พาแฟนบอลทัวร์ 8 สเตเดียมไอเดียบรรเจิดที่เป็นได้มากกว่าสนามกีฬา - Urban Creature

หลายๆ คนคงคิดถึงบรรยากาศการเชียร์กีฬาในสนาม หรือการอยู่ท่ามกลางเสียงโห่ร้องที่กึกก้องไปทั้งสเตเดียม คอลัมน์ Re-desire จึงจะพาทุกคนไปทัวร์ 8 สเตเดียมจากทั่วโลกที่บอกเลยว่าไม่ใช่สนามแข่งกีฬาธรรมดาๆ แต่เป็นสเตเดียมที่มีดีไซน์บรรเจิด ฟังก์ชันสุดล้ำ และเรื่องราวเบื้องหลังมากมายที่ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นมากกว่าแค่สถานที่แข่งกีฬา

01丨 Pancho Aréna 一 สนามโบสถ์

สเตเดียมแรกที่เราจะพาทัวร์นั้นตั้งอยู่ที่เมือง Felcsut ประเทศฮังการี หากได้เข้าไปแล้วจะต้องตะลึงกับสถาปัตยกรรมภายในที่สวยงามของ ‘Pancho Aréna’ ที่ตั้งชื่อตามชื่อเล่นของนักฟุตบอลผู้เป็นตำนานของฮังการี ‘Ferenc Puskás’ โครงสร้างภายในทำจากคอนกรีตและไม้โค้งเป็นโดม ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโบสถ์มากกว่าชมฟุตบอลเสียอีก การออกแบบลักษณะนี้คือ ‘สถาปัตยกรรมออร์แกนิก’ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฮังการีช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ในฐานะเครื่องมือต่อต้านการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์เป็นพิเศษ 

Pancho Aréna นี้ไม่ได้สร้างขึ้นจากที่ดินโล่งๆ แต่สร้างใหม่จากโครงสร้างเดิมของสถาบันฝึกฝนนักกีฬาที่ออกแบบโดย Imre Makovecz สถาปนิกผู้โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมออร์แกนิกคนหนึ่งของฮังการี ถือว่านอกจากเป็นสนามกีฬาแล้ว สเตเดียมแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ไว้อีกที่หนึ่ง

02丨 Sapporo Dome 一 สนาม Multitasking 

หากพูดถึงการใช้งานแล้ว สถานที่ที่ต้องติดโพลสเตเดียมสุดล้ำเลยคือ ‘Sapporo Dome’ จากเมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น สเตเดียมนี้ออกแบบโดย Hiroshi Hara สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญเรื่องทิศทางลม ทำให้รูปทรงของโดมมีรูปแบบตามหลักแอโรไดนามิก หลังคาโดมยังเคลือบด้วย Teflon เพื่อให้หิมะที่มักตกหนักในเมืองซัปโปโรไม่ค้างอยู่บนหลังคาโดมนั่นเอง 

และนอกจากฟุตบอลแล้ว อีกกีฬาที่ชาวญี่ปุ่นนิยมกันคือเบสบอล สนามหญ้าในสเตเดียมแห่งนี้จึงปรับเปลี่ยนระหว่างสนามหญ้าจริงและสนามหญ้าเทียมได้ ด้วยเทคโนโลยี ‘Hovering System’ ซึ่งใช้ในสนามกีฬานี้เป็นที่แรกของโลก และสเตเดียมแห่งนี้ยังใช้เป็นที่จัดคอนเสิร์ตหรือนิทรรศการ แถมมีจุดชมวิวที่ความสูง 53 เมตร ยื่นออกมาจากตัว Sapporo Dome ไว้ชมความสวยงามของเมืองซัปโปโรแห่งนี้อีกด้วย

03丨 Stadion Gospin Dolac 一 สนามเล็กในป่าใหญ่

แต่ถ้าพูดถึงความล้ำของสถานที่ตั้งแล้ว ต้องสเตเดียมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Imotski ประเทศโครเอเชียแห่งนี้ มีชื่อว่า ‘Stadion Gospin Dolac’ หรือชื่อในภาษาอังกฤษ ‘Our Lady Dolac Stadium’ โดยตั้งชื่อตามโบสถ์ที่อยู่ใกล้ๆ 

Stadion Gospin Dolac เป็นสนามกีฬาขนาดเล็กของสโมสรฟุตบอลท้องถิ่น NK Imotski ตั้งอยู่ในหุบเขาใกล้กับหน้าผา แม้จะไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ถ้ามองไปรอบๆ ก็จะเจอกับทิวทัศน์แนวเขาและป่าที่โอบล้อมสนามแห่งนี้ และหากขึ้นไปบนหอสังเกตการณ์ใกล้ๆ สนามก็จะเห็นวิวสวยๆ ของทะเลสาบ Modro หรือ Blue Lake จนได้รับเลือกจาก BBC ให้เป็นหนึ่งในสเตเดียมที่สวยที่สุดในโลกเมื่อปี 2017 

04丨Henningsvær Stasdion 一 สนาม Sea View

อีกสเตเดียมสำหรับใครที่ชอบดูกีฬาไปพร้อมกับชมวิวสวยๆ ไม่ควรพลาด ‘Henningsvær Stasdion’ สนามกีฬาขนาดเล็กพิเศษที่ตั้งอยู่บนลานหินแกรนิตฝั่งใต้สุดของเกาะ Hellandsøya ของหมู่เกาะ Lofoten ประเทศนอร์เวย์ ทิวทัศน์โดยรอบห้อมล้อมเต็มไปด้วยเทือกเขา และมองเห็นวิวทะเลได้กว้างสุดลูกหูลูกตา 

ความพิเศษของสนามกีฬาแห่งนี้คือไม่มีอัฒจันทร์ให้นั่งเหมือนสเตเดียมมาตรฐานทั่วไป เพราะพื้นที่รอบๆ ถูกจับจองด้วยราวตากปลาค็อดแห้งที่เป็นสินค้าส่งออกของชาวบ้านจากหมู่บ้านชาวประมง Henningsvær แต่หากอยากชมการแข่งขันล่ะก็ เกาะขอบรั้วดูได้เลยแบบไม่เสียค่าเข้าชม เพราะสนามกีฬาแห่งนี้เป็นสนามที่สโมสรท้องถิ่นอย่าง Henningsvær IL ใช้ฝึกซ้อมฟุตบอลให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านนั่นเอง

05丨Allianz Arena 一 สนามเรืองแสง

สเตเดียมถัดมาคงเป็นที่รู้จักของแฟนบอลหลายๆ คนแน่นอน นั่นก็คือ ‘Allianz Arena’ ในเมือง Munich ประเทศเยอรมนี เพราะเป็นสนามกีฬาของหนึ่งในสโมสรฟุตบอลชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘Bayern Munich’ และของทีมชาติเยอรมัน ส่วนที่โดดเด่นของสเตเดียมนี้คือสถาปัตยกรรมภายนอกสไตล์โมเดิร์นที่ทำจากแผ่นฟอยล์ ETFE อัดอากาศที่มีเทคโนโลยี Self-cleaning ทำให้มีชื่อเล่นน่ารักๆ อย่าง ‘Schlauchboot’ เพราะมีรูปทรงเหมือนเรือยางนั่นเอง 


รูปทรงที่ดูเป็นนามธรรมของสเตเดียมแห่งนี้ช่างแตกต่างกับภูมิทัศน์โดยรอบที่เป็นเนินเขาและพื้นหญ้าอย่างสิ้นเชิง เกิดเป็น Landmark แปลกตา ณ ทางเข้าด้านเหนือของเมือง และเมื่อการแข่งเริ่มขึ้นในเวลากลางคืน สเตเดียมแห่งนี้จะเปลี่ยนเป็นโคมไฟขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนสีไฟได้ตามทีมที่กำลังแข่งขันอยู่ข้างใน ไอเดียสร้างสรรค์ของสถาปนิกชาวสวิสทั้งสองคนอย่าง Jacques Herzog และ Pierre de Meuron ทำให้ทั้งทีมชาติเยอรมันและสโมสร Bayern Munich แสดงความเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมผ่านสีไฟที่สาดส่องออกมายามแข่งขันในสนาม

06丨 Kaohsiung National Stadium 一 สนามประหยัดพลังงาน

อีกสเตเดียมที่สถาปัตยกรรมภายนอกล้ำสมัยไม่แพ้กันคือ ‘Kaohsiung National Stadium’ หรือสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไต้หวัน ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Toyo Ito ผู้โดดเด่นด้านแนวคิดในการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นหากมองไกลๆ แล้วสเตเดียมนี้จึงเหมือนมังกรหรืองูยักษ์กำลังนอนขดอยู่กลางเมืองใหญ่ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอิทธิพลอย่างมากในวัฒนธรรมแถบเอเชีย 

ส่วนที่ดูเหมือนเกล็ดนั้นสร้างมาจากแผงโซลาร์เซลล์ 8,844 แผงที่เป็นแหล่งพลังงานให้กับทั้งสเตเดียม ทำให้ Kaohsiung National Stadium เป็นสนามกีฬาที่ผลิตพลังงานใช้เองแห่งแรกของโลก อีกทั้งหลังคาสเตเดียมยังสามารถกักเก็บน้ำฝน แล้วส่งผ่านท่อไปยังแทงก์น้ำใต้ดินไว้ใช้ในสเตเดียมอีกด้วย 

สเตเดียมนี้ยังสร้างตามหลักฮวงจุ้ยร่วมกับสำนักพยากรณ์อากาศกลาง (Central Weather Bureau) เพื่อกำหนดทิศทางให้ลมธรรมชาติพัดผ่านมาในฤดูร้อน ถือเป็นการประหยัดพลังงานไปได้อีกทางหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นสเตเดียมที่ผสมผสานความเชื่อและวิทยาศาสตร์ให้เข้ากันได้อย่างลงตัว

07丨 Ericsson Globe 一 สนามระบบสุริยะสวีดิช

สเตเดียมถัดไปนี้ไม่ได้ใช้แข่งฟุตบอลหรือเบสบอลอย่างสเตเดียมอื่นๆ แต่เปิดใช้งานครั้งแรกเพื่อการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งในปี 1989 สเตเดียมนั้นคือ ‘Ericsson Globe’ ตั้งอยู่ที่เมือง Stockholm ประเทศสวีเดน 

ความพิเศษของสเตเดียมนี้คือเป็นสเตเดียมทรงกลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะตามแบบฉบับของสวีเดน กิมมิกเล็กๆ ของสเตเดียมนี้คือเคยมีการสร้างกระท่อมเล็กๆ จากอะลูมิเนียมวางไว้บนสุดของโดมเป็นสัญญะแสดงถึงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมนั้นอยู่เหนือสถาปัตยกรรมล้ำสมัย 

และนอกจากใช้แข่งฮอกกี้และกีฬาในร่มอีกมากมายแล้ว ยังใช้จัดคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังหลายคนด้วยทั้ง Beyoncé, Metallica และ Pink Floyd ปัจจุบัน Ericsson Globe ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Avicii Arena’ เพื่อเป็นการระลึกถึงศิลปินชื่อดังระดับโลกชาวสวีเดน ‘Tim Avicii Bergling’ โดยพ่อของ Avicii และ Andreas Sand ซีอีโอของ ASM Global’s Stockholm Live บริษัทผู้เป็นเจ้าของสเตเดียมตั้งใจให้สเตเดียมแห่งนี้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของเยาวชนชาวสวีเดน

08丨 Forest Green Rovers F.C. 一 สนามฟุตบอลรักษ์โลกที่สุดในโลก

มาถึงสเตเดียมสุดท้ายที่บอกเลยว่าจิ๋วแต่แจ๋ว ด้วยความจุผู้ชมเพียง 2,000 ที่นั่ง อย่างสนามฟุตบอลของสโมสร ‘Forest Green Rovers’ ซึ่งตั้งอยู่ที่แคว้น Gloucestershire ประเทศอังกฤษ ได้รับการยกย่องจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้เป็นสนามฟุตบอลที่รักษ์โลกที่สุด ตั้งแต่พลังงานที่นำมาใช้นั้นผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ และพลังงานสะอาดอย่างพลังงานลม ไปถึงสนามฟุตบอลออร์แกนิกที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำฝน และหุ่นยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ชื่อ ‘โมบ็อต’ ในการดูแลอีกด้วย 

ส่วนอาหารสำหรับให้บริการแฟนบอลและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในสโมสร ก็เป็นมังสวิรัติที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วยความตั้งใจของ ‘Dale Vince’ ประธานสโมสรและผู้ก่อตั้งบริษัท ‘Ecotricity’ บริษัทพลังงานสะอาดที่อยากให้สโมสรเล็กๆ แห่งนี้เป็นต้นแบบให้กับสโมสรใหญ่อื่นๆ ทำให้คนทั่วโลกรู้จัก Forest Green Rovers มากกว่าแค่สโมสรฟุตบอล

Sources : 
Amusing Planet | https://tinyurl.com/46z7kw
ArchDaily | https://tinyurl.com/3jw7mj8c
Atlas Obscura | https://tinyurl.com/bwnsa8n7
Best Tourism | https://tinyurl.com/8tb2j5n
Bloom Consulting Journal | 5 Curiosities about Stockholm
Main Stand | https://tinyurl.com/3p9u62pn
Orangesmile | https://tinyurl.com/yttk4z68
Talon Japan | https://www.talonjapan.com/sapporo-dome/

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.