Mobility Data Dashboard - Urban Creature

Mobility Data Dashboard แพลทฟอร์มช่วยแนะนำนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว ตามศักยภาพเมือง ในวันที่นโยบายท่องเที่ยวแบบเดียวใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัด

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ข้อมูลคือสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางของธุรกิจไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศ อุตสาหกรรมรอบตัวเราเริ่มต้นวางแผนงานจากการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติกันทั้งนั้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือเป็นส่วนหลักในการขับเคลื่อนประเทศ

ถ้าคุณคือคนออกแบบนโยบายสาธารณะหรือเจ้าของธุรกิจสักแบรนด์ที่กำลังมองหาฐานข้อมูลนักท่องเที่ยว เพื่อนำไปพัฒนาแผนงานหรือสินค้าบริการของตัวเอง ‘Mobility Data Dashboard’ คือเครื่องมือที่ช่วยคุณทำแบบนั้นได้อย่างง่ายดาย

โปรเจกต์นี้เกิดจากการที่ ดีแทค คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ จับมือกันสร้างแพลตฟอร์มเจาะลึกการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านข้อมูลมือถือ ต่อยอดจากการวิจัย ‘Mobility Data เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง’ ให้นักออกแบบนโยบายสาธารณะ ผู้ประกอบการ ผู้สนใจด้านข้อมูล รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 77 จังหวัดได้อย่างง่ายๆ ละเอียดถึงระดับอำเภอ แถมยังมีบทวิเคราะห์เมืองรอง ที่บอกว่าเมืองรองจังหวัดไหนมีศักยภาพด้านไหน นักท่องเที่ยวกลุ่มไหนชอบไปจังหวัดนั้น และคนในท้องที่ควรพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเองแบบไหนเพื่อให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้มากที่สุด

ตัวเว็บไซต์ยังถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย สามารถคลิกดูได้เป็นรายจังหวัดเลยว่ามีอัตราการกระจุกตัวในแต่ละช่วงเวลามากน้อยแค่ไหนในแต่ละพื้นที่ ใครสนใจลองเข้าไปเล่นได้เลยที่ dtac.co.th/mobility-data/dashboard/ หรือถ้าใครอยากรู้ว่าแพลตฟอร์มนี้เจ๋งยังไง เราจะพาไปสำรวจอย่างละเอียดในอัลบั้มนี้กัน

Mobility Data Dashboard แพลทฟอร์มช่วยแนะนำนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว ตามศักยภาพเมือง ในวันที่นโยบายท่องเที่ยวแบบเดียวใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัด

ดีแทค คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ ได้นำข้อมูลการกระจุกตัวและต้นทาง-ปลายทางของนักท่องเที่ยวจาก Mobility Data Dashboard มาวิเคราะห์ว่ามวยรองอย่างเมืองรองมีศักยภาพในการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีขึ้นได้อย่างไร โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำเป็น ‘ดัชนี’ วัดศักยภาพตามรูปแบบของการเดินทางท่องเที่ยว ประกอบด้วยการท่องเที่ยวไปเช้า-เย็นกลับ การท่องเที่ยวแบบค้างคืน และการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัดหรือคลัสเตอร์

ดัชนีนี้สามารถนำมาวิเคราะห์ศักยภาพของเมืองรองแต่ละจังหวัดว่าควรส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบไหน จากข้อมูล Mobility Data พบว่า เมืองรองในแต่ละจังหวัดมีศักยภาพต่างกัน พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีต่อจังหวัดเหล่านั้นก็ต่างกันตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงเชื่อว่าเมืองรองแต่ละที่ควรกำหนดนโยบายเฉพาะเจาะจงสำหรับจังหวัดนั้นๆ (Taylor-Made) ไม่ใช่นโยบายเดียวที่ปรับใช้กับทุกจังหวัดแบบในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ทางการท่องเที่ยว

Mobility Data Dashboard แพลทฟอร์มช่วยแนะนำนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว ตามศักยภาพเมือง ในวันที่นโยบายท่องเที่ยวแบบเดียวใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัด

พวกเขานำข้อมูลดัชนีที่ได้จาก Mobility Data Dashboard มาจัดทำเป็น 3 นโยบายเสนอแนะ ประกอบไปด้วย

ข้อแรก การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism หรือแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไป-กลับ ในระยะเดินทางประมาณ 150 กิโลเมตร ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศญี่ปุ่นที่คิดค้นแนวคิดนี้ขึ้นในปี 2013 และได้นำไปใช้กับแต่ละจังหวัดของตัวเอง เพราะพบปัญหาว่าการท่องเที่ยวส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่

เทคนิคของชาวปลาดิบคือการสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมเพื่อเป็นรายได้เสริม เช่น หากผู้ประกอบการคนหนึ่งเปิดสวนผลไม้ พวกเขาก็จะคิดกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวมาเก็บผลไม้ในสวน เป็นต้น โดยเจาะกลุ่มไปที่นักท่องเที่ยวแบบเพื่อน คู่รัก และครอบครัวที่อยากมาสัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก

แล้วเมืองรองเมืองไหนล่ะที่เหมาะกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism ระบบได้นำดัชนีมาวิเคราะห์ผ่านคำถาม 3 ข้อหลักคือ จังหวัดไหนที่มีอัตราการเที่ยวแบบไป-กลับเยอะ จังหวัดไหนที่เดินทางได้ในระยะ 150 กิโลเมตร และจังหวัดไหนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวระยะไกล (เกินกว่า 150 กิโลเมตร) มาเที่ยวได้ เมื่อนำข้อมูล 3 ข้อเหล่านี้มาผสมกันก็พบคำตอบว่า เป็น 16 เมืองรองที่มีศักยภาพ นำทัพโดยนครศรีธรรมราช เชียงราย และลำพูน

จังหวัดนี้อาจส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการออกแบบกิจกรรมหรือเวิร์กช็อปบางอย่างที่เชื่อมโยงกับสินค้าที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ซึ่งอาจดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

Mobility Data Dashboard แพลทฟอร์มช่วยแนะนำนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว ตามศักยภาพเมือง ในวันที่นโยบายท่องเที่ยวแบบเดียวใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัด

นโยบายเสนอแนะที่ 2 คือ ‘การท่องเที่ยวแบบค้างคืน’ ซึ่งสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวกให้กับเมืองท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะยิ่งมีคนพักค้างมาก ยิ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนหรือผู้ประกอบการสานสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ทำให้เมืองนั้นๆ มีแฟนคลับที่กลับภูมิลำเนาไปแล้วยังกินอาหารจากชุมชนนั้น หรือหากมีโอกาสก็กลับไปเที่ยวซ้ำอีก

ความประทับใจคือคีย์สำคัญของการท่องเที่ยวแบบค้างคืน เราจึงได้เห็นว่าที่พักในจังหวัดต่างๆ มีการออกแบบที่พักให้น่าตื่นตาตื่นใจ มีเอกลักษณ์ แถมยังออกแบบโปรแกรมทัวร์ตอนกลางคืนที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ลงไปเรียนรู้วิถีชุมชน แต่เหนืออื่นใดคือคำถามสำคัญว่า แล้วเมืองรองเมืองไหนล่ะที่มีลักษณะเหมาะสมกับการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวแบบค้างคืน

Mobility Data Dashboard ได้วิเคราะห์ผ่าน 3 ดัชนีหลักคือ เมืองรองเมืองใดมีนักท่องเที่ยวแบบค้างคืนกระจุกตัวอยู่เยอะ เมืองรองเมืองใดเป็นเมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในระยะ 150 กิโลเมตรมาพักค้างคืนได้ และในเวลากลางวันมีนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจจะมาพักค้างเท่าไหร่ และมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ตัดสินใจพักค้างคืนจริงๆ เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มารวมกันเกิดผลลัพธ์ว่า เป็น 21 จังหวัดที่สมควรถูกกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวแบบพักค้าง นำทัพโดยเพชรบูรณ์ เชียงราย ลำปาง และร้อยเอ็ด 

นอกจากนี้ เมืองรองที่น่าสนใจคือ ‘เมืองทางผ่าน’ หรือ 10 เมืองที่นักท่องเที่ยวไปกระจุกอยู่ตอนกลางวันแต่ไม่ตัดสินใจพักค้างคืน นำโดยสิงห์บุรี อ่างทอง และสมุทรสงคราม จังหวัดเหล่านี้ก็เป็นอีกตัวเลือกที่มีโอกาสและสมควรถูกผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนด้วยเช่นกัน หากพัฒนาที่พักดีๆ หรือมีกิจกรรมเวลากลางคืนที่น่าลองไป อาจสร้างรายได้จากตรงนั้นได้เป็นกอบเป็นกำ

Mobility Data Dashboard แพลทฟอร์มช่วยแนะนำนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว ตามศักยภาพเมือง ในวันที่นโยบายท่องเที่ยวแบบเดียวใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัด

ข้อเสนอแนะข้อสุดท้าย ได้แรงบันดาลใจมาจากผลสำรวจจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่พบว่า นักท่องเที่ยวทั่วไปจะออกเดินทางเมื่อมีวันหยุดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน ซึ่งตรงกับข้อมูลจาก Mobility Data Dashboard ที่บอกว่า เมื่อมีเวลาอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน นักท่องเที่ยวจะไม่ได้มุ่งหน้าไปเที่ยวจังหวัดเดียว แต่จะแวะหลายๆ จังหวัดรายทาง 

นำมาซึ่งไอเดียของข้อเสนอแนะที่ 3 ‘การเดินทางแบบคลัสเตอร์’ ที่อยากให้เมืองรองหรือจังหวัดรายทางนั้นจับมือกันโปรโมตโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบแพ็กหลายจังหวัด ก็อาจเพิ่มเวลาพำนักในแต่ละจังหวัดเมืองรอง และเป็นการกระจายรายได้ให้เมืองรองเหล่านั้นได้ต่อ

คำถามสำคัญคือ กลุ่มเมืองรองที่ควรจับมือกันคือกลุ่มไหน Mobility Data Dashboard นำเอาสถิติการเดินทางที่นักท่องเที่ยวมุ่งไปยังจังหวัดหนึ่งและมีการแวะจังหวัดเมืองรองใกล้ๆ มาจับกลุ่มกัน พบว่าเมืองรองสามารถจับมือกับจังหวัดโดยรอบได้ 4 รูปแบบด้วยกัน นั่นคือ กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก (กลุ่มที่มีจังหวัดเมืองหลักเป็นสมาชิกหลัก และมีเมืองรองเป็นสมาชิกรอง เช่น เมืองหลักอยู่ 2 เมือง และมีเมืองรอง 1 เมือง) กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก (มีเมืองท่องเที่ยวหลัก 1 เมือง นอกนั้นสมาชิกเป็นเมืองรองทั้งหมด) กลุ่มเพื่อนเมืองรอง (กลุ่มที่สมาชิกเป็นเมืองรองเท่านั้น) และกลุ่มฝาแฝด (กลุ่มคลัสเตอร์ที่มีสมาชิกอยู่แค่ 2 จังหวัด)

เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีก จาก 4 รูปแบบนี้เราพบว่ามีกลุ่มจังหวัดที่มีการเดินทางร่วมกันสูงอยู่ทั้งหมด 8 จังหวัด นำทีมโดยนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี ซึ่งหากจังหวัดเหล่านี้จับคู่กับจังหวัดโดยรอบ น่าจะชักจูงนักท่องเที่ยวให้ไปแวะเมืองรองได้เยอะกว่าเดิม

Mobility Data Dashboard แพลทฟอร์มช่วยแนะนำนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว ตามศักยภาพเมือง ในวันที่นโยบายท่องเที่ยวแบบเดียวใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัด

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ Big Data คือสิ่งที่ช่วยกำหนดแนวทางของเศรษฐกิจ ดีแทค คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Mobility Data Dashboard ที่พวกเขาช่วยกันสร้างขึ้นมา เมื่อได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนไปแล้วจะสามารถทำได้มากกว่าการวิเคราะห์เพื่อสร้างนโยบายการท่องเที่ยวใหม่ๆ

เพราะอันที่จริงแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังทำให้คนออกแบบนโยบายท่องเที่ยวสาธารณะ ผู้สนใจด้านข้อมูล นักลงทุน ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนต่างๆ ได้พัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้ดีกว่าเดิม เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้มากขึ้นนั่นเอง

.ผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แบบฟรีๆ ผ่านเว็บไซต์ dtac.co.th/mobility-data/dashboard/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.