Earthtone แบรนด์รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติ - Urban Creature

มีเรื่องบังเอิญมาเล่าสู่กันฟัง วันนั้นเป็นวันที่เงินเดือนออก ฉันเลยนั่งไถอินสตาแกรมเตรียมช้อปปิงอย่างเศรษฐี “มันคงดี ถ้าได้รองเท้ารัดส้นสักคู่ไว้ใส่ไปเที่ยวได้” หลังจากฉันพึมพำในใจได้ไม่นาน อินสตาแกรมก็เด้ง ‘รองเท้ารัดส้น’ ขึ้นมาให้บนหน้าฟีดเต็มไปหมด (เทคโนโลยีมันน่ากลัวขนาดนี้เลยนะ)

และหนึ่งในนั้นปรากฏรองเท้าที่ใช้วัสดุหน้าตาคุ้นเคยเป็นพิเศษ ฉันจึงคลิกเข้าเว็บไซต์เพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม จนกระทั่งมาพบว่ามันมีส่วนประกอบของ ‘ใบเตย’ และ ‘ผักตบชวา’

“เราคือดีไซเนอร์ เราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างวัสดุล้ำๆ ขึ้นมาได้ 
สิ่งที่เราทำคือตามหาวัสดุจากเหล่าพาร์ตเนอร์
ที่ใส่ใจโลกเหมือนกับพวกเรา”

ฉันเห็นประโยคนี้บนเว็บไซต์ของแบรนด์ Earthtone ซึ่งบ่งบอกความตั้งใจของเขาได้อย่างเต็มเปี่ยม ฉันจึงพับบทบาท ‘เศรษฐินี’ เข้าตู้ไปก่อน แล้วขุดจิตวิญญาณของนักเขียน เพื่อต่อสายตรงพูดคุยกับ ‘ซา-ซายูริ โอกาวะ’ และ ‘ปอม-อรรถพล พงษ์สวัสดิ์’ เจ้าของแบรนด์ Earthtone ผู้ที่เป็นทั้งหุ้นส่วนธุรกิจและหุ้นส่วนชีวิตของกันและกัน ถึงการหยิบวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาดีไซน์ให้ทันสมัย

คลุกคลีวงการแฟชั่นตั้งแต่เล็ก

“ซาคลุกคลีอยู่กับวงการเครื่องแต่งกายมาตั้งแต่เด็ก เพราะคนส่วนใหญ่ละแวกบ้าน
เขาทำอาชีพเกี่ยวกับเสื้อผ้าทั้งนั้น แล้วตัวเองก็เรียนจบด้านการออกแบบเครื่องประดับ
และสนใจการออกแบบรองเท้าด้วย เรียกว่าทั้งชีวิตของเราอยู่กับมันมาโดยตลอดก็ว่าได้”

ซา-ซายูริ โอกาวะ ภรรยาผู้รับหน้าที่เป็น ‘นักออกแบบ’ และดูแลเรื่อง ‘การผลิตสินค้า’ ของแบรนด์อย่างเต็มตัว เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองที่ตั้งแต่เล็กจนโต คนรอบกายทำงานเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายทั้งนั้น มันจึงบ่มเพาะความชื่นชอบด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งได้ก่อร่างสร้างธุรกิจรองเท้าที่ชื่อว่า ‘Onfoot’ โดยหยิบ ‘ผ้า’ มาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ

Photo Credit : Earthtone

แน่นอนว่าการลองผิดลองถูกเป็นหนึ่งในขั้นตอนของนักออกแบบ ทำให้มันมีทั้งส่วนที่ผลิตออกมาแล้วใช้ได้และใช้ไม่ได้ไปตามระเบียบ ด้วยความมุ่งมั่นของซา เพื่อเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้สวมใส่ ทำให้เผลอลืมคิดไปว่า ‘เรากำลังสร้างขยะเพิ่มอย่างไม่รู้ตัว’

“มีอยู่วันหนึ่ง ซารวบขยะไปทิ้งแล้วพบว่าขยะจากการผลิตสินค้าของเรามันมีเยอะมาก เหตุการณ์วันนั้นเลยทำให้เราได้สติและเลิกมองข้ามขยะจากอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายที่เยอะเกินความจำเป็นไปมากๆ โดยเฉพาะ Fast Fashion ที่ใส่แป๊บเดียวก็ทิ้ง เหมือนเราตั้งใจทำลายสิ่งแวดล้อม เพียงเพราะอยากสนองตัณหาเท่านั้น

“มันจึงเป็นจุดเปลี่ยนว่าซาจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หรือถ้ามันแก้ไม่ได้ อย่างน้อยทำให้สินค้าของเราสร้างขยะให้น้อยที่สุดก็พอ นี่เลยเป็นที่มาว่าทำไมเราอยากเอาวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมาเป็นผลิตเป็นสินค้าของแบรนด์”

ค้นคว้าหาวัตถุดิบที่ใช่

“คำว่า Earthtone เราอยากแสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติ
แล้วความหมายค่อนข้างตรงตัว เพราะเราไม่ได้ต้องการให้สินค้า
เป็นปฏิปักษ์ แต่ต้องกลมกลืนไปกับโลก”

ถึงแม้ว่าซาต้องพับธุรกิจ Onfoot เข้ากรุไป แล้วหันมาสร้างแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘Earthtone’ ขึ้นมาทดแทน ก็ไม่ได้ทำให้ซาล้มเลิกความตั้งใจที่อยากผลิต ‘รองเท้า’ แต่กลับเพิ่มพลังความกระตือรือร้นที่อยากผลิตสินค้ามากขึ้นไปอีก ซึ่งความท้าทายขั้นต่อไปไม่ใช่แค่การดีไซน์ให้ถูกใจลูกค้า แต่มันคือการเฟ้นหา ‘วัสดุ’ ปอมและซาจึงเริ่มมองหาคนที่พร้อมให้คำปรึกษาได้

“มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากว่าเราจะหยิบอะไรมาเป็นวัสดุในการดีไซน์ เพราะข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ จนเราไปเจอพี่นัท เจ้าของแบรนด์ Piecefull และ Kokoboard เขาเป็นผู้ให้คำแนะนำหลายๆ อย่างเกี่ยวกับวัสดุ รวมถึงการเป็น Social Enterprise (ธุรกิจเพื่อสังคม) ที่ดีให้กับพวกเราด้วย” ซากล่าว

Photo Credit : Earthtone

“อันที่จริง วัสดุที่เราใช้มันมาจากสองที่หลัก คือจากพี่นัท Kokoboard เขาทำผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทดแทนไม้ตามธรรมชาติ โดยหยิบเอาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว เปลือกข้าว ขุยมะพร้าว และอื่นๆ มาอัดเป็นแผ่น ซึ่งเราเอามาเป็นโครงสร้างหนึ่งของสินค้า และอีกส่วนคือ ‘ผักตบชวา’ กับ ‘ผ้าทอ’ เป็นส่วนที่เราลงไปพูดคุยกับวิสาหกิจชุมชนที่เขาผลิตวัสดุเหล่านี้โดยตรง

Photo Credit : Earthtone

“เรามองว่าวัสดุตรงนี้ ทางชุมชนเขาจะทำช่วงระหว่างรอทำนาอยู่แล้ว การที่เราเข้าไปซื้อกับวิสาหกิจชุมชนโดยตรงมันก็เหมือนเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพวกเขาอีกทางหนึ่งด้วย” ปอมเสริม

Photo Credit : Earthtone

ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก : ประกอบร่างรองเท้า

หลังจากลงมือหาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ถึงเวลาลงมือดีไซน์ และประกอบร่างรองเท้าขึ้นมาสักที!

“สินค้าตัวแรกที่เราทำ มันเป็นการรวมกันระหว่าง ‘ผ้าทอ’ กับ ‘ผักตบชวา’ ซึ่งความจริงแล้วการผลิตรองเท้าค่อนข้างมีส่วนประกอบเยอะมาก และปัญหาของมันคือบางส่วนพัง บางส่วนยังดีอยู่ ทำให้บางครั้งอาจจะต้องโยนทิ้งไป เพราะเท่ากับว่าใช้การไม่ได้แล้ว ทีนี้เราเลยคิดว่าถ้าใช้วัสดุ PU มันมีอายุการใช้งานอยู่ที่หนึ่งถึงสองปี หลังจากนั้นเนื้อสัมผัสจะล่อนออกมา ซาจึงเปลี่ยนไปใช้ผ้าทอซึ่งมีความทนทานมากกว่า และมีอายุการใช้งานนานกว่า

Photo Credit : Earthtone

“ส่วนผักตบชวา มันน่าสนใจเพราะเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในไทยอยู่แล้ว และจัดเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย แต่เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติจึงมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมิ ถ้าหากมีความชื้นสูงไป จะทำให้ผักตบชวาเกิดเชื้อราได้ ยังรวมไปถึงการสต็อกวัสดุ ประจวบกับแรงงานคนที่มีไม่เพียงพอ เพราะต้องออกไปทำอาชีพหลัก ไม่เหมือนกับวัสดุสังเคราะห์ที่จะออกไปซื้อเมื่อไหร่ ซื้อเท่าไหร่ก็ได้ แต่พอเป็นวัสดุธรรมชาติมันต้องอาศัยการจัดการที่เยอะมากเป็นพิเศษ” ซากล่าว

“หลังจากที่เราขึ้นแบบมาลองใช้เอง ใช้จนพังเลยก็มี เพื่อดูว่าตรงไหนที่บกพร่องแล้วนำมาปรับแก้ แล้วทำขึ้นมาลองใช้อีก เราปรับแก้แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นโปรดักต์ที่เราวางขายอย่างทุกวันนี้ ถึงแม้จะปรับมาเรื่อยๆ แต่มันก็ยังไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ตอนนี้เราปรับเพื่อให้เกิดช่องโหว่น้อยที่สุด ซึ่งกระบวนการตรงนี้เราใช้ระยะเวลาหนึ่งถึงสองปีเลยทีเดียว” ปอมเสริม

Photo Credit : Earthtone

อันที่จริง ฉันเคยซื้อรองเท้าผักตบชวามาใช้จากตลาดนัดจตุจักร ซึ่งพบปัญหาของมันคือถ้ามีความชื้นมากไป ถ้าไม่ผึ่งแดด ก็จะส่งผลให้รองเท้าขึ้นราได้ รวมถึงดีไซน์ที่เหมาะใส่เล่นมากกว่าจริงจัง มันจึงเป็นสาเหตุต้นๆ ที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ต่อกลายเป็นขยะล้นตู้รองเท้าไปอีกสเต็ป แต่สำหรับ Earthtone มองสินค้ามากกว่าการซื้อ สวมใส่ แล้วถูกทิ้งให้ฝุ่นจับอยู่ในตู้รองเท้า

รองเท้าย่อยสลายได้

สิ่งหนึ่งที่ฉันสะดุดตา คือการดีไซน์สินค้าให้ดูทันสมัยและสวมใส่ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า หรือรองเท้า แถมมาในราคาเอื้อมถึง ซึ่งฉันมองว่า “นี่เป็นอีกก้าวของธุรกิจแฟชั่นในประเทศไทย” เพราะไม่เพียงแค่ดีไซน์ออกมาดูดี วัสดุหลักจากในประเทศ แต่ทุกกระบวนการยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

“คอนเซปต์แรกของแบรนด์ คือ เราพยายามทำให้มันเป็นรองเท้า
ที่ย่อยสลายเองได้ แต่เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า
‘มันทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์’ เพราะยังไงมันก็ต้องมีบางส่วน
ที่ย่อยสลายไม่ได้อยู่ดี”

ปอมสารภาพกับฉันอย่างจริงใจว่า เป้าหมายของแบรนด์ที่ทั้งสองคนวางไว้ช่วงแรกคือ การผลิตสินค้าย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ‘มันเป็นไปได้ยาก’ เพราะหากใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทั้งหมด คุณสมบัติการใช้งานจะเหมือนกับ ‘รองเท้าใส่ในบ้าน (Slipper)’ ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้งานภายนอก ทำให้ต้องมีบางส่วนยังคงเป็นวัสดุสังเคราะห์ และพลาสติกเข้าร่วมด้วย

“ผลิตภัณฑ์ของเราย่อยสลายได้กี่เปอร์เซ็นต์” ฉันถาม

“สารภาพตามตรงเราไม่เคยวัดอย่างจริงจังว่าเท่าไหร่ คาดว่าย่อยสลายได้ประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะมีเพียงส่วนเดียวที่เรายังย่อยสลายไม่ได้คือ ‘พื้นรองเท้า’ ซึ่งตอนนี้พยายามหาวัสดุที่มันย่อยสลายได้มาเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครทำได้ มันเลยเป็นโจทย์ยากที่สุดที่ตัวเราเองก็ต้องทำการบ้านต่อไป” ปอมตอบ

Photo Credit : Earthtone

“ซาคิดว่าสเต็ปต่อไปที่เราอยากทำคือการย้อน Carbon Footprint ของแบรนด์ ว่าตั้งแต่เราผลิตมามันปล่อยออกมามากเท่าไหร่ ซึ่งกระบวนการตรงนี้มันอาศัยองค์ความรู้มากพอสมควร แล้วเราก็พยายามไปถึงตรงจุดนั้นให้ได้ เพื่อผลิตสินค้าที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

หยุดวงจรขยะ

ฉันเป็นหนึ่งคนที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า สักวันหนึ่งวงการแฟชั่นทั่วโลกจะกระโจนเข้าหา ‘สิ่งแวดล้อม’ และสร้างเสื้อผ้าที่ย่อยสลายได้ ถึงแม้จะเป็นความฝันแต่ไม่ได้ฝันแบบลมๆ แล้งๆ เพราะการพูดคุยกับปอมและซาจากแบรนด์ Earthtone มันทำให้เราเห็นว่าในวันนี้มีธุรกิจแฟชั่นจากประเทศไทยเริ่มหันมาสนใจ ‘ความยั่งยืน’ มากยิ่งขึ้น

Photo Credit : Earthtone

“ซามองว่าแฟชั่นกับความยั่งยืนมันสำคัญต่อเราทุกคน ทุกชีวิต ถ้ามองว่าแฟชั่นมันตอบสนองความอยากของเราได้ ซึ่งอยู่ในปัจจัยสี่ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญคือเราใส่เสื้อตัวเดิมก็ได้ กระเป๋าใบเดิมก็ได้ แน่นอนว่าผู้ผลิตเขามีสินค้าให้เราเลือกสรรมากมาย แต่ถ้าเราเลือกบริโภคอะไรที่ถูกคิดมาแล้วว่ามันดีต่อสิ่งแวดล้อมประมาณหนึ่งจะดีมาก บางครั้งเราอาจจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘ความอยาก’ กับ ‘สิ่งแวดล้อม’ มันน่าจะดีต่อทุกคนมากกว่า” ซากล่าว

“ถึงแม้ว่าตอนนี้มันยังเป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมเชื่อว่าอนาคตมันเป็นไปได้ เวลานี้วัสดุธรรมชาติมันค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างในตัวมัน ถ้าเราต้องการให้มันได้คุณสมบัติบางอย่างตามที่เราต้องการ มันก็ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีหรือมีสารอะไรบางอย่างเข้ามาผสมอยู่ดี สิ่งที่แบรนด์เราแก้ไขได้ดีที่สุด มันคือการช่วยลดภาระต่อโลกมากกว่า อย่างน้อยผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่ไม่ได้สร้างปัญหาเพิ่ม” ปอมเสริม

Photo Credit : Earthtone

ก่อนจบวิดีโอคอลกับทั้งสองคน พวกเขาแอบมีกระซิบมาว่าตอนนี้กำลังลงมือผลิตสินค้าที่รวมวัสดุรีไซเคิล นำมาทำกระบวนการ Upcycling ใหม่

“เราคิดหนักมากกับผลิตภัณฑ์ แล้วตอนนี้เวลาผ่านมาหนึ่งปี เรามองแบรนด์ตัวเองกว้างกว่าเมื่อก่อน เราลงมือทำสินค้าแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้หยุดแค่ ‘วัสดุธรรมชาติ’ รวมถึงสินค้าต้องเป็นสิ่งที่ตอบสนองตลาด เพราะหากทำมาแล้วตลาดไม่ซื้อ เท่ากับสุดท้ายเราผลิตขยะเข้าสู่ระบบมากขึ้นไปอีก ซึ่งเรากำลังพยายามจะหยุดวงจรการหยิบขยะมาแปรรูป เพื่อให้มันกลับไปเป็นขยะอีกรูปแบบหนึ่ง” ปอมกล่าว

“เราอยากเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้เป็นแค่แฟชั่น แต่เราส่งปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด เราอยากให้องค์กรของเราเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับสังคมว่ามันมีแนวคิดเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่นะ” ซาเสริม

Photo Credit : Earthtone

สามารถติดตามได้ที่
Instagram : Earthtone.design
Website : myearthtone.com

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.