ถ้าคุณถามผมเมื่อปีที่แล้วถึงสิงคโปร์ ผมคงส่ายหัวเบาๆ ก่อนตอบแบบไร้เยื่อใยว่าไม่เห็นจะมีอะไรนอกจากเมอร์ไลออน ถนนออร์ชาร์ด เซ็นโตซา การ์เดนส์บายเดอะเบย์ แล้วก็…ข้าวมันไก่ – หารู้ไม่ว่าผมเองจะถูกโชคชะตาและสถานการณ์โควิดพัดพาชีวิตย้ายมาทำงานถึงประเทศนี้ – ประเทศที่ผมเคยบอกว่าไม่มีอะไรเลย
คนสิงคโปร์ทำงานกันจริงจัง แต่ก็เที่ยวกันอย่างบ้าคลั่งเช่นเดียวกัน ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่การเดินทางข้ามประเทศทำได้ยาก ผมถือโอกาสนี้สำรวจย่านต่างๆ ที่น่าสนใจและไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายสำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ หนึ่งในนั้นคือย่านแถบถนน Duxton (ดักซ์ตัน) และถนน Keong Saik (ค็องเซค) ครับ
“โห แถวนั้นน่ะเหรอ มีแต่ร้านมิชลินเหอะ” – คำตอบจากเพื่อนเจ้าถิ่นเมื่อผมถามถึงย่านแถบถนน Duxton (ดักซ์ตัน) และถนน Keong Saik (ค็องเซค) คำตอบนี้ไม่เกินจริงเลย หากคุณลองกดดูแผนที่ร้านอาหารในเว็บไซต์หลักของมิชลิน ไกด์ในสิงคโปร์ (https://guide.michelin.com/sg/en) จะพบร้านที่ถูกปักหมุดว่าได้ดาวมิชลินหรือไม่ก็บิบ กูร์มองด์ กระจุกตัวอยู่ในย่านนี้นับได้เกินสิบร้าน – ไม่น่าแปลกใจที่ย่านด้านตะวันตกของไชนาทาวน์แถบนี้จะถูกนิยามโดยคนสิงคโปร์ว่าเป็นย่านแห่งร้านอาหารสุดฮิป ที่แม้ชื่อของย่านนี้จะไม่คุ้นหูนักท่องเที่ยวสักเท่าไหร่ แต่รับประกันได้ว่าแอบซ่อนอะไรไว้มากกว่าที่คิด
หากใครมีโอกาสมาสิงคโปร์อยากให้ลองแวะมาที่ Duxton และ Keong Saik ดูสักครั้ง เพราะถนนสายเล็กๆ ทั้ง 2 เส้นนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของไชนาทาวน์สิงคโปร์ ห่างจากย่านยอดฮิตของนักท่องเที่ยวเพียง 400 เมตรเท่านั้น และเดินเชื่อมถึงกันได้ง่ายๆ
ทั้ง Duxton และ Keong Saik เป็นย่านประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวจีนในสิงคโปร์ ที่เห็นบรรยากาศของการผสมผสานวัฒนธรรมเก่าแก่และความทันสมัยรวมกันได้อย่างกลมกลืน เราจึงได้เห็นตึกแถวแบบโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีได้แปลงสภาพเป็นร้านอาหารสมัยใหม่ อยู่ไม่ไกลจากร้านอาหารเก่าแก่ที่ขายอาหารสิงคโปร์แบบดั้งเดิม
ถนน Duxton เดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานเม็ดจันทน์เทศของ William Montgomerie ซึ่งต่อมาถูกขายและก่อสร้างอาคารแบบที่เห็นในปัจจุบัน เดิมทีถนนเส้นนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งของโรงยาฝิ่น (Opium Dens) และบ่อนพนัน แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นที่อยู่ของครอบครัวชาวจีนที่มีฐานะใน Shophouse ย่าน Duxton Hill ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร โรงแรม และร้านขายของอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย แต่ใน Duxton ยังคงเป็นย่านที่อนุรักษ์อาคารเก่าเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
ส่วนถนน Keong Saik ตั้งชื่อตาม Tan Keong Saik นักธุรกิจชาวจีนยุคแรกๆ ในสิงคโปร์ แต่เดิมเป็นย่านโคมแดง แต่ต่อมาได้กลายเป็นแหล่งรวมผลงานของศิลปินท้องถิ่น ร้านอาหารอร่อยๆ ที่มีทั้งร้านเก่าและร้านเก๋ของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีร้านอาหารชื่อดังระดับมิชลินและเป็นย่านไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ
ในฐานะผู้อยู่อาศัยหน้าใหม่ผมจึงใช้โอกาสนี้ชวนเพื่อนคนสิงคโปร์ออกมาเดินสำรวจถนน Duxton และ Keong Saik ด้วยกัน และทำความรู้จักความโลคอลของย่านนี้ให้มากขึ้น มาสิงคโปร์ครั้งหน้าผมเชื่อว่าคุณคงมีจุดหมายใหม่ที่ไกลกว่าเมอร์ไลออนแล้ว
ซือชา – กินอาหารแบบสิงคโปร์จ๋าที่ Tong Ah Eating House
มาอยู่สิงคโปร์ทั้งทีก็ควรทำความคุ้นเคยกับอาหารสิงคโปร์เอาไว้
“อะไรคือซือชา?” ผมถามเพื่อนเจ้าถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นไกด์จำเป็นอยู่เสมอด้วยความสงสัย
“มันเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนนะ แปลตรงๆ ตัวก็คือ อาหารที่ปรุงด้วยความร้อน ผัด ทอด ได้หมดทุกอย่างเลย” ผมพยักหน้า งั้นแปลว่าอาหารสัญชาติไหนก็นับเป็นซือชาได้น่ะสิ
“ถ้าทำเสร็จแล้วเอามาวางทิ้งไว้แล้วตักขายเป็นจานแบบนั้น ไม่นับเป็นซือชา” เขาบุ้ยใบ้ไปทางร้านอาหารริมทางที่เรากำลังเดินผ่าน ก่อนอธิบายต่อไปว่า “แต่ถ้าปรุงในร้าน เป็นอาหารจานร้อน ก็นับเป็นซือชาได้หมด อาหารไทยในศูนย์อาหารก็ถือเป็นซือชาได้” เหมือนรู้ใจ เขาตอบคำถามที่ผมสงสัยได้ภายในสองประโยค
ซือชา มาจากภาษาจีน 煮炒 ซึ่งประกอบด้วยคำว่า 煮 ที่แปลว่าทำอาหาร และ 炒 ที่แปลว่าผัดหรือทอด รวมกันความหมายตรงตัวตามที่ไกด์จำเป็นอธิบายไปก่อนหน้านี้ แน่นอนว่านี่คืออาหารแบบที่พบได้ตามศูนย์อาหาร (Hawker Center) ในสิงคโปร์ แต่หนึ่งในร้านขึ้นชื่อบนถนน Keong Saik คงหนีไม่พ้น Tong Ah Eating House
ตึกสีครีมขอบแดงที่ตั้งเด่นอยู่กลางสามแยกน่าจะเป็นอีกภาพคลาสสิกที่เห็นได้บ่อยของสิงคโปร์ ไกด์ส่วนตัวของผมชี้ให้ดูตัวอักษรจีน 东亞 (Tong Ah) ที่อยู่บนตึกก่อนอธิบายว่าชั้นล่างของตึกนี้เองคือที่ตั้งเดิมของร้าน ปัจจุบันตึกได้กลายเป็นร้านอาหารและรูฟท็อปบาร์สุดชิกชื่อ Potato Head ส่วนตัวร้านเองย้ายมายึดครอง Shophouse ฝั่งตรงข้าม แต่ยังคงความรู้สึกเดิมไว้ได้อย่างครบถ้วน
บรรยากาศทางเข้าหน้าร้านดูเก่า แต่ความเก๋าที่ซ่อนอยู่คือหนังสือพิมพ์ตัดกรอบหัวข้อข่าวที่เขียนถึงร้าน กวาดตาไวๆ ก็เห็นชื่อหนังสือพิมพ์ที่คุ้นตาอย่าง The New York Times Sunday และ The Washington Post เมื่อก้าวขาเข้าไปในร้านก็สัมผัสได้ถึงความโลคอล ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในร้าน พนักงานรับออเดอร์ ป้าใจดีที่ยืนอยู่หลังโต๊ะทำกาแฟโบราณ ยาวไปจนถึงการจัดวางโต๊ะที่ไม่มีพิธีรีตอง เราสั่งชุดอาหารเช้าแบบสิงคโปร์มารองท้อง ซึ่งแน่นอนว่าประกอบไปด้วยขนมปังปิ้งทาสังขยา กินกับไข่ลวก และชานมอุ่นๆ ($5.40) รสชาติและบรรยากาศพาให้ลืมไปเลยว่าตอนนี้เป็นเวลาอาหารเที่ยง
“ไหนบอกจะพามากินซือชาไง” ผมท้วงหลังจากแย่งขนมปังแผ่นสุดท้ายมาไว้ในมือ ไม่ทันขาดคำเพื่อนก็หันไปสั่ง Yue Guang Hor Fun ($6) Fragrant Chicken ($13) และ Scallop Roll ($18) เป็นภาษาจีนอย่างช่ำชอง
ใช้เวลาไม่นาน อาหารทั้งสามจานก็ถูกยกมาเสิร์ฟ ก๋วยเตี๋ยวผัด (Yue Guang Hor Fun) เข้าได้ดีกับไก่กระทะร้อน (Fragrant Chicken) ส่วน Scallop Roll ก็นัวกำลังดี ทั้งที่คิดว่าค่อนข้างอิ่มจากขนมปังปิ้งแล้ว แต่อาหารสามจานก็ถูกเคลียร์หมดไปในไม่กี่อึดใจ
“พอไหวไหม?” ไกด์จำเป็นของผมถามตอนที่เราลุกไปจ่ายเงินที่ประตูทางเข้า
ผมพยักหน้าแทนคำตอบ เขาจะรู้ไหมนะว่าผมไม่เคยคิดจะเข้ามากินอาหารในร้านหน้าตาแบบนี้เลยด้วยซ้ำ นี่ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ใช้ได้
เขาหัวเราะ แล้วถามว่า “งั้นเราไปกินอะไรกันต่อดี?”
Tong Ah Eating House
วันพฤหัสบดี-วันอังคาร เปิด 07.00 – 22.00 น. วันพุธ เปิด 07.00 – 14.00 น.
ตั้งอยู่ที่ 35 Keong Saik Road #01-03
โทรศัพท์ +65 6223 5083
Keong Saik Bakery ร้านขนมหวานที่แอบเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์
ออกจากร้าน Tong Ah แล้วเลี้ยวขวา เดินไม่ถึงสิบก้าวก็พาเราเข้ามาสูดกลิ่นหอมของขนมอบในร้าน Keong Saik Bakery เสียแล้ว
“รบกวน Check in ใน TraceTogether App ให้ด้วยนะครับ” พนักงานในร้านเตือนตอนที่ผมก้าวขาเข้าไปสัมผัสอากาศเย็นฉ่ำจากเครื่องปรับอากาศในร้านได้ไม่ถึงนาที
การเข้าออกสถานที่ต่างๆ ในสิงคโปร์เดี๋ยวนี้จำเป็นต้อง Check in และ Check out ผ่าน Application ที่ชื่อว่า TraceTogether เพื่อยืนยันสถานะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และบันทึกการเดินทางของเราในแต่ละวัน หากเรามีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ในสถานที่ใด ก็จะได้รับข้อความแนะนำให้กักตัวสังเกตอาการหรือตรวจ ATK ด้วยตัวเอง – มันก็เป็นวิธีการที่สะดวก ว่องไว และได้ผล แม้ว่าผมจะเผลอลืมไปบ้างเป็นบางทีก็ตาม
“คุณรู้ไหมว่าสมัยก่อนถนน Keong Saik เคยเป็นย่านโคมแดง?” – แน่ล่ะว่าผมไม่รู้ ก็ร้านอาหารมิชลินเรียงรายสุดถนนเสียขนาดนี้ คงไม่เหลือร่องรอยความเป็นย่านโคมแดงให้เห็นหรอก
“อ้อ มีผู้หญิงจีนที่เชี่ยวชาญด้านการแสดงแบบเกอิชาของญี่ปุ่นด้วยนะ ภาษาจีนเรียกว่า 妈姐 (Majie) ร้านนี้เขาทำขนมเป็นเกียรติให้ประวัติศาสตร์ของถนนเส้นนี้ด้วยล่ะ” เขาพูดก่อนชี้มือให้ผมดูขนมปังลายดำสลับน้ำตาล วางเด่นอยู่กลางสุดของตู้กระจก
ป้ายระบุว่าขนมปังหน้าตาเหมือนมวยผมผู้หญิงนี้ชื่อ Sor Hei (梳起 ออกเสียงแบบแต้จิ๋ว) เป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่เราจับต้องและกินได้ในรูปแบบอาหาร รอบๆ เป็นขนมปังประเภทครัวซองต์ ครัวซองต์แบบลูกบาศก์ และควินญามัน มองเลยไปอีกตู้กระจกเป็นชีสเค้กหน้าไหม้รสต่างๆ เห็นแล้วอดกลืนน้ำลายไม่ได้
“ซื้อกลับไปกินพรุ่งนี้ได้ไหม วันนี้กินไม่ไหวแล้วจริงๆ” ใครหนอเคยกล่าวว่าคนเรามีกระเพาะแยกสำหรับของหวาน ในฐานะแพทย์ขอเถียงสุดใจ แม้จะแอบอยากให้มันเป็นความจริง
Keong Saik Bakery
เปิดทุกวัน 08.00 – 20.30 น.
ตั้งอยู่ที่ 33 Keong Saik Road #01-03
โทรศัพท์ +65 9021 9626
จิบชายามบ่ายในบ้านไม้จีนโบราณ
เพียงก้าวขึ้นบันไดไม้ใน Shophouse แบบสิงคโปร์บนถนน Neil ผมก็เหมือนได้เปิดประตูมิติไปยังประเทศจีน…เอ๊ะ หรือที่นี่คือเกาหลีกันนะ?
Tea Chapter คือร้านชาจีนแบบดั้งเดิมที่ถูกจารึกไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในย่านไชนาทาวน์สิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1989 ในอาคารเก่าแก่บนถนน Neil ที่เหลือรอดมาจากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นร้านชาระดับตำนานในสิงคโปร์ที่คนรักชาควรมาลองสักครั้ง
ภายในของร้านชา Tea Chapter ชั้นสองถูกแบ่งซอยเป็นห้องย่อยสำหรับลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ฝั่งซ้ายตกแต่งแบบจีน ส่วนฝั่งขวาตกแต่งแบบเกาหลี ในขณะที่ชั้นสามเป็นห้องเปิดโล่ง วางโต๊ะเตี้ยให้ต้องนั่งพื้น – แน่นอนว่าผมเลือกห้องย่อยแบบจีนในทันที เพราะบรรยากาศมันได้น่ะสิครับ!
น่าเสียดายที่เราไม่ได้จองโปรแกรมชิมชา 3 ชนิด (From Dusk till Dawn $48/Pax) หรือ 6 ชนิด (Shades of Tea $78/Pax) มาด้วย แต่พนักงานของร้านก็แนะนำเรื่องชนิดของชาได้อย่างคล่องแคล่ว
เราตกลงเลือกชา Imperial Golden Cassia 黄金桂 ($28) ชาอู่หลงแบบ Light จาก Fu Jian ที่เป็น Signature ของทางร้านมาลอง รอเพียงไม่นานพนักงานก็กลับเข้ามาพร้อมใบชาและกาน้ำร้อน ก่อนอธิบายถึงอุปกรณ์และวิธีการชงชา
“ก่อนอื่นต้องใช้น้ำร้อนอุ่นจอกชาทุกใบ แน่นอนว่าจำเป็นในท่ามกลางอากาศหนาว แต่ถึงเราจะอยู่ในประเทศที่ไม่หนาวมาก แต่ในร้านเราก็เปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ดีนะครับ” เขาพูดติดตลกขณะใช้ที่คีบไม้หยิบจอกชาแต่ละใบมารินน้ำร้อนก่อนเททิ้งเพื่อปรับอุณหภูมิ
“จอกชาที่แคบและทรงสูงกว่า เป็นจอกชาสำหรับดมกลิ่น ส่วนอีกจอกชาที่ปากกว้างและเตี้ยกว่า เป็นจอกชาสำหรับจิบนะครับ” เขาชิงอธิบายก่อนที่ผมจะทันได้ถาม ตามด้วยการสอนวิธีตวงใบชาใส่ในกาน้ำร้อน
“สำหรับชาตัวนี้ ครั้งแรกให้ทิ้งไว้สามสิบวินาที ครั้งต่อๆ ไปให้เพิ่มครั้งละห้าวินาที ตวงใบชาหนึ่งครั้งใส่น้ำร้อนได้ห้าครั้งนะครับ” เขาถือโอกาสรินน้ำร้อนลงไปเพื่อชงชาครั้งแรกให้เรา สามสิบวินาทีให้หลัง ชาสีเหลืองจางกลิ่นหอมฉุยก็ถูกรินลงไปในจอกชาสำหรับดมกลิ่น
“ดมกลิ่นเสร็จแล้ว เทชาจากจอกชาสำหรับดมกลิ่นลงในจอกชาสำหรับจิบ ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างถูคลึงเพื่อลดอุณหภูมิของจอกชาให้เย็นลง แล้วลองดมกลิ่นดูอีกครั้ง จะได้กลิ่นของชาที่ต่างออกไปนะครับ หลังจากนั้นลองสังเกตสีของชาในจอกสำหรับชิมดูก่อน แล้วค่อยๆ จิบชา จิบแรกถือเป็นการล้างปาก จิบที่สองเป็นการรับกลิ่นของชา ส่วนจิบที่สามเป็นการรับกลิ่นที่หลงเหลืออยู่ตอนท้าย ขอให้มีความสุขกับชาตัวนี้นะครับ” อธิบายจบพนักงานก็ขอตัวออกไป ปล่อยให้เราได้ค่อยๆ ละเลียดกลิ่นของชา ปล่อยเวลาช่วงบ่ายให้ผ่านไปอย่างเชื่องช้า พร้อมกับจินตนาการว่าถ้าได้จิบชาอีกสักสองสามชนิด คงฟินพิลึก
Tea Chapter
วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี เปิด 11.00 – 21.00 น. วันศุกร์และวันเสาร์ เปิด 11.00 – 22.30 น.
ตั้งอยู่ที่ 9 Neil Road
โทรศัพท์ +65 6226 1175
อาหารกาตาลันแบบเข้าถึงได้
มาถึงย่านนี้แล้ว จะไม่ลองลิ้มรสชาติร้านอาหารประดับดาวมิชลินก็ใช่ที่ เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าย่านนี้เป็นแหล่งรวมร้านมิชลิน ผมเลือกจองโต๊ะสำหรับมื้อเย็นของร้าน Olivia Restaurant & Lounge ไว้ตั้งตารอชิมอาหารกาตาลัน (Catalan) ฝีมือ Alain Devahive เชฟชาวสเปนที่มีชื่อเสียงจากอดีตร้านมิชลินสามดาว elBulli และอดีตร้าน Catalunya ซึ่งมีสาขาทั้งในฮ่องกงและสิงคโปร์ ร้านตั้งชื่อตามลูกสาวของเชฟ เสิร์ฟอาหารกาตาลันที่ใช้วัตถุดิบอย่างดี ปรุงแบบ ‘ทำกินเองที่บ้าน (Homestyle Cooking)’ ทำให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าที่คิด ตัวร้านออกแบบโดย Lázaro Rosa-Violán นักออกแบบชาวสเปนจากบาร์เซโลนา บรรยากาศของร้านออกโทนอบอุ่น เข้าได้กับทุกโอกาสที่นึกออก
บริกรพาผมไปนั่งที่โต๊ะด้านหลังร้าน นาฬิกาบอกเวลาหกโมงครึ่ง แดดบางๆ ของเดือนมกราคมไม่ร้อนจนเกินไปนัก ผมเริ่มต้นด้วยเมนู Confited Eggplant with Black Olive Miso and Ponzu ($14) ซึ่งเรียกน้ำย่อยได้เป็นอย่างดี ตามด้วย Grilled Octopus, Crispy Pork Belly and Potato Foam ($38) และ Burrata & Fresh Tomato Salad ($38) ก่อนตบท้ายด้วย Wagyu Striploin with Truffle Sauce and Confit ‘Piquillo’ Peppers ($78) เป็นมื้อที่อิ่มท้องและอิ่มเอมใจ สมกับราคาที่จ่ายไปเสียจริงๆ
“รับของหวานด้วยไหมครับ?” บริกรผู้คงคอนเซปต์เชียร์เก่งพอๆ กับเติมน้ำเดินมาเลียบๆ เคียงๆ หลังจากอาหารทั้งสี่จานได้หมดลง
“น่าจะไม่ไหวแล้วครับ ไว้คราวหน้านะครับ” ผมปฏิเสธอย่างสุภาพ ใจเสียดายที่ยังไม่ได้ลองของหวานชื่อดังของร้านอย่างชีสเค้ก แต่กระเพาะที่ขยายไม่ได้อีกต่อไปไม่เห็นด้วย
ใช่แล้วล่ะ ร้านดีๆ แบบนี้ต้องมีครั้งหน้าแน่นอน
Olivia Restaurant & Lounge
เปิดวันอังคาร-วันเสาร์ แนะนำให้จองโต๊ะล่วงหน้า
ตั้งอยู่ที่ 55 Keong Saik Road #01-03
โทรศัพท์ +65 6221 0522
Potato Head – ทรอปิคอลค็อกเทลบาร์ บนดาดฟ้าตึกเก่าแก่
ผมกลับมาที่ Potato Head อีกครั้ง เพราะอยากรู้ว่าบนดาดฟ้านั้นเป็นอย่างไร
หลังจากนั่งนึกอยู่สักพัก ผมก็ถึงบางอ้อว่าสาเหตุที่ชื่อ Potato Head คุ้นตานักหนา ก็เพราะเคยไปเยี่ยมเยือน Desa Potato Head ที่บาหลีมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน
“ใช่แล้วล่ะ ที่ฮ่องกงก็มีนะ” ไกด์คู่ใจให้ข้อมูลในทันที ก่อนที่ผมจะทันเปิดไอจีโชว์รูปตอนไปบาหลีเสียอีก
“ชั้นล่างสุดเป็นร้านเบอเกอร์ อ้อ ชั้นสองเป็นที่นั่งของร้านนี้ด้วย ชั้นสามเป็นบาร์แบบอินดอร์ แต่เราไปลองบาร์ที่ชั้นดาดฟ้ากันดีกว่า” ว่าแล้วเขาก็เดินนำผมไปยังทางขึ้นชั้นดาดฟ้า โชคดีเหลือเกินว่าคืนนี้ยังมีที่นั่ง แม้เราจะไม่ได้จองมาล่วงหน้า
ร้านอาหารที่ยึดครองชั้นที่หนึ่งและสองของตึกคือร้าน Three buns แอบมองเข้าไปดูในครัวที่อยู่ชั้นล่างก็รู้สึกว่ารสชาติน่าจะไม่ธรรมดา แต่คงต้องหาเวลากลับมาลองชิมวันหลัง
เดินขึ้นบันไดมาก็พบว่าภายในตกแต่งได้สนุกพิลึก กระเบื้องลายตารางหมากรุก โคมไฟระย้าหน้าตาประหลาด กับภาพวาดเต็มฝาผนังและรูปปั้น ให้ความรู้สึกเหมือนเราถูกย้อนเวลากลับมาเป็นเด็ก ไฟสีส้มสลัวทำให้จินตนาการไปถึง Alice in wonderland โดยไม่มีเหตุผล ป้ายบอกว่าชั้นสามของตึกเป็นบาร์ชื่อ Studio 1939 แต่บาร์บนชั้นดาดฟ้าที่เราพุ่งตรงขึ้นไปหา ป้ายระบุชัดเจนว่าบาร์ชื่อ Rooftop (ก็แหงล่ะ!)
“ค็อกเทลของที่นี่จะออกแนวทรอปิคอลหน่อยๆ นะครับ น้ำผลไม้ที่ใช้จะเป็นพวกสับปะรด มะนาว หรือเสาวรส” บริกรแนะนำอย่างคล่องแคล่ว ก่อนบอกให้เราดูเมนูออนไลน์ผ่านการสแกน QR code ที่อยู่บนโต๊ะ – เออ วิธีนี้ก็ดีแฮะ จะได้ไม่ต้องคอยกังวลว่าเมนูแบบรูปเล่มนั้นสะอาดแค่ไหน
ผมเลือกสั่ง Royal gin and juice ($21) ที่มีจินเป็นส่วนประกอบหลัก รวมกับน้ำสับปะรดกับส้มยูซุก็สดชื่นเหมือนยืนอยู่ริมทะเล ส่วนเพื่อนสั่งเมนูเดิมที่เขาเคยประทับใจในชื่อ Zombie #36 ($25) ซึ่งมีเหล้ารัมเป็นส่วนประกอบหลัก ผสมพันช์ผลไม้ก็ได้รสร้อนแรงไม่เบา
ลมพัดเอื่อยๆ ทำให้บาร์บนดาดฟ้าตึกไม่ร้อนเกินไป ไฟประดับให้แสงนวลอุ่น เสียงคนคุยกันปนกับเพลงที่เปิดคลอไว้ รวมกันออกมาเป็น Vibe ที่โคตรดี
The Rooftop Bar at Potato Head
วันจันทร์ถึงพฤหัสบดีเปิด 17.00-24.00 น. วันศุกร์ถึงอาทิตย์เปิด 16.00-24.00 น.
ตั้งอยู่ที่ 36 Keong Saik Road
โทรศัพท์ +65 6327 1939
Maison 21G น้ำหอมที่ผสมขึ้นจากจิตวิญญาณของคุณ
แม้ถนน Duxton และ Duxton Hill จะขึ้นชื่อเรื่องอาหารการกินไม่แพ้ถนน Keong Saik แต่ร้านที่ผมเดินตรงเข้ามาคือร้านน้ำหอมครับ
เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะมีปัญหาเดียวกับผม – นั่นคือเลือกน้ำหอมกลิ่นที่เหมาะกับตัวเองไม่ได้เสียที บทจะซื้อตามคำแนะนำของคนอื่นที่ดาษดื่นอยู่บนโลกออนไลน์ก็ดันได้น้ำหอมกลิ่นที่ไม่เหมาะกับเรา หรือดีหน่อยก็พอใช้ได้ในตอนแรกที่ฉีด แต่ไหงเวลาผ่านไปกลิ่นดันเปลี่ยนเป็นแบบที่ไม่ชอบเสียนี่
คุณอาจผ่านตาชื่อ Maison 21G มาบ้าง เพราะแบรนด์นี้มีทั้งน้ำหอมและเทียนหอมวางขายใน Sephora ของประเทศไทย แต่ที่พิเศษสำหรับสาขาในสิงคโปร์คือ Workshop ที่จัดขึ้นเพื่อให้คุณได้ครีเอตน้ำหอมส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคล (Perfume Creation Atelier $160/Pax) สำหรับเจ้าสาว (Bridal Atelier $160/Pax) สำหรับคู่รัก (Love Atelier $350/คู่) หรือสำหรับครอบครัว (Family Atelier $350/ครอบครัว)
เวิร์กช็อปน้ำหอมส่วนบุคคลของผมเริ่มต้นด้วยการกรอกแบบสอบถามสั้นๆ เพื่อช่วยเลือกกลิ่นพื้นฐานที่จะใช้เป็นกลิ่นแรก (Head Note หรือ Top Note) กลิ่นกลาง (Heart Note หรือ Middle Note) และกลิ่นท้าย (Base Note หรือ Back Note) อย่างละสองกลิ่น เมื่อได้ชื่อของทั้งหกกลิ่นแล้ว พนักงานของร้านก็จะฉีดหัวน้ำหอมกลิ่นเหล่านั้นมาให้เราลองดม
“วางกลิ่นที่คุณชอบไว้ฝั่งนี้นะครับ ถ้าไม่ชอบให้วางไว้อีกฝั่งหนึ่ง เดี๋ยวผมจะเลือกกลิ่นที่คล้ายๆ กันมาเป็นตัวเลือกเพิ่มให้อีก” พูดจบเขาก็เริ่มหยิบหัวน้ำหอมในกล่องมาฉีดพ่นบนกระดาษกลม ก่อนวางให้ผมได้ทดลองดมอีกหลายกลิ่น หลังจากดมๆ เลือกๆ กันจนเริ่มมึน ก็ได้กระดาษกลมจำนวนหนึ่งวางเรียงรายกันอยู่เป็นกลุ่ม
“เอาล่ะครับ ตอนนี้ให้ลองเลือกกลิ่นแรก กลิ่นกลาง กลิ่นท้ายที่ชอบมาอย่างละกลิ่น เราจะเอาทั้งสามกลิ่นมาผสมเป็นกลิ่นเดียวครับ อ้อ ถ้าอยากลองกลิ่นกลางสองกลิ่น หรือกลิ่นแรกสองกลิ่นบ้างก็ได้นะครับ” มาถึงขั้นตอนนี้จมูกผมก็เริ่มไม่ทำงาน แต่ก็ลองสุ่มหยิบกลิ่นที่ชอบมารวมกันสองสามแบบ เออ มันก็รวมกันออกมาเป็นกลิ่นที่ใช้ได้เหมือนกันนี่นา
“ลองออกไปดมกลิ่นด้านนอกร้านดูนะครับ ถ้าจะให้ดีลองปิดชื่อกลิ่นน้ำหอมเอาไว้จะได้ไม่มีอคติ เลือกกลิ่นที่ชอบที่สุดมาได้เลย เดี๋ยวเราจะผสมน้ำหอมทั้งสามกลิ่นออกมาลองฉีดกับผิวหนังกัน” มาถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด นั่นคือการเลือกกลิ่นที่ชอบที่สุด กลิ่นที่เราเลือกนี้เองที่จะถูกนำไปผสมให้กลายเป็นน้ำหอมหนัก 21 กรัม ความเข้มข้น 21% อันเป็นเอกลักษณ์ของ Maison 21G ซึ่งใช้คอนเซปต์ เลข 21 แทนน้ำหนักของวิญญาณจากการศึกษาของ Duncan MacDougall
แน่นอนว่าน้ำหอมที่ถูกผสมขึ้นเป็นที่ถูกใจ – หรือเพราะวิญญาณของผมถูกบรรจุอยู่ในขวดนั้นกันนะ?
Maison 21G Paris – Bespoke fragrance house- Duxton Flagship
เปิดทุกวัน 12.00 – 18.00 น.
ตั้งอยู่ที่ 77 Duxton Road
โทรศัพท์ +65 9477 7818
Duxton Reserve Singapore โรงแรมสุดเท่ที่ออกแบบโดยอดีต ‘บอนด์เกิร์ล’
มองภายนอกอาจเป็น Shophouse สีทะมึนที่ไม่ได้เตะตา แต่ Duxton Reserve Singapore, Autograph Collection คือโรงแรมในเครือ Marriott บนถนน Duxton ที่ภายในโคตรเท่
เพียงก้าวผ่านประตูทางเข้าก็จะพบกับล็อบบี้โทนสีดำ ทอง และเหลือง รอบตัวอวลไปด้วยกลิ่นแบบ Oriental ที่ทำให้รู้สึกลึกลับ น่าค้นหา ลองไปค้นดูได้ความว่าทางโรงแรมได้ Interior Designer ชื่อดังอย่างอนูสกา เฮมเปล (Anouska Hempel) อดีต Bond Girl สาวข้างกายคู่หูเจมส์ บอนด์ 007 จากเรื่อง On Her Majesty’s Secret Service ที่ผันตัวมาเป็น Interior Designer เป็นผู้ออกแบบ
หากเคยเห็นงานออกแบบของเจ้าแม่แห่ง Boutique Hotel อย่างอนูสกา เฮมเปล คุณคงไม่แปลกใจเลยที่ภายในโรงแรมและห้องพักจะใช้สีดำเป็นหลัก ก็ขนาดเรือใบของเธอยังมีใบเรือเป็นสีดำเลย เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในทำนองว่า ห้องที่ทำให้คุณรู้สึกอบอุ่นสบายของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน และคงไม่แปลกอะไรที่เธอจะรู้สึกอบอุ่นสบายในห้องที่มีผนังสีดำ
Duxton Reserve Singapore, Autograph Collection ประกอบด้วยห้องทั้งหมด 49 ห้อง ราคาเริ่มต้นที่ $303++ แม้จะไม่มี Facility ในโรงแรมเพียบพร้อมเท่ากับ Business Hotel แบบปกติ แต่การได้เดินดูการตกแต่งของโรงแรมและห้องพัก (Minibar ในห้องสวยมาก!) รวมไปถึง Anouska Bar และร้านอาหาร Yellow Pot ในโรงแรม ก็นับเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ – บางรสนิยมก็ต้องมาลองเห็นด้วยตาตัวเอง
Duxton Reserve Singapore, Autograph Collection
Check in 15.00 น. Check out 12.00 น.
ตั้งอยู่ที่ 83 Duxton Road
โทรศัพท์ +65 6914 1428
สุดสัปดาห์ในย่านแถบถนน Duxton และถนน Keong Saik ของผมได้เปิดประสบการณ์ใหม่หลายอย่าง – รสอาหารซือชาแบบสิงคโปร์ ขนมปังก้อนกลมที่สะท้อนประวัติศาสตร์ อาหารกาตาลันการันตีรางวัลมิชลิน ไหนจะประสบการณ์การชงชาจีน ไปจนถึงการสร้างกลิ่นน้ำหอมที่เป็นตัวเอง
หากคุณถามถึงสิงคโปร์กับผมในวันนี้ ผมคงไม่รีรอที่จะตอบว่า ประเทศนี้มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด