามบิน Red Sea คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2022 และออกแบบให้รองรับผู้โดยสารได้มากถึงหนึ่งล้านคนต่อปีภายในปี 2030 เราเชื่อว่าใครที่มีโอกาสไปเยือนจะได้รับประสบการณ์ที่ทั้งสงบและหรูหราจากสนามบินกลางทะเลทรายแห่งนี้แน่นอน

04 | Stockholm Arlanda Airport

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

กระแสสนามบินสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ ‘Stockholm Arlanda Airport’ ในเมืองซิกทูนา ประเทศสวีเดน คือสนามบินแห่งแรกของยุโรปที่ทำตามเป้าหมายสู่ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)’ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2009 

ที่นี่ยังเป็นสนามบินแห่งเดียวของโลกที่มีใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Permit) เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มลพิษจากการปฏิบัติงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่จราจรทางอากาศไปจนถึงพาหนะขนส่งผู้โดยสารไป-กลับเทอมินอล ต้องไม่เกินระดับที่สนามบินกำหนด

ด้วยความที่สวีเดนเป็นประเทศที่มีฤดูหนาวยาวนาน บ้านเรือนและอาคารต่างๆ จึงต้องพึ่งพาระบบทำความร้อน (Heating System) ซึ่งปกติแล้วต้องผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มักก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก เพราะเหตุนี้ Stockholm Arlanda Airport จึงเลือกใช้ระบบทำความร้อนที่ใช้ ‘เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel)’ ส่วนไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ก็ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ สนามบินยังกักเก็บน้ำเพื่อส่งต่อไปยังระบบปรับอากาศในช่วงฤดูร้อน เป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดการใช้ไฟฟ้าของสนามบินด้วย

มากไปกว่านี้ ทางสนามบินยังเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ประหยัดพลังงานแทนหลอดไฟทั่วไป มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของ Stockholm Arlanda Airport ทำให้ระหว่างปี 2005 – 2012 สนามบินลดการใช้พลังงานได้มากถึงหนึ่งในสาม 

แม้ว่าสนามบินแห่งนี้จะไม่มีดีไซน์หรือฟังก์ชันล้ำสมัยเทียบเท่ากับบรรดาสนามบินเปิดใหม่ แต่เราเชื่อว่าสนามบินแห่งนี้รักษ์โลกและพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยกว่าที่อื่นๆ แน่นอน

05 | Noida International Airport

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

‘อินเดีย’ คือประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา สาเหตุสำคัญเกิดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาถ่านหินและน้ำมันจำนวนมหาศาล ‘Noida International Airport’ ในเมืองจิวร์ รัฐอุตตรประเทศ จึงเป็นอีกหนึ่งการออกแบบที่อยากช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของอินเดีย

หลังจากคว้าชัยชนะการออกแบบเทอมินอลของ Noida International Airport บริษัทสถาปนิก Nordic Office of Architect, Grimshaw, Haptic รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมอย่าง STUP ได้ให้คำมั่นสัญญาจะทำให้ที่นี่เป็น ‘สนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดของอินเดีย’ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศให้ได้มากที่สุด 

ภายในอาคารมีลานกว้างที่เต็มไปด้วยต้นไม้และภูมิทัศน์ที่สวยงาม พันธุ์ไม้สีเขียวที่กลืนไปกับโครงสร้างให้ความรู้สึกเหมือนสวนสาธารณะในร่ม นักออกแบบตั้งใจทำให้พื้นที่ตรงกลางกว้างขวาง โปร่งโล่ง เพื่อรับแสงธรรมชาติและระบายอากาศได้อย่างเต็มที่ เหมาะที่จะรองรับผู้โดยสารในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ สนามบินสีเขียวแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดการออกแบบสนามบินในหลายเมืองทั่วโลก เช่น ไฮเดอราบัด ออสโล อิสตันบูล และซูริก เพื่อสร้างสนามบินที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง 

Noida International Airport เตรียมเปิดดำเนินการเฟสหนึ่งภายในปี 2024 และคาดว่าจะรองรับนักเดินทางได้มากถึง 30 ล้านคนต่อปีเมื่อเปิดแบบเต็มรูปแบบ

06 | Terminal 2 at Guadalajara International Airport

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

อีกหนึ่งสนามบินที่เน้นการออกแบบอาคารโดยใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุดคือ ‘Guadalajara International Airport’ ในเมืองกัวดาลาจารา ประเทศเม็กซิโก เพราะที่นี่กำลังจะสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ที่ชื่อว่า ‘Terminal 2’ หรือ ‘T2’ ซึ่งเต็มไปด้วยดีเทลและลูกเล่นที่ดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

หลังคาของเทอมินอลคือแผงไม้สีน้ำตาลขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้เป็นรูปทรงคลื่น และเต็มไปด้วยรูขนาดพอดีเพื่อให้แสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาภายในอาคารมากที่สุด ซึ่งร่มเงาจากแสงอาทิตย์ค่อนข้างกลมกลืนกับวัสดุภายในอาคารอย่างพื้นหินขัดสีเทา ผนังกระจก โครงสร้างสีขาว และต้นไม้ อีกทั้งยังทำให้ตัวอาคารโปร่งโล่ง ไม่อึดอัด ผู้โดยสารสามารถมองเห็นส่วนอื่นๆ ของสนามบินได้กว้างและไกลขึ้น แตกต่างจากสนามบินทั่วไปที่มีเพดานกับกำแพงทึบ และมักใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลัก

ส่วนเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่นี่ก็ไม่เป็นสองรองใคร เพราะบริษัทสถาปนิกอย่าง CallisonRTKL เปิดเผยว่า T2 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยกว่าอาคารผู้โดยสารหรือสนามบินแห่งอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน เทอมินอลทั่วไปถูกออกแบบให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 30,188 เมตริกตันต่อปี แต่เทอมินอลใหม่แห่งสนามบินกัวดาลาจาราจะปล่อยก๊าซชนิดเดียวกันแค่ 2,814 เมตริกตันต่อปี ซึ่งปริมาณที่ต่างกันกว่า 10 เท่านี้ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้มากถึง 2,800 ต้นต่อปี

เพื่อลดการปล่อยมลพิษของอาคารอื่นๆ ในสนามบิน T2 จึงตั้งใจเป็นแหล่งรวบรวมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การใช้แสงธรรมชาติสำหรับให้แสงสว่าง รวมไปถึงการระบายอากาศและสร้างร่มเงาตามธรรมชาติ คาดว่ากลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดจะลดการใช้พลังงานได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเทอมินอลแห่งนี้ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 27,300 ต้นต่อปี

รายงานเปิดเผยว่า Guadalajara International Airport มีแพลนเริ่มก่อสร้าง T2 ภายในปี 2024 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2026 เราเชื่อว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์การออกแบบที่ทำให้มนุษย์และธรรมชาติใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม

07 | Jewel Changi Airport

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

‘Jewel Changi Airport’ คือศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการใน ‘สิงคโปร์’ เมื่อปี 2019 แม้ว่าอาคารที่เชื่อมต่อระหว่างสนามบินชางงีและเทอมินอลต่างๆ แห่งนี้เพิ่งเปิดดำเนินการได้ราว 3 ปี แต่ที่นี่ก็ได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวตั้งแต่เปิดตัว และยังกลายเป็นแลนด์มาร์กสำหรับเช็กอินที่ฮิตสุดๆ ของสิงคโปร์อีกด้วย

ไฮไลต์ของ Jewel Changi Airport คือน้ำตก HSBC Rain Vortex ความสูง 40 เมตรที่ตั้งอยู่กลางอาคาร ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำตกในร่มที่สูงที่สุดของโลก ส่วนหลังคาทำจากกระจกและออกแบบรูปทรงให้เหมือน ‘เบเกิล’ หรือขนมปังรูปวงแหวน ที่มีความกว้างมากที่สุดกว่า 200 เมตร 

นอกจากดีกรีเรื่องการออกแบบที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์แล้ว ที่นี่ยังก่อสร้างโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นและฝนตกแทบจะตลอดทั้งปี HSBC Rain Vortex จึงถูกออกแบบให้รองรับน้ำฝนได้ที่อัตรา 10,000 แกลลอนต่อนาที ที่สำคัญ กระแสน้ำยังช่วยทำให้อากาศภายในอาคารเย็นลง และถูกนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย

มากไปกว่านั้น ภายในอาคารยังมี ‘ป่าในร่ม’ สำหรับควบคุมสภาพอากาศของอาคาร และระเบียงที่ล้อมรอบน้ำตกอัดแน่นไปด้วยพืชพรรณกว่า 200 สายพันธุ์ โดยชั้น 5 ของศูนย์การค้าแห่งนี้ก็มีสวนสาธารณะในร่มให้ผู้คนได้พักผ่อนหย่อนใจและเดินสำรวจธรรมชาติแบบใกล้ชิดมากขึ้น ใครมีโอกาสไปเยือนสิงคโปร์อย่าลืมแวะฟังเสียงน้ำตกและสัมผัสธรรมชาติในร่มที่ Jewel Changi Airport กันนะ

08 | Concourse C at Seattle-Tacoma International Airport

sustainable airports สนามบิน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม

ปิดท้ายด้วยแผนการสร้างส่วนต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน ‘Concourse C’ ของ ‘Seattle-Tacoma International Airport’ ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา พื้นที่ส่วนนี้มีขนาด 13,520 ตารางเมตร โดยออกแบบเสาและบันไดขนาดใหญ่ตรงกลางให้เป็นประติมากรรมรูปทรงเรขาคณิต หุ้มด้วยไม้ท้องถิ่นอย่าง ‘ไม้สนแดง (Douglas Fir)’ เป็นการออกแบบที่ใช้พลังงานจากท้องถิ่นและเชื่อมต่อตัวอาคารกับภูมิทัศน์ธรรมชาติ

เหตุผลที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักของการออกแบบเพราะโปรเจกต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Sustainable Project Framework โดยหน่วยงานรัฐอย่าง Port of Seattle ที่มีเป้าหมายหลักในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ยั่งยืน 

ดาดฟ้าของอาคารมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อสร้างพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ส่วนกระจกรอบตัวอาคารเป็น ‘Electrochromic Window’ กระจกอัจฉริยะที่ควบคุมปริมาณของแสงกับความร้อน และเปลี่ยนความโปร่งใสให้กลายเป็นทึบแสง เพื่อช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานโดยเฉพาะ

มากไปกว่านั้น Concourse C ยังมาพร้อมระบบทำความร้อนและน้ำร้อนที่ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการล้างจานสำหรับบรรดาร้านค้า เพื่อลดการใช้จานและอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้ง

โครงการสร้างส่วนต่อขยาย Concourse C เริ่มในช่วงฤดูร้อนปี 2022 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2027 นอกจากผู้โดยสารจะได้สัมผัสการออกแบบที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ที่สวยงามแล้ว ชั้นต่างๆ ของอาคารแห่งนี้ยังมีเลานจ์ ร้านค้า ร้านอาหาร บาร์ ห้องสวดมนต์ ห้องนั่งสมาธิ ตลาดเกษตรกร รวมไปถึงพื้นที่สำหรับเล่นดนตรี เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่และอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารอย่างรอบด้าน

Sources :
Airport Technology | t.ly/Esxi
Blacklane | t.ly/EUQR
Business Traveller | t.ly/_UKT
Dezeen | t.ly/Pi9c
RSHP | t.ly/yeiW
Swedavia Airports | t.ly/IPab

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.