เชฟอ๊อฟ the next iron chef - Urban Creature

คนเรามักจะมีสัมผัสและพรสวรรค์ในเส้นทางที่แตกต่างกันไป อย่างเด็กบกพร่องทางการได้ยิน แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและการทำงานแต่อย่างไร พวกเขามักจะหยิบและคว้าโอกาสตรงหน้าให้มากที่สุด และอาชีพเชฟทั้งวงการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจและพวกเขาสามารถทำได้ และทำได้ดีเป็นพิเศษ

โอกาสครั้งใหม่ที่ผู้บกพร่องทางการได้ยินจะได้รับ

เด็กบกพร่องทางการได้ยินหรือเด็กหูหนวก มักจะขาดโอกาสจากสังคมในการพิสูจน์ความสามารถ แต่เด็กเหล่านี้มักจะมีสัมผัสและความตั้งใจไขว่คว้าโอกาสมากกว่าเด็กคนอื่นๆ

ความสำคัญของเด็กหูหนวกนั้น ไม่ได้เลือนหายไปในสายตาของเชฟ หรือผู้ที่อยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่ม จึงเกิดเป็นโครงการ ‘ค้นหาอาชีพในฝัน’ โดยวังขนาย และ เอสทีบี และกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ ถือเป็นการมอบโอกาสครั้งใหม่ให้เด็กหูหนวก ได้ลองจับตะหลิว เปิดเตา ผัดเส้นสปาเก็ตตี้กันอย่างสนุกสนาน แต่เชฟสอดแทรกด้วยวิชาชีพที่ใช้ได้จริง ทั้งโอกาสในการสร้างอาชีพ การเข้าสู่สังคมด้วยอาชีพยุคสมัยใหม่ ความปลอดภัยในครัว จนถึงเรื่องวินัยเวลาที่อยู่ในครัวอีกด้วย

3 เชฟผู้มอบประสบการณ์ทำอาหาร

ผู้ที่มามอบโอกาสและให้แรงบันดาลใจกับเด็กๆ เป็นเชฟจากร้านอาหารชื่อดังอย่าง ‘วังหิ่งห้อย’ ที่มาพร้อมกันถึง 3 คน ไม่ว่าจะเป็น เชฟนิค-ณัฐพล ภวไพบูลย์, เชฟอ๊อฟ-ณัฐวุฒิ ธรรมพันธุ์ และเชฟอ้น-สุวิจักขณ์ แก้วสิริมงคล ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารมาไม่น้อย ทั้ง 3 คน มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ซุ่มซ้อมภาษามือเบื้องต้น เพื่อสื่อสารโดยตรงกับเด็กได้ง่ายขึ้น และเมนูที่จะให้น้องๆ ฝึกทำในวันนี้คือ ‘สปาเก็ตตี้ คาโบนาร่า’

ผู้ใหญ่ใจดีร่วมแจกจ่ายอาหารมื้อกลางวัน

มื้อกลางวันก่อนลุยทำอาหารฝีมือตัวเอง น้องๆ ได้ลิ้มรสอย่างอิ่มท้องทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเบเกอรีจากผู้สนับสนุนใจดีจากโครงการ ไม่ว่าจะเป็นครัวเจ๊ง้อ, Puff&Pie, Thai Catering, Makfa, Inthanin, วังหิ่งห้อย, Eric Kayser Paris, ครอบครัวภวไพบูลย์ และครอบครัวอดุลยานุโกศล ไม่เพียงเท่านี้ยังมี Warrix, Sport Thai Bavaria, KCG Corporation, บริษัท ออล ออฟ ลัค จำกัด ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ขึ้น

ได้เวลาลงมือทำอาหารจานเด็ด 

เอาล่ะ ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นสำหรับเด็กๆ มาถึงแล้ว อุปกรณ์ วัตถุดิบ เครื่องปรุงพร้อม เห็นสีหน้าของเด็กและมือที่อยู่ไม่เป็นสุขแล้ว ช่างพร้อมมาก ! เชฟทั้งสามคนจะคอยสอนเด็กๆ อยู่บนเวที ส่วนเด็กจะแบ่งกลุ่มกัน และมีพี่เลี้ยงผู้ช่วยเชฟคอยช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ ในการทำเมนูครั้งนี้

บอกเคล็ดลับในการทำอย่างหมดเปลือก

ถึงแม้จะเป็นเมนูที่ดูง่ายๆ ในสายตาใคร เมื่อล้วงลึกเข้าไปแล้ว กว่าจะเป็นสปาเก็ตตี้ คาโบนาร่า หนึ่งจาน มีดีเทลมากกว่าที่คิด ซึ่งตอนที่เชฟสอนเด็กๆ จะไม่ได้บอกแค่ว่าใส่อะไรก่อนหลัง แต่จะเสริมเรื่องการจัดระเบียบการทำว่า ต้องเริ่มจากตรงไหนก่อนหลัง ถ้าผัดกระเทียมแล้วสุกเกินไปจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องใส่น้ำมันกับเกลือในน้ำที่ต้มสุกแล้ว เพื่อต้มเส้นด้วยเหตุผลอะไร นับว่าเชฟนั้นเปิดพื้นที่เหมือนห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่สามารถลงมือทำได้จริง 

ผัดเอง ชิมเอง ทำอร่อยพอ

พร้อมชิม ! ฝีมืออันโอชาของตัวเอง หลังจากลากยาวกันมากว่าเกือบชั่วโมง ได้เวลาจัดจานให้สวยงามโรยหน้าด้วยแฮมเล็กน้อย คำแรกที่ชิมรส ตาของน้องๆ นั้นเป็นประกายไม่เบา ชิมคนเดียวคงเหงาน่าดู จึงผลัดกันป้อนเป็นการชิม ช่างเป็นภาพที่แฮปปี้สุดๆ

เชฟนิคเชื่อว่าเด็กหูหนวก ทำอาชีพอื่นได้มากกว่างานเอกสาร

เชฟนิค-ณัฐพล ภวไพบูลย์ เชื่อว่า การมาสอนเด็กวันนี้เหมือนเป็นการเตรียมอาวุธเบื้องต้นให้เขามีเซฟโซนใหม่ ออกจากความคิดเดิมๆ กับอาชีพที่เขาคิดว่าเป็นได้แค่คอลเซ็นเตอร์ ตอบอีเมล ทำเอกสารเพียงอย่างเดียว ตอนนี้โลกเปิดกว้างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วอีกต่อไปแล้ว

“เราออกรบมีมีดมีปืน แต่เขาอยู่ในเซฟโซน ออกไปข้างนอกเขาก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้างแต่วันนี้เขาจะได้เห็น”

สิ่งที่น้องๆ จะได้กลับไปวันนี้คือโอกาส และความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น โดยที่น้องจะสามารถเป็นได้ทั้งคนทำร้านอาหาร หรือเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งผู้สนับสนุนที่มีส่วนร่วมในวันนี้จะเปิดรับน้องเข้าทำงาน โดยตอนนี้มีเด็กอยู่ในเครือข่ายกว่า 108 คน ทุกคนทำขนม อาหาร และเครื่องดื่มได้รสชาติเยี่ยม ซึ่งน้องได้ฝึกเสมือนอยู่ในร้านจริงๆ ได้จับเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน และร้านในเครือที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะเปิดรับน้องๆ เหล่านี้เป็นอย่างมาก

เชฟอ๊อฟมั่นใจว่าเด็กจะอยู่ในวงการอาหารได้ และเชฟอ้นอยากจะขยายโครงการเพื่อเด็กกลุ่มอื่นๆ บ้าง 

ทางด้านของเชฟอ๊อฟ-ณัฐวุฒิ ธรรมพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งคนที่เชื่อว่าเด็กหูหนวกสามารถเข้ามาอยู่ในวงการอาหารบ้านเราได้อย่างแน่นอน

“เขาเป็นบุคลากรที่ครบทุกอย่าง เขาแค่พูดไม่ได้เหมือนเรา ไม่ได้ยินเหมือนเรา แต่การทำงานในครัวทำได้ดีเพราะเขามีสมาธิที่ดี ”

แต่อย่างไรการที่จะรับเด็กเหล่านี้เข้าทำงานขึ้นอยู่กับพร้อม และองค์ประกอบหลายอย่างของแต่ละบริษัทมากกว่า ในประเทศเราจะไม่ค่อยคุ้นเคยมากนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย แต่การที่เชฟอ๊อฟได้เข้ามาส่วนหนึ่งในงานนี้เขารู้สึกว่าเป็นการ “ชี้โอกาสให้เขาเห็นศักยภาพตัวเองว่าเขาทำได้”

ส่วนเชฟอ้น-สุวิจักขณ์ แก้วสิริมงคล หากมีโอกาสได้ทำกิจกรรมเพื่อกลุ่มเด็กพิเศษในลักษณะนี้อีก เขาก็อยากจะไปร่วมให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเด็กท่ีได้เจอนั้นมักจะมีอะไรที่พิเศษมากกว่า ถึงแม้จะเสียสัมผัสหนึ่งแต่เขาจะมีสัมผัสอื่นที่มากกว่าเรา ดีกว่าเราด้วยซ้ำ

“อนาคตเราจะได้เห็นคนที่เขามีสัมผัสพิเศษกว่าเรา ได้แสดงศักยภาพออกมาที่เราอึ้งไปเลย”

โดยครั้งนี้เหล่าเชฟทั้งหลายเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เหล่านี้ ซึ่งตัวเชฟเองไม่มีทางรู้เลยว่าจะพวกเขาจะสร้างสรรค์ผลงานจานเอกออกมาเป็นอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ท้าทายและตอบโจทย์เชฟอ้นเป็นอย่างมาก 

ซึ่งการรวมตัวของเชฟเพื่อมอบโอกาสให้กับเด็กๆ ครั้งนี้ เราจะได้เห็นทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และแววตาที่ตั้งใจโชว์ฝีมือปรุงอาหารสุดความสามารถ พวกเขาอาจจะได้คำตอบในใจตัวเองไปบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย ว่าหลงรักในอาชีพเชฟแค่ไหน ? หลังจากจบโครงการ ทางผู้สนับสนุนต่างพร้อมอ้าแขนเปิดรับเด็กๆ เหล่านี้อยู่เสมอ โดยพร้อมให้คำปรึกษา และมีสถานที่รองรับให้เข้าทำงานได้จริงอีกด้วย 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.