ความสัมพันธ์ของหมาจรและคนคุก - Urban Creature

เป็นเหมือนกันหรือเปล่า? เวลาดูภาพยนตร์หลายเรื่องที่เกี่ยวกับสุนัข ก็บ่อน้ำตาแตกร้องไห้ตาบวมไปหลายวัน เพราะเจ้าตูบแสดงสมบทบาทซะเหลือเกิน แต่ใครจะรู้ว่านักแสดงนำสี่ขาไม่ได้คัดเฉพาะโปรไฟล์ดีเท่านั้น เพราะยังคัดจากสตอรี่ของน้องอีกด้วย A Dog’s Way Home คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่นำอดีตสุนัขจรจัดที่ได้รับการดูแลจากศูนย์พักพิงสัตว์ของรัฐชีตแฮม ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่า Shelby มาเป็นนักแสดงหลักของเรื่อง ทำให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นสุนัขจรจัดแต่พวกมันก็มีศักยภาพในตัวเองเช่นกัน

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง A Dog’s Way Home

 พอหมดรักแล้วก็ทอดทิ้งให้กลายเป็น ‘สุนัขจรจัด’

สุนัขเมื่อแรกเกิดใครเห็นใครก็รัก
พอโตขึ้นเขาแก่ลงไม่น่ารักเหมือนเดิมก็ถูกทอดทิ้งกลายเป็นสุนัขไร้บ้าน ลุกลามเป็นปัญหาที่นับวันก็ยิ่งเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะไม่มีการควบคุมและการจัดการที่ถูกต้อง ช่วงที่ผ่านมาเราคงได้ยินข่าวการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในบ้านเราซึ่งปีนี้รุนแรงกว่าปีก่อนๆ ถึง 1.5 เท่า โดยปัญหาสุนัขจรจัดไม่ว่าจะเกิดจากสุนัขหรือคน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งยังมีเรื่องราวของการ Set Zero สุนัขจรจัด ที่หลายคนเริ่มออกมาถกเถียงกันผ่านหลากมุมมอง

ซึ่งกระแสของเรื่องนี้ มีทั้งผู้ที่ออกมาเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความคิดที่สุดโต่ง โดยทางกรุงเทพฯ ของเรามีแนวทางให้ทั้ง 50 เขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด พร้อมทั้งสำรวจจำนวนสุนัขจรจัดในแต่ละพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีคนรับดูแล เป็นสุนัขพลัดหลงตามหาเจ้าของไม่ได้ หรือสุนัขที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ให้จับไปบำบัดพักฟื้นที่ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ เพื่อทำการคัดกรองโรค ฉีดวัคซีน ทำหมันให้เรียบร้อย ส่วนสุนัขที่ไม่ดุร้ายก็นำไปฝึกให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น เพื่อรอเจ้าของใหม่ที่พร้อมรับไปดูแลต่อ ซึ่งในส่วนนี้หลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน อย่างไรก็ตาม หลายคนรวมถึงเราก็ยังรู้สึกว่า บ้านเราแก้ปัญหาสุนัขจรจัดไม่ได้ดีเท่าที่ควร

ชีวิตที่มีค่าของเจ้าตูบ เพื่อนแท้ผู้ซื่อสัตย์ 

สำหรับในหลากหลายประเทศก็มีวิธีจัดการที่แตกต่างออกไป เคยสังเกตกันไหมว่า เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ทำไมบ้านเมืองเขาถึงไม่ค่อยมีสุนัขจรจัดมาเดินเพ่นพ่านตามย่านชุมชนเลย ไม่ใช่เพราะเขาไม่เลี้ยงน้องกัน แต่กฎหมายและการจัดการในบ้านเขาดีมากๆ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกยกให้เป็นประเทศแรกในโลกที่ไร้สุนัขจรจัด ด้วยกฎหมายป้องกันการทารุณสัตว์ที่รุนแรงและเคร่งครัด ถ้าใครไม่ดูแลหรือทอดทิ้งสุนัข อาจโดนโทษปรับถึง 16,000 ยูโร หรือประมาณ 600,000 บาท และยิ่งไปกว่านั้น หากมีการทารุณสัตว์ก็อาจต้องรับโทษจำคุกมากกว่า 3 ปีอีกด้วย

หรือในเยอรมนีก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่สุนัขมีความสุขที่สุดในโลก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ปฏิบัติกับสุนัขเหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว แถมยังมีการรณรงค์ให้ผู้เลี้ยงทำหมัน และฝังไมโครชิปให้กับสุนัขด้วย และสำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขยังต้องผ่านการสอบข้อเขียนก่อนถึงจะรับสุนัขไปเลี้ยงได้ นอกจากนั้นในประเทศเยอรมนียังมีการจัดเก็บภาษีผู้เลี้ยงสุนัขเป็นประจำทุกปี 

ชุบ 2 ชีวิตที่ไม่มีใครต้องการ

กลับกันในอีกมุมที่ต่างออกไป ทุกปีประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวนสุนัขจรจัดกว่าล้านตัวถูกกำจัดด้วยการฉีดยาให้ตาย เพราะไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ ก่อนหน้านี้บรรดาเจ้าตูบถูกนำตัวไปที่สถานกักกัน เพื่อหาผู้รับอุปการะซึ่งก็มีน้อยมากที่ได้รับอุปการะ และเรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เจ็บปวดหัวใจอยู่ไม่น้อย จึงกลายเป็นพลังขององค์กรที่ชื่อว่า Don’t Throw Us Away องค์กรที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่กลายเป็นคนไร้ค่ากับสุนัขจรจัด โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชทัณฑ์ของรัฐแมสซาชูเซตส์ เพื่อช่วยเหลือสุนัขเหล่าก่อนนำให้เหล่าผู้ต้องขังเลี้ยง

เพราะเชื่อว่าการเลี้ยงสัตว์ช่วยเยียวยาจิตใจให้กับผู้ต้องขังได้ และสร้างความผูกพันทำให้ผู้เลี้ยงรู้สึกมีคุณค่า ไม่โดดเดี่ยว วิธีการคือให้เหล่าผู้ต้องขังจับคู่กับสุนัขเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผู้ต้องขังจะต้องดูแลให้อาหาร ทำความสะอาด และพาพวกมันไปออกกำลังกายด้วย เท่านั้นยังไม่พอ เหล่าผู้ต้องขังยังฝึกสุนัขคู่หูด้วยการฝึกแบบพื้นฐาน ซึ่งได้รับการอบรมมาจากเจ้าหน้าที่ของ ‘Don’t Throw Us Away’ อีกที เพื่อที่หลังจากจบ 8 สัปดาห์ น้องหมานี้จะได้มีโอกาสหาคนที่อยากอุปการะได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงของการถูกกำจัด

ซึ่งผลลัพธ์ออกมาดีเกินคาด จนเหล่าผู้คุมก็สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัคร พวกเขามีพัฒนาการทางอารมณ์ดีขึ้น ร่าเริง แจ่มใส และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และยังมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น นั่นคือ ในขณะที่ผู้ต้องขังช่วยสุนัขเหล่านี้ สุนัขเองก็ได้ช่วยผู้ต้องขังเช่นกัน หลายคนอาจตัดสินไปว่าผู้ต้องขังดูโหดร้าย น่ากลัว แต่เมื่อได้รับโทษและถูกคุมขังแล้วการที่จะออกมาเผชิญกับโลกภายนอกคงไม่ใช่เรื่องง่าย โครงการนี้จึงเป็นโอกาสครั้งใหม่สำหรับผู้ต้องขัง เพื่อปรับตัวกลับเข้าสู่สังคมง่ายขึ้น และสำหรับเจ้าสุนัขจรจัดก็กลับไปมีชีวิตใหม่ได้อีกครั้งเช่นกัน

สุนัขจรจัดใครก็มองว่าไม่ดี น่ารังเกียจ และมักถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามยถากรรม อาจจะเป็นเพราะพวกมันไม่น่ารัก สกปรก แต่เจ้าตูบสี่ขาพวกนี้ก็มีหัวใจ อยากได้ความรักและการดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกันกับผู้ต้องหาในคุกที่ถูกตัดสินว่าไร้ค่า เมื่อใกล้ถึงวันที่พ้นโทษออกมา การกลับมาใช้ชีวิตในสังคมกลายเป็นเรื่องยาก

ความรักจากสุนัขเหล่านี้อาจเป็นความรักที่แท้จริงที่สุด
ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของผู้ต้องขังก็เป็นได้
และมันได้หลอมจิตใจพวกเขาให้อ่อนโยน
เป็นเหมือนกับการสร้างคนใหม่ขึ้นมาให้กับสังคม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.